posttoday

หากไร้"เมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน"เราก็ยังล้าหลัง

16 พฤษภาคม 2556

หากรัฐบาลไม่ใส่ใจเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน อย่านับด้วยร้อยปีเลย จวบวารสิ้นโลก เราก็จะยังล้าหลังเรื่องหนังสือ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน / ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

“หากรัฐบาลไม่ใส่ใจเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน... อย่านับด้วยร้อยปีเลย จวบวารสิ้นโลก กระทั่งเกิดดาวมนุษยชาติดวงใหม่ เราก็จะยังล้าหลังเรื่องหนังสือ สืบไปชั่วนิรันดร์”

ใครบางคนลุกขึ้นท้วงทัก “ไม่หดหู่ถึงเพียงนั้น” ใครอีกคนกลับโพล่งขึ้นสำทับ “บทสรุปบรรทัดสุดท้ายคงไม่ผิดแผกไปจากนี้”

ว่ากันตามจริง... คุณคงเห็นด้วย? น้อยก็หนึ่งล่ะ

“นักการเมืองไทยมันหวังผลระยะสั้น” มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เจ้าของทัศนคติข้างต้น ลดแก้วชาลงวางบนโต๊ะ “ทุกรัฐบาลที่เข้ามาจะนับหนึ่งเรื่องการอ่านใหม่และจะจบลงที่นั่นเสมอ”

หล่มโสโครกประการหนึ่งที่สังคมไทยติดอยู่ คือการเพิกเฉยต่อนโยบายด้านการอ่าน การผลิตซ้ำเรื่อง “วาระการอ่านแห่งชาติ” ในทุกยุคทุกสมัย นำมาซึ่งความเคยชิน จนบางครั้งละเลยที่จะตั้งคำถาม

“สาเหตุที่รัฐบาลทุกชุดจัดวาระการอ่านแห่งชาติขึ้นมาเสมอ ทำกันทุกปี ก็เพราะมันมีโอกาสได้ใช้งบประมาณ”

มกุฏ ให้ภาพว่า นักการเมืองที่คิดเรื่องหนังสือก็ทำในระยะสั้นเท่านั้น หวังผลเพียงนำไปโฆษณาหาเสียง คำถามที่จำเป็นต้องตอบคือโครงการซึ่งลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลหลายพันล้านบาท ยังให้เกิดผลสัมฤทธิ์อะไรบ้าง

“ถามว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านๆ มา เคยมีรัฐบาลไหนประเมินหรือไม่ว่าแต่ละโครงการเป็นอย่างไร มันไม่มีเลย นั่นเพราะรัฐบาลมีแต่นโยบายระยะสั้น ไม่เคยมีเป้าหมายระยะยาว พอทำไปทุกอย่างก็สูญเปล่าหมด” อาจารย์มกุฏ เว้นจังหวะหายใจ

เขาเล่าต่อไปว่า ในประเทศอินเดียมีการวางแผนพัฒนาชาติด้วยการอ่านหนังสือในระยะยาว วางแผนกันถึง 100 ปี พอเข้าสู่ปีที่ 50 เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเห็นน้ำเห็นเนื้อ ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 66 แล้ว เขาจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติมา 66 ปี เฉพาะในปี 2553-2554 สถาบันหนังสือแห่งชาติอินเดียพิมพ์หนังสือถึง 2,134 เรื่อง ในจำนวนนี้ยังแปลออกมาเป็นภาษาต่างๆ อีกมากมาย

“แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับประเทศไทย ประเทศของเรามันไม่มีองค์กรหลักที่จะรับผิดชอบเรื่องหนังสือเลย”

มกุฏ เสนอว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องจัดตั้ง “สถาบันหนังสือแห่งชาติ” ขึ้นเช่นกัน

สำหรับสถาบันหนังสือแห่งชาติ อธิบายให้เข้าใจโดยง่ายคือ เป็นหน่วยงานที่ศึกษาเกี่ยวกับหนังสือในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นทางคือการผลิตไปจนถึงคนอ่าน นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกเพื่อให้หนังสือมีราคาถูก คุณภาพดี และเข้าถึงผู้อ่านได้อย่างแพร่หลายมากที่สุด

“ถามว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีบรรณาธิการอาชีพกี่คน ไม่มีใครรู้ มีนักเขียนอาชีพกี่คน ในจำนวนนี้เขียนเรื่องสำหรับเด็กกี่คน นักวาดภาพประกอบเรื่อง นักทำอาร์ตเวิร์ก คนเหล่านี้มีจำนวนเท่าไรหรืออยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้ เราไม่มีข้อมูลใดๆ ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของสถาบันหนังสือแห่งชาติในการรวบรวมจัดเก็บ”

ทิ้งช่วงบทสนทนาเพื่อยกแก้วน้ำชาขึ้นมาล้างคอ “สถาบันหนังสือแห่งชาติต้องรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับเรื่องหนังสือ” เขาอธิบายต่อ “เช่น ขณะนี้ราคากระดาษแพงขึ้น ก็ต้องประเมินแล้วว่าใครจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง หนังสือจะราคาแพงเท่าไร ต้นทุนการพิมพ์เพิ่มขึ้นมากน้อยขนาดไหน คนจะมีกำลังซื้อหรือไม่ จากนั้นสถาบันหนังสือก็ต้องมีมาตรการแก้ปัญหา เช่น ลดคุณภาพการพิมพ์ ลดคุณภาพกระดาษ ต้องจ้องทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหนังสือ”

ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เทียบเคียงประเทศอินเดียให้เห็นภาพ สถาบันหนังสือแห่งชาติของประเทศอินเดียยังมีการให้รางวัลหรืออุดหนุนสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือดีๆ เช่น ต้นฉบับเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่หากพิมพ์ออกมาอาจขายไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสนใจเฉพาะ สำนักพิมพ์ก็ไม่กล้าพิมพ์ สถาบันหนังสือแห่งชาติก็จะเข้าไปช่วยโดยอาจลงมือพิมพ์เอง หรือสนับสนุนค่าพิมพ์ประมาณ 75% ของค่าพิมพ์ทั้งหมด

“รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพ งบประมาณเรื่องหนังสือมันมีอยู่แล้ว แต่แยกอยู่ในส่วนต่างๆ ถ้ารัฐตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติขึ้นมา แล้วเอางบมารวมไว้ที่นี่ จัดการอย่างเป็นระบบ มันก็เกิดขึ้นได้”

นอกจากสถาบันหนังสือแห่งชาติแล้ว ประเทศไทยยังต้องจัดการระบบหนังสือด้วย “ภูมิศาสตร์ประชากร” ความหมายโดยสังเขป หมายถึงความเข้าใจในความแตกต่างของประชาชนแต่ละพื้นที่
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมีความสนใจและความต้องการหนังสือที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นพื้นที่ที่ประชาชนทำการเกษตร ก็ต้องจัดหนังสือความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมไปให้ หนังสือเหล่านี้ก็ต้องไปอยู่ในห้องสมุดของพื้นที่นั้นๆ ไม่ใช่มาอยู่ในห้องสมุดเขตเมืองหรือกลับมาอยู่ในห้องสมุดชายฝั่งทะเล ซึ่งผิดที่ผิดทาง

เช่นเดียวกับในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะศึกษาภูมิศาสตร์ประชากร

“กทม.เรามีคนจรเยอะ ช่วงหน้านาคนขับแท็กซี่ก็กลับภูมิลำเนาไปทำนาหมด แรงงานก็กลับบ้านหมด นี่คือการเคลื่อนไหวของประชากร หลายอาชีพที่เคยมีอยู่พอถึงช่วงหนึ่งก็หายหมด ถ้าเราไปสำรวจช่วงที่คนกลุ่มนี้ไม่อยู่ เราก็เข้าใจว่า กทม.นี้เป็นสังคมเมือง เราก็เอาระบบสังคมเมืองไปจัดการเรื่องการอ่าน แต่อีก 3 เดือน คนกลุ่มนั้นกลับมาก็เกิดความเหลื่อมล้ำกันอีก มันก็ไปไม่ได้”

อีกหนึ่งความเชื่อมโยงที่สอดรับกับการจัดระบบหนังสือ คือการเพิ่มจำนวนห้องสมุดทั่วประเทศ มกุฏ ประเมินว่า ประเทศไทยต้องเพิ่มห้องสมุดอีกอย่างน้อยๆ 3-4 หมื่นแห่ง

“การเพิ่มห้องสมุดมันเชื่อมโยงกับคนทำหน้าที่บรรณารักษ์ ทุกวันนี้เราไม่มีบรรณารักษ์ ไม่มีคนแนะนำหนังสือให้ผู้อ่านอ่านอย่างได้ผล คนก็อ่านสะเปะสะปะ อ่านหนังสือไม่เหมาะกับวัย ผลดีจากการอ่านก็ไม่เกิด” อาจารย์วิชาหนังสือรายนี้บอกว่า เมื่อมีการเพิ่มห้องสมุดให้มากขึ้น การกระจายของหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็มากขึ้นเช่นกัน

“นั่นหมายความว่าสำนักพิมพ์ที่เคยพิมพ์แล้วขายไม่ได้ในระบบปกติก็จะเริ่มขายได้ เช่น พิมพ์หนังสือด้านเกษตรกรรมออกมาแล้วขายไม่ได้เลย จากนี้รัฐบาลก็จำเป็นต้องเอาหนังสือเกษตรกรรมเข้าไปในห้องสมุดตามภูมิศาสตร์ประชากร มันเชื่อมโยงกันหมด”

กลอุบายแยบยล"ใช้ทั้งเทพทั้งมาร"

ความคลุมเครือของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อการใช้งบประมาณร่วม 1,400 ล้านบาท ในโครงการเมืองหนังสือโลก กำลังถูกตั้งคำถาม

เป็นคำถามถึงความคุ้มค่า ภายใต้ข้อเคลือบแคลงและเสียงก่นดังขรมเมือง

ด้วยมีภาพสะท้อนจากพิธีรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21-23 พ.ค.ที่ผ่านมา ใช้งบประมาณไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แต่กลับถูกวิพากษ์ว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า หรือการกำหนดพันธสัญญาสร้างหอสมุด กทม. ที่ตั้งงบไว้สูงถึง 640 ล้านบาท นี่ยังไม่นับกระแสข่าวเรื่องงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท เพื่อให้ได้มาซึ่งคำประกาศ

อาจารย์มกุฏ เสนอว่า หาก กทม.ต้องการทำโครงการให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว ง่าย และประหยัดงบประมาณ ควรร่วมมือกับ “ร้านหนังสือเช่า” โดย กทม.จะทำหน้าที่เพียงสำรวจภูมิศาสตร์ประชากรให้รู้ถึงความต้องการในแต่ละพื้นที่ เช่น ชุมชนคลองเตยควรอ่านอะไร หรืออะไรเหมาะสมกับย่านสุขุมวิท

จากนั้นก็ไปสำรวจร้านหนังสือเช่าว่าบริเวณดังกล่าวมีกี่แห่ง ตั้งอยู่ที่ใดบ้าง แล้วก็เข้าไปเจรจากับเขาว่า กทม.จะสนับสนุนหนังสือและชั้นวางหนังสือให้ฟรี เพียงแต่ขอยืมใช้สถานที่และให้ร้านหนังสือเช่าเหล่านั้นทำระบบยืมคืน ซึ่งปกติร้านต่างๆ ก็มีระบบอยู่แล้ว

“กทม.ก็ขึ้นป้ายเลยว่าเป็นห้องสมุดย่อย กทม. แล้วก็ประชาสัมพันธ์ ทำแผนที่บอกให้ชาวบ้านรู้ว่าร้านหนังสือเช่าใกล้บ้านอยู่ที่ไหน ส่วนรายได้จากการใช้บริการร้านหนังสือก็เอาไป ทุกๆ 3 เดือน กทม.ก็จะเอาหนังสือใหม่มาลงใหม่ สลับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า กทม.จะได้ห้องสมุดเพิ่มทันที 200-300 แห่ง ด้วยการลงทุนซื้อหนังสือและชั้นวางหนังสือเท่านั้น”

นอกจากการเพิ่มจำนวนห้องสมุดเพื่อการเข้าถึงหนังสือแล้ว มกุฏ ยังเสนอให้ กทม.ใช้กลวิธีอันแยบยลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอ่านอย่างจริงจัง

“พูดกันมากว่าคนไทยไม่มีนิสัยการอ่าน กทม.ก็ต้องจัดกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเมื่ออ่านหนังสือแล้วจะได้อะไรขึ้นมาจริงๆ เช่น เมื่อยืมหนังสือ 1 เล่ม มันก็มีเลขยืมหรือเลขหนังสือ ก็ทำเหมือนหวยไปเลย เดือนนี้หวยหนังสือออกอะไร ถ้าถูกก็มารับรางวัล แต่ก็ต้องหาวิธีทดสอบด้วยว่าคนได้อ่านหนังสือมาจริงๆ ไม่ใช่มายืมเพื่อหวังแต่เลขหวย”

“มันต้องทำทุกวิธี ทั้งโง่ที่สุดและฉลาดที่สุด ต้องใช้ทั้งวิชามารไปจนถึงวิชาเทพ ถ้าบอกให้อ่านหนังสือเฉยๆ คนก็คงไม่อ่าน แต่ถ้าบอกว่าอ่านหนังสือแล้วมีโอกาสได้รถป้ายแดง ถามว่าใครจะไม่อยากอ่านบ้าง”

เขายกตัวอย่างโครงการอ่านหนังสือประกวดในประเทศสเปนว่า รัฐบาลสเปนลงทุนพิมพ์หนังสือดอนกีโฆเต้ออกมา 1 ล้านเล่ม แล้วก็ถามประชาชนว่าใครต้องการอ่านหนังสือประกวดบ้างให้มาลงทะเบียน แล้วให้มารับหนังสือไปฟรีๆ จากนั้นก็กำหนดระยะเวลาการอ่าน อ่านแล้วก็กลับมาทำข้อสอบ ถ้าคะแนนดี ก็เอารางวัลไป

“หรือจะให้หนักหน่อย กทม.ก็ออกกฎเลยว่า จากนี้คอนโดมิเนียมทุกแห่งต้องมีห้องสมุด แล้ว กทม.จะเป็นผู้จัดหนังสือให้ แค่ขอยืมใช้สถานที่ หรือขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า เช่น เมื่อซื้อสินค้าครบ 1,000 บาท ก็จะได้คูปองส่วนลดซื้อหนังสือ”

“กระทั่งให้ห้างสรรพสินค้าตั้งห้องสมุดสำหรับเด็กไว้ เมื่อพ่อแม่ไปซื้อของก็เอาลูกไปอยู่ในห้องสมุด ในนั้นก็จะมีคนดูแลเด็ก เมื่อพ่อแม่มารับลูกกลับ พนักงานก็อาจจะถามเด็กหน่อยว่าวันนี้ได้อ่านอะไรมาบ้าง สนุกไหม ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย แล้วก็ให้ขนมหรือลูกอมเป็นรางวัล หรือขอความร่วมมือกับค่ายทหาร สถานีตำรวจ สถานที่สำคัญทางศาสนา มันทำได้หมด เพียงแต่ขอความร่วมมือ”

สำหรับความสำเร็จของโครงการเมืองหนังสือโลก ตามที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าไว้คือ เพิ่มสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยจากปีละ 2-5 เล่ม เป็น 15 เล่ม

ศิลปินแห่งชาติรายนี้เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่าย หากอ้างอิงสถิติว่าคนทั่วไปอ่านหนังสือปีละ 5 เล่ม ถ้าทำให้เพิ่มเป็น 15 เล่ม ก็หมายถึงต้องเพิ่มขึ้นถึง 300% แต่ถ้าตัวเลขเดิมเป็นเพียง 2 เล่ม นั่นคือต้องเพิ่มประมาณ 750%

“ที่ประเทศสเปน เขาวางแผนการอ่านและขับเคลื่อนตลอด 10 ปีเต็ม เขาเพิ่มสถิติการอ่านได้เพียง 7.5% เท่านั้น”

อาจารย์มกุฏ ยังได้วิพากษ์ถึงโครงการอ่านหนังสือบนรถประจำทางอีกว่า ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากการเดินทางด้วยรถประจำทางมีสภาพแบบเปิด หมายถึงมีคนขึ้นป้ายหนึ่ง ลงอีกป้ายหนึ่ง เปิดประตูครั้งหนึ่งแสงก็เข้า ปิดประตูแสงก็ออก รถวิ่งๆ ก็จอด นั่งๆ อยู่ก็สะเทือน บรรยากาศการอ่านจึงไม่เหมาะสม

แตกต่างกับรถแท็กซี่ ที่เป็นยานพาหนะแบบปิด ผู้โดยสารจะรู้ระยะเวลาการเดินทางว่าถึงที่หมายภายในกี่นาที และการวิ่งของรถก็เรียบๆ นิ่งๆ ฉะนั้นการจัดหนังสือให้อ่านบนแท็กซี่จึงมีความเป็นไปได้มากกว่ารถประจำทาง

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ต้องตอบให้ชัดเจนคือจะเอาหนังสือประเภทใดให้คนอ่าน เพราะถ้าเป็นนิยาม อ่านไป 2 หน้าก็ถึงที่หมายแล้ว ดังนั้น กทม.ต้องผลิตหนังสือขึ้นมาอีกประเภทหนึ่งสำหรับอ่านในรถแท็กซี่โดยเฉพาะ เนื้อหาอาจเป็นไปในลักษณะจับฉ่าย มีความรู้สั้นๆ การท่องเที่ยวสั้นๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเป็นหนังสือเล่ม

“ย้ำว่าต้องเป็นหนังสือเล่ม ไม่ใช่นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ เพราะลักษณะการอ่านมันไม่เหมือนกัน คนที่คุ้นเคยกับการอ่านนิตยสารหรืออ่านหนังสือพิมพ์จะไม่คุ้นเคยกับการอ่านหนังสือเล่ม นี่ถือเป็นการแยกอุปนิสัย ต้องกลับมาตีโจทย์กันให้แตกว่าอยากให้คนกรุงอ่านหนังสือหรืออยากให้อ่านแค่สิ่งพิมพ์ มันต้องให้ชัด”

วรรณกรรมในความขัดแย้ง

เมื่อต้องตอบคำถามที่ว่า “การเมืองเปลี่ยน วรรณกรรมเปลี่ยนหรือไม่” มกุฏ ตอบทันทีว่า หนังสือกับการเมือง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือหลังจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน นิสิต นักศึกษาในยุคนั้นสิ้นสุดลงได้ไม่นาน บรรยากาศการเมืองถูกถ่ายทอดวิพากษ์ผ่านตัวอักษรออกมาจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าแนบแน่นกับการเมืองจนเป็นยุคเฟื่องฟูของวรรณกรรมการเมือง แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนไปตามยุคก็เริ่มสัมพันธ์กันน้อยลง

“หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน หลายคนอยู่เย็นเป็นสุขแล้ว หลายคนได้โน่นได้นี่จากรัฐบาลแล้วก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นวรรณกรรมก็เปลี่ยนไป วรรณกรรมสมัยหลัง... มันพูดลำบากนะ ในข้อที่ว่า มีค่าย มีสีชัดเจน ไม่เหมือนแต่ก่อน บทบาทของวรรณกรรมด้อยลง เพราะกลายเป็นว่า ถ้าเขียนโดยกลุ่มนี้ ก็สนับสนุนกลุ่มนี้ โต้แย้งกลุ่มโน้น อยู่ในครอบครัวนี้ เขียนข้อความด่าครอบครัวโน้น ปกป้องครอบครัวตัวเอง เมื่อก่อนเราเขียนหนังสือต่อสู้กับรัฐบาลที่|เป็นเผด็จการสู้กับความอยุติธรรม แต่ตอนนี้กลายเป็นกลุ่มต่อสู้กับกลุ่ม

นอกจากนี้ เมื่อก่อนใช้โวหารถ่ายทอดวรรณกรรม แต่สมัยนี้ถ่ายทอดแบบทื่อๆ แต่เรื่องนี้ก็แล้วแต่คนประเมิน เพราะมีเรื่องของความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยมากำหนดบุคลิกการเขียน สมัยก่อนเขียนด้วยปากกาดินสอ สมัยนี้เขียนด้วยคอมพิวเตอร์ ความรวดเร็วในการผลิตต่างกัน และเป็นเรื่องที่วิเคราะห์ได้อย่างลำบาก

หากไร้"เมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน"เราก็ยังล้าหลัง

ขณะที่ใครจะคิดไปไกล ใช้วรรณกรรมไปรับใช้แนวคิดทางการเมือง คิดว่า ถ้าบงการการเมืองได้ ก็บงการวรรณกรรมได้ หรือใช้ทั้งการเมืองและวรรณกรรมมารับใช้แนวคิดที่มี เป็นเรื่องจุดมุ่งหมายของเขาเอง เราคงไปว่าอะไรไม่ได้

ตอนนี้เราพูดถึงเรื่องการเมืองในวรรณกรรมยาก อธิบายยาก การเมืองมีสี วรรณกรรมก็มีสี มีสีมีข้างชัดเจน และความเห็นขัดแย้งมันไม่ได้ลงเอยด้วยความเห็นต่างกันซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นทุกแห่งทั่วโลก แต่น่าเสียดายที่มันกลายเป็นลงเอยด้วยความเป็นศัตรูกัน

ผมถอยออกมาจากการเมือง อยากเสนอสิ่งที่เป็นตัวกลางที่สุด ที่ผ่านมาผมเสนอแนวคิด สถาบันหนังสือแห่งชาติ ให้ทุกสีทุกฝ่ายเข้ามาเสนอความคิดให้สถาบันนี้เป็นสถาบันที่อยู่ตรงกลางจริงๆ ที่พร้อมที่จะกางแขนขวาออก กางแขนซ้ายออก และรู้ว่าทั้งสองแขนอยู่ที่ไหน แต่ต้องมีตรงกลาง เหมือนสอนเด็กให้เดิน ต้องให้เขาเดินให้ตรง เดินตรงกลางก่อน เมื่อถึงเวลาเขาจะเลือกเองว่าจะไปทางไหน เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา” มกุฏ เล่าด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมความหวัง

ในฐานะผู้แต่งนวนิยายเล่มสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย อย่าง “ผีเสื้อและดอกไม้” ซึ่งเล่าเรื่องของ ฮูยัน เด็กชายวัย 13 ที่ตัดสินใจเลิกเรียนมาหารายได้ช่วยครอบครัว และต้องเข้าสู่วงจรการขนข้าวสารข้ามแดน จากบ้านไปสุไหงโก-ลก รายละเอียดและสิ่งที่ปรากฏในนิยายเล่มนี้ บ่งบอกถึงความคุ้นเคยกับความแตกต่างของวัฒนธรรม พุทธ-มุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ โดยมกุฏมองว่าส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมานานก็ยังคงมีอยู่

“40 ปีที่เคยมองปัญหาภาคใต้อย่างไร วันนี้บางมุมก็ยังมองอย่างนั้น เราแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ ถ้าไม่แก้ปัญหาความรู้ของผู้คน และต้องแก้อย่างเข้าใจ รู้รายละเอียดว่ามีการศึกษาในระดับประชาชนที่นำไปสู่การยอมรับระหว่างกัน ถ้าให้ความรู้โดยที่เขาไม่ยอมรับเรา เขาก็เอาความรู้นั้นมาทำร้ายซึ่งกันและกันเหมือนสอนให้ทำมีด แทนที่จะนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ก็เอามาทำร้ายกัน ทำอย่างไรให้เขาตระหนักว่า เขามีความรู้พอที่จะมีสิทธิมีเสียงได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบใคร แต่ตอนนี้มีทุกอย่าง มีสภาวะสงคราม แก้แค้น ล้างแค้น ไร้ซึ่งความเข้าใจระหว่างคน เลยหาข้อสรุปไม่ได้ว่าใครขัดแย้งกับใคร แต่เราต้องแยกคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งออกมาให้ความรู้”

“ผมเคยเอาหนังสือไปให้ทดลองทำห้องสมุดโดยใช้มัสยิด 8 แห่งใน จ.กระบี่ เป็นหนังสือเรื่องการเกษตรอย่างง่ายๆ การทำขนม การดูแลสุขภาพ เรื่องเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เรื่องเพาะเห็ด แล้วพอเขาเริ่มอ่านหนังสือเหล่านี้อย่างเพลิดเพลิน หนังสือเล่มอื่นก็จะค่อยๆ ตามมา แนวคิดนี้น่าจะทำให้ความเป็นเราเป็นเขาลดลงได้ในที่อื่นๆ เช่นกัน ผมจะไม่ใช้คำว่าช่วงชิงมวลชนหรืออะไรทำนองนี้แน่นอน เรื่องนี้ใช้เวลานานแน่ อาจจะหลายสิบปี” มกุฏ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

นอกเหนือจากความพยายามทำความเข้าใจความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในวรรณกรรมและสังคม ศิลปินแห่งชาติท่านนี้มองว่า คือการเตรียมสังคมสำหรับการเรียนรู้ให้คนรุ่นต่อๆ ไป