posttoday

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

08 มิถุนายน 2557

เวลาผมเล่นผมมีความสุข...แต่ตอนนี้ผมไม่ค่อยมีอารมณ์ เพราะมีปฏิวัติ และมันยุ่งยาก ผมเป็นห่วงบ้านเมืองว่าจากนี้มันจะไปแบบไหน

เรื่อง : ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม,มัลลิกา นามสง่า /ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช 

 

ในวัย 94 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีเสียงดนตรีคอยชโลมใจ ช่วยให้ชีวิตสดชื่น กระนั้น “ป๋าเปรม” เพิ่งเริ่มเล่นเปียโนเมื่อสิบปีก่อนและพัฒนาแต่งเพลงด้วยตัวเอง จนปัจจุบันประพันธ์บทเพลงได้มากถึง 157 เพลง ด้วยภาษาประณีต เรียบง่ายสะท้อนบุคลิก จนต้องจารึกไว้เป็นบุคคลพิเศษที่มีความสามารถด้านดนตรี ทั้งยังเป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษของประเทศ

ดนตรีทำให้ผมมีความสุข

สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้ชีวิตในวัย 94 ปี ได้อย่างมีความสุข คือ “เสียงเพลง”

หลายคนมิรู้ว่า พล.อ.เปรม มีความสามารถด้านดนตรี หากแต่ใครได้ติดตามชีวิตของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษท่านนี้ จะรู้ว่าไม่เพียงแต่ความสามารถด้านเปียโนที่ไพเราะเพราะพริ้งร่วมกับเสียงร้องนุ่มนวล หวานโรแมนติก ประจักษ์ผ่านการขึ้นเวทีคอนเสิร์ตการกุศลมาแล้วถึง 7 ครั้ง พล.อ.เปรม ยังมีความสามารถในการประพันธ์บทเพลงทั้งคำร้องและทำนองอย่างลึกซึ้ง

วันนี้ ผลงานเพลงทั้งหมด 157 เพลง ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถูกนำมารวบรวมไว้ในหนังสือ “บทประพันธ์เพลง รัฐบุรุษศิลปิน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” บันทึกและจัดทำโดย มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กองดุริยางค์ทหารบก เพื่อพัฒนาการดนตรี วางขายเฉพาะศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทีมงานโพสต์ทูเดย์ ร่วมกับ ศ.ณัชชา พันธุ์เจริญ อาจารย์ภาควิชาดุริยางคศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติให้เปิดความในใจรัฐบุรุษศิลปิน พล.อ.เปรม ถึงบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งน้อยคนนักจะได้ย่างกรายเข้าไปที่บ้านพักอันมีตำนานแห่งนี้

พล.อ.เปรม ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเองในห้องพักรับรอง ที่มีเปียโนคู่ใจตั้งอยู่เบื้องหน้า ภายในบ้านดูเรียบร้อย สะอาดตา ไม่หรูหราอย่างที่เราคิด พร้อมกับแนะนำให้เรารู้จัก “ครูเป๊ก” พ.ต.วิวัฒน์ คมศิลป์ นายทหารหนุ่มจากกองดุริยางค์ทหารบก ซึ่งเป็นครูสอนเปียโนให้กับป๋าเปรม ตั้งแต่แรกเมื่อ 12 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

“ผมอยากเรียนเปียโนมานานแล้ว เพราะอยากร้องเพลงและเล่นเปียโนพร้อมกันไปด้วย มันดูเท่” ป๋าเปรมตอบคำถามถึงสาเหตุที่หลงรักในเสียงดนตรี

“ผมฝึกเล่นดนตรีมาหลายอย่าง แต่เล่นไม่เป็นสักอย่าง พอโรงแรมเอราวัณ ตอนนั้นผมเป็นนายกฯ อยู่ เขาจะรื้อแล้วขายทุกอย่างหมด ไม่ว่าถ้วย โถ แล้วก็มีเปียโนอยู่ 2 หลัง ผมรู้จักคุณประพันธ์ศักดิ์ เลยขอซื้อเปียโน เขาก็ขายให้ในราคาไม่กี่หมื่นบาท ผมก็เอามาวางไว้ตรงนี้ แล้วผมก็จ้างครูมาสอน”

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พร้อมด้วย พ.ต.วิวัฒน์ คมศิลป์ ครูสอนเปียโนตั้งแต่ 10 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

เพลงแรกที่ พล.อ.เปรม ฝึกเล่นคือ เพลง สายทิพย์ ครูสอนให้จำ พอเล่นได้วันนี้ ตื่นมาวันรุ่งขึ้นกลับลืมไปเสียหมด

“ได้ตรงนี้ก็มาลืมตรงนั้น ผมก็เลยเลิก ยกเปียโนให้ครูไปเลย (หัวเราะ) ผมบอกว่า ผมจำไม่ไหวแล้ว จากนั้นก็ทิ้งไม่ได้เล่นไปนาน แล้วก็มาเริ่มรู้จักกับเป๊ก ตอนนั้นผมบอกผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารบกให้ช่วยส่งเด็กมาสอนเปียโนผมหน่อย เขาก็ส่ง ส.อ.วิวัฒน์ (เป๊ก) มาช่วยสอนผมเมื่อปี 2545 เป๊กเริ่มสอนทั้งทฤษฎี หลักการดนตรี ตอนแรกที่ยากคือ การวางมือซ้าย กว่าจะเล่นได้ก็ร่วมปี แต่พอเริ่มถนัด ผมก็เริ่มคิดว่าชักจะใช้ได้เหมือนกัน”

ป๋าเปรม เล่าพลางถามครูเป๊กซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกลว่า “เราเริ่มด้วยเพลงอะไรนะ ข้างขึ้นเดือนหงาย ขี่หลังควายชมจันทร์ ใช่ไหม เพลงนี้ค่อนข้างง่ายหน่อย ตอนนั้นพอเล่นได้ก็ไปซื้อเปียโนไฟฟ้ามา 1 หลัง ซึ่งมันสะดวกดี แล้วก็ให้เป๊กมาสอน จากนั้นก็เริ่มติด เพราะมีความสุขและสนุกกับมัน ตอนนั้นผมบอกเป๊กตั้งใจไว้แค่ให้ป๋าเล่นเปียโนแล้วร้องเพลงไปด้วย ไม่ต้องเอาเก่งอะไร สุดท้ายผมก็ทำได้ทั้งสองอย่าง แต่ผมก็ไม่ได้เล่นเก่งอะไรนะ เพราะไม่ได้ต้องการแข่งกับใคร”

การเล่นดนตรีเป็นมากกว่ากิจกรรมยามว่าง เพราะคือความสุข พูดถึงตอนนี้ พล.อ.เปรม ยิ้มขึ้นมา

“สำหรับผมเป็นมากกว่านั้น มันเป็นความสุขที่เล่นได้ คือ เราอยากเล่นเป็นมาตั้งนานแล้ว แต่เล่นไม่เป็นซะที และเวลาผมเล่นมันทำให้ผมไม่อยากไปไหน เพราะเวลาไม่มีงานทำก็ควรออกไปข้างนอก แต่ผมไม่มีงานทำ ผมก็ลงมาที่ห้องนี้ ก็ดี สนุก และก็มีความสุขด้วย บางทีผมก็เล่นคนเดียว ก็ไม่มีคนฟังเลย ร้องเพลงคนเดียว”

ทีมงานถามไปว่า เมื่อเริ่มเล่นเปียโนได้แล้วพัฒนามาแต่งเพลงได้อย่างไร พล.อ.เปรม ชมว่า คำถามนี้ดี

“ผมอยู่บ้านนอก ร้องเพลงมาตั้งแต่อายุ 13 เวลามีการประกวดที่ไหนผมก็ไปดู แล้วก็อยากทำอะไรที่มันสนุกๆ ก็ถามเป๊กว่า สอนเขียนเพลงได้ไหม เวลาเขียนเพลงทำอย่างไร มีทฤษฎียังไงบ้าง เป๊กก็มาช่วย”

ใต้แสงจันทร์ คือบทเพลงแรกที่ได้ประพันธ์ขึ้น พล.อ.เปรม ย้อนอดีตด้วยสีหน้าสดชื่น

“เวลาผมออกกำลังกายแล้วมานั่งพักอยู่ข้างนอกบ้าน วันหนึ่งผมก็นึกทำนองขึ้นมาได้เพลงหนึ่ง ผมก็รีบเข้ามาในห้องเพื่อมากดคีย์เป็นตัวโน้ต แล้วก็บอกเป๊กมาดูหน่อย เขียนเพลงได้เพลงหนึ่งแล้ว เป๊กก็มาและก็ยิ้ม เราก็เล่นให้ฟัง เป๊กก็บอก ไม่เลวครับป๋า ชื่อเพลงใต้แสงจันทร์ เป็นเพลงแรกที่ผมแต่งทำนองขึ้น ส่วนเนื้อร้องเป๊กเขาเขียนเอง แต่เขาเขียนมันโป๊เกินไป (หัวเราะ) ผมจึงขอแก้บางตอน”

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

หากใครได้ศึกษาเนื้อร้องเพลงต่างๆ ที่ พล.อ.เปรม แต่งขึ้น จะพบว่ามีภาษาที่สละสลวย มีสัมผัสสอดคล้อง เป็นจังหวะสวยงาม พล.อ.เปรม เล่าว่า ระมัดระวังมากเรื่องการใช้ภาษาไทย ต้องทำให้ดีและถูกต้อง และเวลาร้องออกเสียงต้องไม่เพี้ยน เช่น หมู่กลายเป็นหมู

หลายเพลงที่แต่งขึ้นมาจากสมัยหนุ่มๆ ย้อนไปถึงเมื่อ 70 ปีก่อน ตั้งแต่เป็นนายทหารยศร้อยโทอยู่เชียงตุง ในครานั้นเขียนด้วยปากกาบนแผ่นกระดาษ แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ กลอนแปด แต่ไม่ได้เอามาใส่ทำนอง ครั้นพอมีทักษะด้านดนตรีแล้วจึงได้นำเนื้อเพลงที่เคยแต่งไว้มาใส่ทำนอง ซึ่ง พล.อ.เปรม บอกว่า เนื้อร้องที่เคยแต่งไว้นั้นอยู่ในความทรงจำ เมื่อต้องนำมาใช้งานก็ยังจำได้ดี

พล.อ.เปรม เล่าว่า เนื้อหาเพลงส่วนใหญ่สะท้อนภูมิหลังชีวิตที่ได้รับใช้บ้านเมืองในแต่ละช่วง มีเศร้าบ้าง สนุกบ้าง หลายบทเพลงก็มาจากจินตนาการ

หลายเพลงที่ประพันธ์ขึ้น บรรยายถึงความรัก หวานซึ้ง ต้องชะตา ดั่งบุพเพสันนิวาส บรรยากาศงดงามชวนฝัน เช่น คืนนั้นฉันคอยเก้อ ใช่แล้ว ห้ามใจ ทีมงานถามว่า “เวลาที่ท่านแต่ง คิดถึงใครเป็นพิเศษ”

ป๋าเปรม ตอบสั้นๆ “เรื่องจริงก็มี เรื่องจินตนาการก็มี ช่วงนั้นผมยังหนุ่มอยู่”

ทั้ง 157 บทเพลง สำคัญต่อ พล.อ.เปรม เท่าเทียมกันหมด

“ไม่มีที่สุด ไม่มีที่ดี ที่เลว ผมชอบทุกเพลง แต่บางเพลงฟังแล้วบางคนอาจปรบมือ แต่ผมไม่สนใจ ไม่ได้เลือกว่าเพลงนี้ดีกว่าเพลงนั้น เพราะเป็นเพลงของผมเอง ก็ไม่รู้จะเปรียบเทียบทำไม ผมไม่ได้แข่งขัน”

ส่วนแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง พล.อ.เปรม นิ่งสักพักก่อนตอบ “มันมีทั้งแรงดลใจและแรงบันดาลใจนะ คือ ทำแล้วเรารู้สึกเป็นสุข สนุก สบาย ผมรู้สึกเคยชมตัวเองเหมือนกันนะว่า เราเก่งเหมือนกัน ก็ใช้ได้” ป๋าเปรมเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม

ดนตรีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ช่วยให้ พล.อ.เปรม ผ่อนคลาย ปกติแล้วจะซ้อมเปียโนในช่วงเย็น แต่ช่วงไหน คิดอะไรออก ก็ลงมาเล่นทันที บางช่วงสมองแล่น ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก็แต่งเพลงจบ ทว่าบางเพลงก็กินเวลาหลายวัน

“ถ้าคิดไม่ออกก็หยุดแค่นั้นวันหลังค่อยมาต่อ แต่ตอนนี้เป๊กมาบ่อยก็ได้ซ้อมบ่อย”

กระนั้น พล.อ.เปรม ยอมรับว่า คิดเลิกแต่งเพลงมาแล้วสองหน เหตุผลเพราะแต่งมาแล้วครบ 100 เพลงพอดี ครั้งแรกที่คิดวางมือจึงแต่งลาด้วยเพลงที่ 101 ใช้ชื่อว่า “จำใจลา” แต่ที่สุดก็อดไม่ได้มาแต่งเพลงต่ออีกจนถึงเพลงที่ 143 ใช้ชื่อว่า “ขอพักสักพัก” แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้พักจริงๆ สักที จนมาถึงเพลงที่ 157 ในปี 2556

“เด็กๆ นักดนตรีแซวว่าสักพักของป๋ายาวเท่าไร เขาไม่เชื่อ เขาก็พูดถูก (หัวเราะ) ผมก็แต่งมาจนถึงเพลงที่ 157 ก็คิดอะไรไม่ค่อยออกแล้ว ตอนนี้มันหมดพุงแล้ว มันเหมือนกับวัตถุดิบมันไม่มีแล้ว ก็เลยนึกว่าจะขอหยุดแค่นี้ ที่จริงผมคิดเนื้อหาไว้ได้ 2-3 เพลงแล้ว แต่ยังไม่ได้ใส่ทำนองเท่านั้นเอง”

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

พล.อ.เปรม ยังเล่าว่า ครั้งหนึ่งแต่งเพลงชื่อ เตรียมไว้เผื่อตาย “ผมต้องการบอกว่า ถ้าจะตายก็ต้องตายอย่างมีเกียรติ มีคนไปเผาเยอะๆ ไม่ใช่ตายแล้วมีคนด่า ผมอยากเอาเพลงนี้ไปไว้เล่นในคอนเสิร์ต แต่เป๊กไม่เห็นด้วยเขาไม่รู้จะเอาใส่ไว้ในช่วงไหน (หัวเราะ)”

“ฉายเดี่ยว” คือบทเพลงสุดท้ายซึ่งแต่งขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. 2556 จากวันนั้นจนถึงวันนี้เกือบปีแล้วที่ พล.อ.เปรม ไม่ได้ประพันธ์เพลงอีกเลย โดยเฉพาะในปี 2557 ที่สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะตึงเครียด

ทีมงานถามไปว่า ถ้าท่านไม่มีอารมณ์ก็จะไม่เล่นไม่แต่งเพลง หมายความว่า ท่านเศร้าอยู่ใช่ไหม พล.อ.เปรม ตอบทันที

“ตอนนี้ผมไม่ค่อยมีอารมณ์ เพราะมีปฏิวัติ และมันยุ่งยาก ผมเป็นห่วงบ้านเมืองว่าจากนี้มันจะไปแบบไหน ผมก็เลยไม่คิดจะเขียนเพลง เดิมแต่ก่อนเคยคิดเขียนเพลงเกี่ยวกับปฏิวัติ แต่ก็อย่าดีกว่า ไม่อยากเขียน เพราะว่าต้องไปตำหนิคนอื่น”

ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบ การแต่งเพลงใหม่ต้องรออีกนานไหม?

“ก็น่าจะนานนะ จนกว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย...”

หลังเสร็จการสนทนาราวครึ่งชั่วโมง ทีมงานขอให้ พล.อ.เปรม เล่นเปียโนและร้องเพลงให้ฟัง ซึ่งท่านแซวกลับมาว่า “ถ้าจะให้เล่นด้วยร้องด้วยคงยาก เดี๋ยวผมทำให้เป๊กหน้าแตก”

จากนั้น พล.อ.เปรม เดินมาที่เปียโนตัวโปรด กดแป้นบรรเลงเพลงรัก “ใต้แสงจันทร์” ทำนองไล่ละเลียด กินอารมณ์ ทุกคนฟังอย่างตั้งใจ พร้อมกับบันทึกคลิปวิดีโอภาพนาทีแห่งความประทับใจ

พลันสิ้นเสียงโน้ตทีมงานปรบมือ ป๋าเปรมบอก “เป๊กยิ้มเพราะไม่ได้ทำให้เขาหน้าแตก”

เราขอให้ป๋าเปรมร้องเพลงที่เพิ่งบรรเลงไปเมื่อสักครู่ แต่ครั้งนี้ให้ครูเป๊กมาบรรเลงเปียโนแทน พล.อ.เปรม ลุกขึ้นยืนจับไมค์ เสียงดนตรีที่พลิ้วไหวผสานเสียงร้องนุ่มลึก ในห้วงเวลานั้นทุกคนต่างยิ้มมีความสุข

หลังเสียงปรบมือดังก้อง พล.อ.เปรม เอ่ยถามครูเป๊กว่า เสียงเปลี่ยนไปไหม คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ “ไม่” แต่กระนั้น พล.อ.เปรม ก็เอ่ยว่า “ผมรู้สึกว่าเสียงผมเปลี่ยนไป อายุขนาดนี้ก็ต้องมีบ้างที่เสียงลง แต่ผมก็ดูแลเสียงด้วยการซ้อมทุกวัน”

ก่อนจาก ป๋าเปรม หันมาถามทุกคนในห้อง

“วันนี้ผมมีความสุขและพลอยสนุกไปด้วย ที่ร้องเพลงให้พวกคุณฟัง”

ประโยคที่ป๋าเปรมบอกในวันนั้น ทำให้นึกถึงสิ่งที่ท่านมักพูดอยู่บ่อยๆ และนำมาถ่ายทอดลงในหนังสือว่า

“ดนตรีทำให้ผมมีความสุข แต่ผมจะสุขที่สุด ถ้าดนตรีสามารถส่งผลดีต่อแผ่นดิน”

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

นอนสี่ทุ่มตื่นหกโมงเช้า

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี บ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่นายกรัฐมนตรีทุกคนเข้าพบ พล.อ.เปรม เพื่อขอคำแนะนำถึงการบริหารประเทศ

ยากนักที่จะเห็นชายในวัย 94 มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เดินเหินคล่องแคล่ว พูดจาชัดถ้อยชัดคำ ดังเช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หลายคนอยากรู้และถามเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านมีเคล็ดลับอย่างไรในการดูแลสุขภาพ หรือมีของดีของแพงขนาดไหนกันที่นำมาบำรุงร่างกาย ทว่าคำตอบที่ได้รับจากป๋าเปรมนั้นเป็นสิ่งง่ายๆในกิจวัตรประจำวันที่ทุกคนพึงปฏิบัติได้

“ผมรักการออกกำลังกายมาตั้งแต่เด็กๆ กีฬาที่ผมเล่นก็มีฟุตบอล ตะกร้อ สมัยผมก็มีแค่นั้น อ้อ อย่างเก่งก็มีบาสเกตบอล สมัยก่อนผมเล่นฟุตบอลเท้าเปล่า เตะตะกร้อลอดบ่วง สมัยนี้มีเล่นกันไหม แต่ตอนนี้ผมก็ออกกำลังกายด้วยการเดินรอบสนามในบ้านตอนเย็นๆ สักครึ่งชั่วโมง กินนอนเป็นเวลา นอนตอนสี่ทุ่ม ตื่นตอนหกโมงเช้า ตื่นนอนเวลานี้มานานแล้ว” พล.อ.เปรม กล่าว

การได้ออกกำลังกายมาต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลให้สุขภาพของ พล.อ.เปรม วันนี้ยังแข็งแรง แม้กระทั่งคนใกล้ชิดยังหยอกเอินด้วยคำพูด นึกว่าป๋าอายุ 60 ท่านก็ตอบกลับอย่างอารมณ์ดีว่า “ขออ่อนกว่านั้นหน่อยได้ไหม” สร้างบรรยากาศให้ห้องรับแขกครึกครื้นด้วยเสียงหัวเราะ

ทุกวันนี้ พล.อ.เปรม ไม่เคยละเลยการออกกำลังกายโดยใช้เวลาในช่วงเย็นประมาณ 30 นาที เดินในสวน ทั้งสวนด้านหน้าบ้านที่ปูพรมไปด้วยหญ้าสีเขียวบนพื้นที่กว้างและสวนขนาดกะทัดรัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้เขียวขจีด้านข้างบ้าน และอีกเคล็ดลับสุขภาพดี คือ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

“ผมก็เดินรอบสนามในบ้านตอนเย็นวันละครึ่งชั่วโมง นอนตอนสี่ทุ่ม ตื่นตอนหกโมงเช้า”

ป๋าเปรมยังเล่าถึงเคล็ดลับในการแก้ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตว่า สติคือสิ่งสำคัญที่ช่วยรักษาอารมณ์ไว้

“เวลามีปัญหาต่างๆ สิ่งที่ทำให้สงบนิ่ง คือ สติ ปัญญา ไม่ว่าจะเจออะไรเราต้องตั้งสติให้ได้ รักษาอารมณ์ การทำทุกอย่างต้องมีสติ พระพุทธเจ้าสอนให้มีสติ ปัญญา ยิ่งรบกับข้าศึกต้องตั้งสติให้ได้ อย่างรบกับข้าศึกยิ่งต้องตั้งสติให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะปอด”

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี ห้องรับรองเล็ก

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี ซีดีเพลงศิลปินไทยและต่างประเทศ

ในห้องรับแขกเล็กหรือห้องดนตรี ซึ่งทีมงานได้นั่งสนทนากับท่านประธานองคมนตรี มีแผ่นซีดีเพลงบนโต๊ะจำนวนมาก มีทั้งเพลงไทยสากลและเพลงสากลของหลายศิลปิน เราจึงถามไปว่ามีศิลปินที่ชื่นชอบเป็นพิเศษไหม

ได้รับคำตอบว่า “ผมชอบศิลปินทุกคน เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนที่ทำให้โลกสวย ทั้งต่างประเทศและในประเทศ เช่น คุณสุเทพ วงศ์กำแหง แนท คิง โคล แล้วก็...ใครนะที่เสียชีวิตไปแล้วร้องเพลงมายเวย์”

ทุกคนช่วยกันนึก จนได้รับคำตอบว่า “แฟรงก์ ซิเนตร้า แต่สมัยใหม่ผมไม่รู้จักใคร และผมฟังเพลงคลาสสิก โอเปร่าต่างๆ ไม่เป็น”

หลังจากที่ป๋าเปรมให้สัมภาษณ์ พร้อมทั้งเล่นเปียโนร้องเพลงให้ฟังแล้ว ท่านได้เรียกครูเป๊กให้เชิญทีมงานไปรับประทานอาหารที่ห้องดนตรี จากห้องรับแขกเล็กที่เรานั่งอยู่ เดินไปทางด้านหลังผ่านห้องรับแขกใหญ่ มีเคาน์เตอร์บาร์ มีโต๊ะยาวตั้งกลางห้อง รองรับได้เป็นสิบที่นั่ง ผนังด้านหลังมีภาพจิตรกรรมรูปม้าขนาดยาวติดอยู่ โซนด้านในติดบันไดนำสู่ชั้น 2 ซึ่งเป็นที่พักผ่อนส่วนตัว มีโซฟารับแขกเล็กๆ ชุดหนึ่ง

เราเดินผ่านห้องนี้ไปสู่ห้องดนตรี ซึ่งต่อเติมขึ้นมาบริเวณด้านหลังบ้าน ห้องนี้เรียกได้ว่าโอ่โถง สามารถจัดเป็นสถานที่รองรับแขก จัดงานเลี้ยงได้ ภายในมีโต๊ะกลม 2 ตัว รองรับได้ถึง 20 คน มีชุดเครื่องเสียงดนตรีพร้อมใช้งาน ห้องนี้ผนังเป็นกระจกใสมองทะลุเห็นสวนขนาดเล็กบริเวณข้างบ้านได้ สีขาวของดอกลีลาวดีที่บานสะพรั่งเต็มต้น ช่วยทำให้มื้อเที่ยงนี้อิ่มเอมเป็นพิเศษ ซึ่งป๋าเปรมเคยเล่นเปียโน ร้องเพลงให้แขกเหรื่อฟังแต่เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้นในห้องนี้

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี ห้องซ้อมดนตรีใหญ่ร่วมกับวงดุริยางค์กองทัพบก

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

ในโอกาสนี้เราได้พูดคุยกับนายทหารหลายท่านที่ดูแลบ้านสี่เสาเทเวศร์ ทุกคนล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ในคราแรกเกร็ง กลัว ตื่นเต้นมาก แต่พอได้มารู้จัก พล.อ.เปรม อีกทั้งท่านเอ่ยอนุญาตให้เรียก “ป๋า” ที่จะมีแต่คนสนิทเท่านั้นที่เรียกได้ อาการเกร็งเหล่านั้นก็หายเป็นปลิดทิ้ง

“พ.จ.อ.สุคนธ์ สีสุขดี” เจ้าหน้าที่บริการประจำตัว พล.อ.เปรม ซึ่งประจำที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์มานานถึง 13 ปี โดยตำแหน่งนี้มีทั้งหมด 4 คน ผลัดกันเข้าเวรละ 2 คน ประจำ 24 ชั่วโมง เปิดเผยว่า ป๋าไม่ได้ดูแลสุขภาพพิเศษอะไร ก็เหมือนคนทั่วๆ ไป ท่านเป็นคนกินง่ายด้วยซ้ำ

“ป๋ากินได้หมดทุกอย่าง ไม่ได้มีอะไรเป็นของโปรด มื้อเช้าป๋าจะกินตอน 7 โมงเช้า ตอนเที่ยง และมื้อเย็นตอนหนึ่งทุ่ม แล้วก็จะมีมื้อระหว่างวันตอนสิบโมงเช้า กับบ่ายสามครึ่ง ป๋าเป็นคนกินน้อย อาหารถูกปากอาจจะมากหน่อย ส่วนมากกินอาหารไทย มื้อเช้าเป็นปลา ผักต้ม มื้อกลางวันจะเป็นอาหารจานเดียว เช่น ราดหน้า ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว มื้อเย็นน้ำพริกปลาทู ไข่ต้องมีทั้งมื้อเช้าและเย็น ป๋ากินข้าวประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ แต่ถ้าหิวระหว่างวันก็จะมีคุกกี้ ลูกหยี ข้าวตังเสวยที่ป๋าชอบกิน”

นอกจากนี้ กิจวัตรระหว่างวัน พล.อ.เปรม มักอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่อวัน ดูโทรทัศน์ที่ชั้น 2 รายการที่ดูคือข่าว รวมถึงกีฬา โดยเฉพาะการแข่งขันกอล์ฟ สนุกเกอร์ เทนนิส ส่วนฟุตบอลก็ดูบ้าง นอกจากนั้นห้องที่ พล.อ.เปรม ชอบมากที่สุดคือ ห้องรับแขกเล็ก ซึ่งเป็นห้องดนตรีเก่าอยู่โซนด้านหน้าของตัวบ้าน ท่านจะมาร้องเพลง เล่นเปียโน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน ห้องนี้เปรียบเสมือนห้องแห่งความสุขของ “ป๋าเปรม”

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี ห้องซ้อมดนตรีกับเปียโนคู่ใจ

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี ห้องรับแขกด้านหลัง

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี พล.อ.เปรมในวัยหนุ่ม

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี สมัยเป็นนายทหารม้า

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี รูปม้าจำลองทำด้วยหินอ่อน

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

 

157บทเพลงบันทึกห้วงแห่งชีวิต

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี

หนังสือเล่มหนาปกสีทอง มีรูป พล.อ.เปรม กำลังบรรเลงเปียโน ใช้ชื่อว่า “บทประพันธ์เพลง รัฐบุรุษศิลปิน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” บักทึกและจัดทำโดย มูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์ กองดุริยางค์ทหารบก เพื่อพัฒนาการดนตรี มีวางขายเฉพาะศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ครั้งแรก พล.อ.เปรม มีความตั้งใจเพียงจัดทำหนังสือและแจกจ่ายให้แก่คนกันเอง แต่ “ครูเป๊ก” เสนอว่า น่าจะทำออกจำหน่าย เพื่อเป็นการเผยแพร่ในวงกว้าง ให้ผู้คนได้รู้จัก พล.อ.เปรม ในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งมุมในการเป็นนักประพันธ์ดนตรีนี้ยังมีน้อยคนนักที่ทราบ ในการวางหนังสือบนแผงหนังสือแม้จะไม่มีใครซื้อแต่การที่เขาได้เห็นหน้าปกหรือเปิดอ่านเนื้อในก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการเผยแพร่

หนังสือเล่มหนาจำนวน 392 หน้า มีโน้ตเพลงพร้อมเนื้อร้องซึ่ง พล.อ.เปรม ประพันธ์ไว้ทั้ง 157 บทเพลง แต่ละเพลงบรรยายไว้ว่า แต่งขึ้นเมื่อช่วงเวลาใด ด้วยแรงบันดาลใจแบบไหน ในบทเพลงนำเสนอเนื้อหามุมมองอะไร นอกจากนี้ภายในเล่มยังมีคำนิยม บทความต่างๆ อาทิ รัฐบุรุษศิลปิน หนึ่งเดียวของประเทศ บทวิจารณ์เพลง รวมภาพกิจกรรม ผลงานการบันทึกเสียง เป็นอาทิ

“ในคืนนี้ มีจันทร์สวยเย็นเด่นฟ้า โอ้จันทร์จ๋า จันทราพารักลอยไป หนใดแห่งไหนนะจันทร์ จันทร์บอกที...”

บางส่วนจากบทเพลงชื่อ “ใต้แสงจันทร์” เป็นเพลงแรกในชีวิตของ พล.อ.เปรม ที่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ แม้เพลงแรกจะแต่งแต่ทำนอง ทว่าเมื่อมีเพลงแรก เพลงที่สอง ที่สาม ก็ตามมาได้ไม่ยากนัก จนถึงเพลงที่ 157 และจนเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้

แม้เคยมีความคิดอยากหยุดประพันธ์เพลง แต่เหตุผลที่ทำให้หยุดไม่ได้ คือ ความสุขและความรักที่ยังอยากทำ

ในชีวิตของรัฐบุรุษท่านนี้มีเหตุการณ์มากมายหลากหลายผ่านเข้ามาในชีวิต การได้ดำรงตำแหน่ง ทำหน้าที่สำคัญในบ้านเมือง เรียกว่าในบทเพลงแต่ละบทต่างได้บันทึกและสื่อสารชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งในห้วงเวลาหนึ่งออกมา เพียงแต่ใครเล่าจะรู้ได้ว่า นัยแห่งบทเพลงนั้นต้องการสะท้อนถึงอะไร

แต่ที่ประจักษ์ชัดคือ ความรักชาติรักแผ่นดิน คือสิ่งสำคัญที่ พล.อ.เปรม ได้ถ่ายทอด ดังเช่นชื่ออัลบั้มรวมเพลง ตั้งแต่ชุดแรกจนถึงชุดที่ 15 มีชื่อเดียวกันว่า “อัลบั้มรักเพลง รักแผ่นดิน” เฉกเช่นเดียวกับคอนเสิร์ตการกุศล ที่จัดขึ้นเพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์ กองดุริยางค์ทหารบก เพื่อพัฒนาการดนตรี ซึ่งจัดมาถึงครั้งที่ 7 แล้ว ก็ใช้ชื่อเดียวกันว่า “คอนเสิร์ตรักเพลง รักแผ่นดิน”

ในปีนี้หากไม่มีอะไรผิดพลาด กลางเดือน พ.ย.จะมี “คอนเสิร์ตรักเพลง รักแผ่นดิน ครั้งที่ 8” ซึ่งอาจได้เห็น พล.อ.เปรม ทำการขับร้องและบรรเลงเปียโนอีกครั้ง

เข้าบ้านสี่เสาฯเปิดใจ"ป๋า"วันที่ไม่อยากเล่นดนตรี