posttoday

120ปีร.ศ.112ความปราชัยที่ทำให้แข็งแกร่ง

13 กรกฎาคม 2556

วิกฤตร.ศ.112เป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญ ที่ทำให้สยามประเทศต้องเร่งพัฒนาในทุกด้าน

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

หากการเสียกรุงศรีอยุธยาทำให้คนไทยได้กลับมาร่วมกันสร้างบ้าน สร้างเมือง ตั้งมั่นยืนหยัดเป็นปึกแผ่นขึ้นมาใหม่ เหตุการณ์เรือปืนฝรั่งเศสบุกเข้ามาถึงพระนคร  เมื่อพ.ศ.2436 วิกฤตการณ์ที่ล่อแหลมต่อเอกราชของชาติอย่างยิ่ง ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญ ที่ทำให้สยามประเทศต้องเร่งพัฒนาในทุกด้าน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “วิกฤต ร.ศ.112” มูลเหตุจากปัญหาพิพาทที่เมืองคำม่วน ดินแดนลาว ติดเขตแดนเวียดนาม ซึ่งขณะนั้นในปีพ.ศ.2436 หรือรัตนโกสินทร์ศก(ร.ศ.)112 ลาวเป็นดินแดนในอาณัตของสยาม

22 พ.ค. 2436 ทหารฝรั่งเศสในเวียดนามบุกเข้าเมืองคำม่วน พระยอดเมืองขวาง(ขำ ยอดเพชร) ข้าหลวงเจ้าเมืองนำทหารต่อสู้ ทำให้ผู้บังคับบัญชาทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต ฝ่ายฝรั่งเศสประท้วงขอให้ไทยส่งตัวพระยอดเมืองขวางให้ฝรั่งเศส แต่ฝ่ายไทยไม่ยอม เรื่องยืดเยื้อมากระทั่งวันที่ 13 ก.ค.2436 ฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ และเรือสินค้าซึ่งเป็นเรือนำร่องอีก 1 ลำ เข้ามามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดการยิงปะทะด้วยปืนใหญ่บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เรือนำร่องฝรั่งเศสจม 1 ลำ ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ส่วนฝ่ายไทย เรือหลวงมกุฏราชกุมารถูกยิงเสียหาย ทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 40 นาย แต่สุดท้ายเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำ ก็แล่นผ่านเข้ามาจอดลอยลำอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ย่านเจริญกรุง (ปัจจุบันคือบ้านพักเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ใกล้โรงแรมโอเรียลเต็ล) โดยสมทบกับเรือรบฝรั่งเศสอีก 1 ลำที่จอดลอยลำอยู่ก่อนแล้ว

เรือรบฝรั่งเศสที่เข้ามาถึงพระนคร โดยหันปากกระบอกปืนมาทางพระบรมมหาราชวัง ทำให้ชาวพระนครหวาดกลัวพากันอพยพหนีภัย ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ไทยตอบรับใน 48 ชั่วโมง โดยเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง(ลาว กัมพูชา) พร้อมเงินสด 3 ล้านฟรังก์เป็นค่าปรับที่ไทยยิงเรือฝรั่งเศส ระหว่างนั้นฝรั่งเศสเคลื่อนกำลังเข้ายึดเมืองจันทบุรี
วิกฤติการณ์ที่มีเอกราชของชาติเป็นเดิมพัน สร้างความโทมนัสให้แก่ล้นเกล้ารัชดกาลที่ 5 เป็นอย่างยิ่ง ทรงจำยอมรับเงื่อนไขเพื่อรักษาเอกราชของชาติ

สำหรับเงินค่าปรับ 3 ล้านฟรังก์นั้น แม้จะนำ "เงินถุงแดง" หรือเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเก็บสะสมกำไรจากการส่งสำเภาไปค้าขายกับต่างชาติเอาไว้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ต่างรวบรวมทรัพย์สินเข้าสมทบจนครบ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เสด็จอาของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชมารดาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงเลี้ยงดูล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 มาตั้งแต่พระเยาว์ เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงบริจาคสมทบมากที่สุด

เงินค่าปรับที่จ่ายให้ฝรั่งเศสนั้น เป็นเหรียญทองเม็กซิโกรวมทั้งหมด 801,282 เหรียญ ซึ่ง 1 เหรียญเท่ากับ 3.2 ฟรังก์ น้ำหนักของเงินเหรียญทั้งหมดรวมกันกว่า 23 ตัน ต้องขนกันทั้งวันทั้งคืนใส่รถออกจากประตูต้นสน พระบรมมหาราชวัง ไปลงเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์ เพื่อให้ทันตามกำหนด 24 ชั่วโมงที่ฝรั่งเศสยื่นคำขาด ล้อรถเที่ยวแล้วเที่ยวเล่าที่บรรทุกน้ำหนักเงินเหรียญ 23 ตันนั้น กดทับจนทำให้หินปูถนนเกิดรอยสึก

120ปีร.ศ.112ความปราชัยที่ทำให้แข็งแกร่ง เรือฝรั่งเศสลอยลำอยู่ในพระนคร

สมชาย ชัยประดิษฐ์รัก นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจ.สมุทรปราการ และ พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เห็นตรงกันว่า การรบที่ป้อมพระจุลจอมเกล้านั้น นายทหารผู้บัญชาการป้อมปืนและเรือรบฝ่ายไทย ล้วนเป็นฝรั่งต่างชาติทั้งสิ้น ทำให้อาจไม่มีจิตใจสู้รบปกป้องเอกราชเท่าคนไทยเจ้าของแผ่นดิน

“ไม่เพียงแต่นายทหารเรือ แต่สมัยนั้นฝรั่งต่างชาติยังเป็นผู้ดูแลกิจการต่างๆ ทั้งโทรเลข และรถไฟอีกด้วย เพราะเป็นช่วงที่กำลังเริ่มพัฒนาประเทศ หลังวิกฤติการณ์ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปศึกษาวิชาการสมัยใหม่ทุกด้านในทวีปยุโรป เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศ จนทำให้เรายืดหยัดได้ด้วยตัวเองอย่างมั่นคง นี่คือคุณูปการสำคัญของวิกฤติร.ศ.112”สมชายกล่าว

แม้จะทรงโทมนัสดังทรงมีพระราชหัตเลขา ส่งพระราชนิพนธ์ถึงพระบรมวงศ์ใกล้ชิดตอนหนึ่งว่า

“เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์     มนะเรื่องบำรุงกาย
ส่วนจิตบ่มีสบาย            ศิระกลุ้มอุราตรึง
แม้หายก็พลันยาก         จะลำบากฤทัยพึง
ตริแต่จะถูกรึง               อุระรัดและอัตรา
กลัวเป็นทวิราช              บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจะนินทา           จึงจะอุดและเลยสูญฯ”

แต่พระปรีชาญาณของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ก็นำพาชาติบ้านเมืองผ่านพ้นภัยมาได้ วิกฤตร.ศ.112 ผ่านไปแล้ว 120 ปี ความเจ็บปวดในอดีตมิใช่เพื่อผูกแค้นสืบไป แต่ควรจะเป็นบทเรียนให้คนไทยตระหนักถึงการปรับตัวและเตรียมพร้อม เพื่อรับความท้าทายที่อาจจะเข้ามาเผชิญได้ทุกเมื่อ

ผลต่อเนื่องหลังวิกฤต

แม้ไทยจะยินยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ผลพวงของเหตุการณ์ร.ศ.112 ก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

2436
13 ก.ค. ฝรั่งเศสส่งเรือรบบุกเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา
15 ก.ค. ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี อ้างว่าเป็นประกันให้ไทยปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง แต่ฝรั่งเศสก็ยึดจันทบุรีต่อไปอีก 10 ปี

2446
13 ก.พ. ไทยและฝรั่งเศสทำสนธิ สยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 จุดเริ่มต้นการปักปันเขตแดนพื้นที่ลาวและกัมพูชา มีการตั้งคณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนและทำแผนที่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นข้อพิพาทเขาพระวิหาร ผลจากสนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ฝรั่งเศสยอมคืนเมืองจันทบุรี แต่เข้ายึดเมืองประจันตคิรีเขตต์ หรือเกาะกง และเมืองตราดแทน

2449
ไทยและฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907
6 ก.ค. ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากตราด แต่ยังยึดเกาะกงต่อไป แลกกับการที่ไทยยกดินแดนมณฑลบูรพา เสียงราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส

2496
กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส

2502
6 ต.ค. กัมพูชาฟ้องศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร

2505
15 มิ.ย. ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
15 ก.ค. ไทยถอนกำลังและยกเสาธงชาติลงจากปราสาทพระวิหาร

2551
7 ก.ค. คณะกรรมการมรดกโลก ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
15 ก.ค. ไทยส่งกำลังเข้าพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นครั้งแรกในรอบ 49 ปี เพื่อรักษาสิทธิอธิปไตย ส่งผลให้เกิดปัญหาพิพาทกับกัมพูชาตามมา

2554
28 เม.ย. กัมพูชาฟ้องศาลโลกให้ตีความคำพิพากษา 2505
18 ก.ค. ศาลโลกกำหนดมาตรการชั่วคราวให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท

ฝรั่งเศสหมายยึดไทยฉลองวันชาติ

สมชาย ชัยประดิษฐ์รัก นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองปากน้ำ ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์ร.ศ.112 อย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ว่าฝรั่งเศสเรียกค่าปรับเราเพราะอ้างว่าเราเป็นฝ่ายยิงก่อน ทั้งที่ฝรั่งเศสนั้นจงใจจะรุกรานเรา เขาเลือกที่จะนำเรือรบเข้ามาทางปากน้ำช่วงเย็นวันที่ 13 ก.ค.เพราะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด เรือแล่นผ่านสันดอนปากแม่น้ำได้ เหตุผลที่ซ่อนเร้นของฝรั่งเศสคือ เขาต้องการนำเรือมาถึงกรุงเทพในช่วงเช้าวันที่ 14 ก.ค. ซึ่งเป็นวันชาติฝรั่งเศส เขาต้องการให้ธงชาติโบกเหนือกรุงเทพในวันชาติของเขา เหตุที่เราจำยอมทำตามข้อเรียกร้องมิใช่แค่เรือรบ 3 ลำที่เข้ามา เพราะ 3 ลำนั้นเป็นเรือขนาดเล็กระวางแค่ 600 ตัน แต่ในอ่าวไทย ฝรั่งเศสนำเรือรบขนาดใหญ่ระวาง 3,000 ตันมาจอดรออยู่อีกมาก นี่คือเหตุผลที่เราต้องจำยอม

คดีพระยอดเมืองขวาง

ออกุสต์ ปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส กล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางเป็นฆาตกร ทำร้ายนายกรอสกุรังผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสขณะนอนป่วยอยู่ในที่พัก จึงขอตัวให้ฝรั่งเศสลงโทษ รัชกาลที่ 5 โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร แม่ทัพใหญ่อีสานใต้เป็นประธานคณะผู้พิพากษา ตัดสินว่าพระยอดเมืองขวางไม่มีความผิดตามฟ้อง ทำให้ ลาเนสซัง ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนของฝรั่งเศสไม่พอใจ และขอให้จัดตั้งศาลผสมไทย-ฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน สยาม 2 คน ในที่สุดศาลตัดสินให้จำคุกพระยอดเมืองขวาง 20 ปี ด้วยเสียงข้างมาก 3 เสียงของฝ่ายฝรั่งเศส

พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกอยู่ 4 ปี ก็ได้รับอิสรภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ 500 บาท และยกย่องเป็นวีรบุรุษผู้รักชาติ พระยอดเมืองขวางล้มป่วยและเสียชีวิตเมื่อพ.ศ. 2443 อายุได้ 48 ปี เป็นต้นสกุล "ยอดเพชร" และ "กฤษณมิตร"