posttoday

เส้นทางร่างกม.นิรโทษกรรม

01 พฤศจิกายน 2556

ขั้นตอนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียงเห็นชอบในวาระ 3 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วจะเป็นหน้าที่ของ “วุฒิสภา”

รัฐธรรมนูญมาตรา 146 วุฒิสภาจะดำเนินการพิจารณาเป็น 3 วาระเช่นกันกับขั้นตอนในสภาฯแต่จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน

ในวาระที่1 หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบจะต้องส่งร่างพ.ร.บ.คืนให้สภาฯ จากนั้นจะต้องรอให้ครบ 180 วันก่อนสภาฯถึงจะสามารถหยิบมาพิจารณาได้

ถ้าสภาฯมีมติมากกว่ากึ่งหนึ่งของสส.ที่มีอยู่ หรือ 250 คนจากสส.500 คนเพื่อยืนยันในร่างพ.ร.บ.ที่สภาฯให้ความเห็นชอบไปแล้วจะเข้าสู่กระบวนการส่งร่างพ.ร.บ.ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีสส.หรือสว.เข้าชื่อ 1ใน10 ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่และศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณา รัฐธรรมนูญมาตรา 154กำหนดให้นายกฯต้องชะลอการนำร่างพ.ร.บ.ขึ้นทูลเกล้าฯจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ขณะเดียวกัน ในวาระที่ 1 ถ้าวุฒิสภามีมติให้รับพิจารณาจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะเพื่อดูในรายละเอียด หรือ ตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา หมายความว่าให้สว.ทุกคนเป็นกรรมาธิการและพิจารณาในรายละเอียดจากนั้นให้สว.ทีละมาตราในวาระที่ 2 และลงมติว่าจะเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ทั้งฉบับในวาระที่ 3 หรือที่เรียกว่า "การพิจารณา 3 วาระรวด"

ในกรณีที่ตั้งคณะกรรมาธิการหนึ่งคณะโดยไม่ใช้กระบวนการคณะกรรมาธิการเต็มสภา ทางคณะกรรมาธิการจะต้องพิจารณาในรายละเอียดและเชิญสว.ผู้เสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขถ้อยคำมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ จากนั้นคณะกรรมาธิการจะส่งรายงานการพิจารณาให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

หากเกิดกรณีที่วุฒิสภาลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ในลักษณะที่ไม่มีการแก้ไขถ้อยคำในร่างพ.ร.บ.ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน โดยไม่ตัดสิทธิ์ของสส.หรือสว.ในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

แต่ถ้าวุฒิสภาเห็นชอบในวาระที่ 3 แบบมีการแก้ไขถ้อยคำในร่างพ.ร.บ.จะเป็นหน้าที่ของสภาฯว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่วุฒิสภาแก้ไขหรือไม่ถ้าเห็นด้วยก็สามารถส่งให้นายกฯนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯได้ โดยไม่ตัดสิทธิ์การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าสภาฯไม่เห็นด้วยจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสภาฯและวุฒิสภา

หลังจากคณะกรรมาธิการร่วมฯพิจารณาเสร็จแล้วจะต้องส่งให้ที่ประชุมสภาฯและวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง หากทั้งสองสภาเห็นด้วยตามคณะกรรมาธิการร่วมฯ นายกฯสามารถนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วันได้ทันที โดยไม่ตัดสิทธิ์การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ทว่าหากเกิดกรณีที่มีสภาหนึ่งสภาใดไม่เห็นชอบตามคณะกรรมาธิการร่วมฯ ให้ถือว่าเป็นการยับยั้งร่างพ.ร.บ.ฉบับนั้น จะต้องส่งคืนให้สภาฯแต่สภาฯต้องรอให้ครบ 180 วันก่อนถึงจะนำร่างพ.ร.บ.มาพิจารณาได้ และถ้ามีมติมากกว่ากึ่งหนึ่งของสส.ที่มีอยู่ เพื่อยืนยันในร่างพ.ร.บ.ในฉบับที่คณะกรรมาธิการร่วมกันฯแก้ไขหรือฉบับที่สภาฯให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 อย่างหนึ่งใดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการส่งร่างพ.ร.บ.ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน โดยไม่ตัดสิทธิ์การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ทั้งนี้ สำหรับกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างพ.ร.บ.ใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นในมาตรา 154 ได้แนวทางคำวินิจฉัยของศาลเอาไว้ 3 แนวทางด้วยกัน

แนวทางที่ 1 ให้ร่างพ.ร.บ.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในแนวทางนี้หมายความว่า ศาลเห็นว่าถ้อยคำในร่างพ.ร.บ.และการตราร่างพ.ร.บ.ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จากนั้นนายกฯจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ต่อไป

แนวทางที่ 2 ให้ร่างพ.ร.บ.ตกไปทั้งฉบับ กล่าวคือ ถ้าศาลเห็นว่าร่างพ.ร.บ.มีข้อความขัดและตราขึ้นไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยข้อความนั้นเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. ต้องถือว่าร่างพ.ร.บ.นั้นทั้งฉบับเป็นอันตกไป

แนวทางที่ 3 ให้ร่างพ.ร.บ.ตกไปบางส่วน หมายความว่า ถ้าศาลเห็นว่ามีถ้อยคำบางประการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่ข้อความนั้นไม่ได้เป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. ศาลจะวินิจฉัยเป็นการเฉพาะว่าให้เฉพาะข้อความดังกล่าวที่ขัดกับรัฐธรรมนูญตกไป และให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพ.ร.บ.ขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป