posttoday

คลิปเปลี่ยนชีวิต...จาก"ดีเจจั๊ด"สู่การเมือง

23 มิถุนายน 2556

สัมภาษณ์พิเศษ จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" กับความพลิกผันจากดีเจสู่การเมือง

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

หากเอ่ยชื่อ “ธีมะ กาญจนไพริน” อาจจะเป็นที่รู้จักของผู้คนไม่มากนัก แต่ถ้า “ดีเจจั๊ด” หลายคนคงคุ้นหูในฐานะพิธีกรรายการ “ฟ้าทะลายโจร” ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “บลูสกายแชนแนล” และล่าสุดเขาถูกแต่งตั้งให้เป็นโฆษกผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

“จัดก์” (Judge) เป็นชื่อนำหน้าของโลชั่นบำรุงผมยี่ห้อหนึ่ง ที่แม่เขานำมาเป็นชื่อลูกชายที่เกิดในปี 2525 ซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักและจดจำของคนฟังมากกว่า “ธีมะ” และเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในนาม “จัดก์จัด” เมื่อชีวิตพลิกผันตกกระไดพลอยโจนเข้าสู่แวดวงการเมืองทำรายการผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “บลูสกายแชนแนล” ที่เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไม่ตั้งใจ หลังถูกปลดพ้นผังรายการวิทยุของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมเมือง 2554

จุดเปลี่ยนชีวิตอยู่ที่คลิปไม่กี่นาทีในยูทูบ เมื่อดีเจคลื่นบันเทิงนึกครึ้มออกมาวิพากษ์การแก้ปัญหาน้ำท่วมของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) แบบถึงพริกถึงขิง จนยอดวิวแตะหลักหมื่นเพียงชั่วข้ามคืน และร้อนแรงต่อเนื่องถึง 8 แสนวิว และนั่นทำให้เส้นทางชีวิต “ดีเจจั๊ด” เริ่มเบนเข็มเข้าสู่ถนนการเมือง

ดีเจจั๊ด ซึ่งออกตัวว่ายังเป็น “อนุบาลการเมือง” เริ่มต้นย้อนที่มาที่ไปของคลิปดังกล่าวว่า “กอล์ฟ เพื่อนนิเทศฯ จุฬาฯ เป็นคนยุให้ทำคลิปลงยูทูบ เพราะดีตรงที่อยากพูดอะไรก็พูดออกมาในสื่อของเราได้เลย เราก็เปิดคอมพิวเตอร์ในห้องนอนตัวเอง อัดเสร็จก็เอาขึ้น พอดีตอนนั้นเรื่องน้ำท่วมมันน่าจะไปโดนใจคนส่วนใหญ่

“คืนวันพฤหัสอัพลงยูทูบ วันศุกร์ยังไปทำงานจัดรายการได้ปกติ วันเสาร์-อาทิตย์หยุด วันจันทร์มาโดนพักงาน มีโทรศัพท์มาตอนเช้าว่าไม่ต้องมาจัดแล้ว ตอนนั้นก็นึกว่าจะพักสั้นๆ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยโดนพักงานมาก่อนเมื่อตอนไปเปิดคลิปเสียงคุณสมัคร สุนทรเวช ร้องเพลงออกรายการ ตอนนั้นโดนพัก 1 สัปดาห์ แต่ครั้งนี้พักยาวประมาณ 1 เดือน จนหมดสัญญาพอดี คือถ้าให้เราออกวันที่เราทำคลิป เขาต้องจ่ายค่าชดเชย แต่นี่พักงานยาวก็เหมือนไล่ออกกลายๆ”

หลังเตะฝุ่นอยู่ได้ไม่ถึงเดือน “ดีเจจั๊ด” ก็ถูกทาบทามให้มาจัด “ฟ้าทะลายโจร” หนึ่งในรายการแรกๆ ยุคบุกเบิกของสถานีบลูสกายแชนแนล โดยให้คอนเซ็ปต์มาว่า อยากให้จัดรายการเหมือนที่ทำในยูทูบ หลังจากตกปากรับคำในครั้งนั้น ขาข้างหนึ่งของเขาจึงเริ่มก้าวเข้าสู่ถนนการเมือง

“ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้อะไรมากมายว่า บลูสกายแชนแนล คือสื่อที่เป็นลักษณะเป็นกระบอกเสียง จะต้องเข้ามาเกี่ยวโยงกับพรรคการเมือง”

คลิปเปลี่ยนชีวิต...จาก"ดีเจจั๊ด"สู่การเมือง

อีกด้านหนึ่ง “จั๊ด” ยังเป็นเพื่อนกับ “ณช” ซึ่งเป็นผู้ช่วย “กรณ์ จาติกวณิช” ทำให้ต่อมา “จั๊ด” ถูกติดต่อให้ไปร่วมทำงานเป็นหนึ่งในทีมผู้ช่วย สส. ติดตามไปปฏิบัติภารกิจกับ “กรณ์” ในบางโอกาส และหลังๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคเห็นฝีไม้ลายมือ จึงชักชวนขึ้นเวทีเดินหน้าผ่าความจริง

จนกระทั่ง “อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ” ลาออกจากตำแหน่งโฆษกผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม สส.ดอนเมือง ทำให้ “กรณ์” โทรศัพท์มาสอบถามว่าสนใจตำแหน่งนี้หรือไม่ และหลังจากพูดคุยกันในรายละเอียด ชีวิตของดีเจจั๊ดก็ก้าวสู่ถนนการเมืองแบบเต็มตัว ชนิดที่เจ้าตัวเอ่ยปากว่า คงกลับไปเส้นทางบันเทิงไม่ได้แล้ว

“ผมเป็นคนที่เลือกเองว่าจะเดินออกมาจากบันเทิง ตรงนี้ชัดเจนปุ๊บ ก็ต้องอยู่ตรงนี้ต่อไป และไม่ได้รู้สึกอึดอัด ไม่ได้ฝืนตัวเอง สิ่งที่ทำอยู่ โอเคว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ใฝ่ฝัน คนเราคงไม่ได้โชคดีทุกคนที่ฝันอะไรแล้วได้ทำแบบนั้น”

ดีเจจั๊ด เล่าต่อว่า มันเหมือนกับการปรับเปลี่ยนสองขยัก คือ ตอนแรกขยับจากสื่อมวลชนด้านบันเทิงมาเป็นด้านการเมือง ก่อนจะขยับมาการเมืองเต็มตัว และใครที่เคยฟังรายการวิทยุบันเทิงก็จะรู้ว่าเขาเล่าข่าวฮอตฮิตบางวันก็อาจมีเรื่องการเมือง แต่ไม่หนักขนาดที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นสิ่งที่ทำอยู่จึงไม่ได้ฝืนแต่ก็ยังมีจุดอ่อนคือ หนึ่งประเด็นข่าวเศรษฐกิจ ค่าเงิน ตลาดหุ้น และสองข่าวที่เกิดขึ้นก่อนที่เราจะมาคลุกคลีหนักๆ เอาแค่ข่าวสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องทำการบ้านเยอะ

“ผมก็เหมือนคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ รับไม่ได้กับทุจริตคอร์รัปชั่นแบบมโหฬาร ตอนเขาเข้ามากระแสแรงมาก นิวคัมเมอร์ เป็นความหวังนะ ทำลายกรอบเดิมๆ จากการเมืองที่เราเคยเห็นมา แต่เก่งขนาดไหน ถ้าทุจริตก็รับไม่ได้ โดยเฉพาะทุจริตแตกต่างจากสมัยก่อน ทุจริตไปตามน้ำ แต่ตอนนี้มีการครีเอทโครงการ ร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปตามนั้น แต่เพื่อเอาตังค์”

ดีเจจั๊ดมองปรากฏการณ์คนบันเทิงเดินเข้าสู่ถนนการเมืองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าคนวงการไหนก็สามารถเข้ามาเล่นการเมืองได้ แต่ที่อยากปรับก็คือให้ทุกคนสามารถพูดเรื่องการเมืองได้ สมมติเรื่องพี่เท่ง เถิดเทิง ถ้าพี่เท่งจะรักทักษิณ ก็ปล่อยเขาไป อันนี้พูดใจจริงเลยนะ บางทีผมก็สื่อสารออกไปแบบนี้ไม่ได้ ทั้งกับฝั่งนู้นและกับฝั่งเราด้วย
เหมือนการเมืองอเมริกัน ดาราเขาเทคไซด์แบบชัดเจน ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยประธานาธิบดีระดมทุน เราต้องการให้การเมืองไทยเราชัดแบบนั้น ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าคนบันเทิงเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิด เพราะฉะนั้นพวกเขาควรจะใช้จุดเด่นในวิชาชีพของเขาให้เกิดประโยชน์ทางการเมือง จะดีมากถ้าคนในวงการบันเทิงไทยใช้คะแนนนิยมของตัวเองที่มีมาสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองบางอย่าง แบบที่หลายประเทศเขาทำกัน คือทำในทางที่สร้างสรรค์

“ผมไม่ว่าอะไรเลยถ้าวันหนึ่งพี่เท่งขึ้นเวทีปราศรัยแล้วบอกเลือกทักษิณเหอะ แล้วกลับไปเวิร์คพอยท์ แล้วไม่มีใครด่าเขา และที่สำคัญแล้วคือคนไทยเปิดไปดูรายการชิงร้อยชิงล้าน ยังดูเขาแล้วนี่ เท่งเหมือนกับสิ่งที่ผมโดนมา ผมไม่ได้ดังแบบพี่เท่งนะ แต่ผมรู้สึกว่าทำไมคนต้องมากลัวอะไรกับการที่อยู่ดีๆ คนทำงานสื่อ คนบันเทิง เหมือนมีปากมีเสียงหน่อย พอไปโจมตีตัวเอง ตัวเองมีอำนาจก็ให้เขาออก ทีวงการอื่นๆ ไปเทคไซด์ ทำไมคุณไม่ไปไล่เขาออก ทำไมคุณต้องมาไล่คนวงการสื่อ”

ในยุคที่ความขัดแย้งรุนแรงแบ่งข้างกันชัดเจน แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ก็มีเหตุการณ์ระทึกอยู่บ้าง คือ รถยนต์ถูกปล่อยลมยางแบน ที่กันชนโดนกรีดยาว แต่ก็เป็นครั้งเดียวที่โดนจังๆ ส่วนจะมีเฉียดๆ ก็อย่างเหตุการณ์เวทีผ่าความจริงของประชาธิปัตย์ ที่ จ.ลำพูน ซึ่งทำให้รู้สึกว่าความรุนแรงอยู่ใกล้ตัว

“เรื่องนี้ผมไม่กลัวเลยนะ ไม่รู้ทำไม เราก็แค่หลีกเลี่ยง ผมก็ไม่เที่ยวภาคเหนือ อีสาน ที่จะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองอึดอัด หรือถ้าเกิดมีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง เราเดินเข้าไปเราตาย ถ้ามีอย่างนั้นเราก็หลีกเลี่ยงไปไกลๆ ก็ไม่น่าน่ากลัวมาก ผมอยู่กับแม่ กับพี่สาว ก็จะเป็นห่วง โดยเฉพาะวันเสาร์ที่ไปเวที เคยมีแรกๆ ที่เปลี่ยนจากบันเทิงมาสู่การเมือง ก็ห่วงว่าว่าตัดสินใจถูกต้องแล้วหรือ แต่เขาก็ปล่อยให้เราตัดสินใจใช้ชีวิตของเรา แล้วก็แค่มองอยู่ห่างๆ”

ส่วนเป้าหมายทางการเมืองในอนาคต ธีมะ มองว่า อยากทำหน้าที่โฆษกผู้นำฝ่ายค้านให้ได้ดีก่อนตอนนี้ ส่วนถ้ามีโอกาสจะลง สส. ก็อยากลองดู แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร พื้นที่ต้องทำอย่างไร

แทตเชอร์ นักการเมืองในดวงใจ

ถ้าให้ตัดนักการเมืองในประเทศไทยออกไป “ธีมะ” ยกให้หญิงเหล็ก มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนักการเมืองในดวงใจ แม้อาจจะดูอนุรักษนิยม แต่เขาเห็นว่านี่คือสิ่งที่คนไทยขาด

“อย่าหาว่าเข้ามาการเมืองแล้วจะโจมตีประชาชนคนทั่วไป แต่บางทีคนไทยเองก็ลืมหันกลับไปมองตัวเองว่า ตัวเองทำอะไรเพื่อการเมืองบ้างหรือยัง เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายทุกบาททุกสตางค์หรือยัง

ที่ผมชอบมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เพราะสิ่งที่เขาทิ้งมรดกไว้ให้กับเรื่องของการเมือง การคลังของอังกฤษคือเรื่องวินัย อันนี้ไม่นับเรื่องชาตินิยมแบบบ้าคลั่ง ทำสงครามฟอล์กแลนด์ อย่างเรื่องสหภาพแรงงานมารวมตัวกัน แทตเชอร์ถามว่า ถ้าคุณอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ลองไหม ลองที่จะหยุดประท้วงแล้วไปทำงาน ผมว่าบางทีการเรียกร้องอะไรมากๆ โดยไม่ดูตัวเองว่าได้ทำอะไรดีที่สุดแล้วหรือยัง ก่อนที่เราจะมาเรียกร้องเอาทุกอย่างจากภาครัฐ บางทีก็เป็นอะไรที่เกินไป”

ธีมะ มองว่า ตอนนี้วินัยการเงิน การคลัง คือสิ่งที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนขาด รัฐบาลเองก็หลีกเลี่ยงวินัยการเงิน การคลัง ใช้วิธีพิสดารที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเงิน การคลังในประเทศไทยมาก่อน และนโยบายเหล่านั้นผลักให้ประชาชนไม่มีวินัยการเงิน ถูกผลักให้ไปซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น ค่าครองชีพที่แพง

โฆษกเชิงรุก ไม่ใช่องครักษ์พิทักษ์ "มาร์ค"

เข้าสู่ช่วงปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญในชีวิต แม้จะเคยผ่านงานพูดมาอย่างโชกโชน ทั้งงานดีเจ พิธีกร ไปจนถึงขึ้นเวทีปราศรัย แต่กับบทบาทใหม่อย่าง “โฆษกผู้นำฝ่ายค้าน” ธีมะ บอกว่า ยังต้องเรียนรู้อีกมาก

“คงจะต้องแถลงข่าวแทนท่าน (อภิสิทธิ์) ในบางประเด็น เพราะต้องยอมรับว่าคุณอภิสิทธิ์พูดเองทุกประเด็นปัญหา บางทีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เกินไป ถูกฝั่งตรงข้ามโจมตีเรื่องเดิมๆ ทั้งฆาตกร ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล การเกณฑ์ทหาร ผมว่าประเด็นพวกนี้ท่านไม่ควรจะลงมาอะไรแล้ว

ต้องทำงานในนโยบายเชิงรุก ไม่ใช่วันๆ มานั่งแต่ค้านอย่างเดียว แม้ว่าเราจะไม่มีงบประมาณถืออยู่เหมือนฝ่ายบริหาร แต่ก็มีทางที่เราจะทำอะไรได้ หรือถ้ามีกระแสข่าวที่กระเด็นไปถูกหัวหน้า ก็จะมาช่วยคุณชวนนท์ (อินทรโกมาลย์สุต) แถลงข่าว เพราะโฆษกพรรคงานหนักพอสมควร ตอนนี้เป็น สส. งานก็ยิ่งหนัก”

โฆษกมือใหม่กล่าวถึงเป้าหมายในการทำหน้าที่ว่าจะไม่เน้นเรื่องการสาดโคลนกันไปสาดโคลนกันมา แต่จะเน้นนโยบายเชิงรุก คนส่วนใหญ่มองเข้ามาจะรู้สึกว่างานโฆษกมีแค่อย่างเดียวคือมีอะไรมากองข้างหน้าแล้วก็พูด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ โฆษกเหมือนกับงานประชาสัมพันธ์องค์กร มันเหมือนกับงาน Customer Relationship Management การบริหารจัดการความสัมพันธ์ของลูกค้า

เรามีวิธีคิดที่จะขยายแนวความคิดทางการเมืองได้อีกหลายช่องทาง ไม่ใช่แค่พูด แถลงข่าว ยังมีอะไรให้ทำอย่างอื่นอีกเยอะมาก โดยเฉพาะสมัยนี้ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม สื่อออนไลน์ มีบทบาท การเป็นโฆษกเราต้องหยิบจับทุกอุปกรณ์การสื่อสารมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์งานของตัวผู้นำฝ่ายค้านให้ได้
ธีมะ กล่าวอีกว่า ต้องพยายามลองทำดูว่าจะทำได้หรือเปล่า ตอนนี้เป็นแค่เพียงช่วงเริ่มต้น พอเข้าไปนั่งแถลงครั้งแรก คงได้เห็นแนวทางข่าวว่าสื่อนั้นสื่อนี้ลงอย่างไร เราอาจจะได้เห็นเพิ่มขึ้นระหว่างทาง เหมือนตอนนี้ยังนั่งจินตนาการอย่างเดียว ยังจินตนาการไม่ออก ต้องลองทำดู ผลสัมฤทธิ์ของการทำตรงนั้นเป็นอย่างไร ค่อยๆ ปรับปรุงกันไป

คลิปเปลี่ยนชีวิต...จาก"ดีเจจั๊ด"สู่การเมือง

ส่วนกรณีที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยพาดพิงมายังผู้นำฝ่ายค้าน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่โฆษกจะต้องไปตอบโต้ชี้แจง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะตั้งธงโฆษกเป็นองครักษ์พิทักษ์ คอยแต่จะจ้องว่าวันนี้มีใครด่าหัวหน้าบ้าง นั่นไม่ใช่แก่นแกน ถ้าอันนี้เป็นแก่นแกน คนจะเบื่อ ตอนนี้คนเบื่อกับการด่าไปไม่มีจุดจบ บางทีต้องเซ็ตจุดจบให้ได้

การแถลงข่าวตอบโต้ ก็ตอบโต้แบบดีๆ ไม่ใช่ตอบโต้เสร็จแล้วด่ากลับ ให้เขากลับมาด่าเราอีกครั้ง แต่ต้องลองดู ไม่รู้จะเป็นอย่างไร ต้องตั้งหลักตัวเองไว้ก่อน หากเขาตั้งคำถามกลับมา เราก็หาคำตอบไปแถลง แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า อันนี้คิดแบบเด็กน้อย อนุบาลทางการเมืองซึ่งเริ่มเข้ามา มันต้องชื่นชมให้กำลังใจฝ่ายตรงข้ามบ้าง บางอย่างเหมือนเช่นการจำนำข้าว สมมติเรายื่นข้อเสนอ แก้ไขอย่างไรบ้างแล้ว เขาเดินตามแนวทางแก้ไข เราก็แค่ออกมาชื่นชมแนวทางการทำงานของรัฐบาล ที่อย่างน้อยก็ฟังและลดทอนอีโก้ของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเรายื่นข้อเสนอให้เขาแก้แบบนี้ พอเขาแก้แล้วเราก็หาเรื่องด่าเขาต่อ แต่ก็ไม่รู้จะได้หรือเปล่า

แม้จะผ่านงานด้านการพูดมาไม่น้อย แต่ “ธีมะ” มองว่างานใหม่ที่ได้รับเป็นงานหนักที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะการเข้ามาสู่การเป็นโฆษกการเมือง ต่างจากการเป็นพิธีกร แม้เบื้องหน้าคนมองเข้ามาเหมือนกัน ออกมาพูดเรื่องการเมือง แต่ไส้ใน ข้างใน ต่างกันมาก เนื้อหาที่เราจะพูดก็ไปคนละโทน จัดรายการก็ต้องพูดอย่าง แถลงข่าวพูดอย่าง ขึ้นเวทีพูดอย่าง

“เวลาขึ้นเวทีผ่าความจริง รูปแบบมันจะต้องปลุก ต้องมีท่อนฮุก ท่อนเอ ท่อนบี แล้วต้องมีท่อนฮุก เสร็จแล้วต้องลงจบฮุก ห้ามจบฮุกนาน ต้องมีฮุกใหม่อีกแล้ว เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ต้องเอาออก ลิสต์ประเด็นใหม่ ไม่ได้หมายความว่าบิดเบือน แต่เราต้องมีวิธีจัดคอนเทนต์ใหม่ให้ต่อกันแล้วรู้สึกว่า โอ้โห คนมีอารมณ์ร่วมไปกับเราได้”

ขณะที่การทำหน้าที่ในบทบาทของพิธีกรรายการฟ้าทะลายโจร การจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมาพูดก็ต้องอยู่บนหลักที่ หนึ่ง เป็นเรื่องข่าวร้อนของวันนั้น สอง มีรายละเอียดให้พูด สาม เรามั่นใจว่าเราพูดได้ทุกรายละเอียดของข่าวนั้น นี่คือสามองค์ประกอบหลักให้ข่าวใดข่าวหนึ่งเป็นข่าวหยิบขึ้นมาพูด แต่ว่าข่าวไหนก็ตามข่าวร้อน แต่รายละเอียดบางจุดเราบอด ยังหาคำตอบไม่ได้ บางทีก็จะจัดไว้หลังๆ แต่ไม่พูดได้เลยก็จะดี
การจัดรายการทางการเมือง เอามันอย่างเดียวไม่ได้ คนดูไม่ได้เอาสนุก เอาฮา เอาบันเทิง เขาดูเอาเนื้อหา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบให้ได้คือ ข้อมูลทุกอย่างต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้น แต่เราต้องหาคำตอบให้ได้ในทุกประเด็นที่เราจะพูดออกอากาศ

“ผมเข้ามา ประชาธิปัตย์ให้โอกาสคน หนึ่งผมไม่มีเงิน สอง ธีมะ กาญจนไพริน นามสกุลผมโนบอดี้ ไม่ได้เป็นซัมวัน ไม่มีทุนรอน ไม่มีแบ็กอัพ ไม่มีอะไรเลย มาด้วยตัวเดี่ยวๆ คนเดียว พร้อมกับความสามารถอย่างเดียวที่มีคือความสามารถในการสื่อสาร ตอนนี้ก็ขอทำตรงนี้ให้ดีที่สุดก่อน”

จาก “คนบันเทิง” ที่ปรับบทบาทเป็น “คนการเมือง” ที่เลือกสวมเสื้อฟ้า เดินหน้าไปกับประชาธิปัตย์ ธีมะ มองว่า เขาเลือกยืนอยู่ถูกฝั่ง เพราะมั่นใจ เลื่อมใสบุคลากรของประชาธิปัตย์ เลื่อมใสวิธีการทำงาน เสียสละมาทำงานการเมือง การบริหารประเทศไม่ใช่จะเอาใครขึ้นมาบริหารประเทศเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง หรืออะไรอย่างไร มันคือการแบกรับภาระอันใหญ่หลวงทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ทำงานช้า บริหารงานไม่เป็น” เลือดใหม่ประชาธิปัตย์คนนี้ยอมรับว่าจริงส่วนหนึ่ง ถ้าไม่มีมูลคงไม่มีใครสร้างวาทกรรมตรงนี้ขึ้นมาได้ แต่มองไปทางนั้นแบบเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ออกจะใจแคบไปหน่อย ภายในประชาธิปัตย์ก็รู้ตัวและพยายามก้าวออกจากจุดด้อยตรงนั้น แต่ไม่ได้หมายว่าเราจะก้าวพ้นในระยะเวลาเดือนสองเดือน เพราะเป็นสถาบันเก่าแก่ มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ผูกเป็นเงื่อนตายหลายชั่วอายุคน เพราะฉะนั้นการจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ต้องใช้เวลา เราก็ขอเวลาด้วย

ธีมะ ประเมินว่า พรรคยังมีจุดอ่อนเรื่องการสื่อสาร อย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ฉลาดในการนำเอาการตลาดมาจับการเมือง และทำก่อนประชาธิปัตย์เนิ่นนาน อีกองค์ประกอบที่ผ่านมาคือการเป็นรัฐบาลพรรค เดียวกับรัฐบาลพรรคผสมต่างกันมาก อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคนที่เป็นนายกฯ รัฐบาลพรรคเดียวกับพรรคผสมก็ต่างกัน สิ่งที่มุ่งหวังของประชาธิปัตย์ตอนนี้คือชนะเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ นั่นคือสิ่งที่ยากแล้ว ถ้าสมมติว่า|ยังไม่มีโอกาสที่ประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ก็ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่เห็นทำอะไรเลย