posttoday

ไม่ปฏิรูปตำรวจประเทศเดินหน้าต่อไม่ได้

20 กุมภาพันธ์ 2557

ระบบตำรวจเป็นระบบที่ควรปฏิรูปอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะได้ ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

กล่าวกันว่าเมื่อใดที่ประชาชนเกลียดตำรวจ ตำรวจเกลียดประชาชน เมื่อนั้นบ้านเมืองไม่มีวันสงบสุข

วันนี้ ศรัทธาที่ประชาชนมีต่อตำรวจไทยนั้นถือได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ ไม่เคยมียุคใดที่ชื่อเสียงของผู้พิทักษ์สันติราษฎ์จะแปดเปื้อนมัวหมองมากเท่ายุคนี้อีกแล้ว พฤติกรรมใช้อำนาจโดยมิชอบ พัวพันกับการคอร์รัปชันรับสินบน ซ้ำยังถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม ดังที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ทั้งหมดส่งผลทำให้คำว่า "เกียรติตำรวจของไทย" กลายเป็น เพจเฟซบุ๊ก "เกลียดตำรวจของไทย" อย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการผู้เคยเขย่าวงการสีกากีให้สั่นสะเทือนด้วยงานวิจัยเรื่อง  "เศรษฐกิจนอกระบบ" ตีแผ่เรื่องราวอันมืดดำของอาชีพตำรวจที่เข้าไปมีส่วนพัวพันกับธุรกิจสีเทา จนถูกฟ้องร้อง ถูกต่อต้านอย่างหนัก ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างทั้ฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

30 ปีกับการศึกษาวิจัยโครงสร้างของระบบตำรวจอย่างลึกซึ้ง จริงจัง และต่อเนื่อง วันนี้เขายังยืนยันคำเดิมว่า

"ต้องปฏิรูประบบตำรวจโดยเร็วที่สุด"

ถาม : มองสถานการณ์ในแวดวงตำรวจทุกวันนี้อย่างไร

ตำรวจเป็นองค์กรที่นักการเมืองใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หลังปีพ.ศ. 2490 กองทัพเข้าไปยึดอำนาจในกรมตำรวจ แล้วใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ทหารจะยื่นมาเข้ามาแทรกแซงองค์กรตำรวจเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นระยะ แต่ผมคิดว่าตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 สถานการณ์เปลี่ยนไป นักการเมืองมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เข้ามาสวมบทบาทแทนทหารซึ่งแต่ก่อนเป็นผู้ปกครอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมือง นักการเมือง กับตำรวจ ไม่เพียงแต่รัฐบาล หรือนักการเมืองใช้ตำรวจให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองในแง่ของการที่ไปควบคุมกำจัดคู่แข่งขันทางการเมือง ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง ข่มขู่ทำร้ายหัวคะแนน สิ่งที่ตำรวจได้ประโยชน์จากนักการเมืองมาก็เยอะ

โดยเฉพาะเมื่อมาถึงยุคที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ให้ประโยชน์แก่องค์กรตำรวจมาก คุณทักษิณซื้อใจตำรวจ เช่น เดิมทีตำรวจขึ้นอยู่กับมหาดไทย แต่ตอนหลังมามีพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ทำให้สามารถขยายกำลังพลของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับนายพลขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ขยายความก้าวหน้าด้วยการอนุญาตให้ตำรวจได้เข้าไปกินตำแหน่งเป็นบอร์ดของรัฐวิสาหกิจต่างๆ เข้าไปเป็นในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ปปง. ดีเอสไอ ปปท. ไม่เว้นแม้แต่ทางด้านงบประมาณแผ่นดิน ช่วงนั้นเองที่ความสัมพันธ์ของนักการเมืองกับตำรวจเป็นไปในลักษณะการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตำรวจมีความคาดหวังว่าถ้ามีความภักดีต่อคุณทักษิณ ก็จะมีโอกาสได้อะไรอีกมากมายหลังเกษียณอายุราชการ

ผมพบว่าตำรวจที่เกษียณอายุไปแล้ว ได้รับการตอบแทนทางการเมืองด้วยการให้กลับมาเป็นรัฐมนตรีมากยิ่งกว่าทหารเสียอีก เช่น เป็นเลขานุการของนายกฯ รองนายกฯ ตรงนี้ทำให้องค์กรตำรวจมีความภักดีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย เพราะดูย้อนหลังกลับไป 10 ปี เขาได้ประโยชน์จากพรรคการเมืองพรรคนี้มากมายมหาศาลเลย

ขณะเดียวกัน ตำรวจไม่น้อยไม่ชอบประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ว่าประชาธิปัตย์ไม่ดี แต่ใจไม่ค่อยถึงในการที่จะตบรางวัลต่างๆ ก็มีตำรวจจำนวนหนึ่งรักและชื่นชมประชาธิปัตย์ แต่ตำรวจส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกแบบนั้น ถ้าเทียบกับคุณทักษิณที่ใจถึงกว่า ถ้าจะให้ต้องบอกว่าให้แบบถึงอกถึงใจ สมใจอยากเลย จะเลื่อนใครไปเป็นอะไรเหมือนเนรมิต เหมือนเสกมาให้ได้ ตำรวจส่วนใหญ่จะให้ใจกับพรรคเพื่อไทยมากกว่า

ลองสังเกตว่าเมื่อตอนที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คุมตำแหน่งดูแลความมั่นคง เมื่อปี 2553 เขาใช้งานตำรวจกรุงเทพไม่ได้ ต้องหันไปใช้ตำรวจจากต่างจังหวัดแทน ซึ่งตำรวจก็ช่วยแกได้น้อย คนที่ช่วยแกจริงๆคือทหาร เพราะฉะนั้นเมื่อคุณสุเทพได้มาเป็นผู้นำของภาคประชาชน แล้วก็มีคู่ต่อสู้ที่สำคัญคือตำรวจ จึงไม่ค่อยน่าแปลกใจที่เขาพร้อมจะเป็นคู่ต่อสู้กับคุณสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์อย่างสมัครใจ

ถ้าติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับแวดวงตำรวจอย่างน้อยที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าตำรวจเป็นกลุ่มข้าราชการที่ประชาชนไม่ชอบมากที่สุด มีปฏิกิริยาที่มาจากประชาชน จากทั้งนักการเมืองที่อยากจะปฏิรูปตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง

แต่ปัญหาก็คือแรงของการปฏิรูปตำรวจยังไม่มากเพียงพอ 

ถาม : อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจ

ยุคที่มีการก่อตั้งกองตำรวจขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่มีใครอยากมาเป็นตำรวจ แรกๆต้องใช้วิธีบังคับให้คนมาเป็นตำรวจด้วยซ้ำ เพราะรายได้น้อย ไม่คุ้มค่า บางทีก็ต้องไปเอาโจร เอานักเลงหัวไม้ เพื่อที่จะได้เอาไว้ปราบนักเลง หรือโจรด้วยกัน แล้วโครงสร้างค่าตอบแทนตำรวจมันก็ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตของตำรวจ

เขาจึงเริ่มเรียนรู้ว่าอำนาจที่เขามีอยู่สามารถจะหาผลตอบแทนในทางที่มิชอบได้ ตอนหลังๆเราพบว่าเวลาที่เด็กไปสมัครเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร หรือเวลาเลือกเหล่าทัพ พวกเด็กเรียนดี สมองดีจะเลือกตำรวจเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อก่อนคนเก่งมันจะอยู่กองทัพ เดี๋ยวนี้แกนมันเปลี่ยน ทุกคนอยากจะมาอยู่ตำรวจ เพราะว่าเขามีความคาดหวังว่าตำแหน่งหน้าที่ของเขาจะได้ผลประโยชน์อย่างแน่นอน ถึงเขาจะไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรเลย มันก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า "เงินตามน้ำ" เกิดขึ้น

คุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เองก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเงินตามน้ำของตำรวจมันเกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่มีเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นนักเรียนตำรวจ ตำรวจที่เพิ่งจะมาเป็นชั้นประทวน หรือสัญญาบัตร ต่างคาดหวังว่าตัวเองจะไม่ได้แต่ค่าตอบแทนเรื่องเงินเดือน เพราะเงินเดือนยังไงก็ไม่พอกินพอใช้ แต่เขาจะมีรายได้พิเศษจากตำแหน่งหน้าที่ มันได้มาโดยไม่ต้องดิ้นรน มาตามน้ำ บางคนอยากได้มากก็ทวนน้ำเอาเสียเลย คนที่เราเรียกว่าตำรวจดีเขาก็เพียงแต่ว่าไปตามน้ำ แต่พวกตำรวจที่เรียกว่าตำรวจมาเฟีย ตำรวจกังฉิน พวกนี้จะทวนน้ำเลย อันนี้จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น คนที่อยากจะมาเป็นตำรวจ ไม่ใช่ทั้งหมด แต่มีไม่น้อยที่มีความคาดหวังว่าจะได้สิ่งตอบแทนนอกระบบ ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฏหมายจากตำแหน่งหน้าที่ของการมาเป็นตำรวจ

ขณะเดียวกันระบบอุปถัมภ์ยังทำงานได้ดี ยกตัวอย่างกรณีที่นายตำรวจนายหนึ่งตกเป็นข่าวว่าได้รับการสนับสนุนจากอดีตนักการเมือง จนกลายมาเป็นคำว่า "มีวันนี้เพราะพี่ให้” มันแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม นั่นก็คือระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง คนที่ได้รับตำแหน่งเองก็มีความภาคภูมิใจที่ตัวเองได้รับตำแหน่งนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก ผมเชื่อว่ายังมีตำรวจประเภทมีวันนี้เพราะพี่ให้อีกเยอะแยะมากมาย ในระบบตำรวจระบบอุปถัมภ์ยังทำงานได้ดีมาก แต่ไม่ใช่การอุปถัมภ์เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการอุปถัมภ์เชิงแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าคนข้างบนที่อุปถัมภ์จะให้อย่างเดียว แต่คนข้างล่างก็ให้อะไรเป็นการตอบแทนผู้อุปถัมภ์ด้วย

ผมคิดว่าการแลกเปลี่ยนเหมือนการทำธุรกิจ ไม่มีใครกำไร-ขาดทุน เป็นการแลกเปลี่ยนกันทั้งสองฝ่ายร่วมกัน ตำรวจที่มีวันนี้เพราะพี่ให้ก็ไม่ได้มีคนเดียว ผมคิดว่ามีจำนวนมากเลย เพราะว่าตำแหน่งของตำรวจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไม่เป็นความลับอีกต่อไป แล้วก็เป็นที่ยอมรับกัน แม้กระทั่งในหมู่ตำรวจเองก็รู้ว่าถ้าหากตัวเองอยากจะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น เขาก็ต้องลงทุน อันนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหานี้ได้

ต่อให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริตอย่างไร ระบบนี้ก็จะทำงานต่อไป

ไม่ปฏิรูปตำรวจประเทศเดินหน้าต่อไม่ได้

ถาม : หน่วยงานตรวจสอบตำรวจด้วยกันอย่างจเรตำรวจมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน

คนไปเป็นจเรตำรวจคือคนที่ไม่มีโอกาสจะก้าวหน้าเติบโตทางราชการแล้ว โดยมากก็จะออกไปเป็นจเร เหมือนกับทหาร คนที่จะโตได้มันต้องอยู่ในกองทัพ ถ้าหลุดจากกองทัพไปอยู่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม คล้ายๆกับที่เขาเรียกว่าเด้งเข้ากรุ คือหมดโอกาสแล้ว

สมมติมีคนมาร้องเรียนว่าโดนตำรวจข่มเหงรังแก เขาอาจจะไปแจ้งความที่โรงพัก ถ้าไม่ได้เรื่องสิ่งที่ต้องทำต่อมาคือไปแจ้งกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผบตร.ก็จะมอบให้จเรตำรวจปฏิบัติหน้าที่ แต่ผมคิดว่าโอกาสที่ประชาชนจะได้รับความยุติธรรมนั้นยาก ยิ่งถ้าเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่รังแกประชาชน จเรจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมาได้ อาจทั้งเกรงใจด้วย ทั้งกลัวด้วย แล้วก็คงไม่อยากจะสร้างศัตรู

เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมแบบนี้เป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีใครตรวจสอบตำรวจได้เลย แม้แต่กรรมาธิการตำรวจก็ตรวจสอบไม่ได้ ถึงคุณจะเชิญเขาไปพบ แต่ในที่สุดกรรมาธิการในสภา หรือวุฒิสภาของตำรวจก็ไม่มีอำนาจที่จะลงโทษอะไรได้ ยังไงก็ต้องส่งเรื่องกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัดเขาพิจารณาอยู่ดี

ถึงจะพิจารณาก็จริง โอกาสที่ลงโทษตำรวจด้วยกันก็ยาก

ถาม : อย่างอาจารย์สังศิตเอง หรือคุณชูวิทย์ที่ออกมาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง จนถูกมองว่าเป็นคู่ปรับตำรวจมาตลอด ช่วยอะไรได้บ้าง

สิ่งที่ผมทำมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนเป็นหลัก ผมไม่ได้มองเรื่องของการเมือง ทุกวันนี้ก็ทำให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นนะ แม้กระทั่งตำรวจเองก็ยอมรับความจริงมากขึ้น

ผมเพิ่งพบกับผบ.ตร. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วเมื่อเดือนที่แล้ว ท่านยินดีถอนฟ้อง หลังจากผมให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกันยายนปี 2556 ว่าหน่วยงานแรกที่สมควรถูกปฏิรูปก่อนหน่วยงานไหนคือตำรวจ เพราะมีการซื้อขายตำแหน่งกัน ผมคิดว่านี่เป็นการกระทำที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรมอย่างร้ายแรง ท่านผบตร.ก็ฟ้องผม โดยบอกว่าผมหมิ่นศักดิ์ศรีตำรวจ ก็มีการพบปะพูดคุยกัน ผมก็บอกว่าสิ่งที่ผมพูดอยู่บนพื้นฐานของการวิจัย และผมพูดมาตลอด 30 ปี ในที่สุดก็ตกลงกันได้ ก็ถอนฟ้อง เพราะเห็นว่าผมไม่ได้มีเจตนาที่จะไปรังแกท่านเป็นการส่วนตัว ผมไม่เคยคิดจะต่อสู้กับตำรวจคนไหนเป็นการส่วนตัว สิ่งที่ผมอยากเห็นคือการปฏิรูปของตำรวจ แล้วผมก็จะพูดของผมอย่างนี้ต่อไป

ที่ผมแปลกใจก็คือขณะที่ผมให้สัมภาษณ์ว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ก็ออกมาพูดทำนองนี้เช่นกัน ผมก็ถามว่าทำไมไม่ฟ้องคุณชูวิทย์ ทำไมฟ้องผมคนเดียว ทางตำรวจเขาบอกว่าเราไม่ให้ราคาชูวิทย์ ผมบอกว่าไม่จริงหรอก คุณไม่ฟ้องคุณชูวิทย์เพราะคุณชูวิทย์มีอำนาจ เป็นสส.ในเวลานั้น แต่ผมเป็นคนไม่มีอำนาจ ผมเป็นนักวิชาการ คุณถึงกล้ารังแกผม

ตำรวจจะรังแกคนไม่มีอำนาจอยู่ตลอดเวลา เช่น คนขี่มอเตอร์ไซค์จะโดนก่อนเพื่อนเลย เนื่องจากเขาดูแล้วว่ารังแกง่ายที่สุด ถ้าขับรถเบนซ์ตำรวจจะไม่กล้าไปรังแก เพราะเขารู้ว่าคนพวกนี้อาจมีคอนเนกชั่นในวงการของผู้หลักผู้ใหญ่

ถาม : มีเรื่องกับตำรวจ ถึงขั้นเคยโดนข่มขู่ ฟ้องร้อง ปิดล้อมบ้าน ไม่กลัวบ้างหรือ

ไม่ใช่ว่าผมมีแบ็คดีหรอก แต่เพราะผมเป็นคนเซ่อ ต้องบอกอย่างนี้เลยว่าเป็นคนเซ่อ เพราะผมไม่รู้มาก่อนว่าฤทธิ์เดชของตำรวจมันมากมายขนาดนี้ จนมาได้เจอจริงๆ โดนขู่จะจับตัว มาปิดล้อมบ้านผม ถ้ารู้ว่ามันน่ากลัวขนาดนี้ผมอาจไม่กล้าศึกษาก็ได้ (หัวเราะ)

ช่วงโดนอัดหนักๆไม่กลัวนะ เพียงแต่ระมัดระวังตัว ไม่ออกนอกบ้านดึกๆดื่นๆ เขาอาจตั้งใจจะสั่งสอนผมให้เข็ดหลาบ แต่ตำรวจเนี่ยเราไม่รู้หรอก เจ้านายอาจสั่งว่าไม่ต้องเอาถึงตาย แต่ลูกน้องอยากเอาใจนาย นายก็ดีใจที่ลูกน้องจงรักภักดี ระบบมันเป็นแบบนี้

ถึงจะไม่กินเส้นกับตำรวจ แต่ถ้าไม่พึ่งตำรวจ คุณก็ต้องมีคนที่อุปถัมภ์ที่มีพลังอำนาจในการต่อรองกับตำรวจได้ แล้วตำรวจก็เกรงใจด้วย ผมก็เคยเป็นคนที่ทำแบบนี้ สมัยที่ลูกชายคนแรกผมอายุได้ 5-6 เดือนราวปี 2533 ข้างบ้านก็ก่อสร้างโรงแรม ผมไปบอกเจ้าของโรงแรมว่าให้หาตาข่ายมาขึงเพราะกลัวอะไรมันจะตกใส่หลังคาบ้านผม แต่เขาไม่ยอม ปรากฏว่าวันดีคืนดีมีแท่งเหล็กหล่นทะลุหลังคาบ้านผม ตกลงบนพื้นห่างจากหัวลูกผมฟุตเดียวเท่านั้น ผมก็ไปแจ้งความที่สน.ทองหล่อ แต่เขาไม่รับแจ้งความ ผมก็ขอให้เขาเชิญเจ้าของโรงแรมมาพูดคุยกัน ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าให้เขาเอาตาข่ายขึง ในที่สุดตกมาอีกเป็นครั้งที่สอง ผมก็ไม่มีทางเลือกอื่นเลยต้องไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นทหารให้เขาไปดำเนินการให้ ตำรวจจึงจัดการให้อย่างราบรื่น

เมืองไทยเนี่ยระบบอุปถัมภ์ยังทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่หวังพึ่งตำรวจ ก็ต้องมีคนที่จะให้ความพึ่งพาแก่เราได้ ถ้าผมไม่มีพี่คนนั้น ในที่สุด ลูกผมก็อาจเสียชีวิตจริงๆ แล้วไอ้นักธุรกิจที่มันให้เงินแก่ตำรวจก็คงไม่ยี่หระอะไรกับเราหรอก เพราะเราเป็นคนธรรมดา แต่ถ้าผมเป็นลูกสส.ผมก็อาจได้รับความคุ้มครองที่ดีกว่าก็ได้

ถึงวันนี้ มีตำรวจที่รู้จักผมมากขึ้นจากงานวิจัยของผม มีทั้งตำรวจที่ให้ความเคารพและตำรวจที่ไม่ชอบความคิดผมอย่างมากและพร้อมที่จะประจัญบานกับผมทุกเมื่อผมพูดเรื่องการปฏิรูปตำรวจทีไร ก็จะมีอดีตพลต.อ.เป็นจำนวนมากที่พร้อมจะออกมาเผชิญหน้ากับผม

ระบบตำรวจจะมีหน่วยที่เรียกว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ตำรวจเหล่านี้ก็จะมีลูกหลาน พรรคพวก ลูกน้องที่เป็นตำรวจ ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติของตำรวจชั้นผู้ใหญ่และตำรวจที่ยังอยู่ในราชการเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้นที่เขากำลังต่อสู้ไม่ใช่เพื่อตำรวจ แต่เพื่อลูกหลานที่มันยั้วเยี้ยไปหมด นั่นคือผลประโยชน์ที่ได้จากการเป็นตำรวจที่ยังต้องรักษาไว้มูลค่ามากมายมหาศาลนับหมื่นล้านต่อปี

ถ้าใครคิดจะเข้าไปเปลี่ยนแปลง เขาก็พร้อมจะออกมาสู้ตาย

ไม่ปฏิรูปตำรวจประเทศเดินหน้าต่อไม่ได้

ถาม : คำว่า "ตำรวจดีๆยังมีอยู่" คนเหล่านี้ช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีคืนมาได้ไหม

ผมเชื่อว่าตำรวจดีๆมีอยู่จริง เพียงแต่จำนวนอาจจะไม่มากนัก ไม่มีโอกาสได้แสดงตัว หรือไม่ได้รับการสนับสนุน วีรบุรุษตำรวจอย่างจ่าเพียร ดาบแชน หมวดแคน หมวดตี้ และอีกมากมายหลายท่านถือว่ามีส่วนช่วยทำให้ภาพอัปลักษณ์ของวงการตำรวจดีขึ้น

ถาม : คิดเห็นอย่างไรกับที่เดี๋ยวนี้คนนิยมใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจเสียเอง

ในชีวิตประจำวันของเรา มีคนที่ไม่พอใจตำรวจเกิดขึ้นทุกวัน ตามท้องถนนเราจะพบว่าคนที่เดือดร้อนเพราะตำรวจไปตั้งด่านรีดไถ ไปกลั่นแกล้ง ยัดยาเสพติด ก็เป็นเรื่องปกติที่ความไม่ชอบ ไม่พอใจ เกลียดตำรวจ มีอยู่ทั่วไป แต่ว่ามันไม่มีพลังที่จะรวบรวมความไม่พอใจเหล่านี้มาไว้ด้วยกัน

แต่วันนี้มันเริ่มมีการสื่อสารระหว่างประชาชนว่าเขาไม่พอใจตำรวจ เกลียดตำรวจ อยากจะลงโทษตำรวจ Social media เลยเป็นเครื่องมือทางสังคมอันนึงที่ทำให้พลังของคนที่ไม่พอใจตำรวจถูกนำมาไว้ในที่ที่นึง ซึ่งสามารถจะติดต่อสื่อสารและรู้กันได้ว่าพวกมีความคิดตรงกัน

เครื่องมือ Social media ได้กลายมาเป็นอาวุธของภาคประชาสังคม โทรศัพท์ที่ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอได้ หรือเครื่องบันทึกเสียง กลายมาเป็นอาวุธของประชาชนที่อย่างน้อยก็ควบคุมความประพฤติมิชอบของตำรวจได้ในบางระดับ เฉพาะในที่ที่คนพลุกพล่าน ที่สาธารณะ ตำรวจอาจจะไม่ค่อยกล้า แต่ถ้าเป็นในที่ที่ไม่เปิดเผย ผมว่าตำรวจเขาไม่มีอะไรที่เขาไม่กลัวหรอก ทำได้ทั้งนั้น ทำได้ทุกอย่าง มันขึ้นอยู่กับสถานที่ และเวลาว่าเป็นแบบไหนด้วย

การมีเพจเฟซบุ๊กแบบ "เกลียดตำรวจของไทย" ผมถือว่าเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างยิ่ง ถ้าเรากล้ายืนหยัดที่จะรักษาความยุติธรรมไว้ มันไม่ใช่การต่อสู้ของคุณเพียงคนเดียว แต่เป็นการทำให้ความยุติธรรมปรากฏขึ้นในสังคม

ถาม : มองเหตุการณ์การปะทะระหว่างตำรวจภายใต้การสั่งการของศรส.กับผู้ชุมนุมยังไง

ตำรวจต้องหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ วันที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเพราะตำรวจใช้ความรุนแรงก่อน ถ้าเราไม่ขว้างลูกบอลใส่กำแพง ลูกบอลก็จะไม่กระเด้งกลับมาหาตัว แล้วตำรวจนั่นแหละที่มีหน้าที่สืบสวนให้ได้ว่าลูกระเบิดที่ถูกเขวี้ยงใส่ตำรวจ ใครเป็นคนทำ จะให้ประชาชนสอบสวนเขาก็ไม่มีอำนาจจะทำ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ตำรวจต้องปฏิบัติสอบสวนหาความจริงต่อทุกฝ่ายด้วยมาตรฐานเดียวกัน ตำรวจคนไหนที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ถ้าหากเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว ควรจะเอาขึ้นศาลดำเนินคดีให้หมด

ผมคิดว่าโดยส่วนตัว ผบตร.ท่านนี้มีคุณธรรมอยู่ในตัว เป็นตำรวจดีคนหนึ่งของวงการตำรวจยุคนี้ เพียงแต่โชคร้ายที่ท่านมาอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไร้คุณธรรม ตำรวจไม่ควรจะเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ควรทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่สิ่งที่ตำรวจทำเวลานี้คือปกป้องรัฐบาลมากกว่า

หวังว่าผบ.ตร.จะเกิดวุฒิปัญญาว่าตำรวจควรเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลอยู่ได้ตอนนี้เพราะองค์กรตำรวจสนับสนุนเป็นหลักสำคัญ ขอฝากไปยังท่านผบตร.ว่าผมอยากเห็นท่านเกษียณอายุราชการไปแล้ว พาลูกพาหลานไปทานอาหาร กินไอติมอย่างเอร็ดอร่อยในวันหยุด แต่สิ่งที่ท่านทำอยู่ เกรงว่าท่านจะไม่สามารถเดินได้อย่างสบายใจในวันหลังเกษียณอายุที่จะมาถึงในอีก 6-7 เดือนข้างหน้า

ถาม : ถ้าในอนาคตมีการปฏิรูปประเทศสำเร็จ การปฏิรูปตำรวจจะเป็นไปในรูปแบบใด

จะต้องปฏิรูปโครงสร้างของตำรวจใหม่ ระบบตำรวจที่เป็นอยู่นี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจของคน 2-3 แสนอยู่ในมือของคนเดียวๆ ถึงแม้จะมีผู้บัญชาการภาคแต่นั่นไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่เป็นการกระจายความรับผิดชอบ อำนาจยังอยู่ในผบ.ตร.ท่านเดียวเท่านั้นเอง

ระบบที่จะตอบสนองความต้องการได้ดีที่สุดคือระบบการกระจายอำนาจของตำรวจออกไปเป็นตำรวจจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดไหนมีความพร้อมที่จะเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัด ก็ปฏิรูปจังหวัดนั้นก่อนเลย ให้ตำรวจขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มันจะช่วยให้ความสัมพันธ์กับตำรวจกับประชาชนดีขึ้น เพราะตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งกว่าข้าราชการหน่วยไหนๆ

นอกจากนี้ต้องมีการปฏิรูปกฏหมายเกี่ยวกับการคอรัปชั่นด้วย กฏหมายฉบับแรกที่ควรจะแก้คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ควรแก้ไขในส่วนการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้ง ที่สำคัญคือการสกรีนคนที่เข้ามาเป็นนักการเมืองให้เข้มข้นขึ้น วางคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นผู้แทน เมื่อเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแล้ว การใช้อำนาจโดยมิชอบก็ต้องมีกฏหมายลงโทษ เช่นเรื่องการโยกย้ายตำแหน่ง เล่นพรรคเล่นพวก เป็นเครือญาติต้องถือว่าเป็นทุจริตด้วย เรื่องเงินๆทองๆของปปช.ต้องมีกฏหมายลงโทษย้อนหลังได้และมีกระบวนการที่รวดเร็วมากกว่านี้ ที่ผ่านมากว่าจะตัดสินคดีได้ยาวนานมากกว่า 20 ปี ช้าเกินไป ยืดยาวเกินไป คนเลยไม่กลัว การทุจริตต้องไม่มีอายุความ คนมันถึงจะรู้สึกว่าเราเอาจริง ให้คิดว่าอยากให้ถูกจับ จะหนีก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต

ผมคิดว่าระบบตำรวจเป็นระบบที่ควรปฏิรูปอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะได้ ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้