posttoday

เวทีภาครัฐหนุนเลือกตั้ง2ก.พ.-ลุยปฏิรูปควบคู่กัน

15 ธันวาคม 2556

เวทีฟังความเห็นภาครัฐหนุนจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.พร้อมเดินหน้าปฏิรูปควบคู่กันไป "ภูมิใจไทย"เสนอร่วมสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับก่อนจะมีการเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งควรจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.นี้       

ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานเสวนา กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้บ้านเมืองกำลังมีข้อถกเถียงว่าเมื่อกฎหมายกำหนดวันเลือกตั้งออกมาแล้วเราจะเลือกหรือไม่มีเลือกอย่างไร ซึ่งวันนี้จะมาหาแสดงความคิดเห็นกันในประเด็นนี้

ผู้แทน สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย อ่านแถลงการณ์เรื่อง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือกลลวงเพื่อล้มการเลือกตั้ง โดยสาระสำคัญคือการเลือกตั้งต้องมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.เท่านั้น ไม่มีวิธีการใดที่ขัดขวางหรือทำให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ ข้อเสนอให้ปฏิรูปหรือตั้งสภาประชาชนก่อนเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงกลลวงเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง หากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น ประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. ย่อมไม่พอใจจนต้องออกมาช่วงชิงอำนาจ ซึ่งอาจนำไปสู่การนองเลือดและปัญหาจะวนเวียนไปเรื่อยๆ

อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เสนอว่า การแก้ไขความขัดแย้งระยะสั้น 1.จัดประชุมหารือฝ่ายต่างๆ เพื่อปฏิรูปประเทศรอบด้าน 2.ตั้งกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลจากทุกฝ่ายเพื่อทำงานร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ 3.ทำสัตยาบันพรรคการเมืองให้เคารพผลการเลือกตั้ง 4.ใช้เวทีเลือกตั้งแสดงความคิดเห็นเรื่องปฏิรูปพร้อมกับทำประชามติไปพร้อมกัน

สำหรับข้อเสนอต่อการปฏิรูป 1.จัดตั้งสำนักงานปฏิรูปประเทศไทยโดยจัดงบประมาณแยกออกจากส่วนราชการ 2.ต้องมีกฎหมายรองรับและเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วม 3.เมื่อได้ข้อเสนอแล้วต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ 4.เพิ่มอำนาจสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสภาพัฒนาการเมือง เพื่อให้สามารถเสนอความคิดเห็นทางกฎหมายต่อรัฐสภาได้ 5.แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชน

ผู้แทน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะอธิบายให้สังคมเข้าใจเรื่องปฏิรูป ซึ่งต้องเป็นกระบวนการที่ไม่ใช่ความรุนแรง หากแต่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์หาฉันทามติและต้องไม่กีดกันใคร โดยกระแสปฏิรูปในวันนี้เป็นความต้องการของคนทั้งประเทศไปแล้ว หลายประเด็นควรทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อลดความขัดแย้ง ข้อเสนอเร่งด่วนในการปฏิรูป 3 ข้อ คือ 1.การเลือกตั้ง ต้องทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองหลุดจากการครอบงำของทุนขนาดใหญ่ได้อย่างไร 2.ขจัดการทุจริต 3.กระจายอำนาจ

ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ สว.ขอนแก่น กล่าวว่า การปฏิรูปทำเพื่อให้ประเทศชาติอยู่อย่างสงบ และขณะนี้ประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ว่าอย่างไรแล้วต้องยึดกติกาเป็นหลัก และขอให้อย่าใช้ความหยาบคาย อย่าสร้างวาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง แต่ให้ฟังเสียงประชาชนทั้งหมดพร้อมทั้งสนับสนุนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้

เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สว.ราชบุรี กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้ชี้ว่าจะต้องเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง แต่จะอธิบายว่าถ้าจะเลื่อนก็สามารถทำได้ อาจให้ทุกพรรคการเมืองลงสัตยาบันร่วมกันว่าจะเลื่อนออกไป 1 ปี เพื่อให้เกิดการปฏิรูปก่อน  

เจษฎ์ โทณวณิก  คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม. กล่าวว่า การรัฐประหารที่น่าประณามที่สุดคือการกระทำของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 ฉะนั้นจะมายกย่องคณะราษฎรแต่ประณามการรัฐประหารอื่นๆ ไม่ได้ อย่างไรก็ดีแน่นอนว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ดี แต่ประชาธิปไตยที่ขาดความเข้าใจของประชาชนก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเช่นกัน ดังนั้นเราควรมาหาทางออกร่วมกัน โดยไม่จำกัดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่ 

โสภณ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย 3 ข้อ ได้แก่ 1.พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย 2.เราไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งบนความขัดแย้งในขณะนี้ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง 3.พรรคภูมิใจไทยเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับก่อนจะมีการเลือกตั้ง

“ตอนนี้ความขัดแย้งร้าวลึกตั้งแต่นักวิชาการไปจนถึงรากหญ้า ประเทศไทยขณะนี้กำลังป่วยในระดับที่ต้องรักษาด้วยวิธีพิเศษแล้ว ดังนั้นต้องมาปฏิรูปการเมืองเพราะปัญหาเกิดจากนักการเมือง การเลือกตั้งไม่ใช่วิธีที่จะขจัดความขัดแย้งได้ แต่เราสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว” โสภณ กล่าว

วีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ประเทศไทยมีทางออกอยู่แล้วแต่ขณะนี้ถูกปิดอยู่ และคนปิดก็ไม่ได้มาฟัง เส้นทางของประเทศไทยมีอยู่แล้วคือกรอบรัฐธรรมนูญ แม้ส่วนตัวจะไม่ชอบและไม่ได้มีส่วนสร้างขึ้นมาแต่เมื่อเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ก็ยอมรับ ส่วนเตรียมตัวลงสมัคร สส.อีก อยากเป็น สส.อีก แต่กลับถูกหลอกซ้ำซาก ทำไมประเทศไทยไม่เดินไปตามกฎเกณฑ์กติกา ทำไมต้องวิ่งลงคู

“ถ้าเราจะเริ่มต้นปฏิรูปประเทศก็ให้เริ่มต้นที่การรักษากฎหมายก่อน และถ้าจะปฏิรูปการเมืองแต่ปฏิเสธนักการเมืองและพรรคการเมือง เห็นว่าเป็นความวิกลจริต” วีระกานต์ กล่าว

ณพงษ์ นพเกตุ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายคือประเทศไทยต้องเดินไปสู่การเลือกตั้งได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะมีการชุมนุมประท้วงอีก จุดร่วมของคนไทยทั้งประเทศในขณะนี้คือการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ดังนั้นควรที่จะทำแผนการร่วมตั้งร่วมกันทุกฝ่ายโดยมีรัฐบาลเป็นแกนนำ มีมวลชนทุกฝ่ายทุกสีเข้ามาร่วม

พินิจ จันทรสุรินทร์ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คำถามคือประเทศไทยจะไปทางไหน แน่นอนว่าต้องไปในแนวทางประชาธิปไตย ในเมื่อมีกฎหมายประกาศออกมาแล้วในวันที่ 2 ก.พ.ก็ต้องมีการเลือกตั้ง และเราต้องมาคิดกันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรให้เป็นธรรม

พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันความขัดแย้งมี 2 ประการ คือ 1.อำนาจและผลประส่วน ส่วนประชาชนเป็นเพียงตัวแปร 2.การทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งไม่สามารถโยนความผิดไปที่ฝ่ายการเมืองอย่างเดียวได้ นั่นเพราะข้าราชการและนักธุรกิจก็มีส่วนทำให้เกิดการทุจริต

“อยากให้ประชาชนเข้าใจตำรวจ ตำรวจเป็นกลไกของรัฐในการดูแลความสงบเรียบร้อย ใครเป็นรัฐบาลก็ควบคุมตำรวจทั้งสิ้น ดังนั้นตำรวจไม่มีสี ขออย่าได้ประณามหยามเหยียดตำรวจแต่ขอให้เก็บตำรวจไว้ใช้เถิด” พล.ต.ท.อชิรวิทย์ กล่าว

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ในฐานะแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้คือมี สส.กลุ่มหนึ่งทำผิดพลาด และมีคนอีกกลุ่มพยายามออกมาแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยวิธีการที่ผิดพลาดอีก การด้อยความสามารถของพรรคการเมืองทำให้ประชาชนต้องลงมาสู่ท้องถนนสลับกันไปมา นี่คือการตื่นตัวของประชาชนซึ่งมองว่าตัวเองจะช่วยแก้ไขปัญหาได้

“ทุกวันนี้คุณภาพของประชาชนได้เติบโตขึ้น ในขณะที่พรรคการเมืองลดประสิทธิภาพลง การปฏิรูปครั้งนี้ต้องปฏิรูปให้นักการเมืองและพรรคการเมืองเติบโตให้เท่าเทียมกับการเติบโตของประชาชน และต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ไม่ใช่ของนายทุน”สมบัติ กล่าว

โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั้ง กปปส. และ นปช. ช่วยให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นและเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาต้องปฏิรูปประเทศไทย ทั้งการเมือง โครงสร้างอำนาจ กำจัดการทุจริต

“จะปฏิรูปอย่างไรคงไม่มีใครให้คำตอบได้ฝ่ายเดียว เพราะผู้เกี่ยวข้องมีหลายภาคส่วนจึงต้องให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วม ส่วนผู้นำทางการปฏิรูปควรเป็นฝ่ายที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง กปปส. หรือ นปช. ในวันนี้จะเลือกตั้งก่อนหรือปฏิรูปก่อน เนื่องจากการปฏิรูปเป็นกระบวนการต่อเนื่องดังนั้นนั่นไม่ใช่ประเด็น”โคทม กล่าว

โคทม กล่าวอีกว่า นโยบายเฉพาะหน้าคืออย่าเป็นจ่าเฉยซื้อเวลา เพราะถ้าทำอะไรเหมือนปกติเดิมๆ ก็จะวนกลับไปสู่ความขัดแย้งเช่นเดิม ดังนั้นควรหาทางออกด้วยการคุยกัน แต่ถ้าคุยกันไม่ได้ก็ควรเดินทางที่เห็นว่าประโยชน์ต่อสาธารณะ ชูนโยบายปฏิรูปเลยว่าจะทำอะไร และขอร้องพรรคประชาธิปัตย์ว่าอย่าบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะจะกลายเป็นการปิดประตูไปประตูหนึ่ง

ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์ @iwhale