posttoday

"ระวังจะตายฟรี"คำเตือนปธ.ศาลปกครองสูงสุด

31 มีนาคม 2557

ผมมีประสบการณ์ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลาแล้วนะ ไอ้ที่เจ็บไป ตายไปเนี่ย ตายฟรีทั้งนั้น จะมีสักกี่รายที่ได้รับการชดใช้ 7 ล้านบาท

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ/สุภชาติ เล็บนาค

ภาพสะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอด 3 เดือนของวิกฤตการเมืองขณะนี้ คงหนีไม่พ้นการที่ศาลตกเป็นเป้าโจมตีจากผู้ไม่หวังดีด้วยการถูกขว้างระเบิด หรือสาดกระสุนใส่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่คดีสำคัญกำลังจะถูกชี้ถูกชี้ผิดโดยศาล

ขณะเดียวกัน ศาลและองค์กรอิสระก็ถูกตั้งคำถามจากรัฐบาลและมวลชนซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ กปปส. ว่าศาลยังยึดหลักความยุติธรรมอยู่หรือไม่

“โพสต์ทูเดย์” นัดคุยกับ หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อฉายภาพบทบาทของศาลในการอำนวยความยุติธรรม รวมถึงแนวคิดของเขา ในการหาทางออกจากความขัดแย้ง ในวันที่คนไทยสามารถลุกขึ้นมาฆ่ากันได้ทุกเมื่อ!

ในมุมมองของหัสวุฒิเขายืนยันว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าศาลเอียงนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวหาลอยๆ ที่เกิดขึ้นจากคนกลุ่มเดียว ทั้งที่แท้จริงแล้ว หลักกฎหมายไม่สามารถเปิดโอกาสให้ศาลตัดสินเป็นอย่างอื่น นอกเหนือจากที่กฎหมายระบุไว้ได้เลย เพราะฉะนั้นที่พูดว่าศาลไม่เป็นกลางก็เพราะคำวินิจฉัยของศาลไม่ได้ให้ประโยชน์กับฝ่ายตัวเอง ถ้าเกิดว่าคำวินิจฉัยของศาลเป็นประโยชน์กับตัวเอง ก็จะบอกว่าศาลเป็นกลาง

“การปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะต้องมีการตรวจสอบอำนาจ การตรวจสอบอำนาจขององค์กรตุลาการ ก็ผูกพันที่จะต้องตรวจสอบบนข้อเท็จจริง และกฎหมาย ศาลไม่สามารถจะตัดสินอะไรได้ตามอำเภอใจ อันนี้ขัดต่อหลักในกฎหมายปกครอง โดยเฉพาะเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของการพิจารณาคดีของศาล ศาลตัดสินเองไม่ได้ เพราะอยู่ๆ คุณทะเลาะกันศาลจะตัดสินได้ไหม ไม่ได้ ถ้าคุณไม่ฟ้องศาลก็ไม่มีอำนาจ ฉะนั้นไม่เกี่ยวอยู่แล้ว”หัสวุฒิ ระบุ

ประธานศาลปกครองสูงสุดบอกว่า สาเหตุใหญ่มาจากการยุยง ส่งเสริม ตอกย้ำว่าศาลไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเพียงข้อกล่าวหาแบบลอยๆ และคนฟังก็เชื่อแบบลอยๆ เช่นเดียวกันว่ามันไม่เป็นธรรม ซึ่งสาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่คนจำนวนหนึ่งเชื่อทันทีมาจากคุณภาพของการศึกษาของคนไทย อันเป็นการศึกษาที่ไม่ได้สอนให้คนไทยคิดเป็น มันไม่ใช่การศึกษาแบบอ่านออกเขียนได้ ไม่เคยสอนว่าเวลาคนพูดมาเป็นจริงหรือไม่ ทั้งที่มันควรมีกระบวนการคิดก่อน ใคร่ครวญก่อน

“วันนี้มันกลายเป็นพอมีคนพูดว่าศาลลำเอียง เราก็เชื่อไว้ก่อน ไม่ต้องคิดเลยว่าลำเอียงจริงหรือเปล่า เหมือนกับมีคนพูดว่า เฮ้ย ห้องนั้นมีผีนะ! มีไม่มีไม่รู้ ก็เชื่อแล้วว่ามันมีผี ยังไม่เคยเข้าไปสำรวจ ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบเลย เพราะฉะนั้นมันจึงน่าเป็นห่วง จากคำทำนายของใครต่อใครว่ามันจะนำไปสู่ความรุนแรง แล้วถ้ามันเป็นอย่างนั้นนะ คนมันไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยทะเลาะกัน แต่สามารถฆ่ากันได้ ซึ่งเพราะอะไร เพราะมันขาดสติที่จะคิด พอบอกว่าไอ้นู่นเป็นอย่างนี้ก็เชื่อแล้ว”หัสวุฒิ แสดงความกังวล

เมื่อถามย้ำถึงหลักความเป็นกลาง หัสวุฒิบอกว่า ในที่สุดสังคมไทยอาจต้องคิดมากขึ้นว่า ความเป็นกลาง-ความไม่เป็นกลางคืออะไร และแยกแยะให้รู้ว่าสิ่งใดที่ถูกหรือไม่ถูกมากกว่าจะเชื่อทันที เมื่อคนคิดได้ ก็จะทำให้สังคมไทยเลิกวนกันอยู่ในจุดเดิม

“เช่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มันเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์สร้างขึ้นมาและค้นพบ แต่ว่ามันจะเป็นการปกครองในระบอบที่ดีที่สุดก็ต่อเมื่อคุณภาพของคนในประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองนี้มีคุณภาพด้วย ถ้าคิดเป็นคุณไม่ต้องไปแก้กฎหมายนู่น กฎหมายนี่หรอก คนมันรู้ คุณไม่ต้องไปแก้กฎหมายคอร์รัปชั่นหรอก คนมันรู้ว่าใครที่มันซื้อเสียงแล้วต้องถูกลงโทษอย่างหนัก”

“การลงโทษหนักก็คือคนนั้นจะไม่ได้รับเลือกในสมัยต่อไปต่างหาก ที่เจ็บปวดสำหรับนักการเมือง ซึ่งถ้าคนนั้นไม่ได้การรับเลือก จะต้องไม่ได้รับเลือกจากประชาชน ซึ่งก็หมายความว่าประชาชนเขามองเห็นว่าถ้าพฤติกรรมของคนคนนี้มาเป็นผู้แทนของเรานั้นมีปัญหา เป็นผู้แทนได้ยังไง ถ้าทุกคนรู้จักคิดนะ ไม่เห็นจะต้องไปแคร์อะไรเลย เพราะเที่ยวหน้ามันก็ไม่ได้รับเลือกแล้ว”

อย่างไรก็ตาม “การเลือกตั้ง” ในมุมมองของหัสวุฒิ ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป โดยมุมมองเรื่องประชาธิปไตยของหัสวุฒิมี 4 หลัก ได้แก่ 1.เสียงข้างมากรับฟังเสียงข้างน้อย 2.ปกครองโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3.กฎหมายเป็นใหญ่ หรือมีหลักนิติรัฐ และ 4.ต้องมีหลักแบ่งแยกอำนาจ คือต้องมีการตรวจสอบการให้อำนาจ การมีอำนาจ และการใช้อำนาจ มีอยู่ 4 ข้อ ที่แสดงว่าประเทศเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าต้องมีการเลือกตั้ง

“การเลือกตั้งเป็นวิถีทางได้มาซึ่งผู้แทนที่ประชาชนจะมอบอำนาจให้ไปใช้แทน แต่ไม่ได้มอบขาด เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งเป็นวิธีหนึ่งที่จะได้ตัวแทนเท่านั้น แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ดูที่วิธีที่จะได้อำนาจเท่านั้น แต่ต้องดูที่ 4 ประการ สมมติว่าผู้แทนได้มาด้วยการแต่งตั้ง แต่เคารพ 4 หลัก ผู้แทนก็มาจากการแต่งตั้งได้ ในทางกลับกัน ผู้แทนมาจากการเลือกตั้ง แต่เผด็จการเสียงข้างมาก ไม่รับฟังใคร ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ ไม่เคยถือกฎหมายเป็นสำคัญ ปฏิเสธกฎหมาย ปฏิเสธคำพิพากษาศาล ถือว่าอำนาจใหญ่สุด ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ ถามว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อันนี้คือความรู้ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ บอกว่าเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยแล้ว คุณไม่เคยสงสัยเหรอ เพราะคุณไม่รู้ว่าอะไรคือประชาธิปไตย”

“ผมเคยไปพบประชาชนแถวสุรินทร์ แล้วมีคนเสื้อแดงมา โดยมากเขาก็ดี เขาก็ไม่ได้ก้าวร้าว พอเราพูดจบ เขาพูดบ้าง เขาก็แสดงความคิดเห็นว่าต้องมีศาลประชาชน ศาลต้องเป็นระบบลูกขุน เราก็ปล่อยให้เขาระบาย เราก็ถามว่าศาลประชาชนเป็นยังไง คุณได้เป็นด้วยไหม มาจากไหน ใครเลือก รัฐบาลเลือกใช่ไหม แล้วถ้าทะเลาะกับรัฐบาล ศาลจะเข้าข้างคุณไหม หรือใช้ระบบลูกขุน คุณจะได้เป็นไหม นี่คิดไม่เป็น ผู้นำพูดมาๆ ไฮฮิตเลอร์ ก็เอาด้วย”

ด้วยเหตุเหล่านี้ หัสวุฒิคิดว่า หากจะปฏิรูปประเทศ ก็ต้องไม่ลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องปฏิรูปการศึกษา เพราะถ้าเมื่อไรก็ตามถ้าการปฏิรูปไม่พูดเรื่องการศึกษา มันจะแก้ปัญหาได้ก็เพียงช่วงเวลาหนึ่ง มันไม่มีทางแก้ปัญหาได้ว่าจะไม่ให้มันเกิด ในที่สุดก็กลับมาวงล้อเดิม แล้วก็จะใหญ่ขึ้น

"ระวังจะตายฟรี"คำเตือนปธ.ศาลปกครองสูงสุด

ค้านลากศาลเป็นตัวกลางสมานสองฝ่าย

แม้ว่าบทบาท หน้าที่ ของศาลปกครองจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองภาพใหญ่อย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลแพ่ง หรือศาลอาญา ที่ถูกถล่มด้วยระเบิดไม่เว้นแต่ละวันช่วงก่อนหน้านี้ แต่ตัวหัสวุฒิเองก็ได้รับจดหมายขู่ฆ่าอย่างต่อเนื่อง โดยฉบับล่าสุดเพิ่งถูกส่งมาหลังจากศาลปกครองมีคำสั่งคืนตำแหน่งให้ถวิล เปลี่ยนศรี กลับไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

“ตอนหลังสุดที่ศาลปกครองตัดสินคดีคุณถวิล เขาส่งมา แล้วเขาจัดลำดับของคนที่เขาจะฆ่าส่งมาเลย แต่ก่อนนี้ผมอ่าน หลังๆ มาเยอะก็ขี้เกียจอ่าน แต่เราก็ไม่ได้ถึงกับกลัวนะ เพราะผมได้รับจดหมายแบบนี้เยอะมาก ตอนนั้นสนธิ (สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) เพิ่งถูกยิงใหม่ๆ ก็มีคนส่งจดหมายมาหาผมว่าอยากโดนแบบสนธิมั้ย เขียนด้วยลายมือเลยส่งมาจากลพบุรี ส่งมาถึงผมโดยตรง เพียงแต่ศาลปกครองยังไม่โดนเหมือนศาลอาญา ศาลแพ่ง คือจดหมายขู่บ่อยมาก 2-3 วันก็มาทีนึงแล้ว”

หัสวุฒิประเมินสถานการณ์ขณะนี้ว่า ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่ว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงได้แล้ว จนในที่สุดอาจถึงเวลาที่คนไทยที่ไม่รู้จักกันจะต้องลุกขึ้นมาฆ่ากันจริงๆ

“ใจจริงแล้ว ผมก็อยากให้มันหลีกเลี่ยงได้นะ คืออย่าให้มันเกิดเลย เพราะว่าถ้าเกิดฆ่ากันตายอย่างมโหฬาร แล้วในที่สุดวันหนึ่งมันก็ต้องจบ แล้วคนที่ยังไม่ตายก็จะมานั่งเสียดายว่าโอ้โห มันไม่น่าเกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นเนี่ย ไอ้ที่จะพูดอย่างนี้ มันควรจะพูดเสียก่อน ควรจะพูดตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่พูดกันหลังจากฆ่ากันตายมโหฬารแล้ว”ประธานศาลปกครองฯ ระบุ

ถามว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น หัสวุฒิบอกว่า สถานการณ์นั้นขึ้นอยู่กับ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผู้นำ กับส่วนที่เป็นผู้ตาม หรือมวลชนของแต่ละฝ่าย หากเสียงที่เป็นมวลชนเข้าใจปัญหาของการใช้ความรุนแรง ก็จะไม่เกิดความรุนแรงขึ้น ถึงผู้นำจะชักจูงแค่ไหน ก็ไม่เอาด้วย

“ผมก็ไม่ได้อยู่ข้างเขานะ แต่ที่ท่านสุเทพ (สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.) พูด มีอย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่าดี คือ ถ้าเกิดมวลชนฝ่ายตรงข้ามเข้ามาพร้อมปืนล้านกระบอก ท่านสุเทพจะบอกมวลชนว่าให้กลับบ้าน ซึ่งผมว่าดีนะ ไม่ใช่มันมาแล้ว สู้มันเลย แบบนั้นตาย” หัสวุฒิระบุ ก่อนหน้านี้เขาเคยแสดงความคิดเห็นแล้วว่า ด้วยสถานการณ์ที่ “ไม่มีใครฟังใคร” แบบนี้ ควรจะต้องมีองค์กรที่เป็นหลัก ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือของทุกฝ่ายต้องมีองค์กรที่เป็นหลัก คือถ้าองค์กรนี้ว่าอย่างไร ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ต้องฟัง ต้องทำตาม

“เพราะฉะนั้นที่เห็นทุกวันนี้ แม้ว่าศาลตัดสินจะมีลูกปืนบ้าง ระเบิดบ้าง แต่ส่วนหนึ่งก็ยังสงบอยู่ สิ่งที่ผมจะพูดคืออยากให้มีองค์กรหลัก เช่น ศาล ทำหน้าที่อยู่ ก็ควรต้องรู้ตัวว่าต้องเป็นหลักให้บ้านเมืองต่อไป มีอำนาจหน้าที่ภารกิจตามกฎหมาย ก็ปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจปฏิบัติภารกิจของตัวเองตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมา”ประธานศาลปกครองฯ กล่าว

เมื่อถามว่าจะให้ประธานศาลต่างๆ เป็นคนกลางในการหาทางออกวิกฤตบ้านเมือง หรือโน้มน้าวฝ่ายต่างๆ ให้เข้าสู่กระบวนการเจรจาได้หรือไม่ หัสวุฒิตอบทันทีว่า ทำไม่ได้ แล้วสุดท้ายจะทำลายองค์กรตุลาการมากกว่า ที่สำคัญคือศาลจะถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสูญเสียหลักการที่ยึดถือมาโดยตลอด

“อย่างที่ผมบอกก็คือตามอำนาจหน้าที่แต่ละองค์กรศาลไม่มีหน้าที่ที่จะไปยุ่งกับอะไร บางคนอาจจะบอกว่าศาลมีอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งคือการไกล่เกลี่ย แต่นั่นมันหมายถึงคู่กรณีเขายอมให้ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่ไปไกล่เกลี่ยเอง คุณดูคดีคู่ความที่เขาบอกให้ไกล่เกลี่ย ให้มีอนุญาโตตุลาการ นั่นคือคู่ความเขายอม อยู่ๆ คุณเข้าไปยุ่งกับเขา ก็เละ แล้วต่อไปจะไม่มีองค์กรอะไรเหลืออยู่เลย”

“ไม่ว่าสถานการณ์ตอนนี้จะแย่ขนาดไหน สุดท้ายเราก็ยังมีศาลอยู่ การบังคับใช้กฎหมายก็ยังบังคับใช้อยู่ แต่ถ้าต่อไป ไม่ฟ้องอีกแล้วศาล มีเรื่องจัดการกันเองแล้ว เมื่อนั้นแหละเละแล้ว แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ฟ้องศาล ทั้งสองฝ่ายยังฟ้องศาลอยู่ แต่ถ้าเลิกฟ้องศาลเมื่อไร ก็มีปัญหาแล้วนะ อย่างตอนนี้ถ้ามีเรื่องไปแจ้งความไหม ก็มีอยู่ แต่ก็มีปัญหาความเชื่อถือกับอีกฝ่าย มันก็เสียความเป็นกลาง เมื่อไม่เชื่อว่าศาลจะตัดสินเป็นกลาง จะนำคดีมาฟ้องไหม ก็ไม่มีแล้ว ทีนี้ก็เกิดสงครามแล้ว อาวุธคือตัวตัดสิน เพราะฉะนั้นผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเอาศาล เอาองค์กรตุลาการไปทำนู่นทำนี่”หัสวุฒิ กล่าว

เตือนคนไทยระวังตายฟรี!

“ผมเคยพูดไว้แล้วเรื่องเจรจา ว่าจะเจรจาอะไรกัน จะเจรจากันต้องเป็นเรื่องที่เจรจาได้ ไม่ใช่เรื่องที่เจรจาไม่ได้ ถ้าตัดสินด้วยความรุนแรงก็ตาย เจรจาอะไร เจรจาให้เลิก ให้ออก ถามว่าม็อบเลิกไหม ไม่ เจรจาให้ออกไหม ไม่ มันเห็นอยู่ว่าเจรจาไม่ได้ บางคนอาจบอกว่า อ้าว งั้นพบกันครึ่งทาง แปลว่าอะไร หรือแปลว่าฝ่ายหนึ่งทำผิด กับฝ่ายที่กล่าวหาว่าทำผิด บอกเฮ้ย พบกันครึ่งทาง ไอ้นี่ทำผิดเต็มร้อย บอกทำผิดห้าสิบพอ เอาได้ไหม ไม่ได้ ผมเลยบอกว่าดูสิ ที่เขาทะเลาะกัน กล่าวหากัน จะเป็นไปได้ไหม อีกฝ่ายกล่าวหาอีกฝ่ายว่ากบฏ แล้วจะยังไง เพราะฉะนั้นผมไม่เชื่อว่าจะเกิดจากการตกลงกันของสองฝ่าย และให้มีคนตรงกลางมันจับมือทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกันเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่ผิด ต้องตัดสินไปเลย ไม่งั้นแก้ปัญหาไม่ได้”หัสวุฒิ ระบุ

อย่างไรก็ตาม หัสวุฒิบอกว่า เหตุการณ์ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่คนไทยจะีต้องลุกขึ้นฆ่ากันก่อนแล้วเหตุการณ์ถึงจะจบ เพราะก่อนหน้านี้มีบทเรียนอยู่แล้วในหลายประเทศว่าความขัดแย้งรุนแรงสามารถหาทางออกด้วยวิธีสันติภาพได้ ไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาฆ่ากันเสมอไป เพราะเมื่อคนคิดได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฆ่ากัน

“ถ้าเดินหน้าต่อไป ทั้งสองฝ่ายก็มีมวลชน แล้วในที่สุดคืออะไร เมื่อประชาชนคิดไม่เป็น ไม่รู้จักคิด ในที่สุดเราก็ไม่ได้อะไรมา ผมมีประสบการณ์ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลาแล้วนะ ไอ้ที่เจ็บไป ตายไปเนี่ย ตายฟรีทั้งนั้น จะมีสักกี่รายที่ได้รับการชดใช้ 7 ล้านบาท อย่างดีก็ได้จารึกชื่ออยู่ที่ก้อนหินตรงหน้าธรรมศาสตร์”หัสวุฒิ ทิ้งท้าย

แชมป์ถูกฟ้อง"มหาดไทย-โยกย้ายครู"

ศาลปกครองถูกจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ และเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดจากการใช้อำนาจบริหารงานราชการ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง

นับตั้งแต่ก่อตั้งศาลปกครองเมื่อ พ.ศ. 2542 รวมแล้ว 13 ปีเต็ม มีคดีฟ้องร้องเข้าสู่การพิจารณาทั้งหมดจำนวน 94,920 คดี มีการพิจารณาแล้วเสร็จ 7.4 หมื่นคดี หรือคิดเป็น 77.96%ซึ่งในแต่ละปีจำนวนของคดีเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันการบริหารจัดการคดีของศาลปกครองสามารถทำงานได้เสร็จเร็วตามไปด้วย

หัสวุฒิ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่น่าสังเกตและนำมาสู่การเปิดแผนกคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล คือ จำนวนคดีฟ้องร้องในเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับการสรรหา แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ มีจำนวนทั้งหมด 16,381 คดี หรือคิดเป็น 49.48% ถือเป็นคดีที่มีการฟ้องร้องเข้ามามากที่สุด

รองลงมาเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งลงโทษทางวินัย คิดเป็น 27.55% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐยังมีปัญหาด้านการใช้อำนาจ การใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องและความเป็นธรรมอันจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สาธารณะลดลงและอาจกระทบไปถึงบุคคลอื่นที่เป็นเพื่อนร่วมงาน รวมถึงบรรทัดฐานการบริหารงานในหน่วยงานนั้นๆ

ทว่า ปัญหาหนึ่งของการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการที่อีกไม่นานผู้ได้รับความเดือดร้อนจะเกษียณอายุราชการ ฉะนั้นถ้าการลงโทษทางวินัยหรือแต่งตั้งโยกย้ายไม่มีความถูกต้องจริงๆ แล้ว การเยียวยาผู้เสียหายจะไม่ทันต่อการเยียวยาแก้ไขปัญหา จึงต้องพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งส่วนนี้ถ้าศาลมีคำสั่งภายหลังผู้เสียหายเกษียณอายุไปแล้วก็จะไม่มีประโยชน์อะไร

ประธานศาลปกครอง สะท้อนว่า ปัญหาของจำนวนคดีที่มีการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลเข้ามามาก เกิดจากประชาชนเข้าใจถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น รวมถึงการบริหารงานของรัฐไม่ชอบธรรม เช่น ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง การลงโทษทางวินัย การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้

เขาอธิบายว่า แต่เดิมเวลาเกิดปัญหาประชาชนไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีช่องทางไปร้องต่อฝ่ายปกครอง ที่จริงแม้จะมีคดีฟ้องร้องมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะมากขึ้น เพียงแต่จากเดิมไม่มีการฟ้องร้องเข้ามา ซึ่งโอเค ประชาชนมีโอกาสชนะน้อยกว่าหน่วยงานรัฐ หรือคิดเป็น 40%ส่วนฝ่ายรัฐมีโอกาสชนะมากกว่าถึง 60%

"ระวังจะตายฟรี"คำเตือนปธ.ศาลปกครองสูงสุด

กระนั้น ก่อนหน้านี้จำนวน 40% ที่ปรากฏไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งอย่างน้อย 40% ของการชนะคดีก็สะท้อนว่าการปฏิบัติงานของรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมายจริงๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากถ้าหน่วยงานรัฐส่วนอื่นได้นำคำตัดสินไปศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก

ปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกิดขึ้น ทำให้ศาลปกครองริเริ่มจัดโครงการ ศาลปกครองพบประชาชน ซึ่งจัดขึ้น 3-4 ครั้งต่อปี จากนั้นเปลี่ยนมาเป็น ศาลปกครองพบสื่อในจังหวัด โดยในปีที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่พบสื่อมวลชนแล้วกว่า 20 จังหวัด

ทั้งนี้ เหตุผลของการเปลี่ยนมาพบสื่อ เนื่องจากในแต่ละจังหวัดที่มีสื่อมวลชนในพื้นที่มีการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่มากกว่า เช่น วิทยุท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการนำความรู้ที่ได้เข้าถึงประชาชนต่อไปอีกขั้น แต่ปัญหาที่มีการฟ้องร้องอยู่ทุกวันนี้แสดงว่าทางหน่วยงานของรัฐ-เจ้าหน้าที่รัฐ ยังปฏิบัติราชการผิดพลาดเช่นเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องเป็นคดีซ้ำๆ ดังนั้นเราจึงจัดโครงการขึ้นมาอีกระดับ คือ ศาลปกครองพบหัวหน้าส่วนราชการ ทำหน้าที่ให้ข้อมูล แนวทางปฏิบัติราชการที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้อง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ถูกฟ้องมากที่สุด คือ กระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นฝ่ายปกครองโดยตรงในจังหวัดต่างๆรองลงมากระทรวงศึกษาฯ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของการแต่งตั้งโยกย้ายมักจะมีครูเป็นผู้ฟ้องมากที่สุด เช่น ปัญหาเรื่องความอาวุโสกว่าที่สมควรได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ปรากฏว่าเอาคนอื่นแซงข้ามหัวขึ้นไป หรือการลงโทษที่ผู้เสียหายคิดว่าเขาไม่ได้ผิด แล้วจะลงโทษได้อย่างไรก็ถือเป็นการกลั่นแกล้ง

“การจะหวังพึ่งคำตัดสินของศาลนั้นถือว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือตัวของผู้บังคับบัญชาที่ต้องมีจิตสำนึก ไม่ข้ามขั้นตอนในการโยกย้าย ไม่กลั่นแกล้งใคร นำแนวทางคำตัดสินไปศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดเป็นคดีความ”หัสวุฒิ กล่าว

สำหรับประโยชน์ของการเปิดแผนกคดีที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล มีขั้นตอนที่ละเอียดตั้งแต่เริ่มรับคำฟ้อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารว่าเป็นคดีบริหารงานบุคคลหรือไม่ พอเป็นปั๊บ! จะถูกส่งต่อไปดำเนินการ ซึ่งระยะเวลานั้นรวบรัดมากขึ้น เช่น จะต้องถูกส่งเรื่องไปยังหัวหน้าแผนก จากนั้นส่งเรื่องต่อไปยังอธิบดี และเข้าสู่องค์คณะพิจารณาคดี ก่อนจะแจกจ่ายสำนวนให้ตุลาการเจ้าของสำนวนเริ่มเปิดการพิจารณาคดีต่อไป

ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิจารณาคดี โดยปกติแล้วมี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.รับคำฟ้อง 2.ส่งคำฟ้อง 3.ให้ผู้ถูกฟ้องทำคำให้การ-แก้ข้อกล่าวหา และ 4.มีการคัดค้านคำฟ้อง

นอกจากนั้น การตรวจสำนวนตั้งแต่ตอนต้น จะมีความสำคัญต่อระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีจะยังอยู่ในราชการ จริงๆ ผมคิดถึงขนาดที่ว่าถ้ามีการฟ้องในศาลชั้นต้น แล้วอีก 1 ปี ผู้ฟ้องจะเกษียณอายุราชการ ถ้าเผื่อว่าศาลใช้เวลา 2 เดือนก่อนเกษียณตัดสินออกมา โอเค ยังไม่เกษียณก็จริง แต่ก็แค่อยู่ศาลชั้นต้นเอง ถ้ามีการยื่นขออุทธรณ์อีกทีเดียว เลยอายุเกษียณไปแล้ว ฉะนั้นกำลังคิดอยู่ว่าถ้ามันมีระยะเวลาอย่างนี้จะทำอย่างไรให้ทันต่อการเยียวยา ดังนั้นถ้าดูแล้วเหลืออายุราชการอีก 1 ปี จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ศาลชั้นต้นจะใช้เวลาพิจารณาแค่ 4 เดือน หรือสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน ก็ตัดสินได้แล้ว เพราะยังมีเวลาให้อีกฝ่ายได้อุทธรณ์ เพื่อให้เวลาที่ศาลสูงจะตัดสินได้ทัน

ประธานศาลปกครองสะท้อนปมปัญหาที่พบจากความล่าช้าของคดีว่า การเยียวยาเร่งด่วนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะเห็นว่าผู้ถูกฟ้องส่วนใหญ่ก็เป็นรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มันเห็นอยู่แล้วว่าเป็นฝ่ายผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องชดใช้เยียวยาค่าเสียหาย แต่ว่ามีกฎระเบียบคณะรัฐมนตรีที่ต้องออกเป็นมติให้การสู้คดีต้องยื่นอุทธรณ์ทุกครั้ง จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการเยียวยาประชาชนผู้เสียหาย

“ถ้าเป็นไปได้คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี น่าจะยกเลิกกฎระเบียบการยื่นอุทธรณ์ไปเสียทุกเรื่อง แล้วหันมาเร่งเยียวยาความเดือดร้อนประชาชนในฐานะผู้ที่ต้องดูแลความทุกข์สุขของประชาชน สิ่งที่ทำกลับตรงข้าม ไม่ได้ดูแลทุกข์สุขของประชาชน”ประธานศาลปกครองกล่าว