posttoday

"พ.อ.วินัย สมพงษ์"ต้นฉบับถนน4เลน- รถไฟทางคู่

17 มิถุนายน 2557

ส่วนตัวต้องการให้นักการเมืองเหมือนช่างมุงหลังคา โดยให้คนมาสานต่องานต่อๆ กันไป ไม่ใช่ใครคิด คนนั้นทำ

โดย...วงศ์สุภัทร คงสวัสดิ์

หลายต่อหลายคนเริ่มสับสนถึงที่มาที่ไปในการพัฒนาโครงการถนน 4 เลนทั่วประเทศและโครงการรถไฟทางคู่ ว่า เกิดในยุคใด สมัยใคร มีแนวคิดและวิธีการดำเนินงานอย่างไร  จึงได้ย้อนกลับไปสืบค้นและสอบถามคนคิดเรื่องนี้หรือต้นฉบับพิมพ์เขียวโดยตรง นั่นคือ พ.อ.วินัย สมพงษ์ อดีตรมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี (ชวน1) ระหว่างปี 2535-2537

พ.อ.วินัย เล่าว่า ช่วงนั้นได้รับมอบหมายให้เป็นรมว.คมนาคม จากสัดส่วนของพรรคพลังธรรม ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจำนวน 47 ที่นั่ง พร้อมกับได้รับคำสั่งให้ทำการบ้านเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งพ.อ.วินัยขอย้อนเล่าถึงความเจ็บปวดสมัยเด็ก เป็นเด็กบ้านนอกเกิดที่อุบลราชธานี แต่มาเติบโตเรียนหนังสือที่นครราชสีมา และช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลก การเดินทางลำบาก ยังใช้เกวียน ถนนมีแค่ 2 เลนแคบๆ

เมื่อโตขึ้นได้ทุนไปร่ำเรียนถึงอเมริกาได้เห็นถนน 4 เลน รถไฟสี่รางทางคู่ ดังนั้น จึงคิดนโยบายสร้างถนน 4 เลนทั่วประเทศ โดยระยะที่ 1 เริ่มจาก  ขยายไปใน 4 ทิศทาง ได้แก่ กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-หนองคาย กรุงเทพ-ตราด และกรุงเทพ-นราธิวาส วงเงินลงทุนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

จากนั้น จึงสานต่อโครงการถนน 4 เลนระยะที่ 2 เป็นลักษณะตารางหมากรุก โดยสร้างทางเชื่อมด้านตะวันตก-ตะวันออก หรือที่เรียกว่า อีสต์-เวสต์ คอริดอร์ เช่น เส้นทางตาก-พิษณุโลก ขอนแก่น-มุกดาหาร เป็นต้น วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

หลังจากที่คิดทำโครงการ 4 เลนแล้ว จึงหันมาเริ่มคิดทำโครงการ 4 รางทางคู่ หรือโครงการรถไฟทางคู่ที่เรียกกันในปัจจุบัน เพราะคิดว่า เมื่อการพัฒนาก่อสร้างและขยายถนนเรียบร้อยแล้ว และเห็นว่า ตัวเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร(กทม.) เจริญเติบโตมากขึ้น ดังนั้น ระบบต่อไปที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งคน-สินค้าได้มากที่สุดก็คือระบบราง

“ก่อนหน้าผม คนที่ทำถนน 4 เลน ก็มีจอมพล ป.พิบูลสงครามทำถนนราชดำเนิน มีรมต.บางคนทำถนน 4 เลนเข้าบ้านตัวเอง แต่เมื่อผมเป็นรมต.เห็นการเดินทางในไทยลำบาก จึงคิดทำโครงการแฝด ถนน 4 เลน รถไฟสี่รางทางคู่ ซึ่งถ้ารัฐบาลชุดต่อๆ มาเข้ามาสานต่อโครงการก็คงเสร็จไปตั้งแต่ปี 2547 แล้ว ไม่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน”

รัฐบาลชุดต่อๆ มาไม่ได้สานต่อโครงการถนน 4 เลน และรถไฟทางคู่ ทำให้พ.อ.วินัย เห็นว่า ส่วนตัวต้องการให้นักการเมืองเหมือนช่างมุงหลังคา โดยให้คนมาสานต่องานต่อๆ กันไป วันนึง เมื่อฝนตกจะได้ไม่มีน้ำฝนร่วงใส่หัว ไม่ใช่ใครคิด คนนั้นทำ แต่สามารถทำงานต่อกันได้โดยไม่คิดว่าเป็นผลงานใคร เพราะสิ่งที่ทำคือผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

พร้อมกับยกตัวอย่าง โครงการมอเตอร์เวย์ สาย กรุงเทพ-ชลบุรี ซึ่งต่อมามีโครงการต่อเนื่อง เช่น มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-บ้านโป่ง แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล กลับไม่ทำ โดยขณะนั้นมีแผนทำโครงการแหลมผักเบี้ยแทน จนในที่สุดก็ไม่มีการสร้าง และสุดท้ายนำมาปัดฝุ่นใส่พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นโครงการมอเตอร์เวย์  สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี

อย่างไรก็ตาม พล.อ.วินัย กล่าวว่า รู้สึกขอบใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะเข้ามาสานต่อโครงการต่างๆ ที่ได้คิดได้วางแผนไว้นานแล้ว เพราะคิดว่าคสช.คงไม่เหมือนนักการเมืองที่ไม่เข้าท่า ที่ขโมยความคิดคนอื่น แต่ใครคิดเราก็ให้เกียรติ และคนที่นำโครงการต่างๆ มาทำ ล้วนสร้างกุศลให้คนไทยทั้งสิ้น