posttoday

ระบบอุปถัมภ์-ยัดข้อหา

19 กรกฎาคม 2556

ฉุดกระบวนการยุติธรรมตกต่ำ

“รวยไม่รวยไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่ได้รับความยุติธรรมก็อยู่ไม่ได้”

โดย...กวินภพ พันธุฤกษ์

คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ได้มีการหารือกับผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ และมีการถกเถียงกันของตัวแทนแต่ละภาคส่วนถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นของกฎหมายบ้านเมือง

“รวยไม่รวยไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่ได้รับความยุติธรรมก็อยู่ไม่ได้” คำพูดของ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร รองผู้บังคับการกองตรวจราชการ จเรตำรวจ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมได้เป็นอย่างดี และกระบวนการยุติธรรมที่ดีนั้นไม่ควรแบ่งชนชั้นทางสังคม

แต่ในทางปฏิบัติ กลับมีเหยื่อหลายรายที่ไม่ได้รับความยุติธรรมและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในสังคมไทย สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ระบอบอุปถัมภ์”

มีหลายหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล โดยจุดเริ่มต้นของกระบวนการนั้น เริ่มต้นขึ้นที่ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” เป็นหลัก

อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในขั้นสืบสวนสอบสวน มีการแบ่งแยกชนชั้นคนรวยและคนจน และสิ่งที่เป็นปัญหามี 3 ประเด็นด้วยกัน

1.ปัญหายาเสพติด ซึ่งตนคิดว่าไม่มีทางหมดไปอย่างแน่นอน ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังนำเรื่องนี้ไปต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นการค้ายาเสียเอง การอำนวยความสะดวกให้ขบวนการค้ายาซึ่งตนเองก็ได้ส่วนแบ่ง และที่เลวร้ายที่สุดคือการยัดข้อหายาเสพติดเพื่อสร้างผลงานให้กับตนเอง

ข้อที่ 2.คือเรื่องอำนาจของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถชี้ชะตาตัดสินถูกและผิดได้ โดยยกตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ณัฐนารี เมลกุล ที่พนักงานสอบสวนตัดสินให้เป็นการฆ่าตัวตาย ในขณะที่ภาพที่ปรากฏตามหน้าสื่อนั้นมีร่องรายการถูกทำร้ายของผู้ตาย และการต่อสู้ขัดขืน ซึ่งทางครอบครัวของผู้ตายเองก็ปักใจเชื่อว่าน่าจะเป็นการฆาตกรรมและเรียกร้องให้มีการค้นหาความจริง และนายอัจฉริยะเองได้สืบทราบมาว่าผู้ตายและเพื่อนชายของผู้ตายที่เป็นผู้ต้องสงสัยนั้น มีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนพนักงานสอบสวนนั่นเอง

ข้อสุดท้ายคือ เรื่องของการลบประวัติอาชญากรรม ให้แก่ผู้ที่ถูกศาลตัดสินแล้วว่าไม่มีความผิด ซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า และถูกสังคมตราหน้าไปแล้วว่า เป็นคนผิด ถึงแม้จะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วก็ตาม โดยนายอัจฉริยะได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดทางเจ้าหน้าที่ถึงดำเนินการในเรื่องนี้ช้า และบางครั้งต้องให้ประชาชนไปร้องเรียนความยุติธรรมเอง

ระบบอุปถัมภ์-ยัดข้อหา

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นประเด็นทางสังคมและน่าสนใจคือเรื่องของ เบนนี่ เบย์นาม โมฟี่ ชาวสวีเดน ผู้เคยต้องโทษในคดีอาญา ซึ่งได้รับผลสรุปออกมาแล้วว่า “กลายเป็นแพะ”

เบนนี่ เล่าว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเรียกเก็บค่าคุ้มครองรายเดือน แต่เขาไม่ยอมจ่าย และได้มีการจับกุม “ยัดข้อหา” และกลายเป็นการต่อสู้คดีกัน โดยที่เขาพยายามเรียกร้องความบริสุทธิ์และสิทธิของตัวเองมาตลอด

“ผมต้องไปเรียนภาษาไทย และกฎหมายไทยมา เพื่อมาต่อสู้ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง ตลอดระยะเวลาการฟ้องร้องกัน” เบนนี่ กล่าว

เบนนี่ยังเล่าเรื่องของการใช้ชีวิตในเรือนจำอีกว่า มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหา และมีการทุบตีทำร้ายร่างกาย ถึงขั้นแขนหักมาก็เคยเห็น นอกจากนี้ยังมีการทุจริตการงบประมาณที่มีไว้สำหรับดูแลผู้ต้องหาอีกด้วย สิ่งที่เลวร้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่า ในแต่ละเรือนจำนั้น กลับมีกฎเกณฑ์การปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่มีบทบัญญัติกำกับไว้ชัดเจน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นนั้น มักจะเกิดในระดับขั้นของการปฏิบัติการ โดยเฉพาะของขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ถ้าหากมีการดำเนินการจับกุมผิดตัว จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา แต่เกิด “แพะรับบาป”  สิ่งที่ควรจะตั้งคำถามคือ เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจับกุมโดยเจตนานั้น ไม่มีบทลงโทษที่เป็นบรรทัดฐานให้เห็นเลยหรือ

“การบังคับใช้กฎหมายอยู่ที่ว่าอยากจะทำหรือไม่อยากจะทำของผู้บังคับใช้กฎหมาย และการใช้อำนาจเกินหน้าที่ยังไม่เลวร้ายเท่าการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสร้างความเสียหายเหมือนกัน” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

ระบบอุปถัมภ์-ยัดข้อหา

หากจะมีการดำเนินการแก้กฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยแท้จริงแล้วนั้น คงต้องแก้กันระบบใหญ่ จะว่าไปก็คงไม่สามารถที่จะโทษตัวผู้ปฏิบัติการได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่คงต้องเปลี่ยนทัศนคติหลาย ๆ อย่างที่เป็นอยู่ โดยผู้สืบสวนสอบสวนต้องคำนึงเสมอว่า ในการจับตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหานั้นควรที่จะต้องหาความจริงมากกว่าที่จะปักธงแล้วว่าคนเหล่านี้เป็นคนผิดและค้นหาหลักฐานเพื่อมารองรับความผิดเหล่านั้น

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะกระทำการใด ๆ ที่ผิดกฎหมายนั้น ผู้บังคับบัญชาเองก็มีหน้าที่ในการลงโทษ

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสังคมไทยเป็นสังคมระบอบอุปถัมภ์ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเองเป็นผู้สั่งหรือรู้เห็นการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาเสียเองด้วยซ้ำ

ดังนั้น สิ่งที่พึงกระทำก็คือ การทำให้การสอบสวนเป็นไปอย่างอิสระ ไม่ถูกก้าวก่ายจากฝ่ายบริหาร เพื่อที่การทำงานจะได้มีเอกภาพและถูกต้องเที่ยงธรรมมากขึ้น รวมถึงให้ประชาชนวามารถเข้าถึงกฎหมายได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อคงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นอกจากนี้ ก็คงจะเป็นการดีหากมีการปลูกฝังความรู้เรื่องกฎหมายให้แก่เยาวชน ไม่ใช่เพียงแต่การเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้เรื่องของสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่บุคคลพึงมี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอยุติธรรม และเป็นเครื่องมือป้องกันตัวในการต่อสู้กับผู้รักษากฎหมายบางกลุ่มที่ใช้กฎหมายเป็นอาวุธเสียเอง