posttoday

ไขข้อข้องใจทำไม"ทักษิณ"เลือกตั้งได้

19 มกราคม 2557

ไขข้อกังขาทำไม "ทักษิณ ชินวัตร" มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557ทั้งๆที่อยู่ระหว่างการหลบหนีคดี

โดย....ทีมข่าวการเมือง

กลายเป็นประเด็นที่กล่าวถึงกันหนาหูอย่างมากในโลกสังคมออนไลน์ หลังจากมีการเผยแพร่ข้อมูลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสส.ในวันที่ 2 ก.พ. ทั้งๆที่พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในระหว่างการหลบหนีตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ศาลฎีกาฯได้พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี

ทั้งนี้จากการตรวจสอบในเว็บไซต์ที่ให้บริการตรวจสอบและรับรองรายการทะเบียนเลือกตั้ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (www.khonthai.com) พบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีสถานะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นมีสิทธิ์เลือกตั้งในลำดับที่ 519 อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 33 หน่วยเลือกตั้งที่15 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และสถานที่เลือกตั้ง คือ โรงเรียนพิมลวิทย์

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการวิจารณ์ไปต่างๆนานาในโลกสังคมออนไลน์ว่ากกต.และกระทรวงมหาดไทยได้ทำงานบกพร่องครั้งใหญ่

แต่ทว่าที่สุดแล้วกกต.และกระทรวงมหาดไทยได้ทำงานผิดพลาดอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

"สดศรี สัตยธรรม"อดีตกรรมการการเลือกตั้งด้านกิจการพรรคการเมือง ให้คำอธิบายว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 100 ได้กำหนดไว้ว่าบุคคลที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้จะมีอยู่ 4 ลักษณะ ได้แก่ 1.ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 2.เป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 3.เป็นบุคคลที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และ 4.เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งในกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณนั้นปรากฎว่าไม่ได้ถูกคุมขังตามคำพิพากษาของศาล หรืออยู่ในเรือนจำ ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มีลักษณะการเป็นผู้ไม่มีมีสิทธิ์เลือกตั้งตามมาตรา 100

“การไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามมาตรา 100 ในกรณีต้องถูกคุมขังก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นต้องอยู่ในเรือนจำจริงๆ เช่น นักโทษที่อยู่ในเรือนจำโดยหมายของศาล ไม่ใช่การถูกคำพิพากษาโดยที่ตัวไม่ได้อยู่ในเรือนจำ ซึ่งประเด็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ข้อเท็จจริงปรากฎว่าไม่ได้อยู่ในเรือนจำจริงๆแต่อยู่ในระหว่างการถูกออกหมายจับ ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง”

อดีตกรรมการกกต.รายนี้ ยังแสดงความคิดเห็นถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลื่อนเลือกตั้งว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าให้กกต.หรือรัฐบาลสามารถขยายวันเลือกตั้งออกไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัตเพียงเฉพาะการเลือกตั้งที่จะต้องมีขึ้นภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการเสนอให้ใช้มาตรา 78 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว.เพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปโดยอ้างเหตุจลาจลและความวุ่นวายนั้นส่วนตัวมองว่าไม่สามารถกระทำได้

สดศรี อธิบายเพิ่มเติมว่า มาตราดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาไม่สามารถจัดการลงคะแนนเท่านั้น หมายความว่า สมมติถ้าพื้นที่จังหวัดภาคใต้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ แต่ภาคเหนือ อีสาน และพื้นที่อื่นๆสามารถจัดการเลือกตั้งได้ก็ต้องให้การเลือกตั้งในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป