posttoday

วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทย

20 มีนาคม 2557

วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทยถวายแด่พระสังฆราช

วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทยถวายแด่พระสังฆราช
โดย วรธาร ทัดแก้ว

งานบำเพ็ญกุศลศพในแบบวัชรยาน ถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทางวัดบวรนิเวศวิหาร ร่วมกับสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติงดงามเพิ่งผ่านไปหมาดๆ ของค่ำคืนวันที่ 19 มี.ค. ณ ลานด้านหน้าพระตำหนักเพ็ชร โดยงานนี้นอกจากชาวไทยจะเดินทางมาร่วมงานคับคั่งแล้วชาวอินเดียในประเทศไทย ซึ่งนำโดย มร.ฮัช วาร์ดัน ชริงลา เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย พร้อมคณะก็มาร่วมงานด้วย

ความจริงงานนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. ทว่าเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดเรียบร้อยก่อนที่ไฮไลต์ของงานจริงๆ จะมีในวันที่ 19 ซึ่งเป็นวันประกอบพิธีวัชรยานบูชาเต็มรูปแบบ ซึ่งงานนี้จะสมบูรณ์ตามแบบฉบับของวัชรยานนั้นจะขาด “ลามะ” ซึ่งเป็นผู้จัดแจง เตรียมการ และประกอบพิธีกรรมต่างๆ มิได้ สถานทูตอินเดียจึงได้เชิญลามะจาก Arunachal Pradesh มาประกอบพิธีดังกล่าวเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศไทย

สิ่งหนึ่งที่มีการเตรียมการมาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. และมาแล้วเสร็จในวันที่ 19 มี.ค.ในช่วงเวลา 17.00 น.โดยประมาณ ก็คือ การสร้างพุทธมณฑลทราย หรือ มันดาล่าทราย โดยฝีมือการสร้างสรรค์ของพระทิเบตที่เราเรียกว่า ลามะ ทุกขั้นตอนในการสร้างสรรค์มันดาล่าบ่งบอกถึงการปฏิบัติอย่างตั้งใจและต้องใช้สมาธิขั้นสูง

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรฯ  กล่าวว่า การสร้างมันดาล่าในงานบำเพ็ญกุศลพระศพสมเด็จพระญาณสังวรครั้งนี้ทำเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรโดยใช้หินอ่อนตกผลึกสีขาวนำมาบดเป็นทรายหลายขนาดนำไปย้อมสี ซึ่งมีทั้งสีน้ำเงิน ขาว เหลือง แดง เขียว ดำ น้ำตาล ส้ม ฟ้า เหลืองอ่อน แดง และเขียวอ่อน สะท้อนให้เห็นถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสรรพสิ่งไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

“โดยทั่วไปมันดาล่าอาจสร้างขึ้นจากดอกไม้ เมล็ดข้าวแห้ง หรือการแกะสลัก ก็ได้ แต่ในงานนี้สร้างด้วยทรายบนแท่นพื้นเรียบ ด้วยอุปกรณ์ซึ่งเป็นกรวยโลหะที่เรียกว่า chak-pu และเครื่องขูดที่ทำจากไม้เรียกว่า shing-ga ทุกขั้นตอนต้องใช้สมาธิขั้นสูงในการทำ อย่างไรก็ตาม ตามธรรมเนียมของพุทธศาสนามหายานเมื่อสร้างเสร็จจะต้องมีการทำลายหรือลบทิ้ง อันเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง และนี่คือปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในมันดาล่าทรายเป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา”

เจ้าคุณศากยวงศ์วิสุทธิ์ เสริมว่า มันดาล่าทรายคือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างสมคุณความดีและความบริสุทธิ์ขึ้นจากพลังในตัวมันดาล่าเอง ทั้งยังสร้างสมบุญให้แก่ผู้ทำมันดาล่าทราย ผู้สนับสนุนการสร้างมันดาล่าและผู้ที่ได้เห็นมันดาล่า ขณะที่สร้างพระสงฆ์ได้อัญเชิญพลังศักดิ์สิทธิ์มาสถิตในมันดาลาซึ่งจะเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่ได้มาเยี่ยมชมและยังช่วยคุ้มครองปกป้องสถานที่ซึ่งมันดาลานั้นตั้งอยู่อีกด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่มีการจัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 เช่นกัน คือการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนย (Butter Sculpture) และมีการอัญเชิญขึ้นไปบูชาด้านหน้าพระโกศ ในตำหนักเพ็ชร เจ้าคุณชาวเนปาลศิษย์สมเด็จพระสังฆราช อธิบายว่า การปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยนี้เป็นพุทธศิลปะโบราณทางทิเบตและหิมาลัยที่มีมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 15 โดยปั้นจากเนยสีต่างๆ เป็นรูปทรงสวยงาม เป็นประเพณีสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันยังมีพระสงฆ์จำนวนมากที่ปฏิบัติกิจเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยในงานที่ยิ่งใหญ่ซึ่งจะมีขึ้นในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนจันทรคติที่ 1 ซึ่งเป็น Losar (ปีใหม่) หรือการเฉลิมฉลองปีใหม่ และเป็นการถวายสักการะแด่พระพุทธเจ้า

“ในงานนี้เครื่องบูชาสักการะเนยได้ปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้า รูปดอกไม้ และสัตว์ต่างๆ สวยงาม มีการพิธีปลุกเสกพร้อมมันดาล่าโดยพระลามะ ก่อนที่จะอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานด้านหน้าพระโกศ สมเด็จพระญาณสังวร”

โดยหลังจากที่มีการอัญเชิญเครื่องบูชาสักการะเนยไปประดิษฐาน ณ ด้านหน้าพระโกศ แล้วก็เป็นการประกอบพิธีสวดมนต์น้อมถวายพระศพฯ เรียกว่า Nyensen ซึ่งเป็นบทบรรเลงภาวนาพลังอำนาจแห่งความดีอันก่อให้เกิดการหยั่งรู้ แบบสร้างสรรค์ผ่านบทร้องและเสียงดนตรีที่ถูกถักทอเข้าด้วยกันผสานกับจิตวิญญาณแห่งความดีอันเสมือนบทบรรเลงสู่พุทธมหรสพในเทศกาลอินเดียโดยพระลามะ 10 รูป

ปิดท้ายด้วยการรำบูชาอีก 3 ชุดเป็นเสร็จพิธีบูชาแบบวัชรยาน โดยการรำทั้ง 3 ชุดประกอบด้วย Khadro Garcham ระบำแห่งทูตสวรรค์ ซึ่งเป็นชุดการรำของพระลามะ 5 รูปอันเป็นสัญลักษณ์ของธาตุแห่งลมและปัญญาทั้ง 5 ชุด ใช้นักดนตรี 4 คนที่มารังสรรค์จังหวะดนตรีการเคลื่อนไหวแห่งทูตสวรรค์ผู้ซึ่งมีอำนาจของสวรรค์ มาอำนวยพรให้เกิดพลังแก่ชีวิต และส่องความสว่างไสวแก่ชีวิตบนโลกมนุษย์

ชุดที่ 2 คือ Land Dang Phag-cham ระบำวัวและหมูป่า เป็นระบำโบราณที่จรรโลงขึ้นเพื่อกำจัดพลังอันเลวร้ายและอุปสรรคต่างๆ เป็นการรำในรูปแบบ Dark po หรือ “ปางกริ้วโกรธ” โดยถือสัญลักษณ์ของอุตรภาพแห่งการแสดงอัตตาต่อภายนอก (สภาวะแวดล้อม) ภายใน (อารมณ์) และความลับ (ความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตใจอันละเอียดอ่อน) ท่วงทำนองการรำเป็นสัญลักษณ์ของความโสมนัสและอิสรภาพแห่งการได้เห็นสัจธรรม อันถ่องแท้

ปิดท้ายด้วย  Durdak Garcham ระบำเทพเจ้าแห่งโครงกระดูก ชุดนี้มีขึ้นเพื่อย้ำเตือนแก่โลกมนุษย์ได้ตระหนักถึงธรรมชาติอันไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง เป็นการปลดปล่อยและการรักษาสมดุลของการหยั่งรู้และความเป็นจริง แสดงโดยพระลามะ 4 รูป อันเปรียบเสมือนกองทัพแห่งความดีในขบวนพระยมราชผู้ซึ่งเป็นพระธรรมบาลสัจธรรมที่มาพร้อมด้วยพระธรรมอันจะชักนำจิตใจไปสู่ชีวิตอันประเสริฐ

โดยการเต้นรำบูชาถือเป็นการเต้นรำศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้เต้นรำจะสวมหน้ากากและเครื่องแต่งกายที่สดใสมีชีวิตชีวา มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลของชาวพุทธ ในขณะเต้นรำจะมีเพลงที่บรรเลงโดยพระสงฆ์ซึ่งใช้เครื่องดนตรีแบบดังเดิมมักจะมีนำเสนอการสั่งสอนทางศีลธรรมในการแสดงความเมตตาปราณีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและเพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลให้แก่ทุกคนที่รับรู้ในสิ่งเหล่านั้น

การที่รัฐบาลอินเดียโดยสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ซึ่งนำโดย ฯพณฯ มร.ฮัช วาร์ดัน ชริงลา เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดงานบำเพ็ญกุศลศพแบบวัชรยานถวายสมเด็จพระญาณสังวรในครั้งนี้ นอกจากไทยกับอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว ในส่วนของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมานานกับประเทศอินเดีย ชาวอินเดีย ตลอดจนผู้นำสูงสุดของอินเดียด้วย

กล่าวคือ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศอินเดีย 3 ครั้ง โดยเกิดขึ้นใน ปี 2513 ขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระสาสนโสภณ” กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานกรรมการสภาการศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้เป็นผู้นำสาส์นของสมเด็จพระสังฆราชพร้อมกัปปิยภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบและเยี่ยมชาวพุทธในประเทศปากีสถานตะวันออก (ปัจจุบันคือประเทศเนปาล) ซึ่งประสบวาตภัยร้ายแรง

ในขณะเดียวกันได้ไปสังเกตการณ์ด้านการศึกษาและการพระศาสนา ณประเทศอินเดีย ปากีสถานตะวันตก และเนปาลด้วย ระหว่างวันที่ 8 ธ.ค. 2513 ถึง 2 ม.ค. 2514 รวม 25 วัน จากนั้นในปี 2523 ได้เสด็จไปครั้งที่ 2 ณ เมืองโจธปูร์ ตั้งแต่วันที่ 11-22 ธ.ค. เป็นเวลา 11 วัน  และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่  19-22  ก.พ. 2542 โดยเสด็จไปเป็นประธานสมโภชวัดไทยกุสินารามหาวิหาร
  
ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้นำอินเดีย อย่างนายกรัฐมนตรีอินเดียก็ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าถวายสักการะสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เช่น ในปี 2536 นาย พี วี นรสิงหะ ราว นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าถวายสักการะ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร  

แม้การบำเพ็ญกุศลพระศพสมเด็จพระญาณสังวรในแบบวัชรยานจะผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ค่ำวันที่ 19 มี.ค. แต่พุทธมณฑลทราย หรือ มันดาล่าทรายนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในปะรำพิธีชั่วคราวด้านซ้ายทางเข้าประตูพระตำหนักเพ็ชรยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 23 มี.ค. ส่วนวันที่ 24 มี.ค. จะถูกลบทิ้งและรวบรวมแจกจ่ายให้แก่ผู้ร่วมงานเพื่อนำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

หากใครที่ยังไม่เคยเห็นพุทธมณฑลทรายที่ถูกสร้างขึ้นอย่างสวยงามและประณีต เชิญไปชมได้ที่วัดบวรนิเวศวิหารก่อนที่จะความสวยงามนี้จะไม่มีให้เห็นในวันที่ 24 มี.ค.นี้

 

วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทย

 

วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทย

 

วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทย

 

วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทย