posttoday

"ปฏิรูปสงฆ์"แก้พระฉ้อฉลวิ่งเต้นเล่นพวก

22 กรกฎาคม 2556

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือโครงสร้างคณะสงฆ์ที่ล้าสมัยแล้ว ต้องปรับปรุงระบบของคณะสงฆ์ให้ดีขึ้น

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เป็นเวลาร่วมเดือน ที่บนหน้าสื่อทุกประเภทประโคม “ข่าวคาว” แวดวงผ้าเหลือง เริ่มตั้งแต่ความไม่เหมาะสมของเณรคำ ลามไปถึงพฤติกรรมอื่นๆ ของสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นพระตุ๊ด เณรแต๋ว หรือแม้แต่พระห่ามเลือดร้อน

โพสต์ทูเดย์ มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ถึงแนวทางการปฏิรูปแก้ปัญหาวงการสงฆ์

“เรื่องนี้ต้องอย่ามอบภาระให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดการเป็นหลัก เหมือนกับป่าไม้ถ้ามอบภาระการอนุรักษ์ให้กับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานนับวันป่าก็จะยิ่งหดหายไป”

“ต้องมอบหน้าที่นี้โดยกระจายอำนาจให้ชาวบ้านหรือประชาชน ให้พวกเขารวมกลุ่มกันสอดส่องดูแล เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ การศึกษา สาธารณสุข หมดยุคแล้วที่จะให้รัฐผูกขาดอำนาจ ซึ่งจะทำให้มีแต่ความเสื่อมเพราะดูแลไม่ทั่วถึง”

นั่นเป็นข้อเสนอต่อประเด็นปัญหาพระอลัชชี หรือภิกษุผู้ประพฤตินอกรีตนอกรอยบทบัญญัติของศาสนา

“ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นจากตัวบุคคล ไม่ใช่มีพระไม่ดีมาปลอมปน แต่ปัญหาคือต้องตั้งคำถามว่า ทำไมปลาเน่าไม่กี่ตัวถึงก่อความเสียหายได้มากมาย แทนที่จะถูกกำจัดออกไปเร็วๆ หรือเมื่อพบว่าเป็นปัญหา จึงต้องมองว่ามันมีปัญหาของโครงสร้างคณะสงฆ์ที่ล้าสมัยแล้ว ต้องปรับปรุงระบบของคณะสงฆ์ให้ดีขึ้น”

“อำนาจอยู่ที่มหาเถรสมาคมซึ่งต้องดูแลพระทั่วประเทศ เกินความสามารถของกรรมการที่มีอยู่ประมาณ 30 รูป และล้วนแต่ชราภาพอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปีขึ้นไป ระบบที่รวมศูนย์เป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เอื้อให้มีการวิ่งเต้นหาเส้นสายมีพรรคพวกมากขึ้น ความฉ้อฉลในวงการนี้จึงเกิดขึ้นมาก และเมื่อพระที่ทำผิดไม่ถูกแก้ไขก็ยิ่งย่ามใจ ที่ทำถูกก็ท้อแท้ นำไปสู่ปัญหาที่ตามมาอย่างที่เห็น อาจจะตั้งสภาสงฆ์ระดับต่างๆ เพื่อรับผิดชอบดูแลปัญหา”

สำหรับโครงสร้างใหม่การกระจายอำนาจนั้น นอกจากควรจะมีสภาสงฆ์ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัดแล้ว ควรจะมีสภาชาวพุทธเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกระดับเช่นกัน

“เวลามีปัญหาอะไร ญาติโยมและพระสงฆ์ในพื้นที่ก็เข้าไปมีบทบาทได้เลย มีพระไม่ดีก็มานั่งปรึกษากัน มีปัญหาการศึกษาของพระด้านไหน บวชแล้วไม่มีการกล่อมเกลาจิตใจก็นั่งคุยกันว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ปัญหาจึงจะแก้ไขได้อย่างทันท่วงที การปฏิรูปที่ว่านี้เป็นแนวทางการปรับสถานะของพระ รัฐ และสังคมให้เกื้อกูลกันอย่างพอดีๆ กัน”

นอกจากนี้ ในส่วนของฆราวาสที่จะต้องกลับมาทบทวนบทบาทตัวเอง คือไม่ถวายสิ่งที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น ต้องคำนึงว่าสิ่งที่นำไปถวายควรจะช่วยให้พระเจริญงอกงามในธรรม ช่วยดูแลมรรคปฏิบัติ ให้มีศีลาจารวัตร หรือการรักษาศีลและมารยาทความประพฤติทั่วไปที่งดงาม ป้องกันในเรื่องที่อาจถูกท้วงติงได้ พุทธศาสนิกชนเองก็ต้องเข้าใจข้อปฏิบัติดีเช่นกัน

“ชาวบ้านนั้นรู้จักวัดในพื้นที่ของตัวเองดีอยู่แล้ว เพราะโครงสร้างชุมชนเดิมมีวัดเป็นศูนย์กลาง ก็ดูแลกันได้หากปรับบทบาทตามที่กล่าวมา เมื่อพูดถึงปัญหาพระ รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่อยากเปลืองตัวเข้ามาแก้ อย่างที่บอกไปแล้วว่าเรื่องนี้ต้องอย่ามอบหน้าที่ไว้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง”

พระไพศาล ระบุอีกว่า นอกจากรูปแบบการปกครองแล้ว ยังจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีต้นแบบตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หรือเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว บางเรื่องถึงเวลาที่ต้องปรับปรุง ขณะที่สังคมทางโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายด้านจึงไม่เท่าทันกับปัญหาทางโลกในปัจจุบันที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

“ต้องปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์ วันนี้พระไม่มีแรงจูงใจในการเรียน ทั้งระบบนักธรรมและระบบบาลี เมื่อต้องสอบก็ทุจริตในห้องสอบอย่างโจ่งแจ้ง จบมาแล้วความรู้ทางธรรมไม่ดีพอ ที่สำคัญคือสงฆ์รุ่นใหม่ไม่ได้เรียนเรื่องจิตภาวนา ซึ่งเคยถูกตัดออกไปจากการเรียนการสอน เพราะเป็นเรื่องที่สอนและสอบวัดยาก จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระจำนวนหนึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันในยุควัตถุนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม ที่แพร่หลายกว้างขวาง ซึมลึกเข้าไปถึงในวัด ทำให้พระลุ่มหลงไปกับสิ่งเหล่านี้มาก”


นอกจากนี้ ปัจจุบันพระสงฆ์นั้นแยกขาดจากชุมชน ส่งผลให้บทบาทของชุมชนที่เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมพระลดลง เมื่อประกอบกับพระเองก็ไม่ค่อยใส่ใจสังคมหรือชุมชนรอบข้าง เมื่อต่างฝ่ายที่ต่างไม่สนใจกันก็ยิ่งสร้างช่องว่างระหว่างกัน พระมีอิสระจะทำอะไรหรือการประพฤติตัวย่อหย่อนก็ไม่ค่อยมีชาวบ้านสนใจ

“กรณีของเณรคำนั้นอยู่ในข่ายที่กล่าวมา เพราะถูกปล่อยไว้นานโดยชาวบ้านไม่กล้าร้องเรียนอะไร”

พระไพศาล บอกอีกว่า ข่าวความเสื่อมเสียของวงการสงฆ์มีแง่คิดที่เป็นคุณูปการอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมุมที่จะทำให้ทุกฝ่ายต้องกลับไปทบทวนบทบาทของตัวเอง