posttoday

ไทยส่อเผชิญแผ่นดินไหวบ่อยขึ้นแนะ5เร่งเตรียมรับมือ

06 พฤษภาคม 2557

เหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการเตรียมพร้อมของไทยเรายังต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดเหตุแผ่นดินไหวน้อยครั้ง

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ที่จ.เชียงรายคราวนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม ถนนหนทางพังเสียหายเท่านั้น ทว่ายังสร้างความตื่นตระหนกให้แก่คนไทยทั้งประเทศด้วย

ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการบริหารองค์กรเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเซีย (ADPC) เผยว่าปัจจุบันแผ่นดินไหวถือเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์ และวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้ ดังนั้นวิธีการลดความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวทำได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือเตรียมพร้อมก่อนที่จะเกิดเหตุ 

"จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการเตรียมพร้อมของไทยเรายังต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดเหตุแผ่นดินไหวน้อยครั้ง แต่ผมขอยืนยันเลยว่าจากนี้ไปสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและถี่ยิ่งขึ้น"

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าประเทศไทยมีรอยเลื่อน 13 จุดที่ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ประกอบด้วย 1.รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่ 2.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอน และตาก 3.รอยเลื่อนเมย ครอบคลุม จ.ตาก และกำแพงเพชร 4.รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย

5.รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุม จ.ลำปาง และแพร่ 6.รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุม จ. ลำปาง เชียงราย และพะเยา 7.รอยเลื่อนปัว ครอบคลุม จ.น่าน 8.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์ 9.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี 10.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และอุทัยธานี 11.รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุม จ.หนองคาย และนครพนม 12.รอยเลื่อนระนองครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา และ 13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา

นอกจากนี้ยังมีรอยเลื่อน "สะแกง" รอยเลื่อนขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งประเทศพม่า พาดผ่านทะเลอันดามันที่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เพียง 400 กม. ที่ต้องจับตามอง แม้จะไม่สามารถระบุได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ใด

"แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่อ.พาน จ.เชียงรายเป็นรอยเลื่อนที่แยกย่อยมาจาก 13 รอยเลื่อนใหญ่ในประเทศไทย ทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับรอยเลื่อนสะแกงที่ประเทศพม่าซึ่งเราพบว่าเริ่มจะขยับบ่อยขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา นั่นจะส่งผลให้ทั้ง 13 รอยเลื่อนในไทยจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในวันข้างหน้า" 

ดร.พิจิตต เสนอแนวทางเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว 5 ข้อที่ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ประการแรก สำรวจความเสี่ยงภัยในพื้นที่ต่างๆ เช่น ตรวจสอบอาคารสถานที่ต่างๆที่จดทะเบียนก่อสร้างก่อนกฎหมายการปลูกสร้างอาคารเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 หลายตึกยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นได้ ถ้าไม่รีบปรับเปลี่ยน เกรงว่าจะไม่ทันการณ์ 

ประการที่สอง  ประเมินความเสี่ยง ประเทศไทยยังประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆได้น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่นเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้มีสถานที่ราชการหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญมากที่สุด เป็นศูนย์บัญชาการสั่งการที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ มีอาการแตกร้าวของตึก นอกจากนี้ข้อมูลจากสถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่ามีโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 5 แห่งเกิดรอยแตกร้าว คานร้าว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนไข้เป็นอย่างมาก

ประการที่สาม ประชาชนต้องรู้ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดเหตุขึ้น การหลบหลีกหนี การอพยพ ผู้คนส่วนใหญ่ทำตัวไม่ถูกว่าจะอยู่ในตึก หรือควรวิ่งออกจากตึก ควรไปอยู่บนที่สูงหรือที่ต่ำ ฉะนั้นการเติมองค์ความรู้ให้ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก 

ประการที่สี่ เพิ่มขีดความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภัยพิบัติแผ่นดินไหวไม่เหมือนกับน้ำท่วม หรือภัยแล้ง สุ่มเสี่ยงจะเกิดเหตุอาคารถล่มลงมาได้ทุกชั่วขณะ ดังนั้นควรเพิ่มขีดความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Search&Rescue) ไม่ว่าวิธีการใช้สุนัขตำรวจ K-9 ดมกลิ่น หรือใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ต้องรีบเพิ่มทักษะความรู้และฝึกซ้อมอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

ประการที่ห้า การโยกย้ายเศษซากปรักหักพังของอาคารที่เสียหาย เมื่อคืนที่ผ่านมา มีการบันทึกไว้ว่าเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อกถึง 64 ครั้ง หรืออาจจะมากกว่านั้น หลังแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนครั้งแรกย่อมทำให้เกิดการแตกร้าว เมื่อเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาเขย่านิดเดียว แม้จะอ่อนแรงกว่า ก็สามารถทำให้อาคาร ฝ้า ผนังถล่มลงมาได้ ซึ่งที่ผ่านมาในต่างประเทศมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุอาฟเตอร์ช็อกเป็นจำนวนไม่น้อย

ผอ.บริหารองค์กรเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเซีย (ADPC) ย้ำว่าต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตกที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เสี่ยง 13 รอยเลื่อน

"กรุงเทพมหานครก็น่าเป็นห่วง ถึงแม้จะไม่มีรอยเลื่อน 13 รอยเข้ามาอยู่ใต้พื้นที่กรุงเทพ แต่รอยเลื่อนใกล้ที่สุดนั่นคือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ห่างจากกรุงเทพประมาณ 300 กว่ากิโลเมตร เมื่อเหตุแผ่นดินไหวขึ้นจะสามารถส่งแรงสั่นสะเทือนเข้ามายังกรุงเทพมหานครได้ อีกทั้งใต้ดินมีลักษณะเป็นโคลน เหลว อาจทำให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองเม็กซิโกซิตี้เมื่อปี 2011 คนตายเป็นหมื่น  

โดยเฉพาะอาคารสูงอย่างสีลม สาธร ต้องเตรียมแผนการให้ดีว่าจะอพยพคนอย่างไร ภายในกี่นาที บันไดหนีไฟใช้การได้ไหม เราซ้อมไฟไหม้อยู่เป็นประจำ ต่อจากนี้ไปต้องซ้อมแผ่นดินไหวด้วย การค้นหาผู้ประสบภัยก็ต้องเร่งฝึก นอกจากนี้การตรวจสอบอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 หรืออาคารต่อเติมก็จำเป็นไม่แพ้กัน"

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ในประเทศไทยครั้งนี้ นอกจากจะเขย่าให้แผ่นดินสะเทือนแล้ว ยังปลุกให้คนไทยได้ตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวันข้างหน้าด้วย

ไม่มีใครห้ามภัยพิบัติได้ แต่เราสามารถอยู่อย่างรู้ทัน และรับมือกับมัน ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง