posttoday

126 ปีโรงพยาบาลหลวงแห่งแรก

09 เมษายน 2557

ผ่านกาลเวลามายาวนาน "โรงพยาบาลหลวงแห่งแรก" ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น ครบรอบเป็นปีที่126

ผ่านกาลเวลามายาวนาน "โรงพยาบาลหลวงแห่งแรก" ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น ครบรอบเป็นปีที่126

ย้อนกลับไปยัง ปี 2424 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิด เหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาด พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นในชุมชนรวม 48 ตำบล เมื่อโรคร้ายเสื่อมถอยลง โรงพยาบาลจึงได้ปิดทำการ หากแต่ในพระราชหฤทัยของพระพุทธเจ้าหลวงยังทรงตระหนัก ว่า โรงพยาบาลที่เปิดในกาลนั้น ยังประโยชน์ให้พสกนิกร
     
ต่อมา วันที่ 22 มี.ค. 2429 พระพุทธเจ้าหลวง จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาล ถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ เจ้าพระยา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนแรกเริ่มในการดำเนินการ ในระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสในพระองค์ อันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรด้วยโรคบิด สิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2430 ยังความอาลัยเศร้าโศกแก่พระองค์ จนถึงกับทรงมี พระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะให้มีโรงพยาบาลขึ้น
     
ครั้นเสร็จงานพระเมรุ  ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ในงานพระเมรุนำไปสร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณวังหลัง นอกจากนี้ ยังพระราชทานทรัพย์ส่วนของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ แก่โรงพยาบาลอีกด้วย
         
แรกเริ่มการจัดตั้ง คณะกรรมการได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อ วันที่ 26 เม.ย.  2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” เป็นสถานที่ บำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ
    
เมื่อเริ่มให้บริการในช่วงแรก ๆ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีผู้ป่วยมารับการตรวจรักษา เพราะประชาชนในสมัยนั้น ยังไม่คุ้นเคยและรู้จัก การแพทย์สมัยใหม่แบบตะวันตก  จึงต้อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการ ทูลเชิญเจ้านายหลายพระองค์ มารับการรักษาเป็นแบบอย่าง เมื่อการรักษาเป็นผลสำเร็จจึงเป็นที่ยอมรับ
       
กาลต่อมา  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการราชแพทยาลัย (โรงเรียนแพทย์)  ได้ทรงโน้มน้าวพระทัย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลา- ธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ให้สนพระทัยวิชาแพทย์ จนพระองค์เสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศ และสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐ อเมริกา ซึ่งพระองค์ได้ทรงดำเนินการหลายสิ่งพัฒนาการแพทย์และโรงพยาบาลศิริราชให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศจนได้รับการถวายพระสมัญญานาม ว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”
     
โรงพยาบาลศิริราช ถือว่า วันที่ 26 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทยที่มีอายุยืนยาวที่สุด
        
ปีนี้ ถือเป็นปีที่ 126 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล  จึงได้จัดงาน ชื่อ “เทศกาล 126 ปี ศิริราช โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของแผ่นดิน” ในวันคล้ายวันพระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของแผ่นดิน” ระหว่างวันที่  21-30  เม.ย.นี้ ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนา และพระราชทานนาม
 
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช กล่าวว่า เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้จัดงานดังกล่าวขึ้น โดยเนรมิตพื้นที่โรงพยาบาลให้เหมาะสมกับธีม "ศิริราช เจ้าพระยา สายธารา แห่งแผ่นดิน" โดยเปรียบหมายถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของศิริราชที่มอบสิ่งดีๆ ไปสู่สังคมไทย โดยงานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20-30 เม.ย.  ซึ่งตลอดระยะเวลา 126 ศิริราชได้ พยายามสร้างสิ่งใหม่ๆ ทั้งงานวิจัย การรักษา และนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อให้เทียบเท่ากับนานาชาติ จนได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือจากผู้ป่วยทั่วทุกสารทิศ มารับบริการมากกว่าปีละ 3 ล้านคน
         
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า กิจกรรมหลักที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปคือ การให้บริการความรู้ทางการแพทย์ ในช่วงจัดงาน ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. โดยจัดมินิศิริราช ที่โถง 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โดยย่อการทำงานศิริราชทั้งหมดมาไว้ที่นี่ ให้ประชาชนได้เห็นการทำงานจริงๆ เช่น การผ่าตัด การตรวจรักษาต่างๆ ซึ่งอาจสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่อยากเป็นแพทย์มีความสนใจในการเป็นแพทย์มากขึ้น
         
นอกจากนี้ ยังมี กิจกรรมหลักที่สำคัญอีกคือพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 25 เม.ย. เวลา 10.00 น. และเวลา 12.45 น.จะมีพิธีรดน้ำขอพรศิษย์เก่าอาวุโส โดยปีนี้ของดรับกระเช้าดอกไม้ แต่ขอเชิญชวนให้ร่วมทำบุญกับโรงพยาบาลสร้าง "อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรองรับการขยายตัว เพิ่มคุณภาพการบริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่มารับบริการแทน ซึ่งในเทศกาล 126 ปี ยังมีกิจกรรมที่ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมทำบุญบริจาคสร้างอาคารได้อีกด้วย คือ กิจกรรมล่องเรือชมทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 21-30 เม.ย. เวลา 18.00-21.30 น. ที่ท่าน้ำศิริราช โดยจะแบ่งเรือเป็น 2 ส่วนคือ ล่องเรือด่วนเจ้าพระยาตามปกติ เส้นทางท่าน้ำศิริราช-วัดกัลยาณมิตรฯ-สะพานพระราม 8-ท่าน้ำศิริราช วันละ 14 รอบๆ ละ 30 นาที ส่วนอีกส่วนจะมีการนำเรืออังสนา ลำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยประทับเสด็จพระราชดำเนินยังคลองลัดโพธิ์ให้ประชาชนได้ล่องเรือรับประทานอาหารด้วยเช่นกัน
         
"อีกกิจกรรมหนึ่ง คือ การแสดงแสง สี เสียง ครั้งประวัติศาสตร์ของศิริราช วันที่ 23-27 เม.ย. เวลา 19.00-21.00 น. ที่สนามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างหอประชุมราชแพทยาลัย มีการแสดง 9 องก์นำเสนอเรื่องราวศิริราชตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งจะมีการย้อมสีหอประชุมราชแพทยาลัย ตึกอำนวยการ ท่าน้ำศิริราช และศาลาศิริราช 100 ปี กิจกรรมศิริราชเดิน-วิ่งผสานชุมชนครั้งที่ 8 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเสด็จเป็นประธานปล่อยตัวนักวิ่งและเดิน กิจกรรมนิทรรศการคลอดก่อนกำหนดด้วย รวมถึงสัปดาห์วัฒนธรรมศิริราช โดยรายได้จากกิจกรรมในงานจะเข้าสู่กองทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา" นพ.ประสิทธิ์ กล่าว.