posttoday

สวนโมกข์ จะไปทางไหน?

30 สิงหาคม 2556

เกิดคำถามขึ้นเมื่อเสียง 2 ฝ่ายที่เห็นต่างในการบูรณะสวนโมกขพลาราม ฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายบูรณะ จะทำให้สวนโมกข์ของพุทธทาสเดินไปในทางใด

เกิดคำถามขึ้นเมื่อเสียง 2 ฝ่ายที่เห็นต่างในการบูรณะสวนโมกขพลาราม ฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายบูรณะ จะทำให้สวนโมกข์ของพุทธทาสเดินไปในทางใด

จริงๆ แล้วไม่ควรมีคำถามเช่นนี้เกิดขึ้นเลย เพราะชาวพุทธศาสนิกชนต่างทราบดีว่า "สวนโมกขพลาราม" หรือ วัดธารน้ำไหล อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี แหล่งธรรมะแห่งเมืองคนดี คือ สัญลักษณ์แห่งความหลุดพ้นตามแบบฉบับของท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ก่อตั้งมาร่วม 81 ปี ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมุ่งหน้ามาฝึกปฏิบัติเรียนรู้ปีละนับพันคน

หลังการละสังขารของท่านพุทธทาสภิกขุได้ 20 ปีในปีนี้ และได้มีการแต่งตั้งพระอธิการสุชาติ ปัญญาทีโป เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 สืบต่อจากพระภาวนาโพธิคุณ (อาจารย์โพธิ์ จันทสโร) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 เกือบจะครบรอบ 1 ปีของการดูแลสวนโมกข์แห่งนี้ ได้มีเสียงวิงวอนจากพระสงฆ์ลูกศิษย์ท่านพุทธทาส พูดออกอากาศผ่านสถานีวิทยุในท้องถิ่นเป็นระยะ ขออย่าให้มีการตัดต้นไม้ในสวนโมกข์ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ปลูกไว้

จู่ๆ วันที่ 25 ส.ค.2556 เฟซบุ๊กกลุ่มเพื่อนสวนโมกข์ ได้แพร่ภาพสิ่งก่อสร้างบนเขาพุทธทอง บริเวณที่เป็นอุโบสถธรรมชาติของสวนโมกข์ ที่ดูเหมือนจะเป็นเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นปูนคอนกรีตต่างๆ และภาพการรวมกลุ่มของประชาชนในการคัดค้านสิ่งก่อสร้างดังกล่าว ท่ามกลางความฉงนใจของผู้คนในโลกสังคมออนไลน์ที่ส่งต่อกันไปอย่างรวดเร็ว

สวนโมกข์ จะไปทางไหน?

เกิดอะไรขึ้นที่สวนโมกข์?

เพราะมุมสงบเฉกเช่นสวนโมกข์ไม่เคยเกิดภาพดังกล่าวมาก่อน ซึ่งหลายฝ่ายรู้สึกห่วงใยและกังวลต่อสภาพการณ์ เป็นห่วงกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดซึ่งกำลังกระทบต่อจิตวิญญาณความเป็นสวนโมกข์

พระอาจารย์ทองสุข ธมมวโร ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสและผู้ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าอาวาสในการควบคุมบูรณะและภูมิทัศน์อุโบสถ ที่ได้รับมอบจากพระอธิการสุชาติ ปัญญาทีโป เจ้าอาวาสที่เดินทางไปปฏิบัติธรรมที่ค่ายลูกเสือ บนเขาพุทธทอง ชี้แจงว่า ได้มีโครงการ "ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเขาพุทธทอง" ขึ้น โดยการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวท่านพุทธทาสได้เคยดำริไว้เมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว อยากให้อุโบสถธรรมชาติปรับปรุงให้ประกอบพิธีในวันสำคัญทางศาสนาได้ และมีทางเดินที่สะดวก เนื่องจากบริเวณทางเดินเป็นช่วงที่มีน้ำจากบนภูเขาไหลกัดเซาะดินจึงได้เทปูนและปรับให้อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้เอาต้นไม้ใหญ่ออก

นายอิทธฤทธิ์ วิทยา สถาปนิกที่ควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งเป็นศิษย์ท่านพุทธทาส กล่าวว่า ได้ยึดตามแนวทางท่านพุทธทาสตามสภาพธรรมชาติไว้ทุกอย่าง โดยคนก่อสร้างเป็นคนในวัดทั้งสิ้นไม่มีผู้รับเหมา ซึ่งได้มีการหารือในกลุ่มลูกศิษย์ท่านพุทธทาสกันก่อนแล้ว และได้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและลูกศิษย์ท่านอาจารย์ขึ้นมาดูและสอบถามความเข้าใจที่ตรงกันแล้วว่าไม่ได้มีการตัดต้นไม้ใหญ่หรือทำลายอะไร

ขณะที่อาจารย์เมตตา พานิช  ประธานธรรมทานมูลนิธิ ซึ่งเป็นหลานท่านพุทธทาส กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นควรสอบถามให้รอบด้านซึ่งเป็นมุมมองและจิตใจของแต่ละคนว่าจะมองลึกซึ้งอย่างไร การที่วัดจะดำเนินการก่อสร้างอย่างไรเป็นเรื่องของวัดตนเองไม่ทราบมาก่อน แต่โดยความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรมีสิ่งก่อสร้างใดๆ อย่างทางเดินบนเขาพุทธทองที่เป็นดินก็ควรให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะเมื่อมีการก่อสร้างก็จะไม่เป็นธรรมชาติ และในความคิดตนควรที่จะอนุรักษ์แบบเดิมไว้อะไรที่ทำใหม่ก็จะไม่ใช่ของเดิม จะว่าตนเป็นนักอนุรักษ์นิยมก็ใช่เพราะยากที่อะไรจะมาเปลี่ยนแปลงได้

“ที่ผ่านมาในสมัยท่านอาจารย์โพธิ์เจ้าอาวาสองค์เดิม จะให้คงรักษาสภาพของเดิมที่ท่านพุทธทาสทำไว้ จะไม่ให้ทำหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพใดๆ” อาจารย์เมตตา กล่าว

สวนโมกข์ จะไปทางไหน?

ส่วนนายณรงค์ เพชรเสมียน ประธานสภาวัฒนธรรม อ.ไชยา กล่าวว่า การเผยแพร่เฟซบุ๊กออกไปเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก ซึ่งไม่ได้มีการก่อสร้างอะไรใหญ่โตตามที่มีการพูดและวิจารณ์กัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติที่มีปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเขาพุทธทอง หรือไม่ได้มีการตัดต้นไม้ทำให้เกิดการเข้าใจผิดกัน ต้นไม้ได้คงรักษาตามเดิมไว้โดยมีการปรึกษานักวิชาการให้คงต้นไม้ไว้ต่อไป โดยการก่อสร้างเป็นการก่อปูนทำขั้นบันไดทางเดินให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเหมือนกับว่าจะเป็นการขัดแย้งในทางความคิดระหว่างพระผู้บริหารชุดใหม่กับคณะหลานของท่านอาจารย์พุทธทาส

แน่นอนว่าสวนโมกข์ควรรักษาในฐานะแบบอย่างของความเรียบง่าย ยืนยันความเป็นสังฆะทางสติปัญญาที่เป็นอิสระและควรจะดำรงอยู่ต่อไปตามแบบฉบับของความเป็นสวนโมกข์ แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นโดยปมที่แท้จริงและความเห็นต่าง น่าจะเกิดจากการไม่ได้มีการสื่อสารพูดคุยกันมาก่อนเหมือนกับว่าต่างคนต่างทำ ทั้งที่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือการสืบสานพระพุทธศาสนาตามรอยท่านพุทธทาส

ก่อนที่จะลุกลามไปกว่านี้ น.พ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ  1 ในลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านพุทธทาส จึงได้ออกแถลงการณ์ ขอให้มีการปรึกษาหารือและวินิจฉัยของครูบาอาจารย์ โดยขอทุกท่านได้ร่วมกันในการใช้ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และ สมาธิ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสนำพระธรรมของพระพุทธองค์มาร้อยเรียงให้ไว้ในชื่อ "ธรรมะ 4 เกลอ" เป็นสติหาทางออก

ขณะนี้ทุกฝ่ายอาจจะลืมคำสอนที่ “ ตัวกู ของกู ” ของท่านพุทธทาส ที่เคยตักเตือนให้ทุกคนละและหลุดพ้นจากสิ่งยึดเหนี่ยวดัง กล่าว ซึ่งสังคมกำลังรออยู่ว่า เมื่อไหร่ทุกฝ่ายจะหันหน้ามาคุยกัน หรือ ผู้ใดจะเป็นผู้หาทางออกและทิศทางดังกล่าว

สวนโมกข์ จะไปทางไหน?