posttoday

ถอยให้ชาติ"ชนะ"ยึด"เจรจา"ผ่าทางตัน

19 มกราคม 2557

ผมคิดว่ามันเป็นความรับผิดชอบที่ทุกคนต้องหาทางแก้ไข พูดกันมานานว่าทำอย่างไรที่จะลดความขัดแย้ง

โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์/ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

ไม่ใช่ครั้งแรกที่แผ่นดินไทยกลายสภาพเป็นผืนพรมซับเลือดพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศ ประวัติศาสตร์แผนการโค่นล้มอำนาจรัฐด้วยการกำจัดชีวิตคนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับละครที่ถูกนำมารีเมกใหม่โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงตอนอวสาน

จะต่างกันบ้างก็ตรงที่ในละครใช้ “เลือดปลอม” แต่ฉากการเมืองไทยใช้ “เลือดจริง” ที่สำคัญคือ ไม่พึ่งสแตนอิน ประชาชนเจ็บจริง ตายจริงมาหลายยุคสมัย และเมื่อเดินเรื่องถึงฉากจบทีไร ผลสุดท้ายคือ ประชาชนตายทุกที ขณะที่แกนนำรอดทุกราย

“โพสต์ทูเดย์” เคาะประตูบ้านย่านราชวิถี สัมภาษณ์เปิดใจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวเรือพรรคชาติพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและเจ้ากระทรวงหลายสมัย ถึงทางออกจากวิกฤตการเมืองไทยเวลานี้ ที่เขาเองยอมรับว่าตลอดเส้นทางการเมืองที่ผ่านมาสถานการณ์ในช่วง 8 ปีหลังนี้หนักหน่วง   ที่สุด

“แบบนี้ไม่เคยมี ใครเป็นนักการเมืองในช่วงตั้งแต่มีการปฏิวัติปี 2549 เป็นต้นมาถึงช่วงนี้ ถือว่านักการเมืองทุกคนจะต้องไปบอกลูกบอกหลานไว้เลยว่า พ่อเจอวิกฤตอะไรมา แม่เจอวิกฤตอะไรมา ทุกคนสามารถเขียนพ็อกเกตบุ๊กใส่กระเป๋าตัวเองได้คนละเล่ม เพราะต่างมีประสบการณ์ที่มากเหลือเกิน 7-8 ปีมานี้ประเทศเจอเหตุการณ์ที่ครบทุกเรื่อง ครบไปหมด ไม่ขาดอรรถรสเลย ถือว่าเป็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”สุวัจน์ สนทนาอย่างออกรส

ในฐานะหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญบนสนามการเมืองมาร่วม 30 ปี สุวัจน์ มองว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำพาประเทศไทยมาสู่จุดวิกฤตที่เป็นอย่างทุกวันนี้ คือ ระบบการเมืองผูกขาดสองพรรคใหญ่ที่สร้างวัฒนธรรมการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายอย่างไม่ลดราวาศอก

“พูดตรงๆ ว่าเหลือกันแค่สองพรรคแล้ว พรรคเล็กพรรคน้อยหายหมดแล้ว ถ้าเปรียบเป็นกางเกง สมัยก่อนไม่มีพรรคใหญ่ไซส์แอล มีแต่พรรคขนาดกลางไซส์เอ็มกับเอส เลือกตั้งได้ 60-70 เสียง จัดตั้งรัฐบาลที 5-6 พรรค แต่ตอนนี้พรรคที่ได้หลักสิบที่นั่งมียั้วเยี้ยเต็มไปหมด แต่ที่ได้เสียงเป็นร้อยเหลืออยู่ สองพรรค กลายเป็นว่าตอนนี้การเมืองไทยเหลือเพียงไซส์ใหญ่เอ็กซ์แอลสองพรรค

...นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันเนื่องมาจาก   กติกา จึงเกิดการเมืองสองขั้ว ทำให้ไม่สามารถสร้างความสมดุลทางการเมืองด้วยไซส์ซิงของพรรคการเมืองที่จะทำให้เกิดการรอมชอมหรือเกิดความประนีประนอมในแง่ความคิด ทั้งในการถ่วงดุลและการเกิดความสมดุล กติการัฐธรรมนูญชัดเจนที่สุดว่าสนับสนุนให้มีพรรคใหญ่ คือ การมีระบบ สส. บัญชีรายชื่อ 125 คน ให้ประชาชนเลือกพรรค เลือกตั้งทีพรรคใหญ่ได้กันไปเลยพรรคละ 40% สองพรรครวมเป็น 90% เหลือ 10% ให้พรรคเล็กไปแบ่งกัน ได้กันไปแล้วพรรคละ 50 กว่าเสียง มันเหมือนกับพรรคเล็กยังไม่ทันออกสตาร์ต พรรคใหญ่ไปยืนอยู่ที่จุด 50 เมตรแล้ว แบบนี้ยิ่งเลือกตั้งพรรคใหญ่ก็ยิ่งใหญ่ พรรคเล็กก็ยิ่งเล็ก

ระบบพรรคใหญ่ก็มีข้อดีในแง่ความเสถียรภาพ แต่ 7-8 ปีที่เห็นมา มันเกิดความรู้สึกว่าการเมืองเป็นสองขั้วแล้ว มันเป็นการเมืองที่เผชิญหน้ากัน เพราะมีคนใหญ่อยู่สองคน ส่วนที่เหลือเป็นองค์ประกอบหมด และคนใหญ่สองคนนั้นก็จะวาง โพซิชั่นตัวเองว่าเราต้องอยู่ตรงกันข้าม ถ้าเลือกตั้งชนะ คุณเป็นรัฐบาล 4 ปี คนที่เป็นฝ่ายค้านก็เป็นไปเลย 4 ปี คนละมุม Live and Let Die มันเลยเป็นเกมที่แรง เป็นเกมตัดเชือกที่แพ้ไม่ได้ วัฒนธรรมการเมืองแบบสองขั้วมันเลยทำให้เกิดการเผชิญหน้า”

“อารมณ์ความเป็นเพื่อนฝูงน้อยลง เกิดระยะห่างของ   คำว่ามิตรภาพกว้างมากขึ้น” คือ นิยามของ สุวัจน์ ที่จำกัดความถึงบรรยากาศระบบการเมืองสองขั้วเวลานี้ สวนทางกับการเมืองยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง

“อาการแพ้ไม่ได้มันเลยนำไปสู่อาการที่ว่า ถ้าคุณ เป็นรัฐบาล ผมต้องค้านคุณทุกเรื่อง ขณะที่รัฐบาลก็คิดว่า   ถ้าคุณเป็นฝ่ายค้าน คุณก็พูดไปเถอะ ผมไม่ฟังคุณหรอก เป็นอาการที่ไปคนละทิศละทาง ไม่เห็นบรรยากาศของความ   ร่วมมือกัน ทั้งที่หากรัฐบาลทำบางเรื่องที่ดี ฝ่ายค้านชม เห็นด้วย ช่วยเชียร์ด้วย หรือถ้าฝ่ายค้านว่าอย่างนี้แล้วรัฐบาลก็เห็นว่า เออเราก็ทำไม่ถูก ก็ฟัง ขอบคุณผู้นำฝ่ายค้าน และรัฐบาลนำไปดำเนินการ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ชัยชนะทางการเมืองต้อง   มาก่อน มันไม่ค่อยมีอารมณ์การประนีประนอมของพรรคการเมืองเหมือนยุคก่อน

ถ้าเราคิดถึงการเมืองยุคหม่อมคึกฤทธิ์ (ปราโมช) หรือยุคน้าชาติ (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) นี่ชัดเจนที่สุด คิดภาพออกเลย เอ่อ ท่านนายกฯ ครับ วันนี้มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ น้าชาติบอกเลย ไม่มีปัญหา โน พรอบเบล็ม เป็นบุคลิกของผู้นำที่ทำให้สังคมมีความสบายใจ ท่านบอกว่าปัญหาอุปสรรคมีไว้ให้แก้ เราควรหันหน้าเข้าหากัน สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย แปรสนามรบเป็นสนามการค้า ประชาธิปไตยชนะกันแค่เสียงเดียวก็พอแล้ว วิธีคิดแบบนี้คือการประนีประนอมกัน ไม่ต้องเอากันซะจนมุม

ในห้องประชุมสภาทะเลาะกัน อภิปรายกันตึงๆ ตังๆ แต่ออกมาจากห้องก็ตบบ่ากันแล้ว พี่ขอโทษทีเมื่อกี๊แรงไปนิด   เฮ่ย น้องไม่เป็นไร อย่างท่านชาติชายมีอยู่ห้องหนึ่ง ท่าน    จะนั่งอยู่หัวโต๊ะ เวลาใครมีปัญหา เฮ่ย ไปเชิญมาซิ ทั้งคู่     เมื่อกี๊นี้ที่ทะเลาะกัน มาถึงนั่งซ้ายนั่งขวา ท่านชาติชายก็เป็น คนกลางเหมือนมีผู้ใหญ่ทางการเมือง แล้วทุกคนก็อาศัยห้องนั้นยุติเรื่อง พูดคุย กินข้าว ตบบ่า ตบไหล่กัน เขาเรียกว่า   ห้องสหประชาชาติ (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีบรรยากาศแบบนั้นแล้ว

แม้การเมืองไทยกำลังก้าวสู่ระบบการเมืองสองพรรคอย่างเต็มรูปแบบ กระนั้น สุวัจน์ ย้ำว่า นักการเมืองยังสามารถสร้างวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าวได้ แต่ขอให้เปลี่ยนจากการยึดผลประโยชน์ตัวเองมาเป็นยึดผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญบ้าง โดยเฉพาะ “นักการเมือง” ที่ถือเป็น “ตัวละคร” ที่สร้างปัญหามากที่สุด

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันมีหลายปัจจัย แต่การเมือง  เป็นความขัดแย้งมากที่สุด ถ้าถามว่าสมมติฐานของความ   ขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาถึงวันนี้ ผมคิดว่านักการเมืองเป็น ‘ตัวละคร’ ที่สร้างความขัดแย้งเป็นหลักมากกว่าปัจจัยอื่น การเมือง คือ  ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเศรษฐกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเป็นผู้ตาม หากการเมืองบอกนโยบายแบบนี้ ผมคือ Operation Unit ผมต้องทำตามที่การเมืองกำหนด เพราะฉะนั้นหากผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศมาขัดแย้งกันเองข้างล่างก็โตไม่ได้

ดังนั้น ผมคิดว่ามันเป็นความรับผิดชอบที่ทุกคนต้องหาทางแก้ไข พูดกันมานานว่าทำอย่างไรที่จะลดความขัดแย้ง ซึ่ง จริงๆ แล้วตัวละครของความขัดแย้งทุกครั้งไม่มีใครไม่รู้จักใคร นักการเมืองรุ่นเฮฟวีเวตทั้งหลายทุกคนรู้จักกันหมด เคยร่วมรัฐบาลหรือทำอะไรร่วมกันมา ถ้าวันนี้ทุกคนมาช่วยกันพูดคุย เจรจา หาทางออกทั้งในที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ช่วยกันสร้างบรรยากาศของการพูดคุยและประนีประนอมกัน ให้เห็นว่าพวกเรานักการเมืองได้พยายามแล้วช่วยกันถอย ไม่ใช่ช่วยกันรุกคืบ สมมติว่าเราต้องการสัก 10 อย่าง คนนี้อาจยอมเหลือ 3 อย่าง คนนั้นอาจยอมเหลือ 4 อย่าง กลับบ้านก็ได้ ยอมเพื่อให้ประเทศชาติได้เต็มร้อยบ้าง ช่วยกันหาทางออก เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง

ยิ่งถ้ามีออร์แกไนเซอร์ดีๆ มีมือประสานดีๆ มีผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองช่วยกันให้ข้อคิดเห็น ช่วยให้สติ ออกมาปรามไว้บ้าง ผมว่ามีโอกาส เพราะดูตัวละครทุกคน เราอยู่การเมืองมานาน เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น คนนั้นน้อง คนนี้พี่ ลองไปเอาหนังฉายย้อนกลับสิ แต่ละคนกินข้าว กินไวน์กัน ผ่านเหตุการณ์ร้อนหนาวกันมาด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเกิดเราคิดว่าความเจ็บปวดของส่วนรวมและประชาชนเป็นทุกข์ จากโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศที่หายไป ทุกคนต้องตัดสินใจมาพูดคุยกันในสิ่งนี้

...ในสหรัฐอเมริกา รีพับลิกันกับเดโมแครตจะสู้กันอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าถึงจุดหนึ่งที่เป็นจุดตายของประเทศ เศรษฐกิจไปไม่ได้ มีวิกฤตทางการเงิน มีกฎหมายที่สำคัญ เขายอมกันหมด เขาเลิกพูดถึงพรรคเลย แล้วเอาประเทศชาติมาพูดกัน เพราะฉะนั้นถามว่าการเมืองสองขั้วมีประโยชน์ไหม มันมี แต่บางครั้งมันอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ฉะนั้นผมคิดว่าให้ระยะเวลากับการเมืองสักพักหนึ่งเพื่อให้เราได้เห็นบทเรียนของความแตกแยกและความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น แล้วกาลเวลาจะเป็นเครื่องมือในการกัดกร่อนความแตกแยกได้

“วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เราต้องสร้างวัฒนธรรมเพื่อให้อยู่ในระบบการเมืองสองพรรคอย่างสร้างสรรค์ ลดราวาศอก สร้างทัศนคติใหม่ สร้างวัฒนธรรม    ของการอยู่ร่วมกันของระบบการเมืองสองขั้วใหม่ที่ควรตระหนัก ถึงความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเมื่อถึงคราวที่ต้องยึดผลประโยชน์ชาติมาก่อนเรื่องอื่น” สุวัจน์ ว่าทิ้งท้าย

หนุนเลือกตั้ง คู่ “สภาสนามม้า”

ข้อถกเถียงปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป รวมถึงโมเดล "สภาประชาชน" ที่ยังเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มม็อบต่อต้านรัฐบาลนั้น

สุวัจน์ มองว่า ส่วนตัวยังสนับสนุนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ตามที่มีกฤษฎีกาประกาศยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้ง จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองทุกพรรคในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับการปฏิรูปที่ต้องใช้คนกลางเข้ามาทำหน้าที่ เป็นอิสระจากรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ   

“ถ้าเอาโมเดลของทุกโมเดลของแต่ละฝ่ายมาวางก็มีบางอย่างที่เป็นจุดเห็นร่วมกัน ที่ผมเห็นชัด คือ การนำตัวแทนหลากหลายอาชีพเข้ามาเหมือนสภาสนามม้า ไม่เห็นด้วยหากจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่งตั้ง เพราะถ้ามีกรรมการมาตั้งแล้วทุกคนก็ถามว่าแล้วกรรมการใช้เกณฑ์อะไรตั้ง แล้วใครเป็นคนตั้งกรรมการ แบบนี้มันก็ไม่รู้จักจบแต่ถ้าเรายึดหลักให้ตัวแทนอาชีพเขาสรรหากันมาเอง เชื่อว่าคนจะยอมรับ การปฏิรูปประเทศมีหลายมิติ เศรษฐกิจ การเมือง ระบบยุติธรรม การศึกษา ความยากจน ภาคเกษตร เราจึงต้องการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอาชีพเข้ามาเป็นคนกลางในการปฏิรูปประเทศ ส่วนรัฐบาลก็บริหารงานไปโดยต้องยอมรับในกระแสสังคม และมีภาระผูกพันกับทีมปฏิรูป

...ถ้าเราได้ตัวแทนจากหลากหลายอาชีพที่เขาเลือกกันมาเองมาแล้ว สมมติมี 100 อาชีพ แต่ละอาชีพเลือกมาอาชีพละ 10 คน ก็ประกอบด้วย 1 พันคน แล้ว 1 พันคนมาเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน เพื่อประชุมและเสนอความคิดเห็นว่า รัฐธรรมนูญ กฎหมายเศรษฐกิจ ยุติธรรม ควรแก้มาตราไหน รัฐบาลก็นำสิ่งที่เสนอประสานไปยังรัฐสภา ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาต้องช่วยผลักดัน สมมติสภาปฏิรูปทำงาน 6 เดือนแล้วได้ข้อเสนอ ต่อด้วยขั้นตอนแก้กฎหมาย 6 เดือน จากนั้น 1 ปีรัฐบาลก็คืนอำนาจให้กับประชาชนยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ตอนนั้นทุกคนก็ทัดเทียมกันแล้ว แพ้ชนะทางการเมืองก็ไม่ต้องพูดแล้วว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ”สุวัจน์ระบุ 

ถอยให้ชาติ"ชนะ"ยึด"เจรจา"ผ่าทางตัน

สุดภูมิใจ...ไทยไฟต์หรี่ไฟใต้

สวมหัวโขนประธานที่ปรึกษา คุมหางเสือดันพรรคชาติพัฒนาในการเลือกตั้งที่ (หาก) มาถึงในวันที่ 2 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยผู้นี้ ยืนยันว่า แม้หลุดพ้นบ่วงจากบ้านเลขที่ 109 แล้ว แต่ไม่ขอลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเก้าอี้รัฐมนตรีใดๆ รวมถึงไม่รียูเนียนกับขั้วพรรคเพื่อไทยเหมือนอดีตที่ผ่านมา

“การตั้ง 7 กระทรวง เป็นรองนายกฯ ตั้ง 2 สมัย ยังไม่นับที่เป็นรัฐมนตรีช่วยอีก ผมเป็นมาเยอะแล้ว โดยส่วนตัวไม่ได้มีธงว่าจะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ได้มีความทะเยอทะยานไปมากกว่านี้แล้ว แต่เราถือว่าชีวิตเราได้ทำงานการเมืองมา มีประสบการณ์อยู่ หากประสบการณ์เรามีคุณค่าก็อยากจะใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างวันนี้หากผมมองเรื่องปฏิรูป เรื่องความแตกแยก เเม้ผมไม่ได้ลงเลือกตั้ง เเต่ผมมองว่าผมรู้จักคนโน้นคนนี้ เป็นพี่ๆ น้องๆ กันทั้งนั้น เราก็สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ|ได้ไม่น้อยไปกว่าการลงเลือกตั้ง ...ส่วนพรรคชาติพัฒนาก็คงต้องสร้างให้มีสถานภาพ ให้มีกล้ามเนื้อมากขึ้น เราคิดว่าถ้าพรรคสามารถเดินไปในแนวทางที่ท่านชาติชาย (ชุณหะวัณ) วางไว้จะดีที่สุด คือ เดินสายกลางในแนวทางประนีประนอม ไม่ขัดแย้ง และเอาเศรษฐกิจนำการเมือง เพราะพรรคการเมืองทุกวันนี้วางน้ำหนักการเมืองมากเกินไป”

สุวัจน์ เล่าว่า ทุกวันนี้ในชีวิตเต็ม 100% แบ่งกระจายเป็น 5 ด้าน การเมือง ธุรกิจ สังคม ครอบครัว กีฬา โดยเฉพาะประการหลังสุดนั้น นักการเมืองลายครามเล่าถึงประสบการณ์การผลักดันงานด้านกีฬาด้วยสายตาเปล่งประกาย จากภารกิจนำศาสตร์ด้านกีฬามาบรรเทาปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมืองได้อย่างกลมกลืน

“พอดีช่วงก่อนปฏิวัติ ผมเป็นรองนายกฯ คุมเรื่องกีฬา มีอยู่วันหนึ่งท่านอดีตนายกฯ ให้ผมไปดูแลเรื่องการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก วันนั้นผมไปและจะกลับอยู่แล้ว พอดีมีนายกสมาคมยกน้ำหนักบอกผมว่า อย่าเพิ่งกลับเลย เพราะวันนี้มีนักยกน้ำหนักของไทยชิงเหรียญทองโอลิมปิกนะ เราก็เลยอยู่เชียร์ แล้วนักยกน้ำหนักคนนั้นก็ได้เหรียญทองจริงๆ

...วันนั้นคนไทยในสนามมีประมาณ 50 คน เชียร์กันจนชนะได้เหรียญทอง พอธงชาติไทยถูกดึงขึ้นท้องฟ้า คนไทยที่ยืนกันอยู่ ผมเห็นทุกคนน้ำตาคลอกันหมดเลย วันนั้นมันเริ่มต้นทำให้เรารู้สึกว่าชัยชนะของกีฬามันยิ่งใหญ่จริงๆ เราจะคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไรก็แล้วแต่ แต่พอเป็นชัยชนะทางกีฬา ทีมชาติไทยชนะ พอธงชาติไทยถูกนำขึ้น มันหยุดความรู้สึกของความแตกแยกได้

...ช่วงนั้นผมเป็นประธานกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ตอนผมกลับมา ตอนนั้นเหรียญทองโอลิมปิกได้ 2 ล้านบาท แล้วผมก็รู้สึกว่าหากเหรียญทองโอลิมปิกได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านบาท แล้วทำให้คนไทยยิ้มได้พร้อมๆ กัน หัวเราะพร้อมๆ กัน แล้วมีความสุขพร้อมๆ กัน ด้วยความรักชาติได้ เอา 10 ล้านบาทหารด้วยคนไทย 60 ล้านคน เสียตกคนละ 15 สตางค์ แต่ความรักชาติเกิดขึ้น ความภาคภูมิใจเกิดขึ้น ความสุขเกิดขึ้น ผมว่ามันคุ้ม ก็เลยเปลี่ยนกติกาให้เหรียญทองโอลิมปิกได้ 10 ล้านบาท

สุวัจน์ บอกว่า เป็นนายกลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย แต่ที่เห็นภาพไปเกี่ยวข้องหลายเรื่อง เพราะทุกคนมาขอคำปรึกษา ขอคอนเนกชั่นให้ประสานเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นประธานที่ปรึกษาสมาคมฟุตบอล สมาคมยกน้ำหนัก สมาคมจักรยาน เลยช่วยหมดเลย อย่างเอามวยไทยมาสร้างให้เป็นมวยระดับโลกอย่างไทยไฟต์ให้เป็นที่รู้จักโด่งดัง

“ที่ผมประทับใจมากเรื่องหนึ่ง คือ วันหนึ่งผู้ใหญ่ที่ดูแลเรื่องความมั่นคงมาปรึกษาผม เขาบอกว่าอยากให้เอากีฬาใหญ่ๆ ลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ไหม ผมมองว่า 3 จังหวัด สถานการณ์|ไม่สงบ มีความขัดแย้ง สูญเสียผู้คน เราก็กลัว ทุกคนก็กลัว แต่ผมคิดว่ามวยไทยไฟต์ไปต่อยมาแล้วทั่วประเทศ ทั่วโลก ยกเว้นภาคใต้ไม่เคยลง วันนั้นผมตัดสินใจเอามวยไทยไฟต์ไปเลย

...เราก็เอามวยไทยไฟต์ไปต่อยที่ปัตตานี แต่|นักมวยไม่มีใครกล้าไปต่อย เราก็บอกว่าไปเถอะ ไม่อันตราย เขาบอกไปก็ได้ แต่ท่านต้องนั่งอยู่กับพวกผมตลอดเวลานะ (หัวเราะ) เราก็ยกขบวนไปเลย เชื่อไหม วันนั้นคนปัตตานีมากัน 3-4 หมื่นคน มาทั้งจังหวัดเลย เต็มสนามไปหมด แล้วสถานการณ์เรียบร้อย ปลอดภัย หลายคนเดินมาจับมือกับผม น้ำตาคลอเลยนะ ว่าเขาไม่เคยเห็น ไม่ได้ชมอะไรอย่างนี้มาตลอด เหมือนกับว่าในพื้นที่มีแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรงเกิดขึ้น มีแต่การเสียชีวิต แต่ไม่เคยมีกีฬาใหญ่ๆ หรือสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าอะไรจากส่วนกลางลงไปหาเขา ไปดูแลเขา ไปเข้าถึงเขาเเบบนี้มาก่อน

หลังจากงานมวยไทยไฟต์ หน่วยงานความมั่นคงบอกผมนะว่า คืนนั้นสถานการณ์เรียบร้อยหมด คนไปดูกัน 3-4 หมื่นคน ทุกคนสนุกสนาน เฮฮา ตอนเช้าทั้งตลาดพูดถึงแต่เรื่องมวยไทยไฟต์ เเล้วหยุดยิงไปอีกหลายวัน (หัวเราะ) เพราะเขารู้สึกมีความสุขกับกีฬา ดังนั้นถามว่าแล้วเราจะมาขัดแย้งกันทำไม ในเมื่อความสุขแบบนี้ก็มี ความสุขไปจากคนไทยด้วยกัน นี่คือความยิ่งใหญ่ของกีฬา ที่ผ่านมาเรื่องนี้ทำให้ผมประทับใจที่สุด ผมดูจากสีหน้า แววตา ผมเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนปัตตานี ผมรู้ว่าเขามีความสุขมาก”สุวัจน์ เล่าด้วยสีหน้าปลื้มปริ่มต่อบทบาทประธานอำนวยการการจัดการแข่งขันมวยไทยไฟต์ที่ปัตตานีเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ใช่แค่การนำกีฬาปลุกความสามัคคีคน เเละลดทอนบรรยากาศความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ สุวัจน์ ย้ำว่า ยังใช้ยาขนานเดียวกันฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ หลังไทยเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกด้วย

“หลังช่วงคอนฟลิกต์ปฏิวัติปี 49 ก็ไม่ค่อยมีใครมาประเทศไทย ไม่มีผู้นำต่างประเทศมา เรื่องการลงทุน การท่องเที่ยวในประเทศก็ซบเซา เพราะเรามีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราจะถูกกำหนดไว้อีกตำแหน่งหนึ่งในแผนที่โลกว่า บ้านคุณไม่ได้มีประชาธิปไตย จากนั้นเราเลยดึงนักกีฬาดังๆ มา ผมจำได้ว่าตอนนั้นดึง ราฟาเอล นาดาล (นักเทนนิสมืออันดับ 4 ของโลก) มาประเทศเรา มาตักบาตรริมหาดหัวหิน จัดศึกไทยแลนด์ โอเพ่น นอกจากนั้นยังพา ไทเกอร์ วูดส์ (นักกอล์ฟชาวอเมริกันอันดับ 1 ของโลก) มาปลูกป่า เราก็ทำในช่วงนั้นบ่อยๆ จนกระทั่งภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น

...บ้านเรามีแต่รัฐประหาร มีแต่ข่าวชุมนุมประท้วง ปิดสนามบิน ถามว่าใครจะมาถ้ามีข่าวแบบนี้ แต่หากเราดึงคนพวกนี้มา ต่างชาติรู้ข่าวเขาก็ เฮ้ย ทำไม ไทเกอร์ วูดส์ มาเล่นกอล์ฟเมืองไทย ทำไมนาดาลมาเล่นเทนนิสเมืองไทย ถ้าคนดังระดับโลกมากันหมด เขาก็จะรู้สึกว่าไอ้ที่ได้ยินมันไม่ใช่ เมืองไทยยังสามารถมาได้ ลงทุนได้ ท่องเที่ยวได้ มันก็ได้ผลนะ ช่วยให้กระแสวงการกีฬาบ้านเราเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทุกคนก็อยากมาเที่ยวเมืองไทย อยากเล่นกีฬา นั่นคือสิ่งที่เราคิดแล้วเราก็ทำ ถึงเราจะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ภาพกีฬาที่เราทำมันก็มีส่วนในการช่วยรักษาภาพลักษณ์ประเทศ แล้วหลักการของกีฬาดีมาก สอนให้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย วันนี้ถ้าการเมืองอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อ การเมืองไม่|ขัดแย้งกันเหมือนอย่างทุกวันนี้”