posttoday

ไขปริศนาอุบัติเหตุกระโดดร่ม

03 เมษายน 2557

สายสลิงที่ใช้สำหรับกระตุกร่มชูชีพชำรุด หลุดออกจากขั้วต่อ สภาพของสลิงมีลักษณะคลายตัว มีรอยไหม้และคราบน้ำมัน

โดย....ทีมข่าวในประเทศ

เหตุน่าสลดที่เกิดขึ้นกับสองนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 69 คือ นรต.ชยากร พุทธชัยยงค์ อายุ 19 ปี และ นรต.ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข อายุ 21 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากการฝึกกระโดดร่มเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะร่มไม่กาง ร่างลงกระแทกพื้นเสียชีวิตทันที

สาเหตุของกรณีนี้ต้องได้รับการคลี่คลาย เพราะที่ผ่านมาการฝึกกระโดดร่มของ นรต.หรือนักเรียนทหารในเหล่าอื่นๆ ความปลอดภัยต้องมาเป็นที่ 1 แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ที่เกิดขึ้น สาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะหลายเสียงต่างพูดออกไปไม่ตรงกัน

พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา สบ 10 ซึ่งนำเจ้าหน้าที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจเข้าตรวจสอบทั้งเครื่องบินที่ใช้กระโดดร่มและอุปกรณ์ทุกอย่าง เปิดเผยว่า สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้น่าจะมาจากสลิงที่ยึดผู้กระโดดร่มจากเครื่องบินรุ่นคาซ่า

“สลิงแบบนี้เป็นแบบที่ติดมาพร้อมเครื่องบินอยู่แล้ว ได้รับมาตรฐานจากโรงงานผลิตเครื่องบินและอุปกรณ์ แต่สลิงที่ไปพบมีการซ่อมแซมเกิดขึ้น ไม่เหมือนกับสเปกที่มาจากต่างประเทศ มีการเจียตัวยึดสลิง มีรอยไหม้ มีการฝน เรียกว่าเป็นการซ่อมแซม ทำให้ใหญ่กว่าปกติที่ออกมาจากโรงงาน ตรงนี้ยังไม่ทราบว่าทำไมถึงซ่อม”

พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวอีกว่า ไม่ใช่การเปลี่ยนสเปกของอุปกรณ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ หรือเกิดการคอร์รัปชั่นนำของไม่ได้มาตรฐานมาติดตั้งในเครื่องบิน แต่เป็นสลิงและตัวยึดของเดิมที่ออกมาจากโรงงาน ซึ่งมีการไปซ่อมแซม

พล.ต.อ.จรัมพร อธิบายอีกว่า เมื่อทดลองนำอุปกรณ์สายสลิงอันใหม่ที่เป็นแบบมาตรฐานไปติดตั้งบนเครื่องบินลำเดิมที่ใช้กระโดดร่ม ก็พบว่าขนาดที่ นรต.กระโดดไม่ตรงกับของมาตรฐาน ยาวไม่พอดี ทำให้การยึดไม่มีความแน่นหนาพอ พอเกิดแรงกระชากจากผู้กระโดดจึงทำให้สลิงตัวนี้หลุดออกไปด้วย ร่มจึงไม่ทำงาน

“สายสลิงที่ใช้สำหรับกระตุกร่มชูชีพชำรุด หลุดออกจากขั้วต่อ สภาพของสลิงมีลักษณะคลายตัว มีรอยไหม้และคราบน้ำมัน ซึ่งเกิดจากการหลุดอย่างกะทันหัน” พล.ต.อ.จรัมพร อธิบายให้เห็นภาพ

ที่ปรึกษา สบ 10 ย้ำอีกว่า เมื่อไปเจอแรงเหวี่ยงบนอากาศและการกระโดดลงมาทำให้การกระชากจะแรงขึ้น ทำให้สลิงหลุด ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนการนำตัวยึดและสลิงไปซ่อมแซมก่อนที่จะมีการใช้กระโดดร่มครั้งนี้ แต่ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด

“ผมสั่งให้ถอดสลิงทั้งหมดรวมถึงอุปกรณ์ที่ติดตั้งในเครื่องบินคาซ่าออกมาทดสอบ โดยเฉพาะตัวที่เกิดปัญหาที่มีการซ่อมแซมขึ้นว่ามันใช้ได้จริงหรือไม่ ทดสอบแรงกระชากได้ดีแค่ไหน อีกส่วนหนึ่งมีการสั่งอุปกรณ์ติดตั้งเข้ามาจากต่างประเทศแล้ว ที่สำคัญนอกจากนี้คือการฟื้นฟูสภาพจิตใจของ นรต.ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามยืนยันว่าเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ก็กระโดดร่มได้แล้ว แต่เพื่อความกระจ่างและต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน จึงจะให้มีการฝึกอีกครั้ง”พล.ต.อ.จรัมพร กล่าว

อีกมุมจากเพจเฟซบุ๊ก “สมาคมคนรักเครื่องบินรบ” ก็ตั้งข้อสังเกตไปในแนวทางเดียวกับ พล.ต.อ.จรัมพร โดยระบุว่า น่าจะเกิดจากราวเกี่ยวสายสเตติกไลน์ (Static line) หรือสายที่เกี่ยวเพื่อกระตุกร่มบนเครื่องขาด ทำให้เมื่อกระโดดออกมาจากเครื่องบิน ร่มจะไม่กางออก

เมื่อกระโดดออกจากเครื่องบิน สายสเตติกไลน์จะกระตุกร่มให้กางออกในเวลา 4 วินาที ดังนั้นก่อนกระโดดจริงจึงมีการฝึกให้นักเรียนนับเวลาหลังกระโดดออกจากเครื่อง โดยให้นับ หนึ่งพันหนึ่ง หนึ่งพันสอง หนึ่งพันสาม หนึ่งพันสี่ แล้วเงยหน้ามองว่าร่มกางหรือไม่ ถ้าร่มไม่กาง ก็มีเวลาอีกเพียงไม่กี่วินาทีที่จะกระตุกร่มสำรอง เพราะความสูงที่ใช้กระโดดร่มทางยุทธวิธีจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ฟุต หรือ 1.5 กิโลเมตร เวลาตัดสินใจจึงสั้นมาก

ขณะที่โลกออนไลน์ได้มีการนำคลิปอุบัติเหตุ การกระโดดร่มของ ทหารกองร้อยลาดตระเวนของกองพลทหารราบที่ 9 ที่เกิดอุบัติเหตุ ร่มติดเครื่องบิน เมื่อปี 2553 มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง โดยเหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพบกระบุว่าได้มีการสอบสวนลงโทษทหารผู้ควบคุมแล้ว โดยพบว่าทหารที่อยู่บนเครื่องบินได้พยายามช่วยดึงเชือกทหารที่ประสบอุบัติเหตุเชือกติดกับตัวเครื่องและลอยอยู่ท้ายเครื่องแล้ว แต่ไม่สามารถดึงตัวทหารผู้นี้เข้ามาได้ เพราะน้ำหนักและความเร็วของเครื่องบินและลมแรง

ระหว่างนั้นทหารผู้ควบคุม ได้พยายามตะโกนถามสื่อสารให้ทหารที่ประสบอุบัติเหตุมีสติพ้นจากอาการตกใจ พร้อมแจ้งให้นักบินบินสูงขึ้น เพื่อให้เวลาผู้ประสบเหตุตั้งสติ เตรียมตัว จากนั้นทหารผู้ควบคุมได้แจ้งว่าจะตัดเชือกและให้ทหารที่ประสบเหตุเปิดร่มช่วย แต่ปรากฏว่าเมื่อตัดเชือกจากเครื่องบินแล้ว ร่มช่วยไม่กาง คาดว่าจะถูกเชือกพัน จึงทำให้ตกลงไปเสียชีวิต