posttoday

ปฏิรูปปาหี่!แน่จริงต้อง"รื้อโครงสร้าง"

26 สิงหาคม 2556

หากคิดจะใช้คำว่าปฏิรูป รัฐบาลต้องรื้อโครงสร้างประเทศใหม่ เพราะเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

เปิดฉากปฏิรูปการเมืองนัดแรก ท่ามกลางความคาดหวังและถูกสบประมาทไปพร้อมกันว่า คณะทำงานของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะสามารถสลัดคราบความขัดแย้งออก จากประเทศได้หรือไม่    

จรัส สุวรรณมาลา นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์แนวทางการปฏิรูป ว่า หากรัฐบาลต้องการหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างจริงใจเเละหวังผลสำเร็จ ควร “ลงมือ” แก้ไขความขัดแย้งเชิง “โครงสร้าง” ของประเทศ เพราะการที่รัฐใช้คำว่า “ปฏิรูป” นั้นรัฐบาลต้องรื้อและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างประเทศใหม่ เพราะถือเป็นต้นตอของปัญหาสังคมรวมถึงการเมืองแทบทั้งหมด ที่สำคัญต้องลงมือทำจริง อย่าเพียงแต่ตั้งคณะกรรมการแล้วได้เพียงผลการศึกษาเท่านั้น         

จรัส เสนอว่า ความขัดแย้งทางการเมืองมาจากการฝังรากของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เดียว ดังนั้นหากรัฐจริงใจในการปฏิรูปจริงต้อง 1.การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของรัฐที่เป็นรัฐรวมศูนย์  เพราะการรวมศูนย์การใช้ทรัพยากร รวมศูนย์การใช้อำนาจทั้งหมด มีเดิมพันในทางการเมืองเยอะ ใครก็ตามที่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ ชนะการเลือกตั้งและมีเสียงในสภาเด็ดขาดที่จะเป็นรัฐบาลได้ก็แปลว่าสามารถที่จะยึดประเทศไทยได้ทั้งประเทศ เป็นกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหมด  เพราะการมีรัฐที่รวมศูนย์ รวมผลประโยชน์เข้าด้วยกันไว้ที่เดียวกัน เพราะฉะนั้นการจะปฏิรูป คือ ต้องกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ถ่ายโอนอำนาจไปให้ประชาชนในพื้นที่ กระจายอำนาจให้จังหวัดปกครองตนเอง

“ถ้าจะแตะเรื่องโครงสร้างจริง และต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ตอนนี้รัฐธรรมนูญปี 50 เขียนให้จังหวัดต่างๆ มีงบประมาณของตัวเอง ผู้ว่าฯ สามารถนำนำงบประมาณลงไปใช้ในจังหวัดได้เป็นการกระจายอำนาจรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าจะกระจายมากกว่านี้ต้องทำจังหวัดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง งบที่ลงจังหวัด ไม่ต้องผ่านกระทรวง ทบวง กรม ปล่อยให้ประชาชนเลือกตั้ง และบริหารจัดการงบประมาณเอง

...หากทำได้จริง พรรคการเมืองที่ต้องการมาลงทุนทุ่มเงินคนละ 30 ล้านเพื่อให้ได้ สส.นั้นจะไม่มี เพราะผลประโยชน์ที่เคยได้จะเหลือน้อยมาก ดังนั้นเขาจะไม่ลงทุน สส.จะซื้อเสียงน้อยลง การตรวจสอบการโกงกินจะไปอยู่ที่ผู้บริหารในระดับพื้นที่มากขึ้น เป็นการกระจายความเข้มข้นของการแย่งชิงที่รวมศูนย์ให้ลดน้อยถอยลง คนในต่างจังหวัดก็ต้องไปเริ่มต้นเรียนรู้ประชาธิปไตยกันใหม่ ผมเชื่อว่าไม่นานประเทศเราก็จะก้าวหน้า เพราะแต่ละจังหวัดก็จะแข่งขันกันพัฒนาตัวเอง ลดการพึ่งรัฐบาลกลาง แล้วรัฐบาลไม่ต้องแบกภาระ ไม่ต้องมาทะเลาะกันเรื่องงบขุดบ่อ ขุดสระ เอาเวลาไปแข่งขันกับอาเซียน กับนานาชาติ”

จรัส เสริมต่อว่า ปัจจุบันนี้การรวมศูนย์อำนาจ รวมงบประมาณ ไว้ที่กระทรวง ทบวง กรม ทำให้ปลัดกระทรวงหรือข้าราชการหลายคนติดคุก เพราะนักการเมืองจะยืมมือข้าราชการทุจริต ข้าราชการจะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่ทำตำแหน่งก็หลุด ก็ต้องทำ แต่พอทำเสร็จแล้วคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูล หากขึ้นศาลมีความผิดขึ้นมา ปลัดกระทรวง อธิบดีติดคุก แต่นักการเมืองที่เป็นคนสั่งไม่ติด เห็นได้จากการเมืองไทยที่ผ่านมามีรัฐมนตรีติดคุกอยู่แค่คนเดียว

นักวิชาการผู้นี้เสนอต่อว่า 2.รัฐควรกระจายการถือครองที่ดิน และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และ 3.การปฏิรูปสวัสดิการของคนด้อยโอกาส

ด้านการปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรนั้น จรัส ย้ำว่า รัฐควรเอาจริงกับระบบภาษีที่ดิน และกระจายการถือครองที่ดินไปสู่ประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่ 70% ไม่มีที่ดินทำมาหากิน ขณะที่ชาวนา 70% ต้องเช่านาทำ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายรับจำนำข้าว เจ้าของที่นาเดิมก็ยึดที่นาจากชาวนามาทำเอง เพราะกำไรดี ทำให้ชาวนากลายเป็นกรรมกร ลูกจ้าง นอกจากนั้นทรัพยากรทั้งน้ำมัน แร่ แหล่งประมง แหล่งน้ำธรรมชาติ ป่าไม้ ควรปฏิรูปให้ชุมชนเป็นผู้ถือครอง หากรัฐปฏิรูปครั้งใหญ่แก้ปัญหาสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและที่ดินเหล่านี้ จะแก้ปัญหา ความยากจน และการขนคนย้ายเข้ามาในเมืองจะลดลงด้วย

ขณะเดียวกันรัฐต้องปฏิรูประบบสวัสดิการของคนด้อยโอกาส  วันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงระบบสวัสดิการที่ดี เราต้องสร้างสวัสดิการการออม ไม่ใช่สวัสดิการการแจก จัดระบบกองทุนสวัสดิการที่ประชาชนต้องเริ่มออมตั้งแต่ต้น ฝึกให้คนรับผิดชอบในเงินที่จะต้องได้อนาคต  ให้คนทำงานในระบบรับจ้างมีสวัสดิการในยามชราเหมือนในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ใช่ตั้งงบแจก รัฐมีตังค์ก็แจกหมด ไม่มีตังค์ก็เลิก ซึ่งไม่ใช่ระบบสวัสดิการที่ดี เป็น เพราะเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ

“หากคุณพูดถึงปฏิรูป คุณต้องเอาจริงกับเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่การตั้งเวทีสำหรับผู้นำประเทศที่ขัดแย้งแล้วอยากเกี้ยเซียะกัน แต่ว่าฐานของปัญหาในเรื่องความยากจน การเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากร กลับพูดถึง แต่ไม่ได้ทำจริง ถ้าเป็นแบบนี้ประเทศก็ไม่ไปไหน เพราะว่าปฏิรูปเสร็จมีแต่ชนชั้นนำได้ประโยชน์ จากการสมยอมกัน แต่ชนชั้นล่างก็ไม่ได้อะไรเลย การเมืองก็จะไม่หลุดห่วงโซ่นี้

...อย่ามองคำว่า การเมือง แคบเกินไป คือ มองตัวแสดงในเชิงสถาบันเท่านั้น เช่น รัฐสภาทำอย่างไรจะไม่ทะเลาะกัน พรรคการเมืองแบ่งขั้ว กลุ่มผู้นำทางการเมือง การกลับบ้านของคุณทักษิณ ถ้ามองแต่เรื่องพวกนี้มันเป็นการปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนำ  แต่ประเทศไทยต้องการปฏิรูปในระดับของรากหญ้า

...ความจริงผมก็ไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่หากคนรากหญ้าต้องการปฏิรูปการเมือง ต้องมองเรื่องแบบนี้ อย่ามองเพียงอำนาจที่ผูกติดกับกลุ่มก๊วน คนเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่ควรมองว่าเราจะได้รับอะไร หากมีการปฏิรูปอำนาจจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง อำนาจที่เราสามารถกำหนดชีวิตกำหนดชุมชน และกำหนดอนาคตลูกหลานของเราได้  อันนี้ต่างหากที่ผมว่าประชาชนเขาอยากได้”

อะไรที่เป็นอุปสรรคทำให้รัฐบาลไม่กล้าปฏิรูปโครงสร้าง? จรัส ตอบมาว่า “ความกลัวของรัฐบาล! รัฐบาลนี้ยังไม่กล้าปฏิรูปการเมืองในเชิงโครงสร้างอำนาจ ปากก็พูดประชาธิปไตย แต่ใจเป็นเผด็จการ อยากจะรวมศูนย์เอาไว้อยู่เหมือนเดิม เราจะเห็นว่าเมื่อพูดถึงเรื่องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเขาไม่พูดถึงเลย ระบบกระจายอำนาจเขาไม่เอาเลย ไปหาเสียงที่ไหนก็บอกว่าเอานะ บอกชาวบ้านว่าจะกระจายอำนาจให้จังหวัดปกครองตนเอง พรรคเพื่อไทยบอกว่ารับปากเลยว่าจะกระจายอำนาจลง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้ารับปาก เขาไม่ค่อยกล้ารับปากนักในเรื่องพวกนี้ เพราะพรรคนี้จะคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษ์นิยม) มักจะรีรอ มักจะบอกว่าอันนี้ต้องรอก่อน อันนี้ไม่เหมาะสม

...ดังนั้นตอนนั้นผมคิดว่าพวกผมเองก็เชียร์นะ เวลาที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะปรับโครงสร้างอำนาจ แต่เผอิญมาเป็นรัฐบาลแล้วก็ไม่ทำ แล้วก็ไปบนความยืนอยู่บนความขัดแย้งเหมือนเดิม แล้วทำไมเขาไม่ทำ ก็เพราะผลประโยชน์ที่มีการซื้อขายงบประมาณ ทางกระทรวง ทบวง กรม หรือซื้อขายงบประมาณที่มีการกู้เงินมาทำโครงการต่างๆ ก็มีกระบวนการแบบนี้ตลอดเวลา คนที่อยู่ในอำนาจก็มีโอกาสในการบริหารงบประมาณทั้งเงินในและเงินนอกงบประมาณกันเยอะแยะ จะพูดว่าไม่จริง ไม่รู้ แต่ตัวเลขมันเห็นชัด”

แต่มีความเห็นว่าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์อย่าง รถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ?  นักวิชาการรัฐศาสตร์ตอบทันควันว่า  “ไม่มีทางครับ ช่วยไม่ได้ทั้งหมด ถนนตัดไปทุกสายในประเทศไทย ถามว่าใครได้ประโยชน์สูงสุด เอาแค่รถไฟฟ้าที่กำลังทำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  คุณลองสำรวจดูว่าสองข้างทางที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ ใครซื้อที่ดินเอาไว้เกร็งกำไร ใครที่กำลังจะผุดโน่น ผุดนี่ขึ้นมา นายทุนทั้งนั้นเลย ชาวบ้านได้อะไร ก็ได้ขายที่ดินแล้วก็จนเหมือนเดิม” 

“...ดังนั้นผมไม่เชื่อว่าจะเป็นช่องทางการกระจายรายได้ทั้งหมด รถไฟไปได้ทุกที่ทำให้การคมนาคมสะดวกก็จริง เราได้ใช้บริการสาธารณะที่มีทางเลือกมากขึ้นจริง แน่นอนว่าที่ที่รถไฟจะไปถึง ทำให้เกิดการลงทุนพัฒนา มีรายได้ มีแหล่งจ้างงานมากขึ้นจริง  แต่ถ้ารัฐบาลยังปล่อยให้ทำไปโดยไม่ควบคุมเรื่องการถือครองที่ดิน การเก็งกำไร คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดเป็นนายทุนหมดเลย 90% แล้วถ้าพูดถึงนายทุนก็ไม่ใช่ใครครับ ลิ่วล้อของพวกนักการเมืองนี่แหละ ผมถามว่าใครมีที่ดินมากที่สุด อธิบดีกรมทางหลวงหรือเปล่า? เพราะจริงๆ แล้วข้าราชการ นักการเมือง จะไปกว๊านซื้อไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะบอกว่า นี่คือ การกระจายรายได้ มันไม่ใช่  แต่เป็นการยิ่งสะสมความมั่งคั่งให้กับคนกลุ่มน้อยด้วยซ้ำ

...แต่ผมไม่ไดคัดค้านนะครับ การพัฒนาประเทศ เราเห็นด้วยว่าต้องทำ เพราะโครงการเหล่านี้จังหวัดจะทำไม่ได้ เพราะรถไฟเป็นโครงการข้ามพื้นที่จังหวัด เพราะฉะนั้นโครงการเหล่านี้เป็นอินฟราสตรักเจอร์ในระดับชาติต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่ดี  แต่ไม่ใช่เราบอกว่ามีรถไฟความเร็วสูงแล้ว ไม่จำเป็นต้องกระจายอำนาจ มันไม่ใช่  คือมันคนละอย่างกัน เหมือนกับว่าคุณหิวข้าวกับคุณต้องใส่เสื้อ คุณบอกว่าเอาข้าวไปกินก่อน เสื้อยังไม่ต้องใส่ มันไม่ใช่ มันต้องทำทั้งสองอย่าง”จรัสทิ้งท้าย