posttoday

บิ๊กตู่บ่นอึดอัด-ยิ่งลักษณ์ไม่หวั่นปฏิวัติ

07 มีนาคม 2557

หลังจากได้เกิดความมึนตึงระหว่างรัฐบาลและกองทัพ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

โดย...ทีมข่าวการเมือง

หลังจากได้เกิดความมึนตึงระหว่างรัฐบาลและกองทัพ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ใช้อำนาจรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สั่งให้ดำเนินคดีเรื่องการติดป้ายแบ่งแยกประเทศจนทำให้คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยออกมาถล่มทหารเลือกปฏิบัตินั้น ล่าสุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เคลียร์ใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว โดยต่างฝ่ายต่างยืนยันยังมีความสัมพันธ์ดีต่อกัน

พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่า มีความอึดอัดใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยขอให้ทุกฝ่ายเคารพกระบวนการยุติธรรม และขอให้ยิ่งลักษณ์พูดคุยให้เสื้อแดงหยุดการเคลื่อนไหวเรื่องแยกดินแดน ซึ่งนายกฯ บอกว่าจะพยายามห้ามปราม ส่วนนายกฯ ได้สอบถามถึงสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร ทหารทำหน้าที่อะไร ซึ่งก็ได้อธิบายให้ฟังและนำเรียนให้ทราบถึงปัญหาความวุ่นวาย

“นายกฯ รับจะนำเรื่องไปดำเนินการ แต่ท่านขอร้องให้ทหารทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งผมยืนยันว่าทำอยู่แล้ว และอธิบายให้ท่านเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งท่านก็เข้าใจ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผบ.ทบ.กล่าวอีกว่า ความวุ่นวายในประเทศจะจบลงเมื่อทุกคนกลับบ้านหมดและให้กระบวนการทำงานไป ต้องกำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน และต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม

“สังคมวันนี้จะหยุดได้โดยพวกเราช่วยกันให้ทุกคนเคารพกติกา และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ถ้าใช้อาวุธต่อสู้ไม่มีใครชนะ ซึ่งทหารก็ปล่อยไม่ได้ที่จะให้ทุกคนมารบกัน เราต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม หากเราไม่เชื่อมั่น ประเทศจะไปไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่าได้มีการพูดคุยกับนายกฯ ในการเจรจากับ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ก็มีการพูดกันบ้างเล็กน้อย ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง แต่อยู่ที่คนพูดคุยกัน และไม่อยากเข้าไปอยู่ในส่วนตรงนี้ เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“จะคุยกันอย่างไร ไม่ใช่เรื่องของผม หน้าที่ผมคือสร้างสภาวะแวดล้อมให้ปลอดภัย เรื่องอื่นเป็นเรื่องของการเมือง เรื่องผิดกฎหมายเป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม ส่วนทหารไปช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ขณะที่ตำรวจไปติดตามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย” ผบ.ทบ.ระบุ

สำหรับกรณี วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำเสื้อแดงปทุมธานี ได้นำแผ่นป้ายแบ่งแยกดินแดนมาติดตั้งอีกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลต้องดำเนินการ และจะเร่งรัดให้ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ดำเนินการ เพราะรัฐบาลและ ศรส.มีหน้าที่ในการดูแลในพื้นที่ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ขณะที่ยิ่งลักษณ์ชี้แจงว่า การพูดคุยกันกับทาง ผบ.เหล่าทัพ เพราะต้องให้เกิดความชัดเจนในแง่ของความกังวลใจ ซึ่งความกังวลใจในส่วนของกองทัพเอง ก็ไม่ต่างจากความกังวลใจของตัวเองในฐานะ รมว.กลาโหม และในส่วนของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ต้องร่วมมือกันทำงานให้เกิดความสงบ

ทั้งนี้ เชื่อว่าไม่มีใครที่อยากจะไปถึงให้เกิดความรุนแรงหรือปฏิวัติ เพราะไม่มีประโยชน์ รวมถึงการยอมรับของต่างชาติด้วย ซึ่งจุดยืนของกองทัพคือจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มีหน้าที่ดูแลความมั่นคง และไม่ได้เคลียร์กันเรื่องแยกดินแดน

“ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าเราจะร่วมกันในการปกป้องไม่ให้มีเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ประเทศไทยต้องเป็นหนึ่งเท่านั้น ขอว่าเวลานี้เราน่าจะหยุดพูดเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะยิ่งพูดจะยิ่งทำให้เป็นแผลแตกแยกในใจ และเราเองก็ไม่มีคนไทยคนไหนที่อยากจะแยกประเทศ” ยิ่งลักษณ์ ระบุ

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การพูดคุยกันบ่อยๆ กับผู้นำเหล่าทัพ ก็น่าจะเป็นทางออกมากกว่าการที่ไม่ได้พูดจากัน และทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันและมีความรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนที่ทางกองทัพมีความกังวลใจที่อยากให้ทางการเมืองช่วยดูแล คือเรื่องของความมั่นคง ที่ต้องให้ทาง ศรส.ดูแลความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่สัญจรไปมา ซึ่งส่วนนี้ต้องเพิ่มมาตรการและปรับมาตรการเรื่องจุดตรวจต่างๆ เพื่อให้เป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ

สำหรับการหารือร่วมกับผู้บัญชาการทหารเรือนั้น ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ในส่วนของกองทัพเรือต้องทำตามหน้าที่ ถ้ามีรายละเอียดต่างๆ ก็ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง ทั้งหมดนี้คงต้องยึดกติกา ส่วนของทหารเรือก็เป็นอำนาจของทหารเรือเอง และขณะนี้ได้มีการสอบข้อเท็จจริงอยู่แล้ว คงเป็นไปตามขั้นตอนปกติ

สำหรับที่หลายกลุ่มพยายามยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความสถานภาพของรัฐบาล หลังครบ 30 วันจากการเลือกตั้งนั้น ยิ่งลักษณ์บอกว่า ต้องรอฟังคำวินิจฉัยและได้ยึดถือตามหลักรัฐธรรมนูญที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ เพราะนายกรัฐมนตรีในฐานะรักษาการต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องทำงานต่อไป ดังนั้นคงต้องรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ