posttoday

เปิดผลสอบเชือด"ผอ.เภสัชฯ"

21 พฤษภาคม 2556

เปิดผลสอบข้อเท็จจริงของสธ.กรณีซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ-สร้างโรงงานผลิตยารังสิตเป็นเหตุฟันผอ.องค์การเภสัชกรรม

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เสนอรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์การเภสัชกรรมกรณี องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อวัตถุดิบพาราเซตามอลมาสำรอง และกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิตล่าช้าและรายงานเบื้องต้นกรณีการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ ไข้หวัดนก ระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน WHO-GMP เพื่อประกอบเหตุผลการให้ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล พ้นจากตำแหน่งผอ.องค์การเภสัชกรรม  มีรายละเอียดดังนี้

รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีองค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลและกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตล่าช้า

นายนิพนธ์  โพธิ์พัฒนชัย  ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีองค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อวัตถุดิบยาพาเซตามอลและกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตยาล่าช้ารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแก่ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ดังนี้ 

การพิจารณาของคณะกรรมการฯได้ยึดถือตามข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุขององค์การเภสัชกรรมร่วมกับเอกสารหลักฐานต่างๆ พบว่า วิธีการจัดซื้อววัตถุดิบด้วยวิธีพิเศษไม่สอดคล้องกับข้อบังคับฯ ส่วนการซื้อวัตถุดิบจำนวน 100 ต้น พบว่า มีการให้ข้อมูลก่อนการอนุมัติสั่งซื้อว่ายังไม่มีแผนการผลิต ไม่มีสถานที่เก็บและยังมีวัตถุดิบเก่าเหลืออยู่อีก 40 กว่าตัน รวมถึงมีการชะลอการส่งมอบ ทั้งที่ทำการจัดซื้อแบบเร่งด่วน เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการ Mass Production  ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงโรงงานซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถนำวัตถุดิบที่สั่งซื้อมาผลิตได้ 

ถือเป็นการตัดสินใจสั่งซื้อที่ไม่รอบคอบ  และกลายเป็นภาระขององค์การเภสัชกรรมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บวัตถุดิบ 100 ต้น นานหลายปี

นอกจากนี้วัตถุดิบดังกล่าวยังมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์การเภสัชกรรมด้วย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนทำให้ไม่สามารถนำมาผลิตได้ และหากส่งคืนวัตถุดิบไม่ได้ สุดท้ายต้องทำลายวัตถุดิบมูลค่า 20 ล้านบาททิ้ง กลายเป็นปัญหาเรื่องการสูญเสียทรัพย์สิน 

ส่วนโรงงาน Mass Production  ที่ก่อสร้างและปรับปรุงล่าช้า 2 ปี พบว่า แต่เดิมสัญญญาแรกต้องเสร็จภายใน 180 วัน แต่กลับขยายสัญญาถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกขยายไป 100 วัน และรอบสองอีก 180 วัน แต่กลับขยายสัญญาถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกขยายไป 100 วัน และรอบสองอีก 515 วัน  เพิ่งส่งมอบเมื่อเดือนเมษายน  ที่ผ่านมา  ส่อให้เห็นว่าการบริหารสัญญาไม่มีความรอบคอบ  เป็นเหตุให้องค์การเภสัชกรรมไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโรงงานในการผลิตยาตามเป้าหมายธุรกิจขององค์การเภสัชกรรมได้  ส่วนโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่รังสิตกำลังสอบสวนโดยเรื่องคุณสมบัติของเครื่องปรับอากาศที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ กำลังหาผู้รับผิดชอบและแก้ไขต่อไป

รายงานการสอบสวนเบื้องต้น กรณีการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ ไข้หวัดนก ระดับอุตสาหกรรม ตามาตรฐาน WHO-GMP ล่าช้า

นายสมชัย นิจพานิช ในฐานะประธานกรรมการสอบสวนในกรณีความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ ไข้หวัดนก ระดับอุตสาหกรรมมาตรฐาน WHO-GMP  ล่าช้า ได้รายงานผลการสอบสวนเบื้องต้น รายละเอียดดังนี้ 

องค์การเภสัชกรรมทำสัญญาจ้างในปี 2552 ผู้รับจ้างแบ่งเป็น 2 สัญญาใช้เวลาทั้งสิ้น 540 วัน นับตั้งตั่นที่ 18 กันยายน 2552 ครบกำหนดวันที่ 29 เมษายน 2554 แต่จนบัดนี้ยังไม่เรียบร้อย  โดยเหตุล่าช้ามีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่คือ

เรื่องฐานรากที่ต้องปรับใหม่  เนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้างมีปัญหาเรื่องน้ำใต้ดิน และชั้นหินแกรนิต สำนักงบประมาณอนุมัติในการแก้ไขฐานรากโดยใช้เวลาเพิ่มขึ้น

เรื่องน้ำท่วมปี 2554 และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ขยายสัญญาทั้ง 2 สัญญาเป็นเวลาสัญญาละ 100 วัน  ทั้ง 2 เหตุผลไม่น่ามีปัญหาซึ่งเป็นเรื่องพื้นที่และอุทกภัย

การออกแบบเพิ่มเติม ซึ่งองค์การเภสัชกรรมต้องประสานงานกับผู้รับจ้างลงรายละเอียดให้ถูกต้องตามแบบมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกัน ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า ซึ่งองค์การเภสัชกรรมยอมรับว่าเป็นความล่าช้าขององค์การเภสัชกรรมเองที่ให้ข้อมูลกับผู้รับเหมาล่าช้า คณะกรรมการสอบสวนจึงเห็นว่า ผู้อำนวยการเภสัชกรรมต้องรับผิดชอบในความล่าช้าที่เกิดขึ้น

มติที่ประชุม

ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า หากให้ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวนการองค์การเภสัชกรรมต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น  จึงเห็นควรเลิกจ้าง แต่เนื่องจากตามพ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 มาตรา 25 วรรค 2 กำหนดว่า การแต่งตั้ง การกำหนดเงินเดือน และการให้ออกจากตำแหน่ง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงให้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ