posttoday

ต้นเสียง"นกหวีด"ที่สีลม

11 พฤศจิกายน 2556

ผมคิดว่าเขาเปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอก เมื่อเห็นมีภัยมาก็หมอบ แต่เมื่อไรก็ตามที่เห็นว่าเหนือกว่าแล้วก็จะแสดงอิทธิพลเหิมเกริมไม่เห็นหัวคนอื่น

โดย...วิทยา ปะระมะ

พลันที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เสียงคัดค้านก็ดังประสาน|เซ็งแซ่จากประชาชนทั่วทุกสารทิศ ทุกสาขาอาชีพ ที่ออกมาแสดงพลังอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายปีที่ผ่านมา นำไปสู่การถอยสุดซอย ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 6 ฉบับออกจากสภา และอีก 1 ฉบับที่รอการพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 11 พ.ย. ซึ่งวุฒิสภาเองก็ยืนยันจะคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งรัฐบาลนำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่าเมื่อครบ 180 วัน หลังวุฒิสภาไม่รับร่างนิรโทษฯ แล้วจะไม่เสนอกลับเข้าไปอีก

กลุ่มผู้จุดประกายคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งตั้งเวทีชุมนุมตั้งแต่แรกที่สามเสน ก่อนจะขยับมาอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในขณะนี้แล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในการจุดกระแสคนกรุงให้ร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับลักหลับตอนตี 4 ก็คือม็อบสีลม นำโดยชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนัดเป่านกหวีดครั้งแรกวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 พ.ย. และวันที่ 7 พ.ย. บริเวณสี่แยกอโศก ก่อนจะประกาศหยุดชั่วคราวเพื่อรอดูสถานการณ์ว่ารัฐบาลถอยจริงตามลมปากหรือไม่

ภาพคนนับหมื่นรวมตัวเป่านกหวีดคัดค้านไม่เอาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแพร่หลายกระจายเป็นไฟลามทุ่ง ปลุกให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงพลังประชาชนได้เป็นอย่างดี

ประเทศกำลังล่มจมเพราะคอร์รัปชั่น

สมเกียรติ หอมลออ ประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ระบุถึงเหตุผลที่ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหว ว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมาจะมีผลเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ถ้าไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ถ้ารัฐบาลยังมีนโยบายและดำเนินการอย่างที่เป็นมา ประเทศชาติจะเสียหาย เดินทางสู่ความล่มจมแน่นอน

สมเกียรติ ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามาตรฐานรัฐบาลที่คิดว่าความผิดความถูกขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากหรือจำนวนมือในรัฐสภา ซึ่งถ้าคนที่ตัดสินใจไม่ได้ตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตัวเอง ตัดสินใจโดยการชักใยของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของคนสั่งการ ตรงนี้ขัดกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ

สมเกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า การแก้ไขแปลงสารเนื้อหาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการ ย้อนหลังหลายๆ จุดครอบคลุมไปถึงการนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ไม่ต้องพูดถึงการทุจริตที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน เอาแค่คดีรถและเรือดับเพลิง ซึ่งมีการต่อสู้ในศาลและมีคำตัดสินเรียบร้อยแล้ว หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา คนที่ถูกศาลลงโทษก็พ้นผิดด้วย รวมถึงความผิดทุจริตในอดีตที่ยังรอการเปิดเผยอีก

“ทุกวันนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า นักการเมืองทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมาถึงระดับประเทศมีจำนวนไม่น้อยที่ทุจริต บางกระทรวงเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีจะเรียกข้าราชการมาคุยว่าต่อไปนี้การจัดซื้อจัดจ้าง ข้าราชการที่มีอยู่แล้วไม่ต้องดำเนินการ แต่จะมีทีมจากข้างนอกเข้ามานั่ง การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ให้ขึ้นกับกลุ่มนี้ ให้ข้าราชการอยู่เฉยๆ คอยเซ็นอย่างเดียวถ้าอยากก้าวหน้า และสื่อจำนวนมากก็ไม่ทำหน้าที่ตีแผ่ข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ฉะนั้น การคอร์รัปชั่นมันจึงดาษดื่น” ประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กล่าว

แน่นอนว่าการออกกฎหมายลักษณะนี้ทำให้คนทุจริตย่ามใจคิดว่าจะคอร์รัปชั่นเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าไม่ถูกจับได้ก็สบายไป แต่ถ้าถูกจับได้ก็ต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจบางคน ดีเอสไอบางคน หรืออัยการบางคน ถูกครอบงำหมด ทำให้หลักฐานอ่อนจนหลุดคดี

แต่ถ้าหลักฐานชัดเจนจนดิ้นไม่หลุด เมื่อศาลลงโทษก็จะใช้พวกมากลากไปออกกฎหมายนิรโทษกรรม การทุจริตครั้งต่อไปจะไม่มีการเกรงกลัว จะโจ่งแจ้งมากขึ้น กินคำใหญ่มากขึ้น เพราะถือว่ามีมือตั้งเยอะแยะในสภา

“ผลที่เกิดขึ้นนอกจากประชาชนเสียผลประโยชน์แล้ว ความเชื่อถือของต่างชาติที่ทำมาค้าขายกับเรา นักลงทุนที่จะมาลงทุนบ้านเราก็ต้องคิดหนัก ความน่าเชื่อถือของประเทศสูญหาย อันนี้จะเป็นผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”แกนนำม็อบสีลม กล่าว

ยิ่งในอนาคตมีโครงการที่รัฐบาลพยายามผลักดัน คือโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งก็ยังเป็นที่สงสัยถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น มีการพูดกันหนาหูว่า 30-40% และถ้าโครงการเหล่านี้ผ่าน เงินจะเข้ากระเป๋านักการเมือง 6-8 แสนล้านบาท สุดท้ายหากโครงการล้มเหลวอย่างเช่นกรณีแอร์พอร์ตลิงค์หรือจำนำข้าว คนที่ต้องชำระหนี้คือประชาชนทั้งรุ่นนี้และรุ่นต่อไป ขณะที่นักการเมืองถ้าเกิดอะไรขึ้นก็คว้ากระเป๋าไปต่างประเทศ

ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมหาศาลไม่มีใครประมาณได้ นอกจากนี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังเกี่ยวพันถึงการปรองดองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะไม่มีวันเกิดขึ้น ถ้าคนที่เกี่ยวข้องสั่งการในกรณีตากใบยังไม่ได้รับการชี้ผิดชี้ถูกและลงโทษ

ปัจจัยทั้งหมดทำให้ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยคิดว่ายอมรับไม่ได้ที่จะปล่อยให้นิรโทษกรรมกันง่ายๆ

ต้นเสียง"นกหวีด"ที่สีลม

รัฐบาลนี้ไร้เครดิต

หันกลับมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน ม็อบสีลมพักรบชั่วคราว ม็อบประชาธิปัตย์ยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลทำอย่างไรก็ได้ให้กฎหมายฉบับนี้ตายไปจากสภาก่อนเวลา 18.00 น. วันที่ 11 พ.ย.นี้ ส่วนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 77 จังหวัด กองทัพธรรมและกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ยกระดับชุมนุมขับไล่รัฐบาล

ส่วนฟากรัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 6 ฉบับออกไปแล้ว และวุฒิสภานัดประชุมในวันที่ 11 พ.ย. ขณะที่คนเสื้อแดงออกมาชุมนุมแสดงพลังเช่นกัน

สมเกียรติ กล่าวว่า เฉพาะกลุ่มชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย หากรัฐบาลยอมถอยให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตายไปจากสภาในวันที่ 11 พ.ย. ก็ถือว่าพอใจแล้ว

“รัฐบาลยอมถอย ถ้าจะเดินหน้าก็กระไรอยู่ ขณะเดียวกันเราประเมินว่าสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชั่น ทำให้รัฐบาลเห็นว่าต้องปรับปรุงแก้ไขในสิ่งผิด ถ้าอย่างนี้แล้วเราพอใจแล้ว”สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองส่วนตัว สมเกียรติก็ไม่ได้พอใจกับการยอมถอยของรัฐบาลในครั้งนี้ เพราะไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำจริง เนื่องจากพฤติกรรมของรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา น้ำเสียง สุ้มเสียงของนักการเมืองที่มีอำนาจทั้งของยิ่งลักษณ์และ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เห็นหัวประชาชน

“เราเชื่อว่าพูด 100 ครั้ง มันไม่ชัดเจนเท่าการกระทำ 1 ครั้ง เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะพูดเท่าไร ในสายตาเรา เราคิดว่าไม่มีเครดิตในการทำเพื่อประเทศชาติ คิดว่าเขาพูดมาเพื่อลดกระแสมากกว่า”แกนนำชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยกล่าว

สมเกียรติ มองว่า การถอยครั้งนี้เป็นการถอยทางยุทธวิธีมากกว่า เพราะเป้ารัฐบาลไม่ได้อยู่ที่จุดนี้ แต่มองที่โครงการ 2.2 ล้านล้านบาท การถอยก็เพื่อเสียเบี้ยไปกินม้ากินขุนต่อไป

“แต่เราคงไม่เคลื่อนต่อเพราะกำลังของเราเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ มีพลังจำกัด และประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะคิดว่าเมื่อรัฐบาลถอยแล้วทำไมไม่หยุดอีก ฉะนั้น เราจึงต้องหยุดและประเมินสถานการณ์ ไม่ใช่ดึงดัน แล้วก็เฝ้าดูรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรต่อไป”สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยอารมณ์มวลชนในขณะนี้ อาจมีบางส่วนที่เห็นว่าควรใช้โอกาสนี้ยกระดับไปสู่การปฏิรูปประเทศอีกครั้ง ซึ่งหากสมาชิกในชมรมจะไปดำเนินการหรือร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ก็เป็นสิทธิ และสมเกียรติก็เห็นด้วยเช่นกันที่จะมีการปฏิรูปประเทศทุกองคาพยพ ทั้งเรื่องอำนาจและระบบโครงสร้างภาครัฐที่เป็นมะเร็งเกาะกินประเทศ

ขณะที่ทางออกการเมืองหากกระแสบานปลายกลายเป็นไล่รัฐบาลนั้น สมเกียรติมองว่าหากจะให้ยิ่งลักษณ์ลาออกก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะนักการเมืองก็ยังเป็นกลุ่มเดิม ส่วนการยุบสภาก็เป็นทางออกทางหนึ่ง แต่โจทย์สำคัญคือหลังจากยุบสภาแล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนตื่นรู้กันมากขึ้น แทนที่จะเป็นการใช้วิธีการตัดสินใจ|แบบเดิมๆ หากทำให้ประชาชนตื่นรู้ได้มากขึ้นก็อาจได้นักการเมืองที่ดีขึ้น แม้ไม่มากนักก็ยังดี เพราะทางออกมีทางออกเพียงแค่นี้เท่านั้น

“ถ้าจะให้ทหารออกมารัฐประหาร มันก็ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับกันได้ เพราะเราก็ไม่แน่ใจว่าทหารที่ออกมาทำเพื่อประเทศชาติจริงหรือไม่ บางทีคงต้องปล่อยให้เหตุการณ์มันเดินเท่าที่พอจะเดินไปได้ แล้วค่อยมาดูว่าจะช่วยกันได้อย่างไร”สมเกียรติ กล่าว

ในมุมกลับกัน หากรัฐบาลสามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ก็ต้องดูกันอีกว่าจะทำตัวอย่างไร จะยังใช้รูปแบบวิธีการดำเนินการตามที่เคยทำอีกหรือ หรือทบทวนตัวเอง เกรงใจประชาชนมากขึ้น หากเป็นเช่นนั้นกระบวนการเอาเงินประเทศไปผลาญก็จะช้าลงไป นี่คือสิ่งที่ชมรมหวัง เพราะทางออกมีน้อยมากสำหรับประเทศ

“ผมคิดว่าเขาเปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอก เมื่อเห็นมีภัยมาก็หมอบ แต่เมื่อไรก็ตามที่เห็นว่าเหนือกว่าแล้วก็จะแสดงอิทธิพลเหิมเกริมไม่เห็นหัวคนอื่น แต่ถ้าเขาไม่ย่ามใจ ถ้าคุณยิ่งลักษณ์กลับมาคิดทุกอย่างด้วยตัวเองแล้วทำเพื่อประเทศชาติ มันน่าจะดีขึ้น ถ้าเขาถอยทุกอย่างทำให้ พ.ร.บ.ตกไป เราก็ไม่มีอะไรคัดค้าน แต่พฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นต้องลดน้อยลงไป เราจะต้องติดตาม”

ประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยยังมองยาวไปถึงอนาคต เสนอทางออกประเทศเบื้องต้นว่าโครงสร้างทางอำนาจไม่ควรมีนักการเมืองที่เป็นนักโกงเมืองหรือนักธุรกิจการเมือง แต่ถ้าเผื่อมีก็ต้องมีขบวนการตรวจสอบและคานอำนาจที่เข้มแข็ง แต่ขณะนี้ก็เป็นที่รู้กันว่ากระบวนการยุติธรรมถูกกินไปแล้ว คือตำรวจบางคน ดีเอสไอบางคน หรือแม้แต่อัยการบางคน อยู่ในมือนักการเมืองหมด ฉะนั้น ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก่อน ปรับปรุงระบบพิจารณาให้ศาลต้องมีอำนาจในการนำสืบ และร่นระยะเวลาพิจารณาให้สั้นลง เพราะหากพิจารณาล่าช้าทำให้นักการเมืองทำอะไรก็ได้

“สิ่งที่อยากถือโอกาสเรียนกับสังคม อยากให้ทุกท่านทั้งในส่วนตัวหรือองค์กรแม้กระทั่งข้าราชการ ได้กลับมาพิจารณาปัญหาของชาติว่าที่ประเทศเราตกต่ำในขณะนี้เกิดจากอะไร อย่าไปฟังจากการโฆษณาชวนเชื่อ ให้พิจารณาจากทั้งสองฝ่าย และอย่าเป็นไทยเฉย ช่วยกันออกมาแสดงพลังว่าเราเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่เลือกนักการเมืองมาแล้วเอาอำนาจไปให้เขาปู้ยี่ปู้ยำ ต้องกล้าออกมาคัดค้าน ไม่อย่างนั้นนักการเมืองจะไปทำอะไร เราไม่สามารถค้านได้เลยหรือ”แกนนำม็อบสีลม กล่าวทิ้งท้าย

3หมื่นทะลุเป้า

จากเหตุผลในการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ข้างต้น หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายแล้ว สมเกียรติ เล่าว่า สมาชิกในชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยได้หารือในกลุ่มหลายรอบว่าถึงเวลาหรือจำเป็นแล้วหรือยังที่จะต้องออกมาแสดงจุดยืนคัดค้าน

“ทุกคนเห็นว่าจำเป็น ไม่อย่างนั้นเสียหาย เราในฐานะประชาชนเสียหาย ในฐานะนักธุรกิจเล็กๆ ก็เสียหายลูกหลานของเราก็เสียหาย ต้องแบกรับภาระในอนาคต ถ้าเราไม่กล้าที่จะมาส่งเสียงว่าทนไม่ได้แล้ว สังคมจะเป็นยังไง”สมเกียรติ ย้ำ

แม้ไม่มั่นใจว่ากระแสตอบรับจะมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ตัดสินใจจัดกิจกรรมวันที่ 4 พ.ย. บนถนนสีลม เหตุผลที่เลือกสีลมเป็นที่ชุมนุม เพราะสมาชิกชมรมส่วนหนึ่งทำงานอยู่ย่านนั้น ทั้งเป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้บริหาร ขณะเดียวกันชุมชนสีลมก็มีเครดิตพอที่คนอื่นรับฟัง การออกมาเคลื่อนไหวจึงต้องส่งเสียงให้สังคมเห็นว่าอย่างน้อยก็มีชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้
จากตอนแรกที่คาดว่าจะมีกลุ่มคนทำงานในย่านดังกล่าวเข้าร่วมประมาณ 4,000-6,000 คน กลับกลายเป็นว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 3 หมื่นคน เยอะจนเครื่องเสียงต่างๆ ที่เตรียมไว้ไม่พอ

สมเกียรติ เล่าว่า เมื่อจำนวนคนมากขนาดนี้ การจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 มีคนเสนอให้หยุดไว้ก่อน เหตุผลคือ ถ้าทำแล้วคนออกมาน้อยจะทำให้ความน่าเชื่อถือลดน้อยลง

“แต่เราก็ออกมาอีกครั้ง เพราะมองว่าจุดมุ่งหมายการรณรงค์ไม่ใช่เรื่องเครดิต แต่ขึ้นอยู่กับความกล้า ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เรานำเสนอ ครั้งที่ 2 ก็ประเมินว่าประมาณ 1 หมื่นคนก็พอใจแล้ว แต่ก็มาพอๆ กับครั้งแรก แล้วครั้งต่อไปก็ที่อโศกฯ คนก็เยอะมากเช่นกัน”สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลุ่มที่เคลื่อนไหวภายในนามชมรมฯ หยุดพักชั่วคราวเพื่อรอดูความชัดเจนของสถานการณ์การเมือง และจะนัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย. ที่ถนนสีลม โดยหากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตกไป ก็จะถือว่าเป็นการชุมนุมเพื่อประกาศชัยชนะ แต่หากรัฐบาลถอยไม่จริงก็ถือว่าเป็นการชุมนุมคัดค้านต่อและพิจารณาแนวทางยกระดับความเข้มข้นต่อไป

สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า กรณีการนัดชุมนุมที่ถนนสีลมวันที่ 11 พ.ย. เวลา 12.00 น. ในนามประชาคมสีลมและนัดหมายเดินขบวนไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถนนราชดำเนินนั้น ไม่ใช่การดำเนินการของชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย แต่อาจเป็นกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ต้นเสียง"นกหวีด"ที่สีลม

จากทหารอากาศสู่นักการเงิน

สำหรับ สมเกียรติ เป็นพี่ชายของ สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่มีผลงานด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดย สมเกียรติ เป็นลูกชายคนแรก ส่วน สมชาย เป็นน้องชายคนที่ 3

เส้นทางชีวิตของ สมเกียรติ ในวัยหนุ่มอายุ 20 ต้นๆ รับราชการในกองทัพอากาศในตำแหน่งช่างประจำเครื่องบินเคยไปรบในสงครามเวียดนาม กับภารกิจบินส่งกำลังบำรุงตามจุดที่สู้รบ ชั่วโมงบินประมาณ 1,200 ชั่วโมง

หลังจากทำงานในตำแหน่งดังกล่าวจนถึงอายุ 30 ปีสมเกียรติ เปลี่ยนมาเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่ศูนย์ฝึกการบินประมาณ 10 ปี ระหว่างทำงานนี้ก็เรียนภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์

จนกระทั่งเรียนจบอายุประมาณ 40 ปี อาจารย์ก็ชวนให้ลาออกมาทำงานภาคเอกชน เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้ สมเกียรติ ทำงานด้านการเงินในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่ง ทั้งที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มิตรไทยยูโรพาร์ทเนอร์ และธนาคารซีไอเอ็มบี เป็นทั้งพนักงาน ผู้จัดการ ไต่เต้าไปจนถึงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการบริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาสมุทร ตลอดจนเคยเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ 1 สมัย ในยุคที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย

สมเกียรติ เล่าว่า ตอนนี้อายุ 68 ปีแล้ว ไม่ได้ทำงานประจำที่ไหน แต่ยังเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นด้วยพอร์ตส่วนตัว นิสัยส่วนตัวไม่ชอบออกสังคมเท่าไหร่ ปกติอยู่บ้านว่างๆ ปลูกต้นไม้ และมีความสุขกับการเดินทางรับส่งหลานไปโรงเรียน

ส่วนชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยก็เป็นชมรมเล็กๆ ที่เริ่มรวมตัวช่วงที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยครั้งนั้นเป็นการร่วมรณรงค์ให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แล้วก็ดำเนินงานเรื่อยมา ส่วนใหญ่จะเป็นการนัดพูดคุยทานข้าวกันถกสถานการณ์การเมือง-ธุรกิจในหมู่สมาชิกซึ่งมีประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และนักบริหารย่านสีลม นานๆ ครั้งถึงจะมีกิจกรรมกับสังคมภายนอก

“ถ้าเทียบกับธุรกิจโดยรวม ชมรมเราก็เหมือนใบไม้ 1-2 ใบ ถ้าเทียบกับต้นไม้ทั้งต้น เราถึงได้เจียมเนื้อเจียมตัวในพลังของเรา เพียงแต่ว่าอย่างน้อยเมื่อเห็นว่าถึงจุดที่จะทำให้เกิดความเสียหาย เห็นว่าทนไม่ไหวแล้ว ก็ออกมาเคลื่อนไหว”

อย่างไรก็ตาม หลังจากออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้ สมเกียรติ เล่าว่ามีตำรวจไปหาที่บ้านถึง 3 ครั้ง โดยมากันนอกเครื่องแบบ ขับจักรยานยนตร์มาเคาะประตูบ้านในเวลากลางคืนตอน 3 ทุ่ม ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่สมควร

“ผมไม่อยู่บ้านทั้ง 3 ครั้ง คนที่มาเขาบอกว่าเป็นตำรวจ บอกว่ามาจาก สน. บอกว่าเจ้านายที่เป็นผู้กำกับให้มาถามว่ามีใครมาคุกคามข่มขู่ไหม แล้วก็อยากจะพบผมด้วย”

การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่รู้ใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู ก็ทำให้ครอบครัวเป็นห่วงสวัสดิภาพและความปลอดภัยไม่น้อย ทุกครั้งที่ออกจากบ้านภรรยาจะให้ลูกชายหรือหลานชายเดินทางไปเป็นเพื่อนด้วย

“เท่าที่คุยกันในกลุ่มยังไม่มีใครโดนข่มขู่นะ มีแต่ผมตำรวจมาหา อาจเป็นเพราะผมเสนอหน้าออกมามากไปหน่อย”สมเกียรติ กล่าวพลางหัวเราะ

สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยส่วนตัวคิดว่าคนไทย|คงไม่นิ่งดูดายประเทศชาติ เพียงแต่ว่าจะมีโอกาสออกมาแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจอย่างไร และเชื่อว่าทุกคนก็คงเห็นปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่ต่างคนต่างทำในมุมที่ตัวเองจะทำได้ เช่น สภาต่อต้านการทุจริตอย่างที่คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ทำอยู่ หรือแม้แต่คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ก็ทำในส่วนที่ทำได้ เช่น ไปยื่นหนังสือกับสถานทูตต่างๆ

“เราต้องกล้าออกมาคัดค้านแสดงพลังที่จะทำให้นักการเมืองเห็นว่าเขาสมควรประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติจริงๆ แทนที่จะเพื่อประโยชน์ของพรรคพวก และฝากถึงข้าราชการ ผมเคยเป็นข้าราชการคุณเป็นข้าราชการกินเงินภาษีอากรประชาชน คุณต้องกล้าไม่ว่าจะถูกกดดันจากนักการเมืองที่เข้ามาหาประโยชน์แต่ไหนก็ตาม ก็ต้องช่วยกันดูประเทศชาติของเรา”สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย