posttoday

ผนึกกำลังดีเดย์พ.ย.

20 ตุลาคม 2556

จะเกิดปัญหาเป็นสุญญากาศทางการเมืองแน่นอน จากนี้ไปเราจะคุยกันถี่ขึ้นเพื่อจัดขบวนใหญ่ เพราะเราเชื่อว่าวันดีเดย์จะเกิดขึ้นแน่นอนกลางเดือนพ.ย.

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม/ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ประเทศยังวนอยู่ในความขัดแย้งของสองกลุ่ม ไม่มีทีท่าจะก้าวข้ามการเมืองสองสีไปได้ง่ายๆ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปกครองประเทศมา 2 ปีกว่า ฝ่ายต้านทักษิณยังคงชุมนุมขับไล่ แปลงร่างเปลี่ยนรูปองค์กรใหม่ ตั้งแต่ม็อบ เสธ.อ้าย ม็อบกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือม็อบสวนลุมฯ ม็อบบลูสกายของประชาธิปัตย์ จนมาวันนี้เปลี่ยนหน้ามาเป็นม็อบอุรุพงษ์ หรือม็อบอาชีวะ แต่ทั้งหลายล้วนหน้าเดิม แค่เปลี่ยนการนำใหม่

หลายคำถาม...จะเอาชนะทักษิณได้หรือ??? ขณะที่คนจัดม็อบก็ประเมินลึกๆ ว่า ยากเพราะฝ่ายทักษิณเองก็เข้มแข็ง ถือกลไกรัฐ ขยายอำนาจได้มาก สถานการณ์ก็ไม่สุกงอม เป็นม็อบฟืนเปียก ท่ามกลางกระแสคนเบื่อม็อบตลอดสงครามกีฬาสี 8 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญม็อบอยู่ในเกมที่แพ้!!

“ถ้าวัดกันปอนด์ต่อปอนด์ตามภาษามวย เราเป็นรองเขามาก แต่เราอยู่ด้วยใจ ผมเห็นใจคนที่สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้แต่ก็ยังสู้ ผมคารวะเขามากถึงความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เหมือนม็อบสวนลุมฯ ม็อบอุรุพงษ์ ผมจึงเสนอให้ม็อบสวนลุมฯ พักก่อน เพราะการจะสู้กับระบอบทักษิณซึ่งเป็นกองทัพที่ใหญ่โต มันต้องอาศัยทั้งสถานการณ์ ทั้งการขบคิด และช่วยกันทำงานมากกว่านี้”

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานม็อบต้านทักษิณตั้งแต่สมัยเป็นพันธมิตรฯ ปี 2549 ยังทำหน้าที่ประสานกลุ่มต้านทักษิณที่แตกกระจัดกระจายหลายกลุ่มขณะนี้ สรุปภาพกระชับ

บทบาทของสุริยะใสปัจจุบัน เป็นฝ่ายนำในม็อบชุมนุมอยู่ที่ถนนอุรุพงษ์ แปลงร่างออกจากม็อบสวนลุมฯ มี “นิติธร ล้ำเหลือ” ทนายกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นแกนนำร่วมกับนักศึกษารามคำแหงบางส่วน และกลุ่มอาชีวะ

ระเบิดเวลา 4 ลูก

สุริยะใส เล่าว่า ม็อบอุรุพงษ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการหลอมรวมใหม่จากปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของม็อบสวนลุมฯ โดยหลังจากได้คุยกับแกนนำม็อบสวนลุมฯ ได้ข้อสรุปว่า จะให้ม็อบที่อุรุพงษ์เป็นแถวหน้า สวนลุมฯ มีหน้าที่หนุนเสบียงมายังอุรุพงษ์ และรอสถานการณ์พร้อมจะขับเคลื่อนมวลชนครั้งใหญ่ในเดือน พ.ย. ซึ่งคาดว่าระเบิดเวลาการเมืองจากคดีต่างๆ จะปะทุพร้อมกันในช่วงนั้น

“ผมแลกเปลี่ยนกับแกนนำม็อบสวนลุมฯ ผมเสนอว่าต้องพักไปก่อน แต่ทางสวนลุมฯ บอกว่า ต้องการมีไว้เพื่อเป็นโรงเรียนการเมือง ถ้าเป็นแบบนั้นผมก็รับได้ แต่ถ้าต้องการเป็นขบวนการมวลชนเพื่อเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่ฉ้อฉล ต้องไม่ใช่ม็อบแบบนี้แน่ ม็อบอุรุพงษ์เองก็ต้องเอาบทเรียนมาถอดว่าจะอยู่ยาวแค่ไหนอย่างไร แต่คิดว่าถ้าถึงจุดหนึ่งสถานการณ์มันไม่สุกงอมพอ ก็ต้องหยุดชุมนุมชั่วคราว แต่ภาพใหญ่ต้องรอปัจจัยที่กล่าวมาเพื่อเรียกคนออกมา ซึ่งน่าจะลงที่ พ.ย.ทั้งหมด”

“ถ้าวันนี้ผมกดปุ่มสั่งได้ ผมก็อยากให้ม็อบหยุดพักเพื่อมาคุยกันก่อน รับสถานการณ์ใหญ่ ซึ่งไทมิ่งจะอยู่ที่เดือน พ.ย. โดยเราต้องทำให้การนำเกิดความเชื่อถือด้วย และทำให้คนที่จะออกมาเกิดความมั่นใจว่า นี่แหละคือสิ่งที่เขารอ นี่คือโจทย์ที่ท้าทายของฝั่งต้านทักษิณ”

ปัจจัยร้อนทางการเมืองที่จะระเบิดในเดือน พ.ย. สุริยะใสให้ภาพมี 4 เรื่อง 1.คำตัดสินของศาลโลกคดีพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ที่นัดมีคำพิพากษาวันที่ 11 พ.ย. ถือเป็นจุดเปลี่ยนหลายๆ เรื่อง 2.คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา สว. 3.การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. อาจชี้ขาดกรณีทุจริตจำนำข้าว และเงินกู้โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ 4.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในสภาที่จะมีความคืบหน้าในช่วงนั้น

“ตัวแปรเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เครือข่ายต้านทักษิณรวมตัวกันครั้งใหญ่ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 11 พ.ย. ศาลโลกจะตัดสินคดีพระวิหาร มันจะเร่งสถานการณ์มาอีก ก็ต้องดูว่าจะออกรูปไหน ถ้าสุดท้ายฝ่ายไทยเสียเปรียบ คนก็อาจไม่พอใจ ก็จะเป็นเงื่อนไขออกมาต่อสู้ เพราะเราเห็นว่า เราไม่ควรรับอำนาจศาลโลก อย่างคุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ก็ล่าชื่อได้แล้วล้านคน ตรงนี้จะกดดันได้ เพราะรัฐบาลทำผิดตั้งแต่ต้น ไปยอมรับอำนาจศาลโลกไปแล้ว ถ้าศาลโลกชี้มาเราเสียประโยชน์ รัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ถึงตอนนั้นความไม่พอใจเกิดขึ้นแน่ แต่ว่ามันจะขนาดไหนก็ไม่ทราบ

“ส่วนคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเคยบอกไว้แล้วว่าจะพิจารณาไม่เกิน พ.ย. และเมื่อพรรคเพื่อไทยไม่ส่งหนังสือชี้แจงอีก การตัดสินก็จะเร็วขึ้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำร้องขัดกับรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็อาจเสนอร่างแก้ไขใหม่ แต่ถ้าคำวินิจฉัยไปถึงอีกคำขอหนึ่ง คือ ให้ยุบพรรคเพื่อไทยด้วย และตัดสิทธิ 312 สส. สว.ที่โหวตสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดปัญหา เป็นสุญญากาศทางการเมืองแน่นอน ตรงนี้ต้องวัดใจศาลรัฐธรรมนูญว่าจะไปถึงสองคำขอนี้หรือไม่ สรุปคือจากนี้ไปเราจะคุยกันถี่ขึ้นเพื่อจัดขบวนใหญ่ เพราะเราเชื่อว่าวันดีเดย์จะเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงกลางเดือน พ.ย.”

นั่นเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า กระนั้น สุริยะใส ยอมรับว่า ถ้าเกิดความวุ่นวาย หรือเดดล็อกการเมืองสืบเนื่องจากผลการพิจารณาคดีสำคัญเหล่านี้ รัฐบาลยังมีไพ่ตายคือการยุบสภาล้างทุกอย่าง ให้ไปตัดสินกันที่การเลือกตั้ง ถึงตอนนั้นฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณคงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากรณรงค์โหวตโน

“ต้องดูว่า ณ วันนั้น ขบวนการที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล อยู่ในสภาพแบบไหน แต่ถ้ายังกระจัดกระจายแบบนี้ ผมว่ามันเอาไม่อยู่หรอก สุดท้ายคนก็กลับไปเลือกตั้ง ม็อบก็ไปยาก แต่ถ้าวันนั้นม็อบมาเป็นเรือนแสน แล้วเห็นว่ามันต้องจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ อันนั้นก็อาจกลับไปเป็นเหมือนปี 2549 ได้ ช่วงที่พันธมิตรฯ ต่อต้านการเลือกตั้งแล้วฝ่ายค้านก็ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ยังวิเคราะห์ไม่ออก”

ผนึกกำลังดีเดย์พ.ย.

บทเรียนเสื้อเหลือง

ทั้งหมดจะเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่นับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือน หลังฝ่ายม็อบเฝ้ารอความหวังด้านคดีจากตุลาการภิวัฒน์อีกรอบ แต่ถ้าจะสู้ในเกมยาว สุริยะใสวิเคราะห์ตรงๆ ไม่เข้าข้างฝ่ายม็อบ เขาเห็นว่า ทุกวันนี้ฝ่ายต้านทักษิณอยู่ในสถานะเสียเปรียบมาก ด้วยเงื่อนไขหลายเรื่อง

“ถ้าไม่มีเงื่อนไขจากศาลโลก ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้ผมยังไม่เห็นพลัง หรือความเป็นไปได้เท่าไรที่จะจัดขบวนเหมือนการเคลื่อนไหวใหญ่ เหมือนขบวนการเสื้อเหลืองปี 2549 หรือปี 2551 พวกเราก็พูดคุยกัน พยายามจัดกำลังกันใหม่ แต่ผมก็เห็นว่า มันเป็นไปได้ยาก ต่อให้มีคนต้านทักษิณครึ่งประเทศก็ตาม ถ้ามันไม่มีเงื่อนไขหรือความชอบธรรมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ มันก็ยาก ขนาดคนรู้สึกเบื่อหน่ายรัฐบาล ปัญหาของแพง การบริหารงานล้มเหลว แต่คนก็รู้สึกว่าไล่รัฐบาลแล้วมันจะได้อะไร แค่เปลี่ยนขั้วหรือเปลี่ยนพรรคเท่านั้นหรือ”

คำถามดังๆ ในฝ่ายต้านทักษิณ สุริยะใส แยกแยะเป็นข้อๆ 1.มันอาจมีลักษณะของการอิ่มตัวของม็อบ สู้แบบไหนถึงจะเปลี่ยนประเทศได้จริงๆ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนขั้วแล้วได้นักการเมืองหน้าเดิมๆ กลับมาถืออำนาจแล้วก็แค่แบ่งเค้กกัน 2.ถ้าสู้อีกครั้งมันควรนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย จัดระเบียบจริงๆ แต่คำถามคือจะสู้แบบไหน เพราะที่สุดต้องจัดการกับระบอบทักษิณก่อน 3.การชุมนุมยืดเยื้อใช้ต้นทุนสูงมาก ไม่เอาแล้ว 193 วันเหมือนสมัยพันธมิตรฯ ไล่รัฐบาลสมัคร-สมชาย คนอยากให้มาอีกครั้งแล้วขอให้จบเลย เพราะมันเหนื่อยล้า

4.ปัญหาการนำของม็อบ ต้องยอมรับไม่มีใครมาทดแทน 5 แกนนำพันธมิตรฯ ที่เขายุติบทบาทไปแล้วได้ โครงสร้างแกนนำพันธมิตรฯ 5 คนขณะนั้นลงตัวที่สุด นอกจากหาแกนนำไม่ได้แล้ว ที่มานำกันอยู่นี้ ก็มีคำถามเรื่องความน่าเชื่อถืออีก และถ้ายิ่งชกยิ่งแป้ก กองเชียร์ก็ไม่เชื่อมั่นแล้ว มันก็มีผลหนักไปอีก

“เราคุยกันวงในว่า หลังจากพันธมิตรฯ ยุติบทบาท จะมีการจัดขบวนกันใหม่อย่างไร เราเห็นคล้ายๆ กันว่า การต่อสู้กับระบอบทักษิณ อาจไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างการนำแบบเดิม หรือ 5 แกนนำในอดีต แต่ต้องรวมกลุ่มแกนนำให้กว้างกว่านั้น เช่น 15-20 คน ก็พยายามออกแบบตรงนี้อยู่ แต่จะให้มีคนไปเป่านกหวีดแล้วเรียกคนมาชุมนุมแบบเดิมของพันธมิตรฯ มันไม่ง่ายเหมือนเดิม”

สุริยะใส บอกว่า มีบางคนเสนอว่า ไม่ต้องขับไล่ระบอบทักษิณ ให้เปลี่ยนมาล้อมระบอบทักษิณแทน สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ สปท. ที่ทำอยู่ ก็คิดสูตรนี้ เรามีคำถามว่า ถ้าเป่านกหวีดแล้วมวลชนมาเรือนแสนเพื่อเตรียมไล่ระบอบทักษิณ แล้วจะอย่างไรกันต่อ ทำไมเราไม่สร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ล้อมทักษิณจากในป่า ต่างจังหวัด สู่เมืองเข้ามา เช่น ระบอบทักษิณ เป็นสัญลักษณ์ของการผูกขาดก็ต้องสู้เรื่องกระจายอำนาจ ให้จังหวัดจัดการตัวเองแทน หรือทำไมเราไม่เน้นเรื่องการสร้างพลังงานทางเลือก เพื่อแก้ปัญหาพลังงานผูกขาดของระบอบทักษิณ

อีกปัญหาสำคัญขณะนี้ ความไม่เป็นเอกภาพของแกนนำกลุ่มต้านทักษิณโดยเฉพาะวิธีคิด

“บางส่วนคิดไปไกลว่า 1.มันต้องปฏิรูปประเทศไทยขนานใหญ่ ถ้าม็อบออกมา แล้วสุดท้ายกลับไปเลือกตั้ง พรรคไหนก็เหมือนเดิมอีก อย่างนี้ไม่เอา 2.บางกลุ่มขอให้แค่ไล่รัฐบาลแล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ 3.คิดว่าการสู้กับระบอบทักษิณมันไปได้ยากแล้ว ให้รอพึ่งกลไกศาล และองค์กรอิสระแทน 4.มีการสรุปบทเรียนว่า ถ้าจะล้มระบอบทักษิณ ต้องไม่ใช่วิธีชุมนุมเหมือนช่วง 8 ปีที่ผ่านมาแล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่

5.มีการวิเคราะห์ว่า ไม่ต้องชุมนุมหรอก ปล่อยให้รัฐบาลนี้พังไปเอง เพราะมันไปยากอยู่แล้วจากปัญหาถังแตก ของแพง วิกฤตไฟใต้ เศรษฐกิจโลกก็ไม่กระเตื้อง ประชานิยมกำลังพ่นพิษ บางคนบอกว่า ถ้าไม่รัฐประหาร 2549 ระบอบทักษิณจบไปนานแล้ว เพราะประชานิยมมันเกิดหนี้เสีย แต่พอรัฐประหารปุ๊บมันทำให้เห็นว่า โจทย์มันถูกเปลี่ยน แทนที่จะทำให้ประชาชนเห็นความล้มเหลวประชานิยม แต่กลายมาเป็นคนมาเห็นอำนาจนอกระบบไป ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เลยหากินกับประชานิยมได้ต่อ 6.อย่าเพิ่งชุมนุม เพราะเวลาเหลืองยุติ เสื้อแดงจะแตกกันเอง เสื้อแดงตั้งขึ้นมาเพื่อต้านเสื้อเหลือง เขาไม่ได้ต้านรัฐประหาร พอฝ่ายตรงข้ามสลาย เขาก็ชกลม ไปไม่เป็นเหมือนกัน”

ระบอบทักษิณแข็งแกร่งมาก

สู้กับระบอบทักษิณยาก แล้วตัวระบอบทักษิณเข้มแข็งกว่าเดิมไหม? “คำถามนี้ดี ผมว่าเขาก็ถอดบทเรียน เช่น คุณยิ่งลักษณ์อยู่ได้ด้วยวิธีพิเศษที่ใช้รัฐตำรวจในเชิงรุกมากกว่า ในสมัยยุคทักษิณคือเอาตำรวจไปจัดการมวลชนที่ต่อต้านทั้งใต้ดิน บนดิน แต่ก่อนเรามีงบทหาร แต่ตอนนี้มีงบลับตำรวจ 300 ล้านบาท เมื่อต้นปี”

“สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ยังไม่ทำขนาดนี้ ม็อบแดงเคลื่อนไหวใหญ่ ปักหลักใจกลางเมือง ประชาธิปัตย์ก็เพิ่งประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่นี่ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง ก่อนม็อบมา มันเห็นชัดว่า เขาค่อนข้างจะถอดบทเรียนและจัดขบวนกันใหม่ รีบตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ได้ปล่อยเหมือนตอนพันธมิตรฯ มายึดทำเนียบ ตอนนั้นเขาพลาดเพราะเขาประเมินพันธมิตรฯ ต่ำด้วย และสุดท้ายเขาก็เอาไม่อยู่ ตอนนี้เขามีกลไกรัฐ มีอำนาจในมือ มีมวลชนเป็นกองทัพ มีสื่อ มีเงินงบประมาณ เขามีแต้มต่อมากกว่าปี 2549 มหาศาล และมากกว่ายุค 2551 ในยุคสมัครหรือสมชาย”

“ของเขามีเครื่องมือเพิ่มขึ้น อาวุธของเขาที่สึกหรอก็ซ่อมแซมใหม่ เช่น สมัย 2549 ตอนนั้นตำรวจร้าวลึกมาก ราชการแตก ซี 9-10-11 เริ่มปล่อยข้อมูลออกมา แต่หลังๆ มานี้มีน้อย ทหารตอนนั้นก็ส่งสัญญาณไม่พอใจรัฐบาล มีกระแสแบบนี้ตลอด แต่ตอนนี้ทหารก็อยู่ในที่ตั้ง ส่วนตุลาการภิวัฒน์ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รู้ว่าเขายังเป็นเอกภาพหรือไม่ แล้ววันนี้มันก็ไม่ง่ายเหมือนเดิมที่จะพึ่งศาล ส่วนม็อบต้านทักษิณ ยังใช้เครื่องมือชุดเดิม เอาเข้าจริง เราเหลือแค่งานมวลชนเท่านั้น”

ม็อบต้านอยู่ในเกมที่แพ้หรือไม่? สุริยะใสนิ่งคิด ... “ผมว่าไม่อ่ะ มันเป็นสงครามวาทกรรม ข้อเท็จจริงในสมัยนี้ งานสมัชชาประชาชนที่เราจัดที่ผ่านมา มีเสื้อแดงมาฟังหลายสิบคนและสนใจเรื่องการปฏิรูปที่ดิน การกระจายอำนาจ ฉะนั้นเวลาพูดว่ามันเป็นการต่อสู้ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ มันเป็นการบิดเบือน

“มันไม่ใช่เหลืองตกอยู่ในเกมของผู้แพ้ และแดงอยู่ในเกมของผู้ชนะ แต่สังคมตกอยู่ในวาทกรรมทางการเมืองที่บิดเบือน เราต้องยอมรับว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอำมาตย์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ประกาศเป็นไพร่ก็เป็นอำมาตย์ วาทกรรมไพร่-อำมาตย์ มันก็เป็นแผนของอำมาตย์ใหม่ฝ่ายเพื่อไทย ที่หลอกลวงใช้มวลชนเป็นเครื่องมือ วันนี้คนตาสว่างมากขึ้น รัฐบาลของไพร่แล้วเป็นไง หายจน อยากเป็นอำมาตย์กันหมด”

ผนึกกำลังดีเดย์พ.ย.

 

ปชป.หลงอำนาจ เสื้อแดงล้าหลัง

ความขัดแย้งการเมืองสี ผ่านมา 8 ปี ทำให้ผู้นำภาคส่วนต่างๆ เรียกร้องให้ก้าวข้ามสีเสื้อเหลือง-แดงให้ได้ ประเทศจะได้หลุดจากหลุมดำความขัดแย้ง สุริยะใส กตะศิลา แกนนำฝ่ายเหลือง มองว่า ถ้าผู้มีอำนาจยังต้องการแก้แค้น คอยเอาคืนฝ่ายตรงข้าม เรื่องสีสลายยากแน่นอน

“ผมคิดว่าเรื่องนี้จริงๆ มันผูกกับคุณทักษิณเยอะ ถ้าคุณทักษิณโลว์โปรไฟล์ หรือไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้น มันก็พอไปได้ มวลชนกองเชียร์ไม่มีมวยต่อย ก็ไม่รู้เชียร์ใคร แต่ถ้ามีมวยขึ้นต่อย ก็ต้องทำหน้าที่เชียร์ เช่น พันธมิตรฯ ไม่มีแกนนำ มันก็เบาบางด้วยตัวของมันเอง หาก นปช.สลาย ก็ไม่รู้จะเชียร์ใคร ก็ต้องคิดเรื่องตัวเองมากขึ้นว่าจะอยู่บนโลกนี้ให้มีความสุขในสังคมได้อย่างไร แต่ถ้ายังรุกเร้าแล้วบี้รัฐบาลกดปุ่มบงการอยู่แบบนี้ มันทำให้เรื่องสีคาอยู่ และยิ่งวางไทม์ไลน์ว่าจะกลับให้ได้ มันก็ไปปลุกฝ่ายตรงข้าม ผมคิดว่าเรื่องทักษิณยังเป็นตัวแปรของทั้งหมด”

สุริยะใส ระบุว่า ความจริงมีนัยที่ซ่อนอยู่ทั้งสองสี เพราะต่างฝ่ายต่างพูดถึงความไม่เป็นธรรมที่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับการปฏิบัติจากผู้มีอำนาจ แต่ที่น่าแปลก คือ เมื่อตัวเองเข้าไปมีอำนาจกลับไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง เช่น ปฏิรูปที่ดิน

“คนมองผมเป็นสีเหลืองต้านทักษิณ ผมจึงต้องใช้เวลาในการทำงานเพื่อพิสูจน์ว่า สุดท้ายเรามองอะไรมากกว่าเรื่องทักษิณ เช่น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ซึ่งงานที่ผมทำในสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย กำลังผลักดันเรื่องนี้ ต่างจากของแกนนำเสื้อแดง ที่ประกาศเป็นไพร่เอาวาทกรรมนี้ไปประดับประดาตัวเองให้ดูเป็นนักสู้เพื่อประชาชน พอมีอำนาจไม่เห็นมีใครเคลื่อนไหว เสนอกฎหมายปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ กระจายอำนาจให้ประชาชน อย่างนี้ก็เท่ากับหลอกคนเสื้อแดง สุดท้ายแกนนำ นปช.ก็หลงอำนาจ หลงทาง ทักษิณเองก็ไม่ใช่นักประชาธิปไตย เป็นนักธุรกิจที่เสียประโยชน์ และไปจ้างวานคนมาเคลื่อนไหว ถือธงประชาธิปไตยเท่านั้น”

“จาตุรนต์ ฉายแสง ครั้งหนึ่งเคยวิพากษ์ นปช.ว่า ต้องเอาประชาธิปไตยนำ ไม่เอาทักษิณนำ สุดท้ายจาตุรนต์ก็เอาทักษิณนำ เพราะถ้าไม่ถือธงทักษิณ จาตุรนต์ก็ไม่มีทางเป็นรัฐมนตรี ผมถึงไม่เชื่อน้ำยาพวกนี้ คนที่เจ็บที่สุด คือ ชาวบ้านเสื้อแดงที่ถูกหลอก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีสัญญากัน พากันไปสู้ พากันไปตาย ผลสุดท้ายเป็นยังไง ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ต้องถาม นปช. ว่าอยู่เพื่ออะไร เพราะเสื้อเหลืองไม่มีแล้ว สุดท้ายวันนี้ได้พิสูจน์ตัวเองว่าพลังคนเสื้อแดงไม่ใช่พลังประชาธิปไตย ไม่ใช่พลังฝ่ายก้าวหน้าที่พยายามจะนิยาม หรือพยายามวาดภาพกันไม่จริง”

ฝ่ายแกนนำ นปช. ให้เหตุผลว่า เหตุที่ยังไม่ทำเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ภาษีมรดก เพราะต้องทำเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้า เช่น แก้รัฐธรรมนูญ สร้างความเป็นธรรมทางประชาธิปไตยก่อน มิเช่นนั้นฝ่ายอำมาตย์จะมาขจัดรัฐบาลที่มาจากประชาชน?

ต่อคำถามนี้ สุริยะใส บอกว่า นี่เป็นการบิดเบือนหลอกลวง ความจริงเขาทำพร้อมกันก็ได้ 2 ปีกว่า ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นปช.ไม่เคยเสนอกฎหมายปฏิรูปที่ดิน แต่การที่ทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก่อน ก็เป็นผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ร่าง 4 ประเด็น มีเรื่องไหนเกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้าน หรือประชาธิปไตยคนข้างล่าง ทั้งหมดเป็นเรื่องการเมืองของนักการเมืองทั้งนั้น เช่น ที่มาของ สว. แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ตัดสิทธิประชาชนหนักเข้าไปอีก แทนที่ให้ประชาชน มีส่วนร่วมก่อนทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ที่สุดมันสวนทาง และก็ไม่เห็น นปช.ออกมาทักท้วง

“สิ่งที่เสื้อหลืองเห็นแต่เสื้อแดงมองข้าม คือ เรื่องทุนนิยมผูกขาดสามานย์ เป็นประเด็นที่เสื้อเหลืองพยายามอธิบายว่า ทักษิณเอาเข้าจริง คือ เซลส์แมน สัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยมสามานย์ ที่มันเป็นโจทย์ใหม่ใหญ่กว่าเดิม แต่คนเสื้อแดงไม่เห็นประเด็นนี้ คนเสื้อแดงยังพูดประชาธิปไตยในมิติที่แคบลงไปเรื่อยๆ คือ การเลือกตั้ง นี่เป็นกับดักการต่อสู้ของคนเสื้อแดง นี่คือการถอยหลัง แต่คนเสื้อเหลืองไปไกลกว่าการเลือกตั้ง พูดถึงตัวอำนาจที่เป็นจริง สุดท้ายการเลือกตั้งคือเครื่องมือของการสถาปนาอำนาจขึ้นมา ควบคุมจัดการทรัพยากรและงบประมาณ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดความชอบเท่านั้น

“คนเสื้อเหลืองเห็นประเด็นนี้ และรู้ว่าเรากำลังโดนภัยคุกคามที่ใหญ่กว่าเดิม คือ ทุนนิยมผูกขาดสามานย์ที่ไม่ใช่ทักษิณ แต่ใหญ่กว่าทักษิณ เช่น โจทย์เรื่องพลังงานคนเสื้อเหลืองรู้มาก แต่คนเสื้อแดงที่ประกาศเป็นฝ่ายก้าวหน้ากลับไม่พูดเรื่องนี้ คนเดือนตุลาฝ่ายซ้ายที่อยู่ในเสื้อแดงไม่พูดประเด็นนี้ เพราะกลัวกระทบทักษิณใช่หรือไม่ กลัวไปทอนตัวเองเลยแกล้งปิดตาข้างเดียว

“รู้สึกว่าเสื้อเหลืองก้าวหน้ากว่าเพราะเห็นประเด็นนี้ เสื้อแดงไม่เห็นกลับมองข้ามไป และตกหลุมพรางอีก ไปขุดกับดักตัวเองว่าประชาธิปไตยต้องเลือกตั้ง ผมไม่ได้ปฏิเสธ มันคือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ต้องดูอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ใช้ไปเพื่อใคร ซึ่งเสื้อแดงไม่พูดประเด็นนี้ เพราะถ้าพูดไปแล้วตัวเองค้นพบว่าเหมือนถูกหลอกใช้ ผมเชื่อว่าหลายคนอยู่ในภาวะนี้แต่ไม่พูด เลยยอมถูกหลอกใช้ และอคติกับเสื้อเหลือง คือ เสื้อแดงยังไงก็รักไว้ก่อน เพราะเกลียดเสื้อเหลือง ตรงนี้อันตราย”

ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ หายไปจากโลกนี้แล้วจะดีขึ้นไหม? สุริยะใส ตอบว่า เรื่องสีอาจคลี่คลายในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งจะหายไปหมด เพราะความขัดแย้งที่ซ่อนระหว่างสี มันมีมากกว่านั้น เช่น อำมาตย์ ไพร่ สถาบัน

“วันนี้ถ้าคุณอาศัยตำราเล่มเดียวแล้ววิเคราะห์ชะตากรรมสังคมไทย ผมว่าอ่านยาก ต้องดูหลายมุม การต่อสู้ขณะนี้เหมือนเป็นช่วงเข้าสู่สภาวะเปลี่ยนผ่านยืดเยื้อยาวนาน และมีราคาต้องจ่ายที่คำนวณไม่ได้อีกเยอะ ในทรรศนะผม ที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงที่สุด หรืออาจเรียกว่าหลุมดำก็ได้ แต่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ นั่นคือโจทย์ใหญ่กว่าเรื่องทักษิณไม่ทักษิณ โจทย์ใหญ่กว่าเรื่องรัฐบาลไปไม่ไป เพราะหมายถึงตัวสังคมโดยรวม ความเป็นชาติไทย

“แกนนำ พธม.หลายคนอ่านสถานการณ์ใหญ่ในวันข้างหน้า เรารู้สึกว่ามีตัวแปรที่เราคาดไม่ได้อีกเยอะ บางคนบอกสู้อีกครั้งสถานการณ์ใหญ่กว่าการไล่รัฐบาล แต่ยังมองภาพไม่ออกชัด เพียงแต่รู้สึกว่ามันใกล้เข้ามา ภาวะแบบนี้หลายคนก็เป็นห่วงกัน สังคมไทยมีองคาพยพอำนาจที่หลากหลาย และมันไม่มีควบคุมได้คนเดียว อำมาตย์ก็ควบคุมฝ่ายเดียวไม่ได้ ทักษิณก็ไม่ได้ทั้งหมด และเราไม่รู้ว่าองค์อำนาจมีชุดวิเคราะห์ยังไง และจะกำหนดบทบาทจุดยืนต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร ผมพูดได้แค่ฝ่ายผม หรือมุมเดียวของผม แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายอื่น แนวร่วมที่สู้กันมาคิดกันอย่างไร”