posttoday

"มิตรร่วมรบ"เตือน3ม็อบต้องเอกภาพ

17 พฤศจิกายน 2556

สัมภาษณ์พิเศษ "สมศักดิ์ โกศัยสุข" อดีตแกนนำพันธมิตรฯที่มาวิเคราะห์ถึงการเคลื่อนไหวของ3ม็อบต้านรัฐบาล

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน/ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

จากสามเสนสู่ราชดำเนิน กระแสการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ขยายวงเฉกเช่นไฟลามทุ่ง

3 เวทีปราศรัยถูกตั้งขึ้นจาก 3 กลุ่มการเคลื่อนไหว ทอดตัวยาวตั้งแต่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์จนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกอบด้วย เวทีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เวทีกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และเวทีประชาชนต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

แม้ทั้ง 3 เวทีจะประกาศความเป็นอิสระระหว่างกัน แต่แน่นอนว่ายุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวย่อม “สอดคล้อง-สอดรับ” ชนิดสบช่องถูกเหลี่ยมนั่นเพราะผลเลิศที่วางไว้คือหมุดหมายเดียวกัน

มองผ่านแว่นนักเคลื่อนไหวผู้คร่ำหวอดวัย 60 ปี อย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่กำลังทำหน้าที่ประสาน 3 ม็อบให้เป็นเนื้อเดียว วิพากษ์ม็อบโค่นทักษิณ ตั้งแต่วันที่ธงรบถูกชักขึ้น ณ สมรภูมิสามเสน จวบจนถึงวันนี้มีบทสรุปว่า “การนำ” ของแกนนำบางเวที กำลังมีปัญหา!?!!

วิพากษ์เรียงเวที

ความแตกต่างของเวทีปราศรัยทั้ง 3 กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง สมศักดิ์วิพากษ์ตรงๆ เวทีต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์มีการจัดตั้งที่ดีที่สุด นั่นเพราะกลุ่มของพรรคการเมืองมีระบบจัดการอำนวยความสะดวกและงบประมาณที่พร้อมกว่า มวลชนที่เข้าร่วมก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะเป็นความก้าวหน้าใหม่

ว่ากันตามตรงพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีความก้าวหน้าขึ้น จากเดิมที่คิดแต่ว่าจะต่อสู้ภายในรัฐสภาเพียงอย่างเดียว แต่หากพิจารณาจากทั่วโลกแล้วจะพบว่าพรรคการเมืองสามารถต่อสู้ได้ทั้งในและนอกสภา บางประเทศพรรคการเมืองเดินชูป้ายนำขบวนมวลชนเอง

อย่างไรก็ดี เรื่องใหญ่ๆ ของการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมขณะนี้ไม่ใช่เรื่องนำโดยพรรคหรือไม่นำโดยพรรค ปัญหาสำคัญอยู่ที่การ “ประสาน-พูดคุย” กันระหว่างแกนนำทั้ง 3 เวที และระหว่างแกนนำบนเวทีกับผู้ชุมนุม

สำหรับเวที กปท. สมศักดิ์กล่าวอย่างไม่เกรงใจว่า “การนำมีปัญหา” โดยเฉพาะล่าสุดที่มีการเดินขบวนถวายฎีกานั้น มันทำให้มวลชนทั่วไปรู้สึกได้ว่ามันไม่ใช่ และก้าวเดินดังกล่าวจะส่งผลกับอีกสองเวที เพราะทันทีที่โยนเรื่องนี้ออกมา กระแสสนับสนุนจะแผ่วลง มันแผ่วกันหมดทั้ง 3 เวที กระทบกระเทือนทั้งกระบวน

“หรืออย่างที่เรียกร้องมาตรา 7 วิธีการแบบนี้มันไม่ถูกต้อง มันไม่ได้ แบบนี้นอกจากจะจุดไม่ติดแล้วยังทำให้ขบวนถอยหลังด้วย นั่นเพราะมันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง เราจะไปชูอะไรเราต้องไปถามกลุ่ม ไม่ใช่คิดกันเอาเอง หลักใหญ่คือจะเอายังไงก็ได้แต่ต้องให้มวลชนเอาด้วย ถ้ามวลชนติดขัดก็ต้องอธิบาย”

“มันมีปัญหาเยอะมากนะ ทีนี้มันก็ต้องเคลียร์ก็ต้องแก้เพราะที่สุดแล้วมันก็ต้องสู้กันต่อไป เรื่องแบบนี้ 3 เวทีต้องคุยกันให้มากขึ้น จะทำอะไรจะได้พอรู้ทางกันบ้าง จะได้รู้แนวว่าจะหนุนเสริมกันอย่างไร แต่พอไม่บอกกันและปล่อยให้ผ่านไปแล้วมันก็เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน มันจะเสียเวลา เมื่อขึ้นพลาดก็ต้องถอยมาอีก มันขึ้นไม่ได้ มันไม่ 3 4 5 ดังนั้นผัง แผน เวลา มันต้องสมาร์ทสอดคล้องกันทั้งหมด”

ทางด้านเวที คปท.นั้น ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะพลังของนักศึกษามีความสำคัญมาก พวกนี้เป็นพลังบริสุทธิ์ เมื่อออกมาเยอะแล้ว ถ้าทำให้ดี ทำให้ทุกคนมีบทบาท สถาบันโน้นสถาบันนี้มีส่วนร่วมหมดมันก็จะกลายเป็นขบวนใหญ่ได้

“นักศึกษายังไงก็เป็นภาพสะอาดบริสุทธิ์ ถึงมีข้อบกพร่องไปบ้าง กระตุกไปบ้างหรือหวือหวาไปบ้างก็ไม่มีใครว่า เพราะนี่มันเด็ก ทุกคนก็รับได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือพวกบนเวทีมันมีพวกเขี้ยวๆ มันมาแย่งเด็กมากจนเกินไป มันมีคนหลายประเภท ทั้งนักฉวยโอกาส คนอยากดัง ซึ่งตรงนี้ผู้นำต้องเข้มแข็งต้องจัดระเบียบให้เหมาะสม”


“บางคนแทนที่จะได้ขึ้นเวทีก็ไม่ได้ขึ้น เพราะไอ้นั่นมันพูดจนเวลาหมด และที่พูดๆ มันก็ไม่มีเนื้อหา มีแต่น้ำ อย่างเรื่องเขาพระวิหารซึ่งเป็นประเด็นที่จะเรียกแขกให้เข้ามาเพิ่มได้ก็ควรหาคนที่มีความน่าเชื่อถือมาพูด เพราะนาทีนี้มันต้องสู้กันด้วยข้อเท็จจริง ถ้าคนที่ฟังอยู่หรือคนที่กลางๆ ฟังแล้วรู้สึกว่าใช่ เขาก็จะออกมาร่วมกับเรา แต่การชุมนุมในวันนี้กลับพูดอะไรที่ไม่เรียกแขก เรียกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ผิดกาลเทศะ”

สมศักดิ์มั่นใจว่าปลายทางทั้ง 3 เวทีจะต้องมาบรรจบกันที่แนวทางปฏิรูปประเทศ แกนนำทั้ง 3 เวทีจึงต้องพูดคุยกันให้มากขึ้นถึงทิศทางการเคลื่อนให้ไปทางเดียวกันและเกื้อกูลกัน

“ขณะนี้การชุมนุมมีอยู่ 3 เวที มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ สิ่งที่ต้องทำเลยคือส่วนหัวมาคุยกันว่าหลักการเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไร อย่าให้มันขัดแย้งกัน โดยเฉพาะหลักการสำคัญในการใช้คำว่าประชาธิปไตย ต้องอย่าเผลอ อย่าพลาด อย่าเกินเลยจากหลักนี้”

แม้ว่าจนถึงนาทีนี้ ทั้ง 3 เวทีจะชูธงปฏิรูปประเทศไทยแล้ว แต่สมศักดิ์ยังมองว่าแกนนำไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะปฏิรูปกันอย่างไร ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน และแกนนำทั้ง 3 เวที ก็ยังตอบไม่ตรงกันว่าจะทำแบบไหน

“แต่ก็ต้องเข้าใจเขา บางครั้งบนเวทีมันไม่สามารถอธิบายรายละเอียดได้เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมาย ถ้าเราไปพูดปุ๊บ อาจถูกตีความไปได้ว่าจะใช้กำลังโค่นล้มอำนาจรัฐก็จะถูกเขากล่าวหากลับมาได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องรู้ขั้นตอนวิธีการระหว่างกัน แต่ตอนนี้มันไม่รู้กันเลย”

“การตั้งเวทีและการเคลื่อนไหวยิ่งมีหลายกลุ่มหลายเวทีเป็นเรื่องดี การเป็นอิสระแยกกันทำงานเป็นสิ่งดี แต่ข้อควรระวังคือต้องไม่ให้มีลักษณะจะมาแย่งมวลชนกันเอง ไม่ใช่ว่ากลุ่มไหนจะทำอะไรก็ไม่บอกกันเลย เสร็จแล้วก็มาทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ มันอันตราย มันเหมือนเหยียบเปลือกกล้วย คุณทำมวลชนไปสูงๆ พลาดทีเดียวมันเป็นประเด็น มันล้มกันหมด”

ระวังมวลชนอารมณ์ค้าง

ตลอด 17 วันของการชุมนุมที่ผ่านมามีหลายครั้งที่แกนนำพูดออกไปโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์ความเป็นจริง และก็ไม่สามารถทำตามคำพูดของตัวเองได้ สมศักดิ์นิยามพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยภาษานักเคลื่อนไหวว่า “อัตวิสัยไม่สอดคล้องกับภาวะวิสัย” กล่าวคือ ผู้นำกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ควรจะเป็นในขณะนั้น

“เหมือนที่ประชาธิปัตย์พาคนเคลื่อนมาในครั้งแรก หรือกลุ่มกองทัพประชาชนที่ปลุกเร้าให้ประชาชนมาที่สวนลุมฯ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ การปลุกอารมณ์มวลชนขึ้นไปสูงแล้วแกนนำไม่ทำตามที่พูดไว้ จะส่งผลโดยตรงให้มวลชนขุ่นเคืองไม่พอใจ บางครั้งอาจถูกสะท้อนกลับมาแรงๆ ว่าหลอกกันนี่หว่า ที่สุดแล้วจะกระทบกับวิกฤตศรัทธาของตัวแกนนำเอง”

“หากเป็นมวลชนที่ไม่มีความหนักแน่นเขาอาจตัดสินใจกลับบ้านเลิกชุมนุม หากเป็นมวลชนที่ใจร้อนเขาอาจจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเองโดยไม่สนใจแกนนำ ถ้าไม่สูญเสียมวลชนก็อาจเกิดปัญหาบานปลายเกินกว่าจะควบคุมได้ คำถามคือแล้วจะไปทำให้สูงเกินกว่าความเหมาะสมทำไม”

“การชี้นำสิ่งที่ถูกต้องให้กับมวลชนในสถานการณ์สู้รบมันต้องชัด แต่นี่มันยังไม่ชัดจะมาคิดว่าอยากพูดอะไรก็พูดมันไม่ได้ งานเคลื่อนทัพทางมวลชนสาระสำคัญคือผู้นำต้องเข้าไปนั่งอยู่ในใจของมวลชนให้ได้ จะสื่อสารอะไร เสนออะไร ต้องแน่ใจว่าตรงใจมวลชน ไม่ใช่มานั่งคิดเองเออเอง ยิ่งใช้วิธีแบบนายทหารสั่งพลทหารก็ยิ่งจะทำให้พังกันทั้งขบวน ที่สำคัญเมื่อจำนวนมวลชนเพิ่มขึ้นแล้วแกนนำต้องตอบสนองมวลชนให้ได้ วิธีการต้องไม่หวือหวาเกินและต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย”

อดีตเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) 3 สมัยรายนี้ บอกอีกว่า ถ้าปลุกจนมวลชนติด แล้วแกนนำกลับเอาลงกลางคัน มวลชนจะกลับมากินตัวแกนนำเอง ซึ่งปลายทางถ้าไม่ใช่มวลชนสลายไปก็มีแนวโน้มว่าจะอ่อนแอลงจนถูกเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุม ดังนั้นแนวทางที่ถูกควรคือการยกระดับมวลชนตามธรรมชาติในเชิงคุณภาพไม่ต้องรีบเร่ง

“บางคนบอกไปถึงขั้นว่าปฏิวัติประชาชน ถามว่ามันถึงเวลาที่จะต้องประกาศแบบนั้นแล้วหรือ และถ้าเกิดมันไม่ผ่านจะทำยังไง หินมันจะหล่นลงมาทับตัวเองไหม แล้วที่ประกาศออกไปมันพร้อมขนาดไหน มวลชนเขาคิดกันอย่างไร เมื่อพูดไปออกแล้วมันจะอยู่เฉยไม่ได้ถ้าเอาจริงก็ต้องเดินหน้าเพราะมวลชนเขาถูกปลุกจนถึงจุดแล้ว จะให้อยู่เฉยๆ ต่อไปไม่ได้ มันต้องเคลื่อน มวลชนเขามีพลังสะสมอัดแน่นแล้วก็ต้องระบายออก ถ้าอยู่เฉยๆ มันจะทอนกำลังจนอ่อนลง”

"มิตรร่วมรบ"เตือน3ม็อบต้องเอกภาพ

จบแน่ไม่ยืดเยื้อ

1 ใน 7 แกนนำต่อต้านเผด็จการทหารยุคพฤษภาทมิฬผู้นี้ ยังวิพากษ์อีกว่า ผู้นำการชุมนุมที่มีอยู่ในตอนนี้อาจไม่คุ้นเคยกับการทำงานแบบประชาธิปไตยแบบการรวมศูนย์ ยังติดอยู่กับอัตตาตัวเอง รับฟังความคิดเห็นจากมวลชนไม่ทั่ว ตัดสินใจอะไรโดยไม่ผ่านการปรึกษา บางครั้งที่ประชุมแกนนำมีมติอย่างหนึ่ง แต่พอออกไปนำกลับกระทำการที่มันเกินเลย มากไปกว่ามติที่ตกลงกันไว้ อาจเป็นเพราะเขาไม่เคยผ่านประสบการณ์การนำมวลชน เมื่อเห็นว่ามีคนเยอะๆ ก็เชื่อมั่นตัวเองมากไปหน่อย หรือบางคนอาจติดนิสัยมาจากอาชีพอย่างคนที่เป็นทหารก็มักจะติดการสั่งจากบนลงล่างเสมอ

ด้วยประสบการณ์การทำมวลชนมาเกินกว่าค่อนชีวิต สมศักดิ์มองเห็นแล้วว่า พลังของการชุมนุมในขณะนี้สามารถล้มรัฐบาลได้อย่างไม่ต้องสงสัยและมั่นใจว่าจะไม่ยืดเยื้อ นั่นเพราะนอกจากประเด็นการชุมนุมจะมีความชอบธรรมสูงแล้ว มวลชนในขณะนี้|ยังถือว่าสุดยอดไม่สามารถหาได้จากไหนอีกแล้วทั้งมีความละเอียด อดทนสูง มีระเบียบ รู้จักโอนอ่อนผ่อนปรน ให้อภัยกันและพยายามประคับประคองกันด้วยความเข้าใจ ที่สำคัญยังมีคดีความสำคัญที่อยู่ในองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญที่พร้อมจะชี้มูลความผิดคนในรัฐบาลไม่ว่าคดีทุจริตจำนำข้าว คดีคืนพาสปอร์ตทักษิณ คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา สว.

“มาถึงตอนนี้เรื่องสำคัญอยู่ที่การทำให้ประชาชนเข้าใจตรงกัน เพราะปริมาณมวลชนขณะนี้มันกว้างพอที่จะขยายผลต่อซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวถึงขั้นที่รัฐบาลต้องถอย ดังนั้นแผนการเคลื่อนไหวแต่ละจังหวะการนำของทั้ง 3 เวที ต้องมีความเป็นเอกภาพในเป้าหมาย และในการเปลี่ยนแปลงเมื่อพูดถึงการปฏิรูปประเทศ สาระใหญ่คือต้องรักษาทิศทางของประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้ หากรักษาตรงนี้ไม่ได้ การเคลื่อนไหวก็จะขาดความชอบธรรมโดยทันที”

อดีตแกนนำพันธมิตร กล่าวว่า มวลชนในขบวนการประชาชนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับหลักๆ คือกลุ่มที่ก้าวหน้าหรือเข้าใจประเด็นการเคลื่อนไหวอย่างชัดแจ้ง กลุ่มคนกลางๆ และกลุ่มคนที่ตามไม่ทัน ดังนั้นภารกิจการชุมนุมคือต้องทำให้คนทั้ง 3 ระดับ เข้าใจตรงกันให้ได้มากที่สุด แกนนำจะต้องบริหารเวลาเพื่อสื่อสารขยายความเข้าใจนี้ออกไป นั่นเพราะการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศไม่จำเป็นต้องใช้คนมาก ขอเพียง 10% ของคนทั้งหมด ที่สำคัญคนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องออกมา เพียงแค่เข้าใจประเด็นร่วมกันก็เพียงพอแล้ว


สำหรับประเด็นการเคลื่อนไหวในขณะนี้มีความชอบธรรมอย่างมาก ด้วยชัดเจนว่ารัฐบาลผิดพลาดในการบริหารราชการและเกิดความล้มเหลวเชิงนโยบาย ในจังหวะนี้แกนนำต้องจัดลำดับความสำคัญของประเด็นและพูดให้ชัด ต้องอยู่ภายใต้หลักการ “อย่าตีเกินกว่าความเป็นจริง” คือต้องไม่บิดเบือนหรือใส่ร้ายรัฐบาล แต่เลือกที่จะชี้ให้สังคมเห็นถึงสิ่งที่รัฐบาลทำผิดจะจะ และอธิบายว่ามันไม่ถูกต้องอย่างไร

“ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกฎหมาย 3 วาระรวด ไม่ยอมให้อภิปราย และเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน เข่นฆ่าประชาชน เผาบ้านเผาเมือง โกง โดยย้อนไปตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งในหลักของสากลจะไม่นิรโทษกรรม นี่ยังไม่นับเรื่องประสาทเขาพระวิหารจนทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของแพง จำนำข้าวขาดทุนหลายแสนล้านบาทจนเป็นที่ประจักษ์ถึงความล้มเหลว”

สมศักดิ์กล่าวตรงไปตรงมา การปราศรัยเพื่ออธิบายความตรงนี้นับว่าเป็นจุดที่ยังอ่อน

“มันเป็นการต่อสู้เชิงยุทธศาสตร์ รัฐบาลยอมถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เพื่อให้คนกลับบ้าน ถามว่าเมื่อเขาเล่นมาแบบนี้แล้วเราจะสู้ต่อยังไง มันต้องอธิบายให้มวลชนเข้าใจว่ามันไม่ใช่แค่นี้นะ รัฐบาลมันมีความผิด และประชาชนมีความชอบธรรมที่จะไล่ต่อ มันต้องมีการสื่อสารเพื่อตอบโต้ ถ้าไม่ทำมวลชนก็จะน้อยลง นั่นเท่ากับเราถดถอย สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับบ้านกันทั้งหมด”

ทำไมอารยะไม่ยอมขัดขืน

มาตรการอารยะขัดขืนชุดแรกใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.หยุดงาน 2.ชะลอการจ่ายภาษี 3.พกนกหวีดและติดธงชาติ 4.เป่านกหวีดไล่รัฐบาลทุกครั้งที่เจอ ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

สุเทพ เทือกสุบรรณ จึงยกระดับการต่อสู้อีกครั้งด้วยยุทธวิธีเดินหน้าถอดถอน สส. 310 คน ที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป่านกหวีดไล่เครือข่ายระบอบทักษิณ ไม่ซื้อสินค้าและทำธุรกรรมกับในเครือทักษิณ และชวนข้าราชการหยุดงานทั่วประเทศในวันที่ 15 พ.ย.

ทุกมาตรการที่ประกาศออกมาไม่ง่าย เพราะเงื่อนไข คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกปลดล็อกไปแล้ว

สมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตผู้นำแรงงาน วิจารณ์มาตรการอารยะขัดขืนที่กลายเป็นมุกแป๊ก ว่า ความจริงการหยุดงานถือเป็นอารยะขัดขืนที่ใช้ได้ผลทั่วโลก แต่วิธีการที่แกนนำการชุมนุมครั้งนี้เลือกใช้มีข้อผิดพลาด คือเลือกที่จะ “สั่ง” และปฏิเสธการจัดตั้งไว้ล่วงหน้า

“ลักษณะของมวลชนที่จะมาชุมนุม ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มย่อยๆ ที่มีพลัง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร แรงงาน นักศึกษา นักเรียนอาชีวะ กลุ่มจังหวัด โดยกลุ่มเหล่านี้จะมีมวลชนของตัวเองอยู่ เวลาจะเข้ามาร่วมชุมนุมก็จะมากันเป็นกลุ่ม แกนนำจะต้องรู้ว่ามีกลุ่มใดบ้าง ต้องจับชีพจรให้ได้ว่าแต่ละกลุ่มคิดยังไงต้องบริหารจัดการกลุ่มเหล่านี้ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าทิศทางการเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร วิธีการจะนำไปสู่การกดดันรัฐบาลแบบไหน”

“โดยเฉพาะกลุ่มใหม่ๆ ที่มากันอย่างสดๆ ต้องให้ความสนใจเขา ต้องให้ความสำคัญและเคารพเขาต้องให้เขามีส่วนร่วมให้มาก ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ผู้นำขึ้นไปประกาศว่าจะทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ไปสั่งเขาให้ทำตาม มันไม่ได้”

อย่างมาตรการอารยะขัดขืนด้วยการหยุดงานสมศักดิ์ ย้ำว่า แกนนำต้องเข้าใจธรรมชาติการเคลื่อนไหวว่ามวลชนจะเป็นไปตามสาย เช่น สายแรงงานถ้าแกนนำไม่ไปจัดตั้งที่สายของเขาเขาก็จะไม่ฟัง หรือถึงฟังก็จะไม่นำมาตรการไปปฏิบัติตาม เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นสายข้าราชการ สายทหาร กลุ่มคนเหล่านี้จะฟังแต่ผู้นำของเขา เพราะผู้นำเป็นคนที่รับรองและมีส่วนได้ส่วนเสียไปกับเขา ต้องเข้าใจว่าการใช้มาตรการใดๆ มันมีความเสี่ยง ถามว่านัดหยุดงานมันเสี่ยงหรือไม่ ถ้าหยุดงานแล้วถูกไล่ออกจะคุ้มไหม แกนนำการชุมนุมจะรับผิดชอบชีวิตเขาได้หรือ

“สมัยที่ผมเป็นแกนนำพันธมิตรจะมีการประชุมย่อยกับแกนนำกลุ่มต่างๆ ไม่ต่ำกว่าวันละ 3 รอบโดยแต่ละรอบมีแกนนำเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 100 องค์กร เมื่อรับรู้อารมณ์ ความต้องการ และได้ข้อสรุปตรงกันแล้ว จึงจะเอาแนวทางที่ได้ไปเข้าที่ประชุม 5 แกนนำ นอกจากนี้ ระหว่างการชุมนุมก็จะมีการลงไปพูดคุยกับมวลชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยตรง ถ้าไม่มีเวลาก็ต้องจัดตั้งทีมแกนนำเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวแทน”

“แต่นี่คุณพูดแล้วคุณก็ไป ไม่สนว่ามันจะไปลงที่ไหนมันไม่ได้ ทำแบบนี้มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย ดีไม่ดีเขายิ่งมีความรู้สึกว่าคุณเป็นใคร ทำไมมาสั่งเขา ถ้าเขายอมทำตามแสดงว่าเขาทำเพราะเชื่อตามคำสั่งอย่างนั้นหรือ มันไม่ได้ เสรีชนจะไปสั่งให้ซ้ายหันขวาหันเหมือนทหารไม่ได้ ถามว่าคุณเป็นใครจะไปสั่งเขา คุณเป็นประธานสหภาพหรือ อย่าโชว์ฟอร์ม อย่าฉวยโอกาส อย่าแสดง อย่าทำตัวเป็นพระเอก อย่าบอกว่าถ้าขาดฉันแล้วจะไม่ชนะ อย่าทำแบบนั้น”

“แต่ถ้าเราไปคุยกับกลุ่มเขา ไปอธิบายเชิงหลักการแต่ไม่ได้ไปสั่งเขา เมื่อเขาเข้าใจและถึงเวลาที่เหมาะสมเขาจะประกาศมาตรการออกมาเอง มันเหมือนกับการเคลื่อนขบวนมาชุมนุมของกลุ่มต่างๆไม่ใช่เพราะคุณสั่งให้เขาออกมาร่วมชุมนุม แต่เพราะคุณอธิบายเขาว่ากำลังต่อสู้อยู่กับอะไร เมื่อเขาคิดได้และเห็นว่าสมควรร่วมด้วย เขาก็ออกมากัน”

"มิตรร่วมรบ"เตือน3ม็อบต้องเอกภาพ

สมศักดิ์ ขยายความอีกว่า แกนนำประกาศหยุดงานออกไปโดยไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง นั่นเพราะไม่ได้ไปคุยกับเขาลึกๆ หรือคุยกันในๆ การอารยะขัดขืนในทางปฏิบัติต้องมีการจัดตั้งมาก่อนแล้วค่อยมาประกาศ เช่น ต้องประสานกับทุกกลุ่มก่อน เมื่อทุกฝ่ายตกลงปลงใจว่าจะเอาด้วยก็ค่อยชวนกันขึ้นไปประกาศพร้อมกัน ตรงนี้มันจะเกิดพลัง ไม่ใช่ออกไปประกาศโดยไม่คุยกับใครเลย

“คุณก็รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้มาตรการสำเร็จลุล่วงเป็นใครบ้าง ก็ไปคุยกับเขา องค์กรต่างๆ บริษัทต่างๆ สหภาพต่างๆ ถ้าเขาเอาด้วยแล้วไปประกาศพร้อมกันว่าอีก 2 วันจะมีการหยุดงานโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อถึงดีเดย์ก็จะมีคนหยุดงานกันจริงๆ มหาวิทยาลัยที่ไปคุยมาก็สั่งปิด บริษัทโรงงานก็สั่งปิด มันจะส่งผลเป็นโดมิโนขยายวงออกไปเรื่อยๆ”

อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนาน 19 ปีเต็ม กล่าวว่า การที่แกนนำผู้ชุมนุมไปประกาศหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าจะใช้มาตรการตัดน้ำตัดไฟ ถามต่อว่าประกาศไปแล้วจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร ตรงนี้คนที่ไม่มีประสบการณ์จะไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าคนที่เขาอยากทำให้มันทำยาก มันไร้เดียงสามากๆ ที่ไปบอกศัตรูว่าจะทำอย่างนี้ตรงนั้นตรงนี้ พูดเลยว่าโง่ที่ทำแบบนี้

“คุณไม่ต้องไปพูดแทนเขา เขาคิดเอง เขาทำให้เองเมื่อถึงเวลา แต่พอมาพูดแบบนี้มันไม่เป็นจริง แถมยังไปขวางความเป็นจริงอีก”

สมศักดิ์ บอกว่า มาตรการอารยะขัดขืนต้องทำให้ลามไปทั่ว อย่างในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทุกคนมีบ้านติดกันหมด แกนนำต้องคิดแล้วว่าจะทำยังไงให้ทุกคนออกมาตั้งโต๊ะกินข้าวกันกลางถนน นี่เป็นอารยะขัดขืนซึ่งไม่ได้ลงทุนมาก แต่หัวใจคือมันต้องแสดงให้เห็นว่าได้เกิดขึ้นแล้วจริง ต้องสาธิตให้ได้ และเมื่อมันลามไปทั่วแล้วก็ต้องยอมรับกันว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นบ้าง อีกปัญหาหนึ่งคือคนไทยมักติดกับดักตรงนี้ คือไม่ยอมให้อะไรเสียหายเลย คำถามคือหากหมอบอกว่าต้องผ่าตัด แต่คุณกลับบอกว่าไม่ได้ มันเจ็บ แล้วหมอจะรักษาคุณได้ยังไง