posttoday

ขอเป็น"หมาเฝ้าบ้าน"ติดตามงานคสช.

01 มิถุนายน 2557

ภารกิจของ กปปส.ยังไม่จบสิ้น ต่อไปนี้เราจะเป็นหมาเฝ้าบ้าน คอยติดตามการทำงานของ คสช.

โดย...ธนพล บางยี่ขัน/วิษณุ นุ่นทอง

การเคลื่อนไหวของ “มวลมหาประชาชน” ต้องสะดุดลงกลางคันหลังมีการยึดอำนาจ 22 พ.ค. ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการออกมาล้มกระดานของกองทัพรอบนี้ “เข้าทาง” กปปส. ที่กำลังถึงทางตันเมื่อปรับกลยุทธ์ที่งัดมาใช้ในช่วงกว่า 6 เดือนที่ผ่านมายังไม่อาจปิดเกม ไม่อาจเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย นายกฯ คนกลาง เดินหน้าปฏิรูป ล้มล้างระบอบทักษิณ

ถาวร เสนเนียม ซึ่งตัดสินใจทิ้งสถานะความเป็น สส. ออกมาต่อสู้ข้างถนนกับประชาชนในฐานะแกนนำ กปปส. ให้สัมภาษณ์ไม่กี่วันหลังพ้นการควบคุมตัวของทหารว่า ในช่วงนาทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เข้ายึดอำนาจนั้น พี่น้องหลายคนดีใจ หลายคนร้องไห้เสียใจ เพราะประชาชนต้องการชนะด้วยมือของเขาเอง อย่าไปคิดว่าเขาดีใจ เพราะเขาไม่รู้ว่าทหารจะจริงใจเหมือนประชาชนหรือเปล่า นี่คือเรื่องจริง และมีคนยังไม่อยากกลับบ้านอีกเยอะ

เขาบอกว่า ที่ผ่านมาเคยให้สัมภาษณ์มาตลอดว่า ไม่ต้องการรัฐประหาร สิ่งที่ กปปส.เรียกร้องคือให้ทหารมีจุดยืนร่วมกับ กปปส. และต้องการจับมือกันระหว่างคนเสื้อแดงให้มาร่วมกันคิดเพื่อหารือในการปฏิรูปประเทศและเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก หานายกฯ คนกลาง นำรัฐธรรมนูญมาตรา 172 โดยอนุโลมให้ สว.เป็นผู้เลือก เพราะหากเมื่อไรเกิดรัฐประหาร ระบอบทักษิณก็จะใช้อ้างตลอดว่าเขาถูกรังแกจากฝ่ายมั่นคง ฝ่ายทหาร และจะขอโอกาสนี้ให้ประชาชนเห็นใจเขา และเขาจะกลับมาใหม่ด้วยการมีนโยบายประชานิยม

ถาวรเสนอความคิดว่า หลังจากนี้การผลิตนโยบายจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้ด้วย และจะต้องมีการอธิบายถึงเงินงบประมาณในช่วงการหาเสียงว่าเงินก้อนนี้มาจากไหน เช่น โครงการรับจำนำข้าว ใช้เงินไปแล้วเท่าไร ไม่ใช่แค่ให้ความหวังประชาชน สมมติพรรคเพื่อไทยบอกว่าให้ราคาเกวียนละ 1.5 หมื่น อีกพรรคบอก 3 หมื่น อีกพรรคบอก 5 หมื่น กกต.จะต้องมีอำนาจตั้งกติกาให้นโยบายหาเสียงกำหนดที่มาของเงิน รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียอะไรบ้าง ปฏิบัติได้หรือไม่ ไม่ใช่หลอกประชาชน และเมื่อได้รับเลือกเข้ามาก็จะสร้างภาระให้กับผู้เสียภาษีคนอื่นๆ

แกนนำ กปปส.ประเมินว่า การขับเคลื่อนยาวนานกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา อย่างน้อยแค่ได้เปิดโอกาสให้คนกล้าออกมาแสดงความคิดเห็น การที่คนได้รับรู้ข่าวสารการเมืองนับล้านๆ คนนั่นถือว่าเป็นชัยชนะแล้ว การเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วประเทศ ต้องเริ่มต้นที่ติดอาวุธทางความคิด ประชาชนมีความรู้นั่นคือชัยชนะ หรือการสกัดกั้นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มา สว.สำเร็จ ส่วนจะสัมฤทธิผลถึงจุดสุดท้ายหรือไม่ เมื่อถูกสกัดกั้นจาก คสช. จากนี้ก็ต้องคอยติดตามการทำงานของ คสช.อย่างใกล้ชิด

“ภารกิจของ กปปส.ยังไม่จบสิ้น ต่อไปนี้เราจะเป็นหมาเฝ้าบ้าน คอยติดตามการทำงานของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดย คสช. สภานิติบัญญัติ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภาปฏิรูป ว่าอยู่ในแนวที่ กปปส.เรียกร้องหรือไม่ หรือประชาชน ประเทศชาติได้ประโยชน์หรือไม่ หากประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้เป็นไปตามแนวที่เราเรียกร้อง การรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวก็อาจเกิดขึ้นได้ วันนี้พวกเรายังจับมือกันเหนียวแน่นเพื่อติดตามสิ่งที่เราเรียกร้องและเสนอไป”

ถาวร อธิบายว่า หากมีการเคลื่อนไหวจะไม่เป็นการทำความผิดตามกฎอัยการศึก หรือประกาศคำสั่งของ คสช. เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว คสช.ไม่ได้ร้องขอให้หยุดคิดทางการเมือง เพียงแต่ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ ห้ามไม่ให้หวังให้ประเทศเดินไปในทางที่ดีได้

กับคำถามถึงท่าทีจุดยืนของ กปปส.ว่าจะเข้าไปร่วมเป็นคณะทำงานในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถาวรยืนยันว่าไม่ควรเข้าไปร่วม เพราะการเข้าย่อมทำให้ดูไม่สง่างาม อย่างไรก็ตาม กปปส.ยังสามารถติดตามเสนอแนะได้ แต่ไม่ควรมีอำนาจ เช่นเดียวกับ นปช. หรือคู่ขัดแย้งฝ่ายอื่นๆ ก็ไม่ควรเข้าไปเช่นเดียวกันเพราะผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเข้าไปจะรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหญ่ คสช.ต้องสร้างให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เช่น ให้สำนึกถึงสิทธิเลือกตั้งที่เอาไปขาย 500-800 บาท จะเสียหายมาก หรือกากบาทเลือกตั้งเสร็จแล้ววางเฉยๆ ไม่ติดตามพฤติกรรม สส. ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย

ถามไกลไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป หาก “เพื่อไทย” ยังชนะเลือกตั้งอีก ถาวรตอบทันทีว่า เราต้องไปดูก่อนว่า ถ้าหากสมมติระบอบทักษิณยังเป็นเจ้าของพรรค แสดงว่าเราแพ้ตั้งแต่ต้นยังไม่มีการปฏิรูป แต่มิได้หมายความว่าจะสกัดกั้นไม่ให้คนในตระกูลชินวัตรมาเล่นการเมือง พรรคการเมืองจะต้องถูกตีกรอบให้อยู่ในกรอบของพรรคประชาชน แต่หากถ้ายังเป็นพรรคทักษิณ ก็เข้าสู่ระบบเดิม มีนายทุนเป็นเจ้าของ สส. นั่นแสดงว่าไม่ได้เริ่มต้นปฏิรูป

จากการเริ่มต้นลาออกมาต่อสู้ข้างถนนเต็มตัวจนถึงวันนี้เกือบ 7 เดือน ถาวรมองว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในครรลองที่ดี มีประชาธิปไตย ประชาชนโหยหา คนกล้ามาปฏิรูปประเทศไทย และพร้อมเป็นพร้อมตายเสียสละทุกอย่างเยอะมาก สุเทพ เทือกสุบรรณ พูดบ่อยมาก ไม่คาดคิดคนจะมากมายขนาดนี้ มีคนบริจาคมากกมายขนาดนี้

“มีแต่คนฝากความหวังไว้กับเรา โทรศัพท์มาให้กำลังใจ เจอเราเข้ามากอด หลายคนเอาพระเครื่อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาให้ บางคนเขียนคาถามาให้ บางคนทำอาหารมาให้ เอาเสื้อมาให้ เอายามาให้ มาคุ้มครองเรา ในช่วงเดินไปไหน” ถาวร กล่าว

ขอเป็น"หมาเฝ้าบ้าน"ติดตามงานคสช.

ให้เวลาไม่เกินปีครึ่ง "สส.ต้องมาจากกลุ่มอาชีพ"

อีกด้านหนึ่ง กปปส.จะเตรียมสรุปประเด็นข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศต่อ คสช. เพื่อให้นำไปประกอบการพิจารณา โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเร็วเท่าไร แต่ถาวรเห็นว่าไม่ควรเกินปีครึ่ง

ประเด็นแรกคือ พรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชนไม่ใช่นักการเมือง การจดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตั้ง ไม่ใช่แค่คน 50 คนตั้งได้ หรือมีสมาชิกแค่ 5,000 คน แค่นี้ไม่พอ ต้องตั้งโดยประชาชน อาจจะสักหมื่นคนหรือจะกี่คนก็ให้นักวิชาการช่วยคิดอีกที เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองเกิดขึ้นมาก และไม่ได้ดำเนินกิจกรรมเป็นพรรคการเมืองที่แท้จริง จะเห็นอยู่แล้วเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ อีกทั้งเป็นเรื่องการกล่าวอ้างว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองโน่นนี่ซึ่งมันไม่ใช่ รวมถึงการบริจาคเงินเข้าพรรค ต้องตรวจสอบเข้มข้น นั่นเพราะไม่ต้องการให้ใครเป็นเจ้าของทุนเข้ามาครอบงำ

“เลือกตั้งระบบเดิมยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า เพราะการเป็น สส.ไม่ได้สะท้อนความต้องการของกลุ่มประชาชน ที่เป็นผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมขณะนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 รัฐบาลมาจากฐานเสียงของชาวนา ในภาคอีสาน ชาวนาเดือดร้อน นักการเมืองไม่ได้คำนึงถึงที่มาของเขาเลย ดังนั้นควรจะต้องมี สส.ที่มาจากกลุ่มวิชาชีพด้วย ซึ่งอาจจะเปิดให้เลิกกันเองในสาขาอาชีพ และผสมผสานกับการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนประเด็นนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งไหม ยังคิดกันไม่จบ”

ประเด็นที่สองเรื่อง การเป็นผู้เสียหาย ในคดีที่ทุจริตการเลือกตั้งให้ประชาชน เจ้าของอำนาจทั่วไป เป็นผู้เสียหายฟ้องคดีได้ เพราะมีตัวอย่างที่ผ่านมาตัวเองเป็นคนฟ้อง กกต. ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ลงโทษ กกต. มาถึงศาลฎีกา บอกว่า ถาวร เสนเนียม ไม่ใช่ผู้เสียหาย ดังนั้นจึงควรให้เจ้าของประเทศเป็นผู้เสียหายได้ และต้องลงโทษสถานหนัก คือตัดสิทธิการเมือง มีโทษทางอาญาด้วย แต่จะถึงขั้นยุบพรรค ยังไม่คิดกัน

ส่วนประเด็นเรื่ององค์กรอิสระยังคงต้องมีอยู่ แต่อาจจะต้องดูที่มาที่ไปเพราะการสรรหาที่ผ่านมาถ่วงดุลให้ฝ่ายตุลาการมากไป ขณะที่เรื่องการโยกย้าย ข้าราชการ เห็นว่าควรมีการตั้งสภาข้าราชการในแต่ละกลุ่ม หาก ก.พ. ก.พ.ร. ไม่ทำหน้าที่ ก็ต้องหาแนวทางกระจายอำนาจการรวมศูนย์ออกไป

อย่าให้ต้องหนีเสือปะจระเข้ "การบ้าน5เรื่องเฉพาะหน้า"

รัฐประหารผ่านมากว่าสัปดาห์ทิศทางการทำงานของ คสช.เริ่มเห็นเค้าลางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. มองว่า ภารกิจเร่งด่วนที่ คสช.ต้องรีบแสดงให้เห็นว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาเกิดจากความชั่วร้ายของรัฐบาลที่เห็นได้ชัดคือ การทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนไป 5 แสนล้านบาท ข้าวหายไป 3 ล้านตัน

ทั้งนี้ ปัญหาอุปสรรคขององค์กรอิสระคือ ป.ป.ช.ทำงานล่าช้า อาจเกิดจากข้าราชการที่ไปเป็นอนุกรรมการของ ป.ป.ช.แกล้งทำงานช้า หรืออาจจะเป็นลูกน้องเก่าของรัฐบาล จึงเป็นเหตุให้การพิสูจน์ความผิดช้ามาก เป็นการไม่ดูแลความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ต้องการเห็นการลงโทษรัฐบาลทุจริต ดังนั้น คสช.ต้องใช้อำนาจเด็ดขาดที่มีอยู่พิสูจน์ความผิดและประกาศให้ประชาชนทราบว่านี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องเกิดการรัฐประหารครั้งนี้

เรื่องที่สอง การปล่อยให้คนร้ายยิงขว้างระเบิดเอ็ม 79 ใส่บ้านแกนนำ กปปส.และมวลมหาประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 23 คน บาดเจ็บกว่า 700 คน ซึ่งมั่นใจว่าเกี่ยวข้องกับการสั่งการของนักการเมืองในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ขอให้รีบสืบสวนสอบสวนแล้วแถลงให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะด้วยความรวดเร็ว โดยเฉพาะคดีที่มีหมายจับชัดเจน ยิงกลางวันขว้างระเบิดกลางวัน คสช.ต้องแสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงาน

เรื่องที่สาม การแต่งตั้งโยกย้ายที่ใช้ระบบอุปถัมภ์เป็นเหตุให้ข้าราชการดีๆ หมดกำลังใจหมดโอกาสและขาดความก้าวหน้า เมื่อคนของระบอบทักษิณเข้าสู่ตำแหน่งก็จะทำงานรับใช้การเมืองในระบอบตัวเอง แทนที่จะทำงานรับใช้ประชาชน ดังนั้น จะต้องทำลายตรงนี้และให้โอกาสคนดีที่เสียโอกาส และลงโทษข้าราชการใช้เส้นสาย ด้วยการตั้งกรรมการสอบพิสูจน์ให้ประชาชนเห็น

เรื่องที่สี่ โครงการส่อทุจริตงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท ที่ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม ด้วยการอ้างเหตุอุทกภัยปี 2554 ซึ่งหลังจากนั้นทุกคนทราบดี นักการเมืองสาย “เจ๊ ด.” ได้เปอร์เซ็นต์ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในกระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร โดยกรมชลประทาน หรืออาจจะเจ้าของพรรคการเมืองที่ชักใยอยู่เบื้องหลังในการทุจริต ดังนั้น เงิน 1.2 แสนล้านบาท ที่มีการรั่วไหลกว่า 40% คสช.จะต้องหาคนชั่วคนผิดมาลงโทษให้ได้

เรื่องที่ห้า การประมูลโครงการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ที่จะฮั้วกันโดยบริษัทต่างชาติและบริษัทภายในประเทศมีเอกสารชัดเจนที่ถูกสกัดกั้นโดยศาลปกครองและเรื่องอยู่ใน ป.ป.ช.ต้องรีบดำเนินการโดย คสช.อาจตั้งกรรมการพิเศษ หรือให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. หรือตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาใช้โอกาสที่ทำรัฐประหารแล้วทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองได้ประโยชน์

ถาวร กล่าวว่า กปปส.สู้มาโดยตลอดต้องการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรื่องแรกคือ การปฏิรูปการเมืองและพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องทำลายนายทุนสามานย์ที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง ซื้อนักเลือกตั้ง จัดลำดับนักเลือกตั้ง ตามความชอบหรือจำนวนเงินที่เอามาเสนอหรือความใกล้ชิดโดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถ และความตั้งใจจริงที่มีต่อประชาชน ต้องปฏิรูประบบพรรคการเมืองที่ปล่อยให้นายทุนสามานย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยอ้างระบอบประชาธิปไตย

เรื่องการทุจริตจะต้องมีการแก้กฎหมาย โดยให้ประชาชน|ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดีและไม่มีอายุความ และจะต้องสร้างวัฒนธรรมโดยดำเนินการสนับสนุนให้ข้าราชการดี นักธุรกิจดี นักการเมืองดีได้มีกำลังใจ ด้วยการให้รางวัลเกียรติยศ สร้างวัฒนธรรมต่อต้านทุจริต โตไปไม่โกง มีโอกาสจะไม่โกง ปลูกฝังในหลักสูตรอนุบาล และทุกมหาวิทยาลัย จะต้องทำเอ็มโอยูกับองค์กรที่ป้องกันปราบปรามการทุจริตปลูกฝังนักศึกษาที่จะออกมารับใช้สังคมในวันข้างหน้า

ด้านการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ยากจน ต้องนำระบบภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดกมาใช้ จัดหาที่ทำกินโดยเฉพาะธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชนที่รัฐบาลก่อนทำเอาไว้ เพื่อดูแลให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก คำนึงถึงเรื่องการกระจายโอกาสให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสในทุกเรื่องรวมถึงเรื่องการศึกษา รวมไปถึงกระบวนการจัดรัฐสวัสดิการที่จะต้องคิดให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

เรื่องการกระจายอำนาจรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วให้เรื่องกระจายอำนาจเป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน ยังเป็นการรวมศูนย์ไว้ที่กระทรวงมหาดไทยเหมือนเดิม ใครต้องการงบประมาณก็ต้องเอาเงินทอนมาขอซื้อจากกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นการจัดงบประมาณให้ท้องถิ่นต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญเคยบัญญัติไว้คือ ให้งบแก่ท้องถิ่น 35% จากงบทั้งประเทศ หรือมากกว่านั้นโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือองค์กรตำรวจ ทุกวันนี้อัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีค่าตอบแทนสูง แต่มีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเข้าไปรับใช้นักการเมือง เมื่อนักการเมืองทำผิด ทุจริตในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ อัยการก็จะไม่ดำเนินคดีกับนักการเมืองเหล่านั้นไม่แบ่งปันผลประโยชน์ ดังนั้น ต้องไม่ให้อัยการเข้าเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ไม่มีข้อยกเว้นว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอัยการให้ยกเว้นให้หมด

ส่วนตำรวจ เมื่อยังมีการบริหารโดยใช้อำนาจรวมศูนย์อยู่ก็ยังเป็นตำรวจของนักการเมือง เมื่อไรนักการเมืองมีอำนาจแต่งตั้ง ผบ.ตร.แสดงว่า รัฐบาลเป็นเจ้าของตำรวจทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นต้องตัดอำนาจในการแต่งตั้งจากนักการเมืองออกไป ตำรวจบางหน่วยต้องขึ้นกับท้องถิ่น เพราะเป็นผู้รับใช้บริการประชาชน

อดีต รมช.มหาดไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ ขอให้คำนึงถึงแนวพระราชดำรัส เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และใช้คนในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ คนในพื้นที่หมายความว่าข้าราชการที่รับราชการอยู่ที่นั่นควรจะได้มีโอกาสเข้ามารับผิดชอบ ไม่ใช่เอาลูกท่านหลานเธอเอาชื่อไปแขวนได้ขั้นได้ยศ ได้สิทธิพิเศษ ไปหาความก้าวหน้า และต้องใช้ ศอ.บต.ให้ถูกต้อง ไม่ใช่ใช้ ศอ.บต.เป็นฐานการเมือง โดยเอาเงินไปโปรยหว่านแบบเดิม ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการสร้างปัญหามากกว่า อีกทั้งการพัฒนาต้องเป็นไปตามอัตลักษณ์และความเชื่อทางศาสนา

ถาวร ระบุว่า นอกจากเรื่องปฏิรูป ประเด็นเรื่องปรองดองสมานฉันท์ ขอให้ยึดหลักคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ อาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน คือให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคนที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดองสมานฉันท์ต้องยอมรับความจริงเสียก่อนว่าตัวเองทำผิด ไม่ใช่จับเสื้อแดง จับมวลมหาประชาชนมาเขย่ารวมกันแล้วนิรโทษกรรมทั้งหมด มันไม่สามารถปรองดองได้ ต้องทำให้ทุกคนยอมรับเสียก่อน

“นิรโทษกรรมบางประเภท อย่างความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความผิดอาชญากรรมเป็นอาชญากรไม่ควรนิรโทษกรรม แต่ความผิดทางการเมืองว่าไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการค้นหาความจริงให้ยุติเสียก่อนว่าใครผิดใครถูก ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร และนำมาสู่การปรองดอง นิรโทษกรรมเพื่อให้เกิดสมานฉันท์”

แกนนำ กปปส. ย้ำว่า ข้อควรระวังเมื่อไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารต้องไม่ให้มีพฤติกรรมส่อทุจริตเด็ดขาด เพราะหากมีเมื่อไหร่ประชาชนจะขาดศรัทธาทันที และประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหว เพราะ 6 เดือนกว่า มวลมหาประชาชนออกมาร่วมเคลื่อนไหวได้เห็นความชั่วของระบบราชการและระบบการเมืองที่ทุจริต

ทั้งนี้ หาก คสช.ไม่ระมัดระวัง สิ่งที่ท่านทำจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่อ้าง และจะไม่ได้รับการยอมรับในสายตาประชาชนถึงขนาดถูกออกมาเดินขบวนขับไล่ก็ได้ ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนต้อง “หนีเสือปะจระเข้”