posttoday

เปิดสาแหรกคดีสกัดซ่าหัวโจกแดง

23 พฤษภาคม 2553

แม้สถานการณ์ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเหตุจลาจลเผาเมืองทั่ว กทม.จะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาดคือ การดำเนินคดีแกนนำ นปช.ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามครรลองของกฎหมาย

แม้สถานการณ์ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเหตุจลาจลเผาเมืองทั่ว กทม.จะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาดคือ การดำเนินคดีแกนนำ นปช.ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามครรลองของกฎหมาย

โดย...อิทธิกร  เถกิงมหาโชค

แนวร่วม นปช.ได้นัดชุมนุมใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.เป็นต้นมา โดยตั้งเวทีปราศรัยอยู่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง มีมวลชนเข้าร่วมชุมนุม 1.5–2 หมื่นคน และชุมนุมยือเยื้อเพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน      

ถัดมาวันที่ 3 เม.ย. นปช.บางส่วนได้ตั้งเวทีปราศรัยบริเวณแยกราชประสงค์ บนผิวการจราจรถนนโดยหันหน้าเวทีไปทางประตูน้ำ คู่ขนานอีกเวทีหนึ่ง ก่อนที่จะเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.หลายจุด วันที่ 10 เม.ย. ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว มีการปะทะกันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหลายราย 

 

เปิดสาแหรกคดีสกัดซ่าหัวโจกแดง

วันที่ 14 เม.ย. กลุ่ม นปช.ได้ย้ายเวทีจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศมารวมตัวที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญ ทำให้เส้นทางจราจรถูกปิดตาย นำไปสู่ความพยายามยึดคืนพื้นที่หลายหนแต่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งวันที่ 19 พ.ค. เจ้าหน้าที่ทหารได้กดดันโดยกระชับวงล้อมตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นเหตุให้แกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อเวลา 13.35 น. และเดินทางเข้ามอบตัวกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านความมั่นคง เพื่อยุติความสูญเสียจากเหตุปะทะรายวันกับทหาร 

ทั้งที่ก่อนหน้านี้แกนนำ นปช.และแนวร่วม นปช. 60 คน ถูกออกหมายจับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11 (1) มีทั้งสิ้น 60 ราย ถูกจับกุมไปแล้ว 8 ราย คือ กลุ่มการ์ด นปช.ที่ถูกโยงกับการขนอาวุธยิงต่อสู้ทหาร เช่น นายชยุต ใหลเจริญ, นางวิกานดา ปักกาลัง, นายวายุภักดิ์ โนรี, นายภาสกร หรือ สมนึก ศิริรักษ์

รวมทั้ง พ.ต.ท.ศุภชัย ผุยแก้วคำ, นายมีชัย สินนาค, น.ส.ดวงมณี บุณรัตน์ และ นายพิเชษฐ์ หรือ ภูมิกิตติ สุขจินดาทอง คนสนิท พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง หัวหน้าการ์ด นปช.ราชประสงค์ รวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตแล้ว 1 ราย คือ พล.ต.ขัตติยะ ซึ่งถูกสไนเปอร์ลอบยิงย่านศาลาแดง 

นอกจากนี้ นายเมธี อมรวุฒิกุล อดีตดารานักแสดง แนวร่วม นปช.คนดังก็ถูกจับกุมไปแล้วเช่นกัน ส่วนแกนนำและแนวร่วม นปช.คนอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากมอบตัว แต่สุดท้ายก็ไม่พ้นบ่วงกรรมที่ก่อไว้ ไม่ถูกตำรวจกองปราบปรามตามรวบได้ก็ต้องเดินก้มหน้าเข้ามอบตัวเสียเอง...

เอาเฉพาะแค่โทษฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน  2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นไปตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฯ

เมื่อกางโผรายชื่อออกมาล้วนเป็นแกนนำ นปช.ระดับตัวเอ้ 5 คนถัดมาที่ ชิงมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำกลุ่มคนรักอุดร นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก และนายนิสิต สินธุไพร ผู้อำนวยการโรงเรียน นปช.  

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. พร้อมด้วย นพ.เหวง โตจิราการ และ นายก่อแก้ว พิกุลทอง เลือกมอบตัวถัดมาอีกวันที่กองปราบปราม แต่ทั้งหมดก็ถูกนำไปควบคุมตัวไว้ที่กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี รอการสอบสวนเพิ่มเติมและนำไปฝากขังต่อศาลอาญาตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ในจำนวนนี้ ต้องไม่ลืมว่า มีแกนนำระดับ "ฮาร์ดคอร์" บางรายติดหมายจับในคดีอาญาอื่นๆ รวมทั้งคดีพิเศษ ซึ่งเป็นอำนาจสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทางพนักงานสอบสวนตำรวจ ได้ส่งมอบให้ดีเอสไอไปแล้ว จำนวน 84 คดี 

แกนนำ นปช. 7 ราย ที่ต้องพ่วงโดนคดีอาญา กรณีปิดล้อมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา คือ นายยศวริส หรือ เจ๋ง ดอกจิก, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นางศิริวรรณ นิมิตร์ศิลปะ ซึ่งถูกจับกุมตัวไปแล้ว พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ นายธนกฤต ชะเอมน้อย หรือ วันชนะ เกิดดี ส่วน นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อิสาน ที่ยังหลบหนีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะนี้อยู่ในข่ายถูกดำเนินคดีเช่นกัน

ความคืบหน้าล่าสุด ทาง ดีเอสไอ เตรียมขออนุมัติออกหมายจับเหล่าแกนนำ นปช. 10 ราย เพิ่มอีกกระทงในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งปรากฎชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวการด้วย แต่ภายหลังศาลอาญาแจ้งกลับมาว่าให้เพิกถอนหมายจับในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกไปก่อน

แต่ส่วนที่เหลืออีก 9 ราย ไม่รอดข้อหานี้ ประกอบด้วย นายอดิศร เพียงเกษ, นายวิภูแถลง, นายพายัพ, นายยศวริส หรือ เจ๋ง ดอกจิก, นายวิเชียร ขาวขำ, นายอารี ไกรนรา หัวหน้าการ์ด นปช., นายสุขเสก พลซื่อ, นายสุรชัย เทวรัตน์ และ นายรชต หรือ กบ วงศ์ยอด

พล.ต.อ.อดุลย์ ในฐานะ รอง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตำรวจยังไม่ได้จับกุมตัว นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช.เข้าไปควบคุมตัวที่ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และยังไม่ได้รับการติดต่อขอเข้ามอบตัวจากแกนนำ นปช.คนอื่นๆ เช่นกัน

ขณะนี้เป็นขั้นตอนการควบคุมตัวตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นอำนาจของดีเอสไอ เป็นผู้รับผิดชอบสอบสวน โดยในส่วนของ สตช.ทาง พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ตำรวจสอบสวนกลาง และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.เข้าร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งสามารถควบคุมตัวได้ 4 ครั้งๆ ละไม่เกิน 7 วัน และยังไม่ถือว่าเป็นผู้ต้องหา ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ในฐานะผู้ต้องสงสัย ไม่ได้ให้ใช้เครื่องพันธนาการ และไม่ได้อนุญาตให้ใช้เครื่องมือสื่อสารโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้มีทนายความร่วมรับฟังการสอบสวน

พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก สตช.กล่าวว่า แม้ว่าจะมีแกนนำ นปช.พยายามติดต่อเข้ามอบกับตำรวจในช่วงหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ตาม แต่ทางตำรวจโดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และกองปราบปราม ก็ยังจัดชุดสืบสวนออกติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับเหมือนเดิมไม่มีการยก เว้นให้

เจอที่ไหนก็ต้องจับกุมดำเนินคดี ตามกฎหมาย!