posttoday

ประชาชนแค่"เหยื่อต่อรองอำนาจ"

19 พฤษภาคม 2556

สุดท้ายประชาชนก็ต้องเป็นเหยื่อทั้งหมด เพราะเขาจะไม่ยิงหัวกันเพราะเขาขัดแย้งกันหรอก แต่เขาจะลากประชาชนออกมาแล้วยิง

โดย...ชุษณ์วัฎ ตันวานิช

“พฤษภาเลือด” ปี 2553 นับเป็นวิกฤตการเมืองที่เปรียบเสมือนค้อนยักษ์ตอกหมุดความขัดแย้งฝังลึกในสังคมไทยจนยากที่จะถอนโดยง่าย

พลเรือนและทหารเสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 นักโทษการเมืองกว่า 30 ชีวิตที่ตกค้างในเรือนจำ คือ ผลพวงของเหตุการณ์ที่ทิ้งเชื้อความขัดเเย้งให้ตกค้างมาถึงปัจจุบันและนับเป็นชนวนสำคัญอันส่งผลให้สองขั้วอำนาจยากจะ “ปรองดอง” เพราะเมื่อมีฝ่าย “สูญเสีย” ย่อมเกิดเสียงเพรียกหาฝ่าย “รับผิดชอบ”

ภารกิจล่าตัวการจึงตกอยู่กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ขึ้นสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งบนความวาดหวังของคนเสื้อแดงว่ารัฐบาลจะสานต่อภารกิจได้สำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์ที่ พ.ร.บ.ปรองดองนิรโทษกรรมเหมาเข่งกำลังคืบคลานเข้ามาอีกครั้ง เเม้จะเข้าสู่วันครบรอบ 3 ปี รำลึกเหตุการณ์นองเลือดก็ตาม

“โพสต์ทูเดย์” ได้สัมภาษณ์เปิดใจ พันธุ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของ “น้องเฌอ” สมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กชายที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วยวัย 17 ปี เขามองภาพเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยผ่านสายตาของ “ผู้สูญเสีย” หลังจากวันที่ 15 พ.ค. 2553 บุตรชายถูกยิงบริเวณทางเท้าตรงข้ามปั๊มเชลล์ ซอยรางน้ำ ถนนราชปรารภ ซึ่งจวบจนตอนนี้ที่มาของกระสุนที่ยังเป็นปริศนาว่ายิงมาจากฝ่ายใด

พันธุ์ศักดิ์ เริ่มต้นเล่าความคืบหน้าของคดีความว่า เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ดูแลสำนวนระบุว่าคดีของเฌอไม่มีประจักษ์พยานที่จะให้การต่างจากคดีอื่นที่เกิดขึ้นในวันเวลาไล่เลี่ยกันอย่างคดีการเสียชีวิตของ บุญทิ้ง ปานศิลา กิตติพันธ์ ขันทอง และชาญณรงค์ พลศรีลา ที่มีประจักษ์พยานเบิกความ ในขณะที่คดีน้องเฌอมีเพียงพยาน คือ ป้าเจ้าของบ้านที่เฌอถูกยิงเสียชีวิตเท่านั้น แต่ดีเอสไอตัดออก เพราะเป็นเพียงพยานแวดล้อม เนื่องจากระหว่างน้องเฌอถูกยิงเธอเข้าหลบในบ้านแล้ว จึงไม่เห็นเหตุการณ์ระหว่างถูกยิง

“เเต่มีพี่คนหนึ่งเขาเล่าลำดับเหตุการณ์ให้ฟังตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึงจุดที่น้องเฌอเสียชีวิตว่า ก่อนหน้านั้นมีการเตรียมวางล้อยางตรงแยกสามเหลี่ยมดินแดงตั้งแต่ตอนกลางคืนแล้ว พอรุ่งสางเขาอยากขยับมาที่รางน้ำ ขณะที่ทหารถัดจากตรงแยกรางน้ำไปตรงหน้าปั๊ม (ตอนเกิดเหตุเป็นปั๊มเอสโซ่ ขณะนี้เป็นปั๊มคาลเท็กซ์) ทหารขึงลวดหนามและติดป้ายเขตใช้กระสุนจริง ทางม็อบมีการจะเคลื่อนไปตรงแยกรางน้ำ จึงขนยางไป เฌอก็อาสาเข็นยางไปด้วย แต่พอเริ่มวางทหารก็ยิงมา เลยวิ่งหนีกันมาและหยุดตรงฟุตปาท ตอนนั้นเฌอนั่งคุกเข่า ถือหมวกกันน็อก พอหันศีรษะก็โดนยิง” พันธุ์ศักดิ์ เล่าวินาทีปลิดชีวิตที่ได้รับการบอกเล่าของพยานร่วมเหตุการณ์

แต่ปรากฏว่าพี่เห็นเหตุการณ์เขาก็ขอสงวนไม่ให้ปากคำกับตำรวจ ปฏิเสธจะเป็นพยานในคดี ตอนนั้นเป็นยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เข้าใจแต่มาถึงรัฐบาลเพื่อไทยเขายังยืนยันไม่เป็นพยาน แต่ก็ไม่รู้จะคาดคั้นอย่างไร มันก็คงไปกดดันอะไรเขา ในส่วนดีเอสไอก็ยืนยันว่าคดีนี้มันไม่มีประจักษ์พยานให้ปากคำ ผมก็ขำมาก เพราะว่าตรงจุดที่เฌอเสียชีวิต มีคนหมอบอยู่เยอะมาก

ประชาชนแค่"เหยื่อต่อรองอำนาจ"

เขาระบายความในใจต่อว่า ดีเอสไอทำตามหน้าที่ในระบบราชการในแบบที่ทุกคนต่างทราบกันดี สิ่งที่น่าผิดหวังคือ ไม่มีการเร่งรัดคดี บางครั้งโทรไปถามเจ้าหน้าที่พบว่าต้องไปตามคดีทุจริตลำไยที่ลำพูน โทรไปอีกครั้งกำลังตามเรื่องหอมแดง พันธุ์ศักดิ์ เรียกร้องว่ารัฐบาลควรตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการ เพื่อดูแลคดีการเสียชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายการเมืองสามารถสั่งการได้

“เพราะสมัยอภิสิทธิ์มีการตั้ง คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ยังรู้สึกว่าเขาตั้งอะไรมากกว่าด้วยซ้ำ แม้ผมไม่ชอบอภิสิทธิ์ก็ตาม เเต่คดีคนตายที่ผ่านมารัฐบาลนี้ไม่เคยพูดว่าควรมีนโยบายตั้งคณะกรรมการ หรือมีทีมทำงานที่จะสืบสางเรื่องนี้โดยเฉพาะ ที่ข้าราชการประจำไม่ต้องไปตามเรื่องลำไยที่ลำพูนหรือตามเรื่องหอมแดงที่ศรีสะเกษ เข้าใจว่าข้าราชการเขาทำหลายเรื่องอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลต้องตั้งทีมและคัดคนเข้ามาเป็นทีมเฉพาะเพื่อทำคดีให้เร็วขึ้น การโอนถ่ายข้อมูลก็จะอยู่ในคณะทำงานส่วนนี้ ไม่ใช่ให้รอตามกระบวนการข้าราชการที่ล่าช้าออกไป”

ไม่ใช่เพียงกระบวนการสืบสวนคดีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม แต่ “พันธุ์ศักดิ์” ยังมองว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ โดยเฉพาะประเด็นการ “นิรโทษกรรม” นั้นรัฐบาลทำให้คนเสื้อแดงผิดหวัง

“คุณให้ความหวังเขาไว้ แต่กลายเป็นว่า ขณะนี้มันไม่มีทั้งมาตรการที่เร่งรัดคดีผู้เสียชีวิต และการช่วยเหลือนักโทษการเมืองออกมา นักโทษคดีการเมืองที่ติดคุกน้อยลงเป็นเพราะเขาติดจนครบแล้วออกมา ไม่ได้มีกระบวนการที่เร่งรัดให้สิทธิเขาประกันตัว ในขณะที่แกนนำเองได้ออกเร็ว คนเสื้อแดงหลายคนเขาเริ่มเห็นเริ่มพูดแล้วว่ารัฐบาลนิ่งเฉย

ล่าสุด พันธุ์ศักดิ์ เพิ่งทราบว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ จะนิรโทษทุกคนทั้งหมดทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ผู้สั่งการ สุดท้ายมันก็กลับไปอีหรอบเดิมสมัย 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ที่สุดท้ายคนทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะทุกคนได้รับการนิรโทษกรรม เมื่อทุกคนรู้แล้วว่าต้องมีการนิรโทษ ต่อไปหากมีการเกณฑ์ทหารออกมาเพื่อสลายการชุมนุม ฝ่ายสั่งการก็รู้แล้วว่าสั่งแค่ไหนก็ได้ ฝ่ายปฏิบัติก็พร้อมจะยิงประชาชน เพราะรู้แล้วว่าเดี๋ยวมันต้องนิรโทษกรรม ปัญหาก็คือ แล้วเราจะอยู่อย่างไร สังคมจะอยู่กันอย่างไร ถ้าคนผิดไม่ถูกลงโทษ”

“ทุกแอ็กชั่นมันบอกอยู่แล้วว่าใครคิดอะไร” พันธุ์ศักดิ์ เปรยสั้นๆ ถึงท่าทีรองนายกฯ เฉลิม ก่อนระบุถึงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองหลายฉบับก่อนหน้านี้ว่า “...ผมอ่านทุกร่างแล้ว ลอกกันมาทั้งนั้น นำไปสู่ความเลิกแล้วต่อกัน แต่ไม่ได้นำไปสู่การพิสูจน์ทราบความจริง เพื่อนำคนผิดมาลงโทษ แม้แต่ร่างของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถึงแม้กั๊กอยู่บ้าง แต่ถ้าไปดูจะรู้ว่าเป็นภาษาแบบนักการเมือง ไม่ได้นำไปสู่การรับประกันว่าคนผิดจะต้องถูกลงโทษ ขณะนี้ไทยไม่ได้อยู่ในบ้านเมืองสภาพที่เรียกว่าไม่มีขื่อแป แต่เป็นสภาพที่เอา|ขื่อแปมายกเลิกขื่อแปอีกที ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ มันไปต่อไม่ได้ สุดท้ายมันก็เป็นการปรองดองของพวกข้างบน ส่วนข้างล่างก็ช่วยไม่ได้ คุณมารนหาที่ตายเอง คุณก็ต้องตาย!

“...สุดท้ายประชาชนก็ต้องเป็นเหยื่อทั้งหมด เพราะเขาจะไม่ยิงหัวกันเพราะเขาขัดแย้งกันหรอก แต่เขาจะลากประชาชนออกมาแล้วยิงหัวประชาชนสักสิบยี่สิบคน แล้วเขาก็จะต่อรองอะไรกัน นี่เป็นการพูดแบบกว้างๆ จริงๆ อาจไม่ง่ายขนาดนั้น แต่สุดท้ายแล้วถ้าประชาชนยังไม่ทันตัวเอง ยังไม่ตระหนักว่าแท้จริงอำนาจอยู่ในมือเรา เราก็จะตกเป็นเหยื่อ วิ่งตามสิ่งที่เขาอยากให้ทำไปเรื่อยๆ ...แต่ถ้าประชาชนเชื่อว่าตัวเอง คือ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในกระบวนการประชาธิปไตย เราจะเข้าใจได้ว่า เสียงของเรามันมีค่า มันไม่ใช่แค่เสียงที่ไปกา แต่เป็นเสียงที่เปล่งออกมา เราต้องแปลงเดอะไซเลนซ์ ให้เป็นวอยซ์ออกมาให้ได้”

เชื่อในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ว่าสุดท้ายอภิสิทธิ์ และสุเทพ เทือกสุบรรณ จะได้รับโทษ

“ถ้าผมอยู่เปรู ผมเชื่อ แต่นี่ประเทศไทยมันคนละเรื่อง ประธานาธิบดีเปรูยังถูกข้อหา ถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชัน ที่อเมริกาใต้ ทั้งชิลี อาร์เจนตินา ที่อเมริกาใต้เขาสางเรื่องเก่าทั้งหมด มันกลายเป็นการปฏิวัติของกระบวนการยุติธรรมและการเมืองการปกครองในแถบอเมริกาใต้ ในขณะที่บ้านเราหากจะยังคงปรองดองกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะไม่จบ ถ้าทุกคนสบายหมด หลุดหมดทุกคน เเละที่ผ่านมาประเทศไทยมันไม่มีประวัติศาสตร์เปรียบเทียบให้เห็นว่าคนสั่งการได้รับโทษ ผมว่าจุดนี้เป็นจุดที่เหมาะสมที่เราต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ผมกล้าพูดเลยว่าถ้ารัฐบาลต้องกล้าที่จะเจ็บตัว ต้องปะทะ เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมปรากฏ แล้วเราจะเดินต่อไปข้างหน้าได้มากกว่าที่จะมารอวันหนึ่งแล้วต้องตายกันอีก เพราะทั้งคนลั่นไก คนที่สั่งให้ลั่นไก และคนที่วางแผนให้ลั่นไก เขารู้อยู่แล้วว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร”

“ถามว่าทำไมคุณถึงกล้าเจ็บตัวเรื่องรถไฟความเร็วสูง ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องรับฟังและต้องใช้เวลาพอสมควร แต่รัฐบาลสามารถผลักดันในระยะเวลาที่สั้นกว่าได้ คือ รัฐบาลกล้าที่จะเจ็บตัว แล้วสุดท้ายก็ผ่านไปได้ ไม่มีใครมาพูดเรื่องรถไฟความเร็วสูงแล้ว เพราะมันผ่านไปแล้ว ทุกคนก็ลืมไปแล้ว แต่เรื่องอื่นคุณไม่กล้าเจ็บตัวเลยใช่ไหม เรื่องคนตายคุณไม่ต้องเจ็บตัวใช่ไหม เพราะเจ็บตัวแล้วมันไม่ได้อะไรหรือเปล่า ผมไม่ได้หมายถึงการคอร์รัปชันโกงกิน แต่จะถามว่าคุณมาจากการเลือกตั้ง แต่คุณจะไม่กล้าปะทะเลย หรือจะเป็นแบบนี้ต่อไปหรือ

ที่ ยิ่งลักษณ์ นายกฯ กล่าวสปีชที่อูลันบาตอ มองโกเลีย มันก็แค่สปีช แต่มันโนแอ็กชั่น คุณจะไปบอกว่า โอ้โห นายกฯ กล้าหาญมาก แต่เขารัฐประหารมาตั้งกี่ปีแล้ว คุณเพิ่งกล้ามาพูดเรื่อง ก.ย. 2549 ผมว่าเป็นเรื่องตลกมากกว่า มันใช่เรื่องกล้าหาญ

เป็นธรรมดาที่รัฐบาลต้องมองเรื่องการหมดอายุของเขาในทางการเมือง เพียงแต่ว่าถ้ารัฐบาลมุ่งตรงนี้มากเกินไปมันก็เป็นแค่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ก็เป็นแค่นายกฯ คนหนึ่ง วันหนึ่งคนก็จำไม่ได้ว่ายิ่งลักษณ์ คือใคร แต่ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความกล้าหาญทางจริยธรรมพร้อมที่จะพิสูจน์ทราบความจริง วันหนึ่งเราอาจมีรัฐสตรีที่ชื่อยิ่งลักษณ์ก็ได้”

“...เป็นผู้นำมันต้องกล้าหาญกว่านายกฯ เยอะ...แต่วันนี้ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นผู้นำ เป็นแค่นายกฯ เท่านั้น” เขาทิ้งท้ายถึงนายกฯ หญิงขวัญใจคนเสื้อเเดง

ไม่ลืมลูก แต่ต้อง...ไม่ลืมลุก   

หลังควันไฟจางเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เกมการเมืองยังคงเดินหน้าไป เปลี่ยนขั้วอำนาจ ชิงไหวชิงพริบไปตามหมากกระดานทางการเมือง อีกด้านน่าสนใจเช่นกันว่า ‘ญาติผู้เสียชีวิต’ ลุกเเละเดินหน้าอย่างไรหลังต้องพลัดพราก‘คนรัก’ โดยเฉพาะพันธุ์ศักดิ์ที่สูญเสียลูกชายเพียงคนเดียว

“แฟนผมกับผมก็ทำงานเอ็นจีโอมานาน แวดวงเพื่อนๆ ก็ให้กำลังใจเยอะ ตอนนั้นเมื่อนำศพน้องเฌอไปไว้ที่วัด ทุกคนที่รู้จักน้องเฌอ ที่ผมเคยพาน้องเฌอไปร่วมกิจกรรมด้วยเขาก็อยากจะพูดถึง ระลึกไว้อาลัยถึงน้องเฌอเสมอ ตอนนั้นถ้าเราเอาแต่พูดว่าเราเสียใจอย่างไรก็จะไม่ได้ยินคนเหล่านี้ เราก็ฟัง พอฟังมากๆ เข้าเราก็รู้สึกว่า หลายคนเขาก็เจ็บปวดเหมือนเรา พอมีคนเจ็บปวดเหมือนกันเหมือนเขาช่วยแบกเฉลี่ยความทุกข์นี้ออกไป บางทีเพื่อนศิลปินฝรั่งอย่างแรกที่เข้ามา คือ ขอกอดหน่อย คือ กอดปุ๊ปก็ร้องให้เลย มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว

ไม่รู้เหมือนกันว่ามนุษย์มีแรงผลักดันอะไรในตัวเองอยู่ลึกๆ ดูหนัง ไลฟ์ ออฟ ไพน์ แล้วจะเข้าใจ คุณอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ควรอยู่ต่อ อยู่บนเรือลำเดียวกับเสือกลางมหาสมุทร แต่คุณยังพยายามอยู่ให้รอด ทั้งที่คุณยังไม่รู้เลยว่าจะอยู่ต่อไปทำไม แต่ผมเชื่อว่ามนุษย์มันมีแรงขับลึกๆ ที่จะต้องอยู่ต่อไปให้ได้ แต่มันจะอยู่อย่างไร อยู่แบบจอมจ่ม หรือ ลุกขึ้นกลับมายืนได้จริง ก็อยู่ที่สภาพแวดล้อมของเเต่ละคน

ผมเคยอ่านบทความสัมภาษณ์พ่อแม่ของ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ กรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ 6ตุลาฯ 19  พ่อแม่เขายังคาดหวังอยู่เลยว่าลูกจะกลับมา นี่คือแรงขับดันเล็กๆ ของทุกคนที่แบบว่า กูต้องมีชีวิตต่อไปให้ได้ และการมีชีวิตต่อไปให้ได้ของพ่อแม่จารุพงษ์ คือ คาดหวังว่าจารุพงษ์จะกลับมาบ้าน ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เขาก็ยินดีที่จะเจ็บปวดไปกับมัน

ไม่ใช่ว่าเขาหมกมุ่น แต่วิธีคิด ความรู้สึกเขาเป็นแบบนั้นแล้วพูดมา สุดท้ายแล้วไม่มีใครอธิบายโมเมนต์พวกนี้ได้หรอก แต่ผมไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าผมคิดแบบนั้นจะทรมานมาก เราต้องหลุดให้ได้ ต้องลุกให้ได้เพื่อยังอยู่ต่อ แต่ขณะเดียวก็ไม่ได้ลืมลูกของเรา” พันธุ์ศักดิ์พูดด้วยน้ำเสียงอึมครึม 

พันธุ์ศักดิ์ บอกว่า ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะจัดงานรำลึกน้องเฌอจากเดิมที่จัดเป็นประจำทุกปีในวันที่ 15 พ.ค.บริเวณทางเท้าตรงข้ามปั๊มเชลล์ ซอยรางน้ำ เขาให้เหตุผลว่า รบกวนผู้อื่นที่ต้องสละเวลาในการเดินทางมาไว้อาลัย และต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานเชิงปัจเจกไปสู่งานเชิงสื่อสารต่อสาธารณะให้มากขึ้นโดยอาจจัดในรูปแบบเชิงศิลปวัฒนธรรมหรือเชิงกองทุนสำหรับคนทำกิจกรรมทางการเมือง  

ประชาชนแค่"เหยื่อต่อรองอำนาจ"

19พฤษภาฯอย่าแค่"เชงเม้ง"ศพ

ไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ในฐานะญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วิกฤตการเมืองพฤษภาฯ53 และมีแนวคิดเคลื่อนไหวสอดคล้องกับ “กลุ่มแดงอิสระ” พันธ์ศักดิ์ ให้คำจำกัดความ นปช. ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยขณะนี้ว่า “...ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้” เนื่องด้วยโพสิชั่นทางการเมืองที่แทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาล

“การเคลื่อนไหวที่เป็นประชาธิปไตย แต่หากต้องตรวจสอบรัฐบาล เราคาดหวังอะไรกับ นปช. ไม่ได้ นปช.หลายคนเป็น สส. เป็นรัฐมนตรีไปแล้ว มันก็จบแล้ว ถ้าจะให้ นปช.ไปตามตรวจสอบรัฐบาลเอง มันก็ทำไม่ได้ เพราะเมื่อคุณไปจอยผลประโยชน์ร่วมกัน มันย่อมตรวจสอบจากข้างในไม่ได้ ความน่าเชื่อถือไม่มี เพราะการตรวจสอบมันต้องมาจากคนนอก”

แม้แต่งานช้างแห่งปี 19 พฤษภาฯ ในการเคลื่อนไหวของ นปช.ส่วนกลาง ที่ระดมสรรพมวลชนเสื้อแดงทั่วประเทศ ขนบิ๊กแกนนำขึ้นเวที แต่ พันธุ์ศักดิ์ ให้นิยามว่า ระยะหลังมานี้ไม่ต่างอะไรกับงานเชงเม้ง?

ถามหน่อยเวลาที่ นปช.จัด 19 พ.ค. เขามีธีมอะไรไหม เขาจะบอกไหมว่าเราจะมารวมกันรำลึกถึงคนตาย ต้องหาคนผิดมาลงโทษ เราจะปฏิเสธการนิรโทษกรรมแบบเหมารวมทั้งหมด เพราะถ้างานมีธีมหรือคอนเซปต์หลัก แกนนำจะไม่ปราศรัยนอกกรอบนี้ โอเค เขาอาจจะพูดเรียกร้องบ้าง เรียกเสียงเฮบ้าง แต่ประเด็นกระจัดกระจายไม่ได้พุ่งเป้าหรือมีธีมอย่างชัดเจน เเละไม่ได้ขับเคลื่อนเอาจริงเอาจัง สุดท้ายมันก็กลายเป็นงานเชงเม้ง หลังจากนี้ก็เชงเม้งไปเรื่อยๆ

...อย่างปฏิญญาโบนันซ่า ไม่ต่างอะไรกับปาฐกถายิ่งลักษณ์ คือ แค่พูด แต่โนแอ็กชั่น สปีชของยิ่งลักษณ์เนื้อหาเยี่ยมก็จริง แต่ส่วนใหญ่เป็นการเล่าอดีต บอกว่าประเทศไทยมีอำนาจเผด็จการ รัฐบาลทักษิณถูกล้ม มีผู้มีบารมีเข้าแทรกแซง แต่ไม่มีคอมมิตเมนต์ว่าแล้วคุณจะทำอะไร แล้วคุณจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ขณะที่ นปช.เองถามว่าจนถึงตอนนี้ปฏิญญาโบนันซ่ามันมีแอ็กชั่นอะไรเป็นรูปธรรมหรือยัง ฉะนั้นถ้าไม่มีแอ็กชั่น เรื่องใหญ่โตแค่ไหนใครก็พูดได้ทั้งหมด”

ด้วยปัจจัยหลักของ นปช.ที่ไร้แอ็กชั่นตรวจสอบรัฐบาลเพื่อรักษาจุดยืนประชาธิปไตยอย่างจริงจัง พันธุ์ศักดิ์ อธิบายว่า จึงไม่เเปลกที่เกิดปรากฏการณ์ “แดงแตกตัว”

“หลายครั้งผมเดินในพื้นที่ชุมนุมเริ่มมีเสียงด่า ไม่เห็นด้วย อย่างโฟนอินปีที่แล้ว (โฟนอินเรือส่งถึงฝั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เสียงด่าเยอะ ปฏิกิริยาตอนนั้นก็ดังมาก แต่ปีนี้อาจมีโอกาสเกิดสปีชที่ดีก็ได้ แต่ปัญหาก็คือ ตราบใดที่แอ็กชั่นยังไม่เกิด ก็ไม่มีผลอะไร โอเคแค่ 2-3 ปีอาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้ามันเข้าปีที่สี่ ห้า หก สุดท้ายคุณจะตอบประชาชนอย่างไร

...เราจะเห็นว่าเวทีเล็กของเสื้อแดงเพิ่มขึ้นทุกปี มีการจับกลุ่มคนมากขึ้นทุกปี เพราะเส้นทางประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของนั้น เส้นทางบางคนไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนกัน พอมันเริ่มไปจับกลุ่มกันได้ มันก็เข้าใจ แล้วก็เริ่มหลุดออกมา แต่ก่อนบอกว่าเราแดงเดียว นปช.อย่าแตกแยกกัน แต่สุดท้ายมันต้องแตก สายมาร์กซิสม์มันก็แตก สายสตาลินสายอะไรมันก็แตกกันไปหมด จะเห็นแล้วว่าเสื้อแดงไม่ได้มีกลุ่มเดียวแล้ว มีหลายกลุ่ม แตกไปเรื่อยๆ แต่การแตกจะทำให้เราแข็งแรงกว่าเดิม”

เขาอธิบายอีกว่า กระบวนการรัฐประหารรัฐบาลปี 49 และ พ.ต.ท.ทักษิณเองทำให้เกิดปรากฏการณ์ตาสว่างขึ้นเป็นขบวนการคนเสื้อแดงนำโดยทัพใหญ่ คือ นปช. แต่ขณะนี้ด้วยจุดยืนไม่มั่นคงของ นปช.กลับทำให้เกิดขบวนการเสื้อแดงที่ตาสว่างจากทักษิณ และจาก นปช.อีกชั้น แตกเป็นกลุ่มแดงอิสระกระจายออกไปทั่วสารทิศ กลายเป็นปรากฏการณ์ “แดงก้าวข้ามแดง” ต่อไปเรื่อยๆ

เป็นไปได้ไหมที่กลุ่ม “แดงอิสระ” จะรวมตัวอย่างแข็งแกร่งกว่าเดิมเพื่อตรวจสอบรัฐบาล?

พันธุศักดิ์ ตอบมาว่า “มันอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปริมาณมันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อย่าดูถูกปริมาณเกินไปนัก เพราะกลุ่มอิสระทั้งหลายอาจมีประเด็นให้รวมตัวกันได้ในวันหนึ่ง แต่อย่าเพิ่งมองถึงขั้นไปกดดันรัฐบาล เพราะสุดท้ายผมมองว่า ถ้าแดงอิสระรวมตัวกันได้สัก 2-3 กลุ่มใหญ่ สิ่งแรกที่ต้องกดดัน คือ กดดัน นปช.เอง ง่ายมาก เพื่อให้ นปช.ไปกดดันรัฐบาลอีกที

...แต่ถ้า นปช.ไม่ทำอะไร คุณก็เปลี่ยนหัวสิ เปลี่ยนแกนนำ ในเมื่อเป็น สส. รัฐมนตรี แล้วงานยุ่งวุ่นวาย มีเรื่องที่ต้องทำ คุณลาออกได้ไหม แล้วให้เขาเลือกกัน แต่ก่อนเป็นการเลือกแบบสืบทอดอำนาจ แต่ทีนี้เราต้องมาคุยกันว่าจะเลือกแกนนำใหม่อย่างไร ไหน นปช.คุณโชว์หน่อยว่าเป็นองค์กรประชาธิปไตย คุณเลือกแกนนำอย่างไรโดยไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ ทำให้ประชาชนเห็น

...มันก็เป็นคอมมิตเมนต์ที่ นปช.จะต้องรับ ถ้าไม่รับก็เป็นปัญหาในอนาคตของ นปช.เอง องค์กรมันอยู่ไม่ได้ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงต้องสูญสลาย เพราะแนวคิดยังคงอยู่ นี่ผมพูดโดยที่ไม่ใช่ นปช. เพียงเเต่มองภาพสุดท้ายที่ต้องมีคนยกกติกาที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ”

พันธุ์ศักดิ์ ทิ้งท้ายถึงองค์กรภาคประชาชนเสื้อแดงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศว่า วันใดที่ นปช.มีวาระที่ชัดเจน อยากจะผลักดันอุดมการณ์ประชาธิปไตยและพูดออกมาว่า ปีนี้เราจะรำลึก 19 พ.ค. ด้วยการค้นหาความจริงของความตาย เราจะยกเลิกการนิรโทษกรรมเหมารวม ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด โดยที่ นปช.จะเป็นเจ้าภาพในการกดดันรัฐบาล เมื่ออุดมการณ์ใหญ่มันถูกเน้นย้ำและเห็นร่วมกัน ตนเชื่อว่าแดงที่มันแตกๆ กันมันจะกลับมา

“กลับเข้ามาเหมือนกับข้าวที่อยู่ในจาน แต่ยังคงเป็นจานใครจานมัน แต่สามารถรวมกันในธีมที่เขาตั้งและส่งพลังไปถึงรัฐบาลได้...” เขากล่าวในที่สุด