posttoday

ดัน"สมาร์ทคลาสรูม"ระวังลงทุนสูญเปล่า

02 มิถุนายน 2557

รูปแบบของสมาร์ทคลาสรูมเปรียบได้กับการเปลี่ยนเฉพาะกระดานสอนและเครื่องพีซีหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นแท็บเล็ตเท่านั้น

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อยู่ระหว่างศึกษาความคุ้มค่าความเหมาะสม ว่าจะเดินหน้าโครงการ “แท็บเล็ต” ต่อไป หรือปรับเปลี่ยนมาเป็น “สมาร์ทคลาสรูม” หรือห้องเรียนอัจฉริยะ ก่อนเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณา

ที่ผ่านมานโยบายแจกแท็บเล็ตถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก ป.1 ส่งผลให้อุปกรณ์ชนิดนี้กลายเป็นดาบสองคม ส่งผลเสียต่อสุขภาพและบุคลิกของเด็ก

สำหรับแท็บเล็ตที่แจกไปแล้วถูกวิจารณ์เรื่องความไม่พร้อมทั้งด้านเนื้อหาที่บรรจุไว้ในเครื่องที่ค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับเด็กที่ใช้งานระบบออฟไลน์ ประกอบกับอายุการใช้งานผ่านไปกว่าหนึ่งปีเริ่มพบว่าเครื่องทำงานช้า
ขณะที่การใช้งานในระบบออนไลน์กลับพบว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไว-ไฟ ก็ยังไม่พร้อมใช้งาน ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จนมีรายงานว่าโรงเรียนหลายแห่งเริ่มทยอยเลิกใช้

โรงเรียนทั่วประเทศที่ได้รับแจกไปแล้วต้องดูแลแท็บเล็ตในฐานะที่เป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียนไปจนกว่าจะครบกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่แจกจึงจะมอบให้เป็นสมบัติของเด็ก นั่นหมายความว่าในอนาคตอันใกล้นี้เด็กจะได้รับอุปกรณ์ตกรุ่น-แบตเตอรี่เสื่อม กลายเป็นสิ่งของเปล่าประโยชน์อีกมากมาย

สำหรับสมาร์ทคลาสรูม (Smart Classroom)    หรือห้องเรียนอัจฉริยะ ถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นนวัตกรรมของการศึกษายุคใหม่ของโลก เป็นระบบ Interactive Learning ที่ผู้เรียนใช้แท็บเล็ตสำหรับเรียน โดยมีอาจารย์ใช้สมาร์ทอีบอร์ด (Smart E-Board) เชื่อมต่อกัน ปรับจากกระดานดำหรือไวต์บอร์ดเป็นจอแอลซีดีทีวีขนาดใหญ่ รวมถึงให้นักเรียนใช้แท็บเล็ตแทนสมุดจด เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เกิดความร่วมมือระหว่างนักเรียน เช่น การแชร์ข้อมูลการทำงานระหว่างเพื่อน

อย่างไรก็ดี รูปแบบการเรียนการสอนก็ยังขึ้นอยู่กับการวางระบบและเนื้อหาให้สอดคล้องและมีทิศทางเดียวกับเรื่องหรือเนื้อหาที่ต้องการสอน ผสมผสานกับการปรับใช้โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้น การใช้อีบุ๊ก   อีเลิร์นนิง หรือเนื้อหาในโลกออนไลน์เป็นสื่อผสม เป็นสื่อกลางการสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งต่างต้องใช้ศักยภาพของเครื่องมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หากจำเพาะเจาะจงที่อุปกรณ์ให้เห็นภาพชัด รูปแบบของสมาร์ทคลาสรูมเปรียบได้กับการเปลี่ยนเฉพาะกระดานสอนและเครื่องพีซีหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นแท็บเล็ตเท่านั้นเอง

ว่ากันง่ายๆ คือปรับเปลี่ยนเฉพาะ “อุปกรณ์” ให้  ทันสมัยขึ้น แต่วิธีคิดและวิธีสอนยังเหมือนเดิม

ดังนั้นอาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า ทั้งแท็บเล็ตและสมาร์ทคลาสรูมอาจจะเป็นอุปกรณ์สูญเสียงบประมาณในการจัดซื้อไปโดยเปล่าประโยชน์ที่ไม่แตกต่างกันนัก เพราะทั้งสองตัวเลือกนี้ต่างก็ขึ้นอยู่กับการจัดการเนื้อหา วางแผนการเรียนการสอนและครูผู้สอนเป็นหลัก

ที่สำคัญจำเป็นต้องมีงานวิจัยที่รองรับชัดเจนว่าเด็กที่ใช้และไม่ใช้แท็บเล็ต โรงเรียนที่มีและไม่มีสมาร์ทคลาสรูม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนที่มีความแตกต่างกันอย่างไร

ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาด้วยว่า งบประมาณการจัดซื้อแท็บเล็ตปี 2557 ที่คณะรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยอนุมัติงบประมาณแล้ว 3,800 ล้านบาทนั้น หากนำเงินไปสร้างสมาร์ทคลาสรูม ในงบประมาณห้องละ 4 แสนบาท ตามตัวเลข ที่ สพฐ.เคยประเมิน สามารถสร้างได้เพียง 7,500 ห้อง ขณะที่มีโรงเรียนในสังกัดกว่า 3 หมื่นโรงทั่วประเทศ

อะไรคือเกณฑ์การสร้าง อะไรคือความเหมาะสม อะไรคือความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ตรงนี้ยังไม่มีคำตอบ