posttoday

"มือโค่นยิ่งลักษณ์"กางแผนลุยปิดเกมรัฐบาล

11 พฤษภาคม 2557

มันต้องมีนายกฯ คนใหม่แน่นอน แต่จะมีโดยรูปแบบไหนมันเป็นไปตามสถานการณ์ ถ้าทำไม่สุด ฝ่ายต่อสู้ก็จบ

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย - สุภชาติ เล็บนาค

คำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ต่างอะไรกับฟ้าผ่ากลางอกของรัฐบาล แต่อีกด้านหนึ่งได้นำมาซึ่งเสียงไชโยโห่ร้องของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างกลุ่ม กปปส. เพราะการสิ้นสภาพนายกฯ ไปของยิ่งลักษณ์ไม่ต่างอะไรกับชัยชนะที่กลุ่ม กปปส.ได้มาครึ่งทาง

หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญที่ทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องหมดสภาพ คือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” สว.สรรหา ซึ่งเป็นผู้นำคดีการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ไพบูลย์บอกกับโพสต์ทูเดย์ถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาว่า “สำหรับผมคิดว่าเกินคาด เพราะการที่ศาลไปมองว่าให้ ครม.ที่ร่วมประชุมในวันที่ 6 ก.ย. 2554 ร่วมรับผิดด้วย ถือเป็นการวางหลักการและบรรทัดฐานในเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันของ ครม. ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปรัฐมนตรีจะไปเห็นชอบอะไรต่างๆ ตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องมีการทักท้วงกันเพื่อให้ความรอบคอบ”

“ศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยนะ คือทุกคนอิสระและแสดงความคิดเห็นเต็มที่ก่อนลงมติอย่างเปิดเผย แต่ระบบ ครม.กลับไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชุมก็ปิดเงียบ อุ๊บอิ๊บ ไม่เปิดเผย ขาดความโปร่งใส มติก็มีแต่พวกมากลากไป และบางทีก็บอกว่างานนี้ของเรา งานนี้ของฉัน กลายเป็นการแบ่งเค้ก และมาอ้างเรื่องนี้มีมติ ครม.แล้วไม่ต้องรับผิด แต่คราวนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานเอาไว้แล้วว่าใครทำอะไรผิดโดนแน่”

สำหรับแนวทางการต่อสู้นับจากนี้ไป ไพบูลย์บอกแบบตรงไปตรงมาว่าจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดรัฐบาลของประชาชนให้ได้ เพราะหากมีนายกฯ ที่มาจากประชาชนเมื่อไหร่ การปฏิรูปประเทศจะสามารถเดินหน้าได้ทันที

ไพบูลย์ลำดับถึงปัญหาของการไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามช่องทางปกติได้จนต้องหันไปใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 7 ว่าการตั้งนายกฯ คนใหม่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทีนี้ต้องไปดูบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่ามีหรือไม่ที่ในกรณีถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มี สส. จะทำอย่างไร วุฒิสภาจะทำก็ทำไม่ได้ เพราะการเปิดประชุมจะต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปัจจุบันย่อมไม่ประสงค์ให้เกิดการตั้งนายกฯ แน่นอน ดังนั้น เมื่อวุฒิสภาทำไม่ได้ก็เข้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ที่ระบุว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“ไปดูตามประเพณีที่มีมากว่า 80 ปีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระบวนการตั้งนายกฯ หลายรูปแบบ ซึ่งในมวลมหาประชาชนได้เรียกคืนอำนาจอธิปไตยตามมาตรา 3 แล้วก็อาจดำเนินการให้บุคคลที่เป็นผู้นำองค์กรเข้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ และนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติอยู่|แล้ว” สว.สรรหา กล่าว

พอถามถึงแนวความคิดที่มีมาก่อนหน้านี้ว่ามีการพยายามตีความว่าวุฒิสภาน่าจะดำเนินการเลือกนายกฯ ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) ก็ได้รับคำตอบจาก สว.ไพบูลย์ ช่องทางนี้ไม่มีทางทำได้

“มาตรา 132 (2) เป็นกรณีของการให้วุฒิสภาแต่งตั้งบุคคลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้วุฒิสภาสามารถเลือกได้ เช่น ตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือประธานและรองประธานวุฒิสภา แต่ตัวนายกฯ นั้น รัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกัน ถ้าใช้วุฒิสภาให้เลือกนายกฯ คนใหม่ก็จะต้องมี สว.เห็นด้วย ซึ่งเท่าที่ผมดูแล้ว สว.ไม่กล้าทำแน่นอน เมื่อ สว.ไม่กล้ามันก็ไปไม่ได้ เท่ากับว่าถึงทางตัน

"เมื่อตำแหน่งนายกฯ เกิดสุญญากาศขึ้นแล้ว มีตรงไหนที่บอกว่าเมื่อมีรองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แล้วไม่ต้องตั้งนายกฯ ก็ได้ ดังนั้น เมื่อตำแหน่งนายกฯ ว่างลงก็ต้องตั้งนายกฯ เข้าไป เพราะนายกฯ เป็นตำแหน่งสำคัญ และการรักษาการของ ครม.ในกรณีไม่มีนายกฯ นั้นเขาอยู่กันแป๊บเดียว การอยู่ลากยาวของ ครม.หลายชุดที่ผ่านมาล้วนมาจากเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรและมีนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ เช่น กรณีของคุณทักษิณในปี 2549 หรือกรณีของคุณยิ่งลักษณ์ที่ยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ เป็นต้น เมื่อนายกฯ พ้นตำแหน่งไป ไม่มีหัวหน้ารัฐบาล ไม่ครบองค์ประกอบความเป็น ครม.จะอยู่ในตำแหน่งได้แบบชั่วคราวเท่านั้น"

กระบวนการเหล่านี้มองว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ และจะเป็นไปได้หรือไม่ถ้า ครม.ที่เหลืออยู่ยังไม่ยอมออกจากตำแหน่ง?

ไพบูลย์ตอบทันทีว่า ไม่เกิน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. โดยเวลานี้ได้เริ่มกระบวนการไปแล้ว ประเทศรออีกไม่ได้ จริงๆ กระบวนการเหล่านี้ต้องมีมาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ แต่ด้วยเหตุที่มีนายกฯ อยู่ในตำแหน่ง แต่ในเมื่อตอนนี้นายกฯ พ้นจากตำแหน่งก็เท่ากับว่ามีการเปิดทางให้เดิน

“อย่าลืมว่ารองนายกฯ และรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ในเวลานี้ก็เป็นรัฐมนตรีที่ขาดความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินอยู่แล้ว เพราะนายกฯ ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีชุดนี้มีการกระทำความผิดมากมาย ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ก็ชี้มูลความผิดแล้ว ดังนั้น ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเหลืออยู่อีกที่จะรักษาการในตำแหน่งต่อไป ซึ่งการรักษาการในตอนนี้ก็เป็นเพียงการอยู่ชั่วคราวเท่านั้นในระยะสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ไพบูลย์ขยายความอีกว่า ยังไงรัฐบาลก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อน เขาต้องการรักษาการต่อไป แต่ประเทศชาติเสียหาย เขาจะรักษาการก็รักษาการไป ประชาชนไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะถ้าประชาชนเดินหน้าตั้งนายกฯ สำเร็จเมื่อไหร่ ครม.ชุดที่รักษาการอยู่ก็จะพ้นจากตำแหน่งไปโดยอัตโนมัติ อันเป็นไปตามประเพณีการปกครอง โดยคิดว่า ครม.ชุดนี้จะอยู่ได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์

“ตำแหน่งนายกฯ มันว่างไม่ได้ เมื่อว่างลงแล้วต้องแต่งตั้งทันที จะไปอ้างหรือยืดเยื้อโดยเหตุไม่ได้ มันเหมือนกับเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่ครอบคลุมมันก็มีรองรับไว้ในมาตรา 7 อยู่แล้วก็ต้องเดินไปตามนั้น”

มองการทำตามแนวทางดังกล่าว คือ ทางเดียวที่จะทำให้ครม.ชุดนี้ออกจากตำแหน่งใช่หรือไม่หลังจากไม่มีคดีความที่จะเป็นเหตุให้ ครม.พ้นไปทั้งคณะ? คำถามนี้ได้รับคำตอบกลับมาแบบทันควัน

“ไม่ควรไปยุ่งตรงนั้นแล้ว เพราะไม่มีเวลาพอขนาดนั้นมีอยู่ทางเดียวคือ ต้องมี ครม.ชุดใหม่มาเพื่อให้ ครม.ชุดนี้พ้นจากตำแหน่งไป ครม.ชุดใหม่จะมีขึ้นมาได้เมื่อมีนายกฯคนใหม่ เพื่อแต่งตั้งนายกฯ เท่านั้นเอง อย่างแนวทางของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขอให้ ครม.ชุดนี้ลาออกมันเป็นความคิดที่เป็นไปไม่ได้ แต่ทำให้เป็นเกมที่ต้องอยู่กับเขา มันต้องไม่ใช่แบบนั้น ปกติการตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ไม่มีใครหรอกที่จะไปถามอดีตรัฐบาล เช่น คุณยิ่งลักษณ์จะตั้ง ครม. เคยไปถามคุณอภิสิทธิ์หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี เขาก็ว่าของเขาไปเลย พอตั้งเสร็จคุณอภิสิทธิ์ก็พ้นจากตำแหน่งไป เป็นต้น แบบนี้จะไปถามทำไม เพราะถึงอย่างไรเขาก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว”

ไพบูลย์ย้ำภาวะไร้ความชอบธรรมของรัฐบาลว่า ครม.ชุดนี้ระหว่างอยู่ในตำแหน่งได้ทำผิดกฎหมายมากมาย และเกิดความเสียหายจำนวนมาก ตัวเขาเองก็รู้ว่าความชอบธรรมในการอยู่ในตำแหน่งมันเป็นไปไม่ได้ ทำไมเราต้องไปขอไม่ให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่เราก็เดินหน้าตั้งนายกฯ คนใหม่อย่างเดียว พอตั้ง ครม.ชุดใหม่ก็จะไปแก้ปัญหาของประเทศเลยโดยไม่ต้องสนใจ ครม.ที่กำลังรักษาการอยู่ เพราะยังไง ครม.ชุดรักษาการต้องพ้นจากตำแหน่งอยู่แล้ว

“บางคนบอกว่าต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่ผมขอถามว่าตอนคุณเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจ คุณเคยไปขอความเห็นจากขั้วการเมืองอีกขั้วหนึ่งหรือไม่ มันไม่มี มีแต่ข้างนี้แพ้มันก็ต้องไปก่อนแล้วเปลี่ยนอีกข้างขึ้นมา ทำทุจริตสร้างความเสียหายก็ต้องไปก่อนเพื่อให้อีกข้างขึ้นมา การเมืองทั่วไปในโลกรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลไหนที่บริหารประเทศเสียหายก็ต้องรับผิดชอบเว้นวรรคไป และให้อีกข้างหนึ่งขึ้นมา”

ที่สุดแล้ว สว.ไพบูลย์ ขมวดไปยังตอนจบว่า “กระบวนการที่เริ่มตั้งแต่เช้า (วันที่ 9 พ.ค.) ผมถือว่าไม่มีจบโดยไม่มีอะไร มันต้องมีนายกฯ คนใหม่แน่นอน แต่จะมีโดยรูปแบบไหนมันเป็นไปตามสถานการณ์ ถ้าทำไม่สุด ฝ่ายต่อสู้ก็จบ ถ้าไปหน่อมแน้มแบบพบกันคนละครึ่งทางก็จบ มันมีอย่างเดียวต้องทำให้เขาว่างเว้นเอาไว้ 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่งระหว่างนี้ก็เซตกติกาใหม่”

"มือโค่นยิ่งลักษณ์"กางแผนลุยปิดเกมรัฐบาล

แดงอ่อนแรง... ไร้พลังกดดัน

ท่ามกลางความคิดการตั้งนายกฯและรัฐบาลจากประชาชนที่สวยหรูของกปปส.นั้นมีข้อสังเกตว่าต่อให้แนวทางดังกล่าวเป็นจริงได้แต่ไม่มีทางที่บริหารประเทศได้เพราะจะถูกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาต่อต้านและความขัดแย้งจะไม่มีทางจบลง

ในประเด็นนี้ไพบูลย์ ได้มองและพินิจพิจารณาอยู่เหมือนกันแต่เชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงไม่มีพลังมากพอที่จะสามารถจัดตั้งมวลชนเพื่อล้มรัฐบาลในอนาคตได้

"เขามีสิทธิต่อต้าน แต่เวลามีการสร้างมาตรฐานใหม่ในการชุมนุมแล้วว่าถ้าจะคัดค้านอะไรต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ต้องมีจำนวนมากๆ และอยู่ได้นาน ถึงจะมีผลอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งการที่จะมาคัดค้านหรือประท้วงนั้นรัฐบาลนั้นจะต้องมีปัญหามากๆด้วย ถ้ารัฐบาลมีปัญหามากๆมวลชนก็รวมตัวกันได้

สว.สรรหา ที่เคยขึ้นเวทีปราศรัยกปปส.มีมุมมองเพิ่มเติมว่า การจะมาประท้วงแค่3-4วันแล้วจะทำให้ได้ผลนั้นมันเป็นไปไม่ได้ หากใช้ความรุนแรงมันก็จบและไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เพราะจะกลายเป็นการมาก่อการจลาจลซึ่งจะทำให้ถูกปราบเหมือนกับเมื่อปี 2553 ขณะที่ ตอนนี้มวลชนที่เป็นชุดเดียวกับในปีนั้นเวลานี้มีกำลังน้อยลง ความชอบธรรมน้อยลง ทุกอย่างน้อยลงหมด ผิดกับอีกฝ่ายที่มีกำลังเจ้าหน้าที่เข้มแข็งและมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น และถ้าเกิดจะต้องมาปราบกลุ่มพวกใช้ความรุนแรงคิดว่าจะใช้เวลาสั้นลงและจบได้โดยเร็ว

สำหรับปัจจัยที่มีผลให้ความเข้มแข็งลดลงนั้น สว.ไพบูลย์คิดว่า มาจากตัวเขาเองที่เป็นการต่อสู้เพื่อรัฐบาลของคุณทักษิณ สู้เพื่อระบอบทักษิณ เขาไม่ได้สู้เพื่อตัวประชาชนอย่างแท้จริง ลองกลับไปดูว่ากำลังของประชาชนที่มีจำนวนมากและสามารถดำเนินการให้ได้ผลนั้นส่วนใหญ่จะมาจากการต่อสู้โดยประชาชนเพื่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกรณี 14 ตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือแม้แต่กปปส.เอง

"ถ้ากปปส.ต่อสู้เพื่อพรรคประชาธิปัตย์ก็คงทำไม่ได้ขนาดนี้ แต่กลุ่มเสื้อแดงเป็นการต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่ในตำแหน่งนั่นแหละ เป็นมวลชนจัดตั้งจากกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์  ไม่ใช่เป็นมวลชนที่เป็นพลังของสังคมจริงๆในมิติทางรัฐศาสตร์ที่จะเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ดังนั้น ในเรื่องที่จะออกมาเคลื่อนไหวนั้นเป็นกระบวนการที่พยายามพูดให้ดูน่ากลัวแต่เอาเข้าจริงๆแล้วคนที่ควรจะกลัวเรื่องนี้กลับเป็นกลุ่มเสื้อแดงต่างหาก"

ไพบูลย์ ประเมินว่า การที่ออกมาขู่ว่าจะไปตั้งกองกำลังในต่างจังหวัดเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจะเกิดได้ก็ต้องแบบในสมัยก่อนที่ต้องเข้าไปอยู่ในป่าและต้องต่อสู้กันเป็นเวลา 5 ปี 10 ปี มันไม่มีทางหรอกกลุ่มแกนนำเสื้อแดงที่เห็นอยู่นี้จะมีอุดมการณ์ขนาดนั้น เพราะตอนนี้เป็นการทำงานเพื่ออำนาจ ผลประโยชน์ พรรคเพื่อไทย และระบอบทักษิณ จึงไม่มีพลังที่น่ากลัว

"จะคิดแบ่งประเทศตามภาคอีสานและภาคเหนือก็ไม่มีวันทำได้ เพราะผมเคยอยู่ในภาคอีสานมาแล้วไม่มีคนที่นั่นเขาจะทำอย่างนั้น จะไปเคลื่อนไหวรวมประชาชนจำนวนมากเพื่อต่อสู้ในต่างจังหวัดมันทำได้ไม่นานหรอก วันเดียวก็ไม่รอดที่จะรวมกันอยู่ พอต่างคนต่างกลับบ้านหมดแล้วเหลือแกนนำอย่างเดียวก็โดนจับแน่นอน ผมทำนายได้เลยถ้ามีการเปลี่ยนและตั้งรัฐบาลใหม่ไอ้ที่เสียงดังอะไรต่างๆจะรีบวิ่งออกนอกประเทศทันทีเลย เหมือนกับโกตี๋"

นอกจากนี้ ในมุมมองของไพบูลย์ ยังเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่จะมีผลให้รัฐบาลใหม่สามารถบริหารประเทศได้สมบูรณ์ 100% โดยไม่ต้องกังวลกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง คือ ตัวรัฐบาลเอง เพียงแต่การจะอยู่ได้อย่างเข้มแข็งต้องมีผลงานในการแก้ไขปัญหาของประเทศด้วย       

"ปัญหา คือ โอกาส อย่าลืมว่าที่ผ่านมารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ทำงานผิดพลาดเอาไว้มาก  ทำให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานได้ง่าย ทุกอย่างที่ทำจะเป็นผลงานทั้งหมด เช่น การจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนา แก้ปัญหาเศรษฐกิจในบางจุด รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำงานสบายมากเหมือนกับบ้านมันรกไปหมดเพียงแค่จัดให้มันเข้าที่เข้าทางมันก็ดูดี แต่ต้องไม่ทำในสิ่งที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ" สว.สรรหา ทิ้งท้าย

"มือโค่นยิ่งลักษณ์"กางแผนลุยปิดเกมรัฐบาล

รื้อระบบพรรค "ล้างระบอบทักษิณ"

มองข้ามช็อตหลังได้นายกฯ และสภาประชาชน ไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะ สว.สรรหา และแนวร่วม กปปส.ที่เข้าร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง บอกว่าเรื่องใหญ่ที่ต้องปฏิรูปเพื่อให้ประเทศก้าวข้ามปัญหาขณะนี้ หนีไม่พ้นเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง คือ การทุจริตคอร์รัปชั่น และการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง

“เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะโครงการรัฐนั้น กระบวนการร้องเรียนมันต้องปฏิรูปทั้งหมด เพราะก่อนหน้านี้เวลาเราพบว่ามีการทุจริต กระบวนการตรวจสอบมีแค่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอัยการเท่านั้น ทั้งที่ประเด็นการทุจริตมีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง”ไพบูลย์ ระบุ

ไพบูลย์ บอกว่า หากเขาและกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับชัยชนะ จะเสนอให้สภานิติบัญญัติที่จะเกิดขึ้นยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตใหม่ทั้งหมด โดยให้ประชาชนที่มีข้อมูลการทุจริตสามารถเรียกร้องผ่านช่องทางนิติบุคคล เช่น สมาคม มูลนิธิ หรือผ่าน สส. และ สว. ซึ่งถือเป็นผู้แทนของประชาชนได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่าน ป.ป.ช. หรือสำนักงานอัยการสูงสุดเพียงสองช่องทาง

“ต้องให้เขามีอำนาจคดีฟ้องตรงไปยังศาลได้ โดยไม่ต้องผ่านอัยการ เพราะอัยการก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเหมือนกัน คนที่คอร์รัปชั่นพอรู้ว่ามีหน่วยงานที่ตรวจสอบเขามากขึ้นก็จะเกรงกลัว คนที่ร้องเรียนก็รู้สึกว่าเขามีโอกาสที่จะชนะคดีมากขึ้น ไม่ต้องรอนานเป็นสิบยี่สิบปี ขณะที่หน่วยงานที่มีอยู่แล้วอย่างอัยการและ ป.ป.ช.ก็จะทำงานรวดเร็วขึ้น ถ้าไม่มีผลงานก็จะถูกตั้งคำถามเช่นกัน”ไพบูลย์ เล่าให้ฟัง

“ตอนนี้ทั้งสององค์กรเป็นจุกก๊อก ดองรวมกันเป็นสิบปี บางคดี 20-30 ปี นั่นหมายถึงมีผลนะ แต่ชี้มูลความผิดได้แค่ 1-2% ใน 1-2% นี้ก็อยู่ที่อัยการอีก อัยการก็ดองไว้อีก กว่าจะถึงศาล ศาลตัดสินก็ช้าอีก มันเป็นโครงสร้างซึ่งส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ แล้วเราจะไปหยุดคอร์รัปชั่นได้อย่างไร”

ส่วนปฏิรูประบบเลือกตั้งนั้น ไพบูลย์ฉายภาพให้เห็นว่าต้องแก้ทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการเข้าสู่อำนาจ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงโครงสร้างพรรคการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่ทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย มากกว่าเป็นตัวแทนของนักการเมืองและกลุ่มทุนอย่างที่เคยเป็นมา

ไพบูลย์อธิบายสภาพปัญหาวันนี้ว่า นักการเมืองต้องผูกขาดการเข้าสู่ตำแหน่งกับอำนาจทุนมากเกินไป ทำให้จำกัด “คนดี” ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งเหลือเพียงนายทุนและตัวแทนของกลุ่มการเมืองเก่าๆ เท่านั้น ที่สวมสูทเข้าสู่สภาล่างและสภาสูงได้ จนสร้างความหวาดระแวงให้ประชาชนอย่างทุกวันนี้

ในมุมมองเขา การเข้าสู่ตำแหน่งควรเริ่มจากศูนย์ เช่น ห้ามติดป้ายโฆษณา-หาเสียงด้วยตัวเอง และจำกัดการใช้เงินให้มากที่สุด โดยหากจะมีการใช้เงิน ก็ควรเป็นเงินของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จ่ายให้นักเลือกตั้งทุกคนหาเสียงในจำนวนที่ “เท่าเทียมกัน”

“ถ้าจะแนะนำตัว รัฐก็ควรทำโปสเตอร์ให้หมด ตั้งแต่จัดสถานที่ ศูนย์การค้า ให้แปะโปสเตอร์ว่าผู้สมัครคือใคร ประวัติเป็นอย่างไร แล้วส่งไปที่บ้านด้วย แต่ผู้สมัครห้ามหาเสียงนะ เพราะหน้าที่ของผู้สมัครคือต้องเป็นคนที่มีคนรู้จักมักคุ้นอยู่แล้ว ไม่ต้องให้เขามาพูด ต้องมาพบ ต้องมาแห่วิ่งรอบบ้านเมือง เพราะมันเป็นการทำให้คนที่มีทุนเยอะกว่าได้เปรียบไปโดยปริยาย”

นอกจากนี้ ไพบูลย์ยังเสนอให้บทบาทของ สส.มุ่งเน้นการทำหน้าที่นิติบัญญัติเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร อย่างการให้ สส.เลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรอย่างทุกวันนี้

“สมมติเลือกนายกฯ โดยตรง ซื้อเสียงตรงไหน ไปเลย แต่ถ้าเลือก สส.เป็นตัวแทนไปเลือกนายกฯ อีกที พอ สส.คนนี้ซื้อเสียง สส.คนนี้โกง นายกฯ ก็รอด เพราะ สส.ส่วนใหญ่เลือกเขา ก็กลายเป็นว่าระบบไปส่งเสริมการโกง แต่ถ้าเลือกตรงก็เหมือนผู้ว่าฯ กทม. ถ้าคนสมัครนายกฯ พลาดไปก็โดนเลย ฉะนั้น การเลือกนายกฯ ต้องสั่งว่าคนอื่นอย่ามาช่วยหาเสียง อย่ามาช่วยซื้อเสียง สส.เพื่อไปเลือกนายกฯ เลือกโดยตรงไปเลย”ไพบูลย์ ระบุ

การเลือกตั้ง สว.เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดการถกเถียงอย่างมากว่า สว.เลือกตั้งส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองทั้งในขั้วรัฐบาล และในขั้วพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ สว.สรรหา ซึ่งมีไพบูลย์รวมอยู่ด้วยก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นภาพสะท้อนของฝ่าย|อำมาตย์ คอยล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ที่สุดแล้วจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีสภาสูงอย่างวุฒิสภาอยู่ต่อไป

ไพบูลย์ ตอบว่า หาก สส.สามารถเป็นผู้แทนของฝ่ายนิติบัญญัติได้ โดยทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือพิจารณากฎหมาย และกลั่นกรองกฎหมายอย่างเข้มแข็ง ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับอำนาจบริหาร รวมถึงการปฏิรูปเดินหน้าไปจนถึงขั้นตอนที่ได้ “นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง” แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสภาสูงอยู่ต่อไป แต่ถ้าสภาล่างยังคงเละเทะเหมือนทุกวันนี้ ระบบ สว.ก็ยังคงมีความจำเป็น

ส่วนที่มาของ สส.นั้น อาจต้องผสมกันระหว่างเลือกจากสาขาอาชีพ และให้ประชาชนเลือกโดยตรง เพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน รวมถึงได้ทั้งคนที่ชำนาญพื้นที่ และคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะประเด็น เข้ามาทำหน้าที่ร่างกฎหมาย รวมถึงกลั่นกรองกฎหมายต่อไป
ถามว่า หากปฏิรูปตามโรดแม็ปของไพบูลย์แล้ว “ระบอบทักษิณ” ที่มวลมหาประชาชนต่อต้านอยู่ทุกวันนี้จะถูกขจัดสิ้นซากหรือไม่?

ไพบูลย์ให้คำจำกัดความว่า “ระบอบทักษิณ” คือการเกาะเกี่ยวผ่านระบบพรรค ที่ให้คนคนเดียวเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งระบบการเมืองขณะนี้ถูกออกแบบให้ระบบการเมืองให้พรรคการเมืองสามารถมีอำนาจคุม สส.ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนนายทุนครอบงำพรรคได้เต็มที่

“สส.วันนี้เป็นยิ่งกว่าลูกจ้างอีก ลูกจ้างยังต่อรองกับนายจ้างได้ สส.อยากอยู่ก็ต้องยอมสยบระบอบทักษิณอย่างเดียว แล้วระบอบทักษิณไม่ใช่มีแต่พรรคทักษิณนะ พรรคของบรรหาร (ศิลปอาชา) นี่ก็ระบอบทักษิณ ของสุวัจน์ (ลิปตพัลลภ) ก็ระบอบทักษิณ พรรคของตระกูลคุณปลื้มก็ระบอบทักษิณ คือมีเงิน มีบารมีก็สร้างพรรคได้ คือสร้างพรรคได้ เหมือนไปจดทะเบียนกับ กกต. แล้วก็เป็นเจ้าของสัมปทาน ผูกขาดไปตลอด กลไกแบบนี้ไม่มีที่ไหนในโลก มีประเทศไทยนี่แหละที่เป็น” ไพบูลย์ ขยายความ

แผนปฏิรูปพรรคการเมืองของไพบูลย์คือ ต้องลดความเข้มแข็งของพรรคการเมืองให้เป็นเพียงแค่ศูนย์รวมของคนที่มีความคิดและอุดมการณ์เดียวกัน ต้องมีระบบตรวจสอบแบบบริษัทมหาชนที่คนทุกคนสามารถตรวจสอบการใช้เงิน หรือแนวทางการดำเนินงานของพรรคได้ ส่วนนายกฯ หรือ สส. หากไม่ถูกใจอุดมการณ์ของพรรคการเมืองใด ก็ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง และสามารถลงสู่สนามเลือกตั้งได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากระบบนี้เกิดขึ้น เขาการันตีว่าระบอบทักษิณในนิยามเดิมจะจบลง และการเมืองไทยจะไร้ซึ่งการผูกขาดอย่างที่เป็นอยู่แน่นอน

“การปฏิรูปทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากประเทศยัง|ถูกปกครองด้วยระบบนักการเมือง และพรรคการเมืองอย่างในปัจจุบัน เพราะทุกคนจะเลือกปฏิรูปในมุมมองที่ตัวเองไม่เสียประโยชน์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องสนับสนุนปฏิรูปของมวลมหาประชาชน เนื่องจากปราศจากนักการเมืองเก่าๆ และมุ่งเน้นกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายแล้วจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อย่างแท้จริง”