posttoday

เด็กต้านแถวเคารพธงชาติ-สวดมนต์

11 กรกฎาคม 2556

การที่สังคมผลักไสเด็กเหล่านี้ออกไป อาจทำให้เขาตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่แอบอ้างประชาธิปไตย แต่กระทำการผิดกฎหมาย

โดย...อานิก อัมระนันทน์ /www.facebook.com/anik.amranand

เด็กมัธยมปลายคนหนึ่ง (นายกิตติ วิวัฒน์สัตยา) ให้สัมภาษณ์ความว่า “การเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์ตอนเช้าของนักเรียนไม่ได้ช่วยให้เป็นคนดีคนเก่ง ซ้ำยังเป็นการยัดเยียด “ความคลั่งชาติ” และรูปแบบของศาสนาที่ “ไร้แก่น” ให้กับนักเรียนไทยด้วย”

ปรากฏว่าถูกรุมประณามอย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ ตั้งแต่ “ชั่ว เปรต นรก จัญไร... เสียชาติเกิด” ไล่ออกไปจากเมืองไทย ไปจนถึง “น่าตัดหัว...ทั้งโคตร”

ลองพิจารณาปรากฏการณ์นี้ใน 3 แง่มุมสั้นๆ คือ เรื่องที่เด็กวิจารณ์ ปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ และนัยทางการเมือง
1. ขอฝากถึงภาครัฐและฝ่ายการเมืองที่ดูเรื่องการศึกษา

  • หากเราต้องการประเทศไทยที่เข้มแข็ง+แข่งขันได้+เป็นประชาธิปไตย (ที่ใช้ปัญญามากกว่าอารมณ์ความเชื่อ) +เป็นสังคมแห่งปัญญาที่มีสันติสุข การศึกษาต้องส่งเสริมให้เด็กมีความคิดวิเคราะห์ เปิดให้ท้าทายจารีตหรือกระแสความเชื่อ แต่ต้องคิดด้วยเหตุผล+ข้อเท็จจริง+ความสุจริตใจ และควรแสดงออกด้วยความสุภาพ มีกาละเทศะ (เพื่อจูงใจให้เกิดการสนทนา)

 

  • การสวดมนต์มีประโยชน์ระดับหนึ่ง แต่หากเด็กได้ฝึกสมาธิและศึกษาธรรม (ด้วยการปฏิบัติไม่ใช่ท่องจำ) ก็จะได้ฝึกจิตให้บริสุทธิ์ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงแก่นของศาสนาพุทธ ที่ในระดับหนึ่งก็ไม่ขัดแย้งกับศาสนาอื่น และยังทำให้สมองมีพลังด้วย

 

  • การเข้าแถวร้องเพลงเคารพธงชาติเป็นการฝึกวินัย แต่ความรักชาติควรอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมายกติกา รู้จักทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่คดโกง ไม่สยบต่อการโกง และไม่ชื่นชมนับถือคนโกง

2.เรื่องปฏิกิริยารุนแรงต่อบทสัมภาษณ์ เห็นแล้วรู้สึกอึดอัดมาก ยังดีที่มีส่วนน้อยในเกือบ 3,000 ความเห็นที่ได้สุ่มดู ที่เขียนด้วยความเมตตาแม้ลึกๆ จะเห็นด้วยกับคนส่วนใหญ่ว่าเด็กคิดผิดมาก

ใจชื้นที่มีบางคนแม้จะน้อยนิดที่แสดงออกด้วยความมีสติ คนหนึ่งเตือนว่า “คนรักชาติ และศาสนิกชน นี่น่ากลัวจริงๆ” อีกคนชี้ว่า การเลิกประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตรในอดีตนั้นก็เป็นการตัดสินใจที่ฝ่าฝืนจารีตประเพณี แต่ปัจจุบันน่าจะเป็นความภูมิใจอันหนึ่งของคนไทย อนึ่ง เด็กๆ ชี้ว่าการยืนเคารพธงชาติเป็นจารีตที่สร้างใหม่

มีการแชร์เรื่องดังกล่าวโดยโปรยหัวว่า “อยากรู้ว่าส่งเสริมความคลั่งชาติยังไง ลองอ่านคอมเม้นดู 5555” หมายความว่า กรณีด่าทอนี้เป็นอาการหนึ่งของความคลั่งชาติ

สังคมเราจะมีปัญหาและอ่อนแอมาก หากการเห็นต่างของเด็กหรือใครก็ตามไม่สามารถรับฟังได้ และปฏิกิริยารุนแรงนี้ก็ไม่มี “ความเป็นไทย” สักเท่าไร

  • ความเป็นไทยอย่างหนึ่งคือ ความเมตตาโอบอ้อมอารี ซึ่งรวมถึงการทนฟังทนอยู่กับความแตกต่าง (Tolerance) ด้วย นี่เป็นจุดแข็งของสังคมไทย ที่ทำให้ต่างชาติมองว่า “งดงามด้วยความหลากหลาย”

 

  • อีกอย่างคือความเสรี เสรีที่จะพูดจะแสดงออก โดยมีขอบเขตของกาลเทศะและความนอบน้อม ตั้งแต่การไม่ล่วงละเมิดผู้อื่นจนถึงสัมมาคารวะ

ดิฉันได้ดูคลิปสัมภาษณ์ของนายกิตติ พบว่าเขาพูดจาสุภาพ และมีเหตุมีผลใช้ได้เป็นส่วนมาก ได้ไปสืบค้นดูแฟนเพจของเด็กนักเรียนกลุ่มนี้คือ สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย และได้ดูรายการย้อนหลังเกี่ยวกับปฏิรูปการศึกษา เป็นการเสวนาระหว่างรองศาสตราจารย์ 2 คน กับนักเรียนมัธยม 2 คน หนึ่งในนั้นคือ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เลขาธิการสมาพันธ์

ยอมรับว่าประทับใจในความฉะฉานและความใฝ่รู้ของเขามาก เสียดายที่ดูเหมือนจะไม่เห็นคุณค่าของกฎกติกา และพูดจาไม่มีหางเสียง เขายอมรับว่าตนเองไม่มีสัมมาคารวะ แต่ขอให้ผู้ฟังแยกแยะ “คนดีไม่ใช่คนเรียบร้อย เข้าวัดทำบุญ ทำตามกฎระเบียบ” ..แต่ต้องกล้าทางจริยธรรม “เห็นสิ่งผิดต้องตักเตือน ต้องเลือกข้าง คนเป็นกลางเห็นแก่ตัว” ต้องชมเชยโรงเรียนที่ให้เขาเป็นเขา

3.นัยทางการเมืองของปรากฏการณ์นี้ ดิฉันเห็นด้วยกับเสียงส่วนน้อยนิดที่ได้แชร์เรื่องนี้ว่า “เมืองไทยนี่ประชาธิปไตยเสรีทางความคิดจริงหรือเปล่านะ ส่งเสริมให้ทุกคนคิดเหมือนกัน คนคิดต่างโดนประณาม โดนด่า บอกให้ออกนอกประเทศ”

นายกิตติได้แสดงจุดยืนทางการเมืองอยู่ข้างมวลชนและประชาธิปไตย ซึ่งเขาบอกว่าคือคนเสื้อแดง เขาคิดว่ากลุ่มหน้ากากขาวพยายามต่อต้านระบอบทักษิณ ทั้งๆ ที่ “ตายไปแล้ว” กับการรัฐประหารปี 2549 ตรงนี้น่าเป็นห่วงมากเพราะ “น้อง” ดูหมือนจะไม่รู้ว่าระบอบทักษิณคืออะไร? ปัจจุบันกำลังเรืองอำนาจขนาดไหน? ส่วนนายเนติวิทย์ไม่ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองในคลิปที่เห็น

ดูเหมือนค่ายโทรทัศน์ที่สนับสนุนระบอบทักษิณเชิญกลุ่มนี้มาออกรายการบ่อย สงสัยว่าพวกเขายังไม่ได้รับทราบข้อมูล “ความจริงอีกด้าน” ซึ่งโรงเรียนควรจะได้นำเสนอให้นักเรียนมัธยมถกเถียงกัน

หากได้รับฟังและไตร่ตรองแล้วจะเชื่ออย่างไรคงเป็นสิทธิของพวกเขา แต่การที่สังคมผลักไสเด็กเหล่านี้ออกไป อาจทำให้เขาตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่แอบอ้างประชาธิปไตย แต่กระทำการผิดกฎหมาย ละเมิดเสียงข้างน้อย และกอบโกยประโยชน์บ้านเมือง