posttoday

น้ำตานักล่า โศกนาฏกรรม 'เขาดิน'

14 มิถุนายน 2556

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

สัตว์ป่าไม่ต่ำกว่า 1,600 ชีวิต หลบตัวอยู่ในการอำพรางของกำแพงปูนวาดลายสีน้ำมัน สัตว์เหล่านั้นดำรงอยู่ภายใต้ความร่มรื่นของแมกไม้เขียวครึ้ม

กรงเหล็ก ตาข่าย แอ่งน้ำ ร่องน้ำ ห้องจัดแสดง มีให้เห็นรายรอบพื้นที่ สวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) สิ่งเหล่านี้ถูกใช้เพื่อจำกัดอาณาบริเวณของสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆเพื่อระเบียบในการเยี่ยมชม และเหมาะสมสำหรับอนุรักษ์

แต่ละปีนักท่องเที่ยวกว่า 2.5 ล้านราย แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม จึงไม่แปลกที่ตลอดเส้นทางจะกังวานด้วยเสียงเริงร่าของเด็กน้อย สอดแทรกท่วงทำนองหยอกเอินระริกหนุ่มสาว มีเสียงชัตเตอร์ถ่ายภาพดังเป็นระยะ ตัดสลับด้วยเมโลดีโหยหวนและแววตาอิดโรยจากภายในกรง

น้ำตานักล่า โศกนาฏกรรม 'เขาดิน'

ในนั้น หมีหมาขนดำสนิท 2 ตัว กำลังเดินในจังหวะเนิบนาบ ลักษณะเชื่องช้าพะวักพะวนสิ่งมีชีวิตคู่นี้เดินวนเวียนอย่างไร้จุดหมาย เสมือนหนึ่งว่ารอคอยให้หมดวันอันแสนน่าเบื่อเพื่อตื่นขึ้นมาพบกับความน่าเบื่อจำเจอีกวัน

ไกลออกไป ... เสือดำเซื่องซึมถูกขังเดี่ยวในกรงขนาดใหญ่ ชายหนุ่มวัยกลางคนทำมือบุ้ยใบ้ชี้นิ้วพลางพูดคุยกับลูกน้อย เสือดำแหงนหน้าสบตา ไม่มีความหมายใดที่สัตว์ป่าเข้าใจ

หากได้ลองเพ่งมองพฤติกรรมของสัตว์ด้วยพินิจพิเคราะห์ จะพบว่าทั้งหมีหมาและเสือดำมีพฤติกรรมบางอย่างเหมือนกัน

อาการเดินของสัตว์ 2 ชนิดนี้ แสดงความผิดปกติเดินเป็นเส้นตรง จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในระยะทางสั้นๆ 3-5 เมตร เมื่อเดินไปแล้วก็จะกลับตัวเดินกลับวนเวียนอยู่เช่นนี้ในลักษณะย้ำคิดย้ำทำ ไม่รู้จะตัดสินใจเดินไปไหน

น้ำตานักล่า โศกนาฏกรรม 'เขาดิน'

"นี่คือภาพสะท้อนของพฤติกรรมซ้ำซาก เป็นอาการของโรคที่เกิดขึ้นจากความเครียด เพราะถูกจำกัดบริเวณ"คำอธิบายจาก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หมอนักอนุรักษ์ รางวัลลูกโลกสีเขียวปี 2550

“พฤติกรรมดังกล่าวเข้าขั้นรุนแรงแทบจะเป็นบ้า” เขาขยายความ

คุณหมอรังสฤษฎ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นกับสัตว์ที่เป็นนักล่า เพราะตามธรรมชาติของสัตว์กลุ่มนี้จะมีพื้นที่หากินที่กว้างใหญ่มหาศาล ดังนั้นเมื่อถูกจำกัดในสวนสัตว์ที่มีพื้นที่ไม่เพียงพอ เช่น สวนสัตว์ดุสิต สัตว์จึงเกิดความเครียด

"สวนสัตว์ไม่จำเป็นต้องมีสัตว์ครบทุกชนิด ควรคำนึงถึงความเหมาะสม ถ้าพื้นที่ไม่พอก็ไม่ควรนำสัตว์จำพวกนี้มากักขัง"นพ.รังสฤษฎ์ แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะว่า ปัจจุบันสวนสัตว์ควรดูแลสัตว์กลุ่มนักล่าให้ดีที่สุด และเมื่อสัตว์เหล่านี้ตายไปก็ไม่ควรนำเข้ากลับมาอีก

น้ำตานักล่า โศกนาฏกรรม 'เขาดิน'

สอดคล้องกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่พบว่าสัตว์ขั้วโลกที่นำมาจัดแสดงทั่วโลกเกือบทั้งหมดเป็นโรคเครียดหรือป่วยทางจิตและมีพฤติกรรมซ้ำซาก อันเนื่องมาจากความไม่เหมาะสมของสิ่งแวดล้อม

"เมื่อสัตว์ซึมเศร้าภูมิต้านทานก็จะต่ำ เขาจะป่วยง่ายและอายุไม่ยืน"นี่คือบทสรุป

สัญชัย จุลมนต์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบสวนสัตว์ 7 แห่งทั่วประเทศ ให้ข้อมูลว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นกับสัตว์ในสวนสัตว์ดุสิตยอมรับว่ามีจริง ไม่ขอปฏิเสธ และจะกำชับให้แก้ไขปัญหาโดยด่วน

"สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปล่อยปละละเลยของสวนสัตว์ผมจะสั่งการลงไปที่สวนสัตว์ดุสิตทันที"สัญชัย ระบุ

ขอภาวนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง