posttoday

ตร.ประเมินม็อบ"ไม่รุนแรงแต่ไม่ประมาท"

30 กรกฎาคม 2556

ห่วงในเรื่องของการปะทะระหว่างม็อบที่ไม่เห็นด้วย และกลุ่มมือที่สามที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ตำรวจที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. วางกำลังเอาไว้มากถึง 20 กองร้อย หรือ 3,000 นาย เพื่อรับมือม็อบกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ตามแผนกรกฎ 52 หลังกลุ่ม อพส. ประกาศจะชุมนุมระหว่างที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ วรชัย เหมะ สส.พรรคเพื่อไทย

กำลังเจ้าหน้าที่ของ บช.น.ทั้งหมดนี้ถือว่ามีความพร้อมถึงขีดสุด เพราะที่ผ่านมามีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งแต่ระดับเบาไปถึงขั้นใช้แก๊สน้ำตา

รอบนี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ นายใหญ่นครบาล ประกาศว่า จะควบคุมสถานการณ์ให้ดีที่สุด และยืนยันว่าตำรวจจะไม่ทำร้ายผู้ชุมนุมเด็ดขาด เพราะไม่มีอาวุธ แต่หากผู้ชุมนุมทำร้ายตำรวจจะดำเนินคดีทันที และขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย

สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนกรกฎ 52 นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามลำดับ ดังนี้

1.แสดงกำลังของตำรวจ 2.การใช้คำสั่งเตือน 3.การใช้มือเปล่าจับกุม 4.การใช้มือเปล่าจับล็อกบังคับ 5.การใช้เครื่องพันธนาการ ปืนยิงตาข่าย 6.การใช้คลื่นเสียง 7.การใช้น้ำฉีด 8.อุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย 9.กระบองหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตี และ 10.อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระสุนยาง และอุปกรณ์ชอร์ตไฟฟ้า

การข่าวของศูนย์ปฏิบัติการ บช.น.ประเมินว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีมากแค่กลุ่มของ อพส. ที่คาดว่าจะมีราว 5,000 คน แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมชุมนุมด้วย คือ กลุ่มผู้ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ที่คาดว่ามีประมาณ 700 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนามหลวงอีกประมาณ 1,000 คน

ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มที่จะเข้ามาให้กำลังใจรัฐบาลอีก คือ กลุ่มเครือข่ายวิทยุชุมชนปกป้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม (ควปค.) และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุปะทะกันได้ ระหว่างม็อบที่เชียร์และม็อบที่ค้าน

แหล่งข่าวตำรวจด้านความมั่นคง บช.น. ระบุว่า สถานการณ์ชุมนุมครั้งนี้ถือว่า ไม่น่าจะมีเหตุรุนแรง เพราะจำนวนคนมาชุมนุมที่ประเมินไว้ คือ 5,000 คนเท่านั้น แต่ห่วงในเรื่องของการปะทะระหว่างม็อบที่ไม่เห็นด้วย และกลุ่มมือที่สามที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากมีเหตุรุนแรงขึ้นมาก็น่าจะเกิดจากมือที่สาม ที่ต้องการยกระดับความรุนแรงให้ตำรวจลุยปราบม็อบ และโยนความผิดมาทางตำรวจ เรื่องนี้ต้องระวัง

“ที่เตรียมกำลังไว้ 20 กองร้อย ไม่ใช่ว่าจะใช้ทั้งหมด เพียงแต่เตรียมพร้อมสับเปลี่ยนหมุนเวียนกำลังเท่านั้น แต่ระบุไม่ได้ว่าจะใช้กำลังเท่าไหร่ในวันชุมนุมเพราะถือเป็นความลับ และต้องประเมินสถานการณ์ในวันจริงอีกครั้ง” แหล่งข่าว ระบุ

นายตำรวจคนเดิม บอกอีกว่า ตำรวจนครบาลจะวางกำลังตามข้อมูลการข่าวของสันติบาล และถือว่าสถานการณ์ต้องเฝ้าระวังไว้ก่อน แม้จะไม่มีข่าวว่าจะมีเหตุรุนแรงก็ตาม เพราะการที่สันติบาลบอกว่าให้เตรียมกำลังเอาไว้ในนครบาล 20 กองร้อย และยังมีของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และตำรวจตระเวนชายแดนอีก 25 กองร้อย ก็ถือว่ามีเหตุให้ต้องระวัง และตำรวจนครบาลต้องตื่นตัวรับมือ

“นครบาลวางกำลังให้สอดรับกับการข่าวของสันติบาล ซึ่งจากการข่าวก็ถือว่ามีนัย ดังนั้น กำลังก็ต้องมากเป็นธรรมดา โดยตำรวจจะมุ่งเน้นเรื่องด่านสกัด ตรวจค้นอาวุธ ทั้งรอบนอกผู้ชุมนุม และแฝงตัวหาข่าวในพื้นที่ชุมนุมด้วย เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันจะพยายามให้บรรดา สส.เข้าไปประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปให้ได้ พร้อมทั้งดูแลความปลอดภัยด้วย” แหล่งข่าว ระบุ

สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้ดูแลความปลอดภัย 100% โดยเฉพาะการคอยคุ้มกันประธานสภา คณะรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการ โดยจะประจำการอยู่หลังบัลลังก์ตลอดการประชุมไม่ให้มีใครบุกรุกถึงตัวประธานสภาได้ ส่วนทางออกฉุกเฉินก็มีการเตรียมไว้พร้อม

“สถานการณ์ยังปกติ และการชุมนุมก็คงไม่มีอะไรรุนแรง เชื่อว่าตำรวจดูแลและควบคุมไม่ให้มีการปะทะกันได้ ส่วนมือที่สามคงไม่เข้ามาก่อเหตุ”เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ย้ำ