posttoday

เปิดปูมมือปราบคุมไลน์"พิสิษฐ์ เปาอินทร์ "

19 สิงหาคม 2556

เว็บหมิ่น ไม่ใช่ทำไม่ได้ ผมนี่ละเป็นคนทำ จับมาก็เยอะ แต่เราไม่เป็นข่าว เพราะการปรากฏเป็นข่าวมันมีผลกระทบทางลบมากกว่าทางบวก

โดย...ธนก บังผล

นับตั้งแต่เปิดประเด็นเตรียมส่องโปรแกรมแชทไลน์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และป้องกันการซื้อขายยาเสพติด อาวุธปืน ค้ามนุษย์ ชื่อของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้กลายเป็นที่สนใจของชาวเน็ตอย่างแพร่หลาย

โดยเฉพาะชื่อของ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท. โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 28 (นรต.28) ในฐานะหัวหน้าหน่วยเปรียบเสมือนสายล่อฟ้า เมื่อมองในมุมของสิทธิส่วนบุคคล

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ นับเวลาราชการแล้วใกล้เกษียณในเดือน ก.ย.นี้ การส่งต่อไม้ให้กับการปราบปรามอาชญากรไซเบอร์ที่นับวันจะแพร่ขยายมากทุกขณะ โดยคาดหวังว่าในอนาคตการทำงานของ บก.ปอท.จะรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ผบก.ปอท. เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ถึงแผนงานก่อนจะเกษียณ และมุมมองในหน้าที่การป้องกันและปราบปรามทางอินเ9อร์เน็ต

"เดิมทีเดียวคุณพ่อผมเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง คุณพ่อมีความใฝ่ฝันจะเป็นหมอ แต่ก็ไม่ได้เป็นเพราะคุณปู่เสียชีวิตตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อเป็นลูกคนโตต้องมาช่วยคุณย่า ก็เลยมีความหวังมาที่เราอยากให้เราเป็นหมอ ถามว่ามีความสนใจในการเป็นตำรวจหรือเปล่า ตอนนั้นมีคุณอาที่เริ่มมาเป็นตำรวจ เราก็เห็นว่าเป็นอาชีพที่ดี เราก็ชอบมาตั้งแต่เด็ก พอมีโอกาสเราก็เลยลองดู ปีนั้นโรงเรียนนายร้อยเปิดสอบก็เลยไปสอบ สอบได้ก็เรียน 1.ตรงนี้มันไม่ต้องหางานทำ 2.บ้านก็ไม่ต้องส่งเสียมากเพราะทางรัฐจ่ายให้หมดทุกอย่าง เราก็มีความชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว"

“เรียนจบมาก็อยู่โรงพัก ผมอยู่กองบัญชาการตำรวจนครบาลมาตั้งแต่ร้อยตำรวจตรี ยันพันตำรวจเอก จบมาก็อยู่ สน.บางซื่อ เป็นรองสารวัตร จนเป็นสารวัตรใหญ่ เป็นผู้กำกับ” 

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ยอมรับว่า มองชีวิตตัวเองไว้ขณะนั้นคงเติบโตในนครบาล จนกระทั่งเกิดความพลิกผันโดยบังเอิญ

"มาจับงานด้านเทคโนโลยีก็เป็นความบังเอิญ ชีวิตมันบังเอิญ เราก็อยากทำงานโรงพัก เพราะอยู่โรงพักมาตลอด คิดว่าคงจะเติบโตในนครบาล แล้วชีวิตมันหักเห เพราะชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ตอนนั้นอยู่ สน.สุทธิสาร และ สน.มักกะสันโดนเตะฝุ่นไปสำรองอยู่ 1 ปี พอเสร็จเรื่องแล้วก็ถูกย้ายให้ไปอยู่ในกรม กองทะเบียนประวัติอาชญากร"

“ระหว่างนั้นก็มีทุนรัฐบาลญี่ปุ่นให้ตำรวจที่สนใจจะไปสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยี ผมก็สมัครไป ได้รับการคัดเลือก ไปเรียนอยู่ฯปุ่น 1 เดือน นี่คือจุดเริ่มต้น ทำให้เรามองเห็นว่าการทำงานด้านนี้ต้องใช้ 2 ส่วนประกอบกัน  คือต้องมีความเชี่ยวชาญสืบสวนด้านคดีอาญา อีกขาหนึ่งคือความรู้ทางเทคโนโลยี ต้องมี 2 ส่วนนี้ประกอบกันซึ่งจะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ แต่เนื่องจากประเทศไทยเราการจะสร้างบุคลากรด้านนี้ ต้องมีพื้นฐานการสืบสวนมาก่อน เราเป็นนักสืบมาแล้วต่อยอดทำงานได้ดี ดีกว่าเอานักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านสืบสวนสอบสวนมาทำงาน พวกนี้จะไม่ผ่านงานภาคสนามมาเก่า พอดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เขาตั้งหน่วยนี้ขึ้นมา ตอนนั้นก็ยังหาคนไม่ค่อยได้ ผมอยู่ในฐานะผู้บริหารแล้ว ผมไม่ได้จบด้านคอมพิวเตอร์นะไม่ได้เรียนอะไรสักอย่าง ผมเป็นนักสืบมาต่อยอด เริ่มจากญี่ปุ่น จากนั้นมีหลักสูตรอะไรก็ไปเรียน ได้หนึ่งประโยชน์ ได้ความรู้ที่จะมาปูพื้นฐานงานด้านตำรวจ สองคือได้ประสานระหว่างประเทศทุกวันนี้ผมมีเพื่อนอยู่ทั่วโลก”

"การสืบสวนสอบสวนเทคโนโลยีอาชญากรรมประเภทนี้มันไม่มีพรมแดน โจรจะอยู่ไหนก็ได้ เหยื่ออยู่ไหนก็ได้ เวลากับระยะทางไม่ใช่อุปสรรคในการก่ออาชญากรรมประเภทนี้ ไม่เหมือนอาชญากรรมปกติที่เวลากับระยะทางเป็นอุปสรรค เหยื่อต้องอยู่ถึงจะปล้นได้แต่คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เหยื่ออยู่เชียงใหม่ โจรอยู่กรุงเทพก็ปล้นได้ อยู่ในห้องนอนก็ยังปล้นได้"

“ก็เลยทำให้เรามาปูพื้นฐานเอานักสืบมาต่อยอดเรื่องนี้ พยายามผลักดันมา เมื่อก่อนหน่วยที่ทำงานตรงนี้เป็นการสนับสนุนพื้นที่ให้ความรู้ ช่วยเขา คดียังไม่ค่อยมาก จนกระทั่งมาระยะหนึ่งมันชักไม่ไหวคดีมากขึ้น ก็ได้คุยกับผู้ใหญ่ใน สตช. ว่าน่าจะมีหน่วย บก.ปอท. ให้มีอำนาจสืบสวนสอบสวน ทำได้เอง ช่วยผลักดันให้ตำรวจพื้นที่ทำงานได้ เราเป็นผู้ช่วยเหลือ ก็มีแนวคิด ปอท.ขึ้นมาในปี 2553 ผมก็มีส่วนร่วมในการกำหนดโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ กำลังคน วัสดุอุปกรณ์ผมก็มีส่วนในการตั้ง ก็มาเป็นรองผู้บังคับการ ผลักดัน มาจนถึงวันนี้ จนเป็นผู้บังคับการเราก็ได้มองเห็นทั้งหมดที่เราอยากทำ ที่เราตั้งหน่วยเราอยากเห็นอะไรเราก็ทำ ซึ่งการตั้งวอร์รูมโดยนโยบายของ ผบ.ตร. และนายกรัฐมนตรี มันก็มาตรงใจกับที่ผมอยากมี ต้อนตั้งใหม่ๆยังมีข้อจำกัดเรื่องคน”

โดยหลังจากเกษียณแล้ว พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ยังไม่ได้วางมือไปเลยทีเดียว และยินดีหากจะให้ช่วยงานหรือเป็นที่ปรึกษา

เปิดปูมมือปราบคุมไลน์"พิสิษฐ์ เปาอินทร์ "

“คราวนี้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมันเปลี่ยน เวลามันเปลี่ยน  ก็ต้องรีบทำในยุคที่เรายังอยู่ ซึ่งก็พอดีเดือน ก.ย. ผมก็เกษียณ  ถ้าเกษียณไปแล้วท่านยังเห็นผมมีประโยชน์ ผมก็ยินดี ผมอยากเห็นว่าหน่วยงานที่เราสร้างมามีการเจริญเติบโตอย่างไร มีประโยชน์กับประเทศประชาชนอย่างไร ผมมองไปอีกว่า อนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าคดีทางเทคโนโลยีมันจะมากกว่านี้เยอะแยะ ที่ผมวางไว้จะคลุมไปถึงอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนเลยไป 5 ปีจะเป็นอย่างไรก็ต้องไปคิดกันต่อ แต่ตอนนี้ผมวางไว้ได้อีก 5 ปี

ในขณะที่ ชีวิตส่วนตัว ผบก.ปอท. ในวันหนึ่งๆ ทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

“เว็บไซต์ผมดูหมด กลางวันผมทำงานบริหารหน่วย กลางคืนผมกลับบ้านผมไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นปกตินะ ผมถึงบ้านผมก็เข้าห้องทำงาน บ้านผมมีห้องทำงานส่วนตัว ถึงบ้านก็เริ่มทำงานคือการติดต่อประสานงานกับตำรวจประเทศต่างๆ บ้านเรามืดแต่บ้านเขาเริ่มทำงาน ทางยุโรป หรืออเมริกา เรามีอะไรเราก็จะคุย แลกเปลี่ยนแสวงหาความร่วมมือกัน”

“สองคือตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในโลกธรรมดาและโลกออนไลน์ ผมกว่าจะนอนก็เที่ยงคืนตีหนึ่ง เวลาผมกลับบ้านบางคนคิดว่าผมไปนอน ไม่ใช่ ผมอยู่ในห้องทำงานผม ห้องผมมีทุกอย่าง มีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เนต แฟกซ์ ครบหมด เป็นออฟฟิศผมสามารถทำงานคุยกับลูกน้องกับเครือข่ายได้หมด ผมมีทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มีไลน์ ติดต่อได้หมด มีอุปกรณ์สื่อสารครบหมดทุกอย่าง ผมออกจาก บก.ปอท. 3ทุ่มทุกวัน พอถึงบ้าน 4 ทุ่มผมก็เข้าห้องแล้ว อาจจะคุยกับภรรยา และลูกๆหน่อยหนึ่ง หลังจากนั้นก็เป็นเวลาของผมแล้วกว่าจะนอนก็ตี 1  ตี5 ตื่น ตื่นมาก็สวดมนต์ไหว้พระทุกวันเป็นกิจวัตร ผมไม่ได้นับถือหลวงพ่ออะไรเป็นพิเศษ ผมจะสวดชินบัญชรทุกวันเป็นประจำ ไม่ขาด ตอนเช้า อุทิศส่วนกุศลให้บูรพกษิตริย์ บุพการี ให้ประเทศชาติผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”

นับจากความหวังของคุณพ่อที่อยากจะให้เป็นหมอ แต่ในที่สุดก็กลายมาเป็นตำรวจ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ บอกว่า

หลังจากมาเป็นตำรวจ คุณพ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเลี้ยงลูกแบบเสรี

“ผมก็เลี้ยงลูกผมแบบเสรี อยากเป็นอะไรก็ได้ อยากเรียนอะไรก็เรียน เราไม่บังคับ”ผบก.ปอท. กล่าวอย่างอารณ์ดีโดยงานของ บก.ปอท.มีคำถามมากมายว่าได้เข้าไปควบคุมเว็บหมิ่นสถาบันอย่างไรบ้าง

“เว็บหมิ่น ไม่ใช่ทำไม่ได้ ผมนี่ละเป็นคนทำ จับมาก็เยอะ แต่เราไม่เป็นข่าว เพราะการปรากฏเป็นข่าวมันมีผลกระทบทางลบมากกว่าทางบวก  หลายฝ่ายอ้างมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือ เราจะพยายามไม่ให้เอาประเด็นนี้ไปใช้ เมื่อมีการจับมาก ก็ไปมองมุมกลับว่าทำไมมีคนต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์มาก ซึ่งถ้าข่าวออกไปผลลบมันมากกว่า มีคนเอาไปใช้ประโยชน์ได้ แต่มันไม่เป็นอุปสรรค ผมทำอยู่เพราะผมเป็นหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว ถามว่าจับได้ไหม ผมจับได้ตั้งเยอะ ผมมีวิธีของผม”

“ผมให้นโยบายตำรวจใน ปอท. เมื่อก่อนมักจะอ้างว่าข้อมูลอยู่ต่างประเทศ เฟซบุ๊กไม่ให้ ยูทูบไม่ให้ ผมถามว่าเมื่อไมให้คุณจบใช่ไหม คุณทำไม่ได้ใช่ไหม ผมเปรียบเสมือนว่ามีกำแพงอยู่ คุณทำอย่างไร คุณเห็นกำแพงคุณเดินกลับหรือ คุณจะทำอย่างไรต้องหาวิธีไปสู่เป้าหมายให้ได้ จะขุดดิน จะปีนรั้ว ต้องไปให้ได้ ต้องหาวิธีให้ได้  ประการที่สอง มักจะเป็นข้ออ้างว่าข้อมูลที่ได้มาโดยไม่ชอบ คือไม่สามารถนำไปเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ คุณก็ต้องเอาข้อมูลมาให้มันชอบสิก็ต้องไปหาวิธีการเอา แล้วเอาเป็นพยานในชั้นศาลได้ ไปหาวิธีเอา ผมมีวิธีแต่ผมไม่บอก บอกไม่ได้ ผมก็บอกในวงถ้ามึงทำไม่ได้ให้มาถามผมนี่ ผมทำมาแล้ว ติดคุกมาเยอะแล้ว ไอ้สิ่งต่าง 2 ข้อที่อ้าง อย่าเอามาอ้างกับผม”

นอกจากนี้ การใช้โปรแกรมแชทหลอกผู้หญิงมาข่มขืนทางเฟซบุ๊ก พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ฝากเตือนว่า เมื่อเข้าอินเตอร์เนต ให้พึงระลึกอยู่เสมอว่าอยู่ในที่สาธารณะแล้วก็มีคนเป็นหมื่นเป็นล้านเขามองคุณอยู่

“คุณสามารถเป็นเหยื่อของอาชญากรรมได้โดยง่าย ที่คุณเข้าไปเขาเรียกว่า เวอร์ช่วล  (Versual) โลกเสมือนจริง ไม่ใช่โลกจริง ฉะนั้นคนที่มาพบปะไม่รู้เป็นใคร บอกเป็นผู้หญิงตัวจริงอาจเป็นผู้ชาย เพราะฉะนั้นมันเชื่อใจอะไรใครไม่ได้เลยอย่าไปปฏิสัมพันธ์กับคนที่คุณไม่รู้จัก พยายามรู้จักการป้องกันตัวเอง”

“บิดามารดาผู้ปกครอง ถ้าลูกไม่ได้เล่นอินเตอร์เนตมันก็จะน้อยหน้าเพื่อน ก็ต้องมีคอมพิวเตอร์ให้ลูก แล้วปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง เหมือนปล่อยเด็กไปอยู่ที่สาธารณะท่ามกลางปากเหยี่ยวปากกาลำพัง ทั้งๆที่อยู่ในบ้าน เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องเข้าไปดูการใช้อินเตอร์เนตให้รู้จักใช้ สอนเขา อะไรดีไม่ดีต้องสอน ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกชักจูงแม้กระทั่งครูก็ต้องเข้าไปควบคุมดูแล ทีมผมก็ออกไปสอนนักเรียนการใช้อินเตอร์เนตอย่างสร้างสรรค์ทำอย่างไร ป้องกันภัยทางอินเตอร์เนตทำอย่างไร วัยรุ่น มัธยมอายุ 12-13 ปี พวกนี้กำลังเริ่มโต เราเดินสายทั่วประเทศเริ่มจากการใมห้ความรู้ อาชญากรรมก็จะลดลงไปส่วนหนึ่ง เด็กรู้วิธีป้องกันคดีก็เกิดน้อย ผมไม่ใช่ปราบอย่างเดียวต้องป้องกันให้ด้วย มีเว็บไซต์สายตรวจ ให้ประชาชนมาเป็นสมาชิก ตำรวจ ปอท.ผมมีแค่ร้อยกว่าคนจะไปดูแลคนทั้งประเทศได้อย่างไร ผมก็ต้องมีแนวร่วม จังหวัดละ 1,000 คน ผมก็สบายแล้ว”

เปิดปูมมือปราบคุมไลน์"พิสิษฐ์ เปาอินทร์ "

“สมาร์ทโฟนก็คือคอมพิวเตอร์ ข้อมูลข่าวสารถึงตัวตลอดเวลา ต้องรู้จักใช้อย่างมีสติ อย่าปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก ให้นึกเสมอว่าที่มันพูดกับเรานั้นไม่จริง อย่าเชื่อ แต่ก็ยังมีบางคนหลงไป คนอายุ 70 ยังโดนหลอกเลย ฝรั่งมารักจะมาแต่งงานถูกหลอกไป 30-40 ล้านบาท อย่าว่าแต่เด็กเลย คนใช้อินเตอร์เนตสมมติ 1,000 ล้านคน มิจฉาชีพหลอกแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ คิดดูว่าจะมากเท่าไร คนใช้มากโอกาสหาเหยื่อก็ง่าย ประเทศไทย 60 ล้านคน ใช้อินเตอร์เนตประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ 30 ล้านคน ใช้เฟซบุ๊ก 18 ล้านคน หลอกแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของ 18 ล้านคน มันก็ต้องมีคนหลงผิด แค่ 1,000 คน ก็เยอะแล้ว” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ย้ำคือ การทำงาน บก.ปอท.จะเน้นป้องกันไม่ให้เหตุเกิด ให้ความรู้ ดีกว่าเหตุเกิดแล้วไปตามจับ จะทำอย่างไรให้รู้ว่ามีมิจฉาชีพหลอก งานป้องกันต้องทำควบคู่ไปกับปราบปราม

“ตำรวจก็ต้องมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดูแลความปลอดภัยชีวิตทรัพย์สินประชาชน ตำรวจ ปอท.ก็เช่นกัน ต้องมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เฉพาะใน ความผิดบนเครือข่ายอินเตอร์เนต ผมทำเพื่อตรงนี้ อุดมคติตำรวจ ใช้ออนไลน์อย่างมีสติสร้างสรรค์ ไม่ใช้มาประกอบความผิด ถ้าผิดก็ต้องมาเจอกับผม”