posttoday

"รัฐประหาร"ทางสองแพร่งบีบ"บิ๊กตู่-ทบ."เสี่ยงทุกด้าน

08 มกราคม 2557

อย่าไปกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เมื่อมองไม่เห็นก็อย่าไปกลัว ทุกอย่างมีสาเหตุหมด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

"...อย่าไปกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เมื่อมองไม่เห็นก็อย่าไปกลัว ทุกอย่างมีสาเหตุหมด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ดังนั้น ต้องไปหาให้เจอว่าอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีเหตุอะไรก็ไม่มีเรื่องเหมือนเรื่องอีกากับวัวถ้าวัวมีแผลอีกาก็จะมาจิกหลังทุกวัน ถ้าไม่มีแผลก็ไม่มีอีกา"คือ คำตอบล่าสุดหลุดออกจากปาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)หลังถูกจี้ถามถึงโอกาสการเกิดรัฐประหาร

ก่อนหน้านี้ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา "บิ๊กตู่" เคยแทงกั๊กระบุการปฏิวัติ "ไม่มีปิด ไม่มีเปิด"มาแล้ว มาครั้งนี้ยังมีท่าทีไม่กล้ายืนยันทหารจะเดินหน้าปฏิวัติหรือไม่ พร้อมระบุเป็นนัย "ไม่มีแผลก็ไม่มีอีกา" นั้น ยิ่งสะท้อนว่าปัจจัยสำคัญของกองทัพในการเคลื่อนพลคือต้องรอจับชีพจรการชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) วันที่ 13 ม.ค. ซึ่งดีกรีการยกระดับและความสุกงอมของสถานการณ์จะเป็นเงื่อนไขชี้วัดว่าถึงเวลาที่ทหารต้องออกโรงหรือไม่

งานนี้ตัวแปรหลักจึงอยู่ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ในการวางเกมยกระดับการชุมนุมว่าจะหวังผลเร่งเร้าทหารมากเพียงใด โดยห้วงอันตรายอยู่ที่การชุมนุมตลอด3 สัปดาห์ เริ่มสตาร์ทตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. ซึ่งคาดการณ์ว่า กปปส.ต้องค่อยๆ โหมไฟขับไล่รัฐบาลจนลากยาวไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ที่ถือเป็นวันเสี่ยงเกิดจลาจลครั้งใหญ่ในประเทศ

เพราะลำพังแค่วันรับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อยังสร้างสถานการณ์รุนแรงจนเปลี่ยนสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เป็นแดนมิคสัญญีขนาดย่อม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้น หากถึงวันเปิดคูหาทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้และ กทม.แผ่นดินอาจลุกเป็นไฟหากเกิดการปลุกมวลชนขัดขวางการเลือกตั้งขึ้นจนบานปลายไปสู่การปะทะและนองเลือดในที่สุด

ไม่เท่านั้นการเคลื่อนไหวของม็อบกปปส.ยังเร่งสถานการณ์ขนาบข้างไปกับแรงกดดันจากองค์กรอิสระ โดยเฉพาะคดีฟัน สส. สว.แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สว. ในมือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ยังสามารถลากเกมไปอีกยาวหลังจากนี้จนกว่าจะถึงขั้นชี้มูลความผิดและลงมติถอดถอน ขณะเดียวกันอีกเส้นทางที่กำลังเดินไปสู่ภาวะติดล็อกเช่นกันคือ โอกาสการเปิดสภาที่ต่อให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.พรรคที่ชนะการเลือกตั้งยังต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัด สส.ไม่ถึง 95% ไม่สามารถเปิดสภาได้หลังจากนั้นต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่8 จังหวัดภาคใต้ ที่จวบจนบัดนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิในพื้นที่จะลดระดับลง

ความเสี่ยงต่อเหตุการณ์นองเลือดจากการชุมนุมของม็อบ กปปส.รวมถึงแรงกระทุ้งจากองค์กรอิสระล้วนแต่เป็นเชื้อเพลิงในการเคลื่อนรถถัง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.เป็นต้นไปกองทัพจะกลายเป็นฝ่ายแบกรับแรงกดดันที่ถาโถมจากทุกฟากฝั่ง เพราะอย่าลืมว่ายาขนานเดิมที่เคยใช้เมื่อปี2549 นั้น หากหยิบขึ้นมาใช้อีกครั้งจะยิ่งเสี่ยงกระทบกับทั้ง "ตัวบุคคล" และ "สถาบัน" ของกองทัพเอง

ในทางหนึ่งหากตัดสินใจเคลื่อนทหารยึดอำนาจรัฐ ท่ามกลางสภาวะที่ประเทศยังปีนไม่พ้นหล่มรัฐประหารปี 2549 การยึดอำนาจ2557 ซ้ำจะยิ่งขุดหลุมฝังประเทศแบบกู่ไม่กลับเสียความเชื่อมั่นจากต่างชาติกระทบแผนการค้า การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่กงล้อโลกและชาติอาเซียนกำลังหมุนไปในทิศทางประชาธิปไตย ไทยอาจต้องถูกโดดเดี่ยวหากหลุดรันเวย์เลือกตั้งไปสู่ระบบกระบอกปืน

ที่ส่งผลร้ายกว่านั้นคือ ความขัดแย้งของคนในชาติที่จะร้าวลึกถึงจุดวิกฤต โดยบทเรียนในช่วง 9 ปี ภาพการเมืองไทยที่วนเวียนในอ่างความขัดแย้งเสื้อสีไม่จบสิ้น เกิดเหตุชุมนุมสังหาร นองเลือด สร้างบาดแผลบอบช้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ จนสังคมตกผลึกในทิศทางเดียวกันว่ารถถังเป็นยาผิดขนานสำหรับแก้วิกฤตการเมืองไทย และแน่นอนว่าหากมีการใช้รัฐประหารไล่พรรคเพื่อไทยหลุดพ้นอำนาจรัฐเท่ากับจุดไฟให้มวลชนฝั่งเสื้อแดงออกมาประท้วงต่อต้าน ต่อยอดสถานการณ์ให้รุนแรงไม่ต่างจากอีหรอบเดิม

ยิ่งกว่านั้นการรัฐประหารจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้ขั้วพรรคเพื่อไทยเหมือนที่เคยพลิกบทให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นฮีโร่มาแล้ว ดังนั้น หากรัฐประหารซ้ำกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยิ่งเป็นการเทความชอบธรรมให้ยิ่งลักษณ์แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งนอกจากผนึกกำลังคนเสื้อแดงให้แข็งแรงหลายเท่าแล้วหากกลุ่มคนไร้สีจะยิ่งเทเสียงมาหนุนเพื่อไทยด้วย

ทั้งนี้ บางฝ่ายยังคาดการณ์ว่าหากเกิดรัฐประหารครั้งนี้อาจเป็นจังหวะหวังผลล้างทั้งกระดานในด้านคดีความของฝ่ายทหารและพ.ต.ท.ทักษิณ เอง เพราะอย่าลืมว่าคลิปหลุดถั่งเช่าเคยแบไต๋ชัดว่า มี "ดีล" สำคัญระหว่างขั้วกองทัพและฝ่ายทักษิณเปลือยแผนการช่วยราชสีห์กลับบ้านมาแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อหันมาดูกองทัพเองจะเห็นได้ว่าเปลี่ยนท่าทีจากในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสรุปบทเรียนทั้งเหตุการณ์รัฐประหารและการสลายการชุมนุมเมื่อปี2553 กองทัพล้วนตระหนักดีว่าการใช้กำลังจัดการความขัดแย้งการเมือง ท้ายที่สุดผลเสียย่อมตีกลับมาสู่ตัวกองทัพและสถาบันเอง ท่าทีของกองทัพระยะหลังจึงพักบทบู๊พยายามอาศัยเวทีเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมแม้จะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม รวมถึงยังส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ขณะเดียวกัน ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ เองนั้นนับว่ามีเงื่อนไขระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วน เพราะกำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 2557 แน่นอนว่าหากเหตุการณ์ไม่ถึงทางตันถึงที่สุด ย่อมไม่มีผบ.ทบ.คนใดต้องการสร้างประวัติศาสตร์ ทิ้งทวนด้วยการจารึกชื่อตัวเองเป็นหนึ่งในลิสต์ผู้นำการรัฐประหาร สร้างรอยด่างติดตัวไปจนถึงชีวิตหลังปลดเกษียณแน่นอน