posttoday

ป.ป.ง.แจงขั้นตอนยึดทรัพย์เณรคำ

05 กรกฎาคม 2556

หลักฐานพิสูจน์เจตนา

หลักฐานพิสูจน์เจตนา

โดย..ธนก บังผล  

จากกรณีที่ลูกศิษย์ของพระวิรพล ฉัตติโก หรือเณรคำ เดินทางมายังกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ระงับการยึดทรัพย์ของเณรคำ โดยมีข้อความบอก ป.ป.ง.ต้องรับผิดชอบหากเณรคำไม่ผิด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมเคลือบแคลงเส้นทางการเงินของเณรคำ น้อยกว่า พฤติกรรมที่ถูกยืนยันว่าอวดอุตริชัดเจน

คนที่จะไขข้อสงสัยให้ศิษยานุศิษย์ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เณรคำ เรื่องยึดทรัพย์ จึงไม่พ้น
พ.ต.ท.ธีรพงษ์ ดุลยวิจารณ์  นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สํานักตรวจสอบและวิเคราะห์ ปปง.

ล่าสุดได้มีการแก้ไขกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยมีการตราพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 ซึ่งอยู่ในการบังคับใช้ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) มี 21 ความผิดมูลฐาน รวมกับ ความผิดมูลฐานตามกฏหมายอื่นอีก 3 ฉบับ รวมความผิด 24 มูลฐาน

พ.ต.ท.ธีรพงษ์ เผยว่า ข้อกฎหมายฟอกเงินในปัจจุบันมีอยู่แล้ว โดยมีการตราพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 ระบุ 24 มูลฐานความผิดไว้ชัดเจน และไม่ได้ยึดทรัพย์ได้ด้วยตัว เลขา ป.ป.ง.         

ขั้นตอนการยึดทรัพย์ ในส่วนหน้าเสื่อการทำงานของ ป.ป.ง. ที่น่าสนใจใน 24 มูลฐานความผิดนั้น เช่น มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ในคดีอาญา แม้แต่ไปฟ้องร้องที่ศาล หรือยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ง.แล้วรวบรวมหลักฐานเมื่อ ปปง.ได้รับเรื่องร้องเรียน จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรม ซึ่งมี 5 คนตามที่กฎหมายระบุเป็นผู้พิจารณา ร่วมด้วย 1.ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม 2.ตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 3.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 4.คณะกรรมการอัยการ 5.เลขาธิการ ป.ป.ง. เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมหากคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาว่าข้อร้องเรียนนั้นเข้าข่ายมูลฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน โดยทาง ป.ป.ง. จึงจะทำการรวบรวมทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิด ว่าเกิดขึ้นหรือได้มาเมื่อปีใด มีอะไรบ้าง  เสนอความเห็นให้กับคณะกรรมการธุรกรรม อีกครั้งเพื่อให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาทรัพย์สินว่ามีอะไรที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงจะอนุมัติให้ยึด แล้วทำการอายัดชั่วคราวภายในเวลา 90 วัน นับจากวันที่ ป.ป.ง.ได้รับทรัพย์สินขั้นตอนนี้จะต้องแจ้งให้เจ้าของมาชี้แจงทรัพย์สินที่ถูกยึด ว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว 1.อาจจะไม่มาชี้แจง หรือ 2.ชี้แจงเป็นหนังสือ“ทาง ป.ป.ง.จะเสนอคณะกรรมการธุรกรรมอีกรอบ ว่าข้อมูลที่เจ้าของชี้แจงนั้นฟังได้หรือไม่ สมมติมี 100 รายการ มี 90 รายการที่เกี่ยว อีก 10 รายการไม่เกี่ยว คณะกรรมการธุรกรรมจะมีมติเพิกถอน โดยทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องจะส่งให้พนักงานอัยการ ส่งต่อไปยังศาลแพ่ง สั่งให้เป็นของแผ่นดิน” พ.ต.ท.ธีรพงษ์ เล่าลำดับการทำงานโดยเจ้าของทรัพย์สิน ยังสามารถไปต่อสู้เรียกร้องในชั้นศาลได้อีก

อาจทำให้ผู้ได้รับริจาคเงินคลายความวิตกได้ลงบ้าง ตามแนวทาง ป.ป.ง.นี้
จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลจึงถือเป็นอันสิ้นสุด ซึ่ง ป.ป.ง.มีหน้าที่เพียงรวบรวมหลักฐาน การสืบหา พิสูจน์ระยะเวลาการครอบครอง การกระทำความผิด จากฐานข้อมูลและที่มีผู้มาให้ข้อมูล

กรณีทรัพย์สินของเณรคำที่ลูกศิษย์ให้เลิกอายัดนั้น พ.ต.ท.ธีรพงษ์ กล่าวว่า ข้อกฎหมายฟอกเงินมีอยู่แล้ว ไม่ได้ยึดด้วยตัวเลขา ป.ป.ง.

“จะเห็นได้ว่าตัวแทนศาล อัยการ และอื่นๆจะพิจารณาร่วมกัน ถ้าชี้แจงได้ มีเหตุผล ก็ให้ความเป็นธรรม หลักฐานต่างๆนั้นทางกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) จะเป็นผู้ไปดำเนินการ พร้อมกับหลักฐานที่ทางผู้ร้องแจ้งมา ถามว่า ป.ป.ง.รับผิดชอบได้ไหม ป.ป.ง. มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะมองเรื่องนี้เป็นสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่ากฎหมายฟอกเงินกระทบสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่ง แต่ก็ยกเว้นไว้ให้ป.ป.ง.ได้ ซึ่งปกติแล้วผู้เสียหายมักจะต่อสู้ร้องคืนในทุกขั้นตอน”

แม้จะมีคำถามอยู่ว่าจะกลัวเงินบริจาคถูกอายัดทำไม เพราะได้มาฟรี

“เราเข้าใจว่าเงินบริจาคนั้นมาจากจิตประสงค์ทำบุญ แต่ต้องดูว่าการรับบริจาคนั้นมีจุดมุ่งหมายแท้จริงเป็นอย่างไร ถ้าไม่ตกในส่วนพระพุทธศาสนา อย่างที่เราเห็นทรัพย์สินที่เป็นข่าวได้มาอย่างไร ทั้งบ้าน ที่ดิน ผมว่าสุดท้ายแล้วมันจะย้อนกลับไปว่าเป็นอย่างไร” พ.ต.ท.ธีรพงษ์ กล่าว

นัยหนึ่งอาจหมายความว่า สุจริตตั้งแล้วไซร้ ใครก็ทำอะไรไม่ได้