posttoday

'ไชยยันต์ ไชยพร'เสนอยุบสภา ผ่าทางตันการเมือง

14 พฤศจิกายน 2556

สถานการณ์กลุ่มประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลสืบเนื่องมาจากชนวนร้อน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังไม่มีทีท่าจะดับลงง่ายๆ

สถานการณ์กลุ่มประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลสืบเนื่องมาจากชนวนร้อน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังไม่มีทีท่าจะดับลงง่ายๆ ล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศเตรียมยกระดับการชุมนุมวันที่ 16 พ.ย.นี้ ขณะที่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงเตรียมรวมพลังปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยครั้งใหญ่ไม่แพ้กันในช่วงสุดสัปดาห์

ไชยยันต์ ไชยพร นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งว่า การลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของวุฒิสภา ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบสะท้อนว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างสภาบนและสภาล่าง ดังนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับเสียงข้างมากจากสภาไว้วางใจให้เป็นผู้นำฝ่ายบริหารควรตัดสินใจยุบสภา เพื่อยุติความขัดแย้งและคืนอำนาจการตัดสินใจให้แก่ประชาชน

อาจารย์จุฬาฯ ผู้นี้อธิบายข้อเสนอแนะต่อว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่พรรคเพื่อไทยก็ควรชูนโยบายหาเสียงให้ชัดเจนว่าต้องการผลักดันร่างนิรโทษกรรมแบบใด โดยให้ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งตัดสินบนแนวทางที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียง ซึ่งที่สุดแล้วหากพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้งสังคมก็ต้องยอมรับในกติกา ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยุติการชุมนุมด้วย แต่หากประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังคงชุมนุมไล่รัฐบาลต่อ ก็ควรหาเหตุผลอธิบายต่อสังคมให้ได้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงในการเคลื่อนไหวของตัวเองคืออะไร

'ไชยยันต์ ไชยพร'เสนอยุบสภา ผ่าทางตันการเมือง ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนตัวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั้น ไชยันต์ ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ มีการแปรญัตติจนขัดหลักการจากร่างเดิมของ วรชัย เหมะ สส.พรรคเพื่อไทย ดังนั้น แม้การยุบสภาจะไม่สามารถทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวตกไป แต่รัฐสภาควรหาวิธีการอื่น เช่น ทำให้ร่าง พ.ร.บ.เป็นกฎหมายการเงินแล้วนายกฯ ปฏิเสธการลงนาม เป็นต้น เพื่อปิดทางร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และหลังยุบสภาเเล้วหากชนะการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เข้ามาที่มีหลักการตรงกับนโยบายที่หาเสียง โดยไม่แปรญัตติขัดกับหลักการอีก

คณิน บุญสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เห็นอีกทางว่า ณ ขณะนี้ทั้งการลาออกหรือการยุบสภาของนายกฯ ไม่ใช่ทางออกของปัญหาการเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นหนทางที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มต่อต้านที่นำโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากทั้งการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชนและการลาออกคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับสภาเลือกนายกฯ ใหม่นั้นล้วนเป็นวิถีทางของระบอบรัฐสภาทั้งสิ้น แต่การลาออกของ สส.ปชป.นั้นได้แสดงชัดเจนว่าได้ละทิ้ง ไม่ศรัทธาระบบเลือกตั้ง ทิ้งกลไกตามระบอบรัฐสภาแล้ว ดังนั้น จะใช้วิธีแก้ตามระบอบรัฐสภาแก้ปัญหาบุคคลที่ทิ้งระบบรัฐสภานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

คณิน ชี้ว่าประชาชนลุกออกมาประท้วงต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ รัฐบาลพรรคร่วมและวุฒิสภาตัดสินใจถอยกรูดถึงขนาดนี้ เท่ากับเป้าหมายของกลุ่มต้านได้รับการตอบสนองเสร็จสิ้นแล้ว หรือจะพูดได้ว่าเวลานี้กลุ่มมวลชนภายใต้การนำของ ปชป.หมดความชอบธรรมในการออกมาชุมนุมแล้ว ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือ พรรค ปชป.และประชาชนต้องยุติการชุมนุมและถอยกลับไปยึดมั่นในระบบรัฐสภามาเป็นวิธีการแก้ปัญหา ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่หวังกลไกนอกระบบเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะมาตรการอารยะขัดขืนที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้อื่น และเสี่ยงให้บ้านเมืองเกิดภาวะจลาจล

คณิน ยังเตือนทิ้งท้ายว่า หากม็อบ ปชป.ยังขืนขยายวงต้านรัฐบาลจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ประชาชนที่หนุนรัฐบาลออกมารวมตัวมากยิ่งขึ้นและเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า ดังนั้น ถึงเวลาที่ประชาชนกลุ่มนี้ควรทบทวนจุดยืนการเรียกร้องของตัวเอง