posttoday

คุยกับฝรั่งรักชาติไทยไปม็อบตั้งแต่ยุค เสธ.อ้าย

25 มกราคม 2557

สมัยอยู่เยอรมนีก็ามีการชุมนุมทางการเมือง หากมีประชาชนออกมาได้เพียงสัก 5,000-10,000 คน รัฐบาลก็จะยินยอมฟังข้อเรียกร้อง และก็ "ไปแล้ว" เพราะเขาอาย แต่ของไทยยังไม่เป็นเช่นนั้น

ตะวัน หวังเจริญวงศ์

แม้การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.จะไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของคนไทยในรอบหลายปีนี้ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งที่มาร่วมชุมนุมครั้งนี้ก็ยังกล่าวอยู่เสมอว่า เพิ่งตัดสินใจมาร่วมชุมนุมนุมครั้งแรก ในขณะเดียวกัน มีชาวต่างชาติคนหนึ่งบอกว่า เขาตัดสินใจมาร่วมชุมนุมหลายครั้งแล้ว

"สู้สู้ โคลเซ่" (นามแฝง) ผู้ชุมนุม กปปส. ชาวเยอรมนี เล่าว่า หลังเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตหลังเกษียณในไทยกับภรรยา ตั้งแต่ปี 2548 เขาได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในไทยมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุด ก่อนมาร่วมกับ กปปส. เคยได้สัมผัสแก๊สน้ำตาของไทยมาแล้ว ตอนเข้าร่วมชุมนุมปี 2555 กับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย

"ผมรักเมืองไทยมาก ผมรักพระมหากษัตริย์ของประเทศนี้ แล้วผมก็ชอบเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ด้วย เพราะผมเล่นเครื่องดนตรีทรัมเป็ท ผมชอบหลายเพลงมาก ตอนนี้ประเทศไทยกำลังมีปัญหา ผมก็ต้องออกมาร่วมแสดงพลัง"

"หทัย โคลเซ่" ภรรยาของ สู้สู้ เสริมว่า ขณะที่เธอกับสามีของเธอยังทำงานอยู่ในต่างประเทศกว่า 30 ปีนั้น เธอและสามีไม่ทราบรายละเอียดมากนักว่า สถานการณ์การเมืองของไทยเป็นอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศอย่างไร แต่หลังเดินทางกลับมาเมืองไทยได้ติดตามข่าวสาร และเห็นการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง จึงเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและออกมาร่วมชุมนุมต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สมัยอยู่เยอรมนีก็พบว่ามีการชุมนุมทางการเมืองเช่นกัน และหากมีประชาชนออกมารวมกันได้เพียงสัก 5,000-10,000 คน รัฐบาลของเขาก็จะยินยอมฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแล้ว และก็ "ไปแล้ว" เพราะเขาอาย แต่ของไทยยังไม่เป็นเช่นนั้น

สำหรับการร่วมชุมนุมใหญ่กับ กปปส.ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เธอกับสามีเดินทางมาร่วมขบวนเชิญชวนผู้ชุมนุมเพิ่มเป็นประจำเกือบทุกวัน และตั้งใจจะอยู่ร่วมชุมนุมจนกว่าจะได้เห็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น