posttoday

10คำถามที่"สุเทพ"และแกนนำกปปส.ต้องตอบ?

08 มิถุนายน 2557

คำถามทั้งหมดเพื่อให้มวลมหาประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง และจะได้นำพลังการตื่นตัวอันยิ่งใหญ่ไว้เคลื่อนไหวต่อสู้ในการเรียกทางการเมืองต่อไป

โดย....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การชุมนุมทางการเมืองจากการรวมตัวของผู้คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยขับไล่ระบอบทักษิณ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.2556 ต่อมาได้ยกระดับพัฒนาการเคลื่อนไหวเรื่อยมากระทั่งรวมตัวกันอย่างเป็นทางการในนาม "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ กปปส. ซึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณ รับหน้าที่นำทัพ

ประชาชนผู้ยืนหยัดต่อต้านระบอบทักษิณหลอมรวมกันเป็น "มวลมหาประชาชน" ซึ่งมีที่ประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมหลายล้านคน เห็นได้จากการนัดชุมนุมใหญ่แต่ละครั้งในช่วงแรกๆ  ผู้คนได้พร้อมใจกันลงเดินบนถนนในกรุงเทพฯ อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ใครเคยผ่านประสบการณ์ร่วมต้องขนลุกขนพองต่อปริมาณมหาชนที่พร้อมใจหลั่งไหลหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว...แต่นับจากนี้(หลังการทำรัฐประหาร)...มีคำถามที่กำนันสุเทพ และแกนนำ กปปส.ต้องตอบ...นั่นคือ

1.ภายหลังทางกองทัพได้ประกาศยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557  แกนนำ กปปส.จะกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวทางการเมือง (หลังยกเลิกกฎอัยการศึก) ในอนาคตต่อไปอย่างไร

2.ใช่หรือไม่ว่า การยึดอำนาจหรือก่อรัฐประหารของกองทัพคือคำตอบอันได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หากไม่ใช่...

3.ท่าทีการแสดงอาการยินดีต่อการทำรัฐประหาร (เช่น สมาชิกจำนวนหนึ่งสวมเสื้อลายพรางทหารร่วมปาร์ตี้อย่างครึกครื้น) เป็นท่าทีส่วนบุคคล หาได้เป็นจุดยืนของมวลมหาประชาชนใช่หรือไม่ เพราะก่อนนี้กำนันสุเทพเคยประกาศบนเวทีว่าไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร แค่เรียกร้องให้กองทัพออกมายืนเคียงข้างประชาชน

4.หากไม่ใช่...กปปส.จะมีส่วนร่วมในการผลักดันการปฏิรูปการเมืองตามที่ คสช. กำลังกำหนดรูปแบบและวิธีการให้เป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์และแนวทางของ กปปส.ที่เคยได้ประกาศมาตลอดระยะเวลาการชุมนุมหรือไม่ อย่างไร

5.หากการปฏิรูปการเมืองนับจากนี้ (สภาปฏิรูปฯ ที่ คสช.จะจัดตั้งขึ้น) ไม่สอดคล้อง ไม่สามารถเป็นเครื่องมือขจัดระบบการเมืองสกปรกได้จริง ทาง กปปส.จะดำเนินการอย่างไร

6.เพื่อความโปร่งใสต่อขบวนการต่อสู้ของประชาชน แกนนำ กปปส.สามารถชี้แจงยอดเงินบริจาคสนับสนุนการต่อสู้ตลอด 6 เดือนเศษ (31ต.ค.2557-22พ.ค.2557) ต่อสาธารณะได้หรือไม่ (เมื่อใดก็ได้หากพร้อมจะชี้แจง)

7.จะบริหารจัดการกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการชุมนุมที่ผ่านมาอย่างไรไม่ให้กระทบต่อเหยื่อหลังจากนี้

8.หลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว กปปส.มีแนวนโยบายการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไรต่อไป หรือการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนได้ยุติบทบาทลงแล้วหลังจากรัฐประหาร

9.หากมีการนิรโทษกรรมคดีความหลังจากนี้ (หากจะมี) ทางแกนนำ กปปส. มีจุดยืนอย่างไร หรือจะยืนหยัดต่อสู้คดีต่อไปตามกระบวนการยุติธรรมฃ

10.แกนนำหลัก (อดีต สส.) ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมต่อสู้กับกำนันสุเทพจะกลับเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิมหรือไม่

คำถามทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อให้มวลมหาประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง และจะได้นำพลังการตื่นตัวอันยิ่งใหญ่ไว้เคลื่อนไหวต่อสู้ในการเรียกทางการเมืองต่อไป ซึ่งต่างก็ไม่เชื่อว่าความขัดแย้งการเมืองไทยจะสงบราบรื่น เข้าร่องเข้ารอย กระทั่งไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องอะไรอีกในอนาคต