posttoday

"มาร์ค"รีแบรนด์ประชาธิปัตย์ไม่รัตติกาล

28 เมษายน 2556

สัมภาษณ์พิเศษ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" กับเป้าหมายการยกเครื่อง "ประชาธิปัตย์"

โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์ / ธนพล บางยี่ขัน

ภายหลังอภิสิทธิ์เปิดให้ “โพสต์ทูเดย์” สัมภาษณ์พิเศษถึงอนาคตของประชาธิปัตย์ เหมาะเจาะที่วันรุ่งขึ้น (25 เม.ย. 2556) “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ภาคกลางของพรรค ก็เปิดแถลงจะนำระบบ “ไพรมารี คอคัส” มาใช้คัดเลือกผู้สมัคร สส.

เป้าหมายของอลงกรณ์ตรงกับเป้าหมายของพรรคที่ต้องการ “ยกเครื่อง ปชป.” เพื่อล้างประวัติศาสตร์พรรคการเมืองอายุ 67 ปี ที่ไม่เคยชนะเลือกตั้งทั่วไปมาอย่างยาวนานถึง 21 ปี

แต่การนำเรื่องภายในมาพูดข้างนอก ทำให้นายหัวชวน และหัวหน้าพรรค ไม่แฮปปี้นัก

“เป็นเรื่องธรรมดาที่พรรคมีจุดอ่อนหรือข้อจำกัด แต่สิ่งที่ต้องไม่ละทิ้งคือ หลักการ อุดมการณ์ หากต้องละทิ้งอุดมการณ์เพื่อชนะการเลือกตั้ง ผมว่าคนเกือบทั้งหมดของพรรคจะไม่เอาด้วย” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อธิบายหลังถ้อยแถลงของอลงกรณ์

...ต่อไปนี้เป็นเป้าหมายของหัวหน้าพรรค ปชป.วัย 48 ซึ่งรั้งเก้าอี้ผู้นำพรรคมา 8 ปี

คุณอลงกรณ์เสนอปรับโครงสร้างพรรค วัฒนธรรมพรรค เพราะเป็นปัญหา

มีหลายจุดที่ต้องปรับปรุง คุยกับอลงกรณ์เป็นระยะๆ แต่ต้องสื่อสารให้ชัดว่าจะเปลี่ยนในเรื่องอะไร จะต้องไม่ไขว้เขวเรื่องอุดมการณ์ ที่จริงก็ปรับมาโดยตลอด เพราะที่พรรคอนุมัติยุทธศาสตร์ 15 ข้อ ที่เรามาร่วมเดินเรื่องพิมพ์เขียว กระจายอำนาจในการบริหาร และที่คุณอลงกรณ์ทำอยู่ก็เป็นแนวทาง แต่ต้องทำมากขึ้น แต่รายละเอียดเพิ่มเติมก็ต้องว่ากันในแต่ละพื้นที่ ต้องต่างกัน จะใช้สูตรเดียวกันไม่ได้ คุณอลงกรณ์ดูแลภาคกลาง บางทีก็มองว่าภาคเหนือ ภาคอีสานต้องทำแบบเดียวกับภาคกลาง ซึ่งไม่ใช่ มันคนละแนว สถานการณ์มันต่างกัน เราต้องปรับปรุง จะถึงขั้นว่าเป็นวัฒนธรรมก็ไม่เชิง บางเรื่องที่พรรคทำก็ถูกต้อง เพียงแต่ว่าต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ ปรับปรุงการสื่อสาร ปรับปรุงท่วงทำนองในบางเรื่อง

มีเสียงวิจารณ์คนทำงานมีมันสมองกระจุกอยู่รอบตัวหัวหน้าพรรคไม่กี่คน

ไม่จริงครับ เพียงแต่คนจำนวนมากที่เขาช่วยงานพรรคในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ เขาก็บอกว่าต้องทำเงียบๆ ผมมาประชุม สส. สัมมนา สส. ก็เปิดโอกาสให้พูดกันเต็มที่ ไม่ได้มีการปิดกั้น

ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีมุมสะท้อนว่า ปชป.ขายไม่ได้ แต่ชนะเพราะคนกลัวฝั่งตรงข้ามจะมา

เราไม่สามารถตอบได้ สถานการณ์แต่ละครั้งจะเป็นอย่างไร เชียงใหม่ที่เพิ่งผ่านมาเราก็อยากได้คะแนนมากกว่านี้ ของเขาเองประกาศว่าได้เป็นแสนแน่ ก็ต้องคิดเหมือนกันว่าทำไมเหลือ 6 หมื่นกว่า สถานการณ์การเลือกตั้งตอบยาก ปี 2554 เพื่อไทยชนะ ตกลงชนะเพราะ 300 บาท จำนำข้าวหรือเปล่า ผมก็ไม่เห็นมีใครกล้าฟันธง

ที่ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะสุขุมพันธุ์โมเดล อภิสิทธิ์โมเดล หรือ ปชป.โมเดล

ถ้าจะให้สรุป ไม่ใช่สุขุมพันธุ์ ไม่ใช่อภิสิทธิ์ ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ แต่เป็นเรื่องของคนกรุงเทพฯ คนเมืองหลวงตัดสินใจบนภาวะการเมืองที่กังวลต่อการผูกขาดอำนาจ ให้การเมืองดำรงความหลากหลาย และขณะเดียวกันให้โอกาสประชาธิปัตย์ และทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ (บริพัตร) ทำงาน สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ ท่านผู้ว่าฯ พรรคต้องตอบสนองความคาดหวังคนกรุงเทพฯ ให้มากที่สุด ดีที่สุด ขยันมากขึ้น เร่งรูปธรรมออกมา

จะนำผลการเลือกตั้ง กทม.มาใช้ในภาพรวมอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับ กทม. พรรคให้ความสำคัญกับมิติทางสังคม ในระดับชาติจะเห็นชัดว่าโครงการขอกู้เงิน 2 ล้านล้าน บวกดอกเบี้ยเป็น 5 ล้านล้านบาท เป็นหนี้กัน 50 ปี มีเรื่องเดียวคือขนส่งคมนาคม เกิดคำถามว่า การลงทุนที่จำเป็นด้านสังคมจะทำอย่างไร

สิ่งที่พรรค และ กทม.กำลังดำเนินการขณะนี้คือ โครงการพิมพ์เขียวประเทศไทย ร่วมกับหลายๆ ฝ่าย มี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มาเป็นประธาน ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ใช่จมอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประชานิยม แต่วิธีการทำไม่เน้นการใช้คำโตๆ เช่น ปฏิรูป แต่จะทำงานกับท้องถิ่น ขนาดอาจจะเล็ก แต่จะเป็นตัวสะท้อนวิธีคิดทิศทางประเทศ

ปชป.จะเอาร่างพิมพ์เขียวไปพัฒนาเป็นนโยบาย

เป็นส่วนหนึ่ง ในชั้นแรกยังไม่ครอบคลุมทุกเรื่อง สิ่งที่เราพูดไว้ก็คือวิธีการทำงาน วิธีคิดแก้ปัญหา เราอยากให้นิยามความเป็นประชาธิปัตย์ ต่อไปเห็นใครมาทำงานขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาก็จะได้ทราบว่าคิดแบบนี้คือคิดแบบประชาธิปัตย์ เห็นการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เรื่องเศรษฐกิจไม่เป็นธรรม ก็จะได้นิยามว่านี่คือประชาธิปัตย์ เห็นเรื่องการส่งเสริมธรรมาภิบาลก็จะบอกว่านี่คือประชาธิปัตย์

ได้ลงพื้นที่ขยายแนวคิดเหล่านี้ในต่างจังหวัด

เราทำสองมิติ มิติหนึ่งในเชิงพื้นที่ เราอาจต้องเชื่อมผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรามีที่ลำพูน หาดใหญ่ ภูเก็ต นอกเหนือจาก กทม.ที่สนใจมาทำงานกับเราแล้ว ตอนนี้เริ่มคุยกับทางท้องถิ่นในภาคอีสานด้วย บางรายก็อาจจะทำงานเงียบๆ บางรายก็จะขับเคลื่อนเป็นเรื่องเป็นราวอีกที ความริเริ่มทำค่ายนโยบายมี 20 กว่าเรื่อง ขณะนี้ในสามหมวด คือ การศึกษา เศรษฐกิจเป็นธรรมยั่งยืน และธรรมาภิบาล เราจะไปกระตุ้นโดยเชิญฝ่ายต่างๆ ในสังคมเข้ามาร่วม

ถือเป็นการเตรียมรีแบรนด์ประชาธิปัตย์หรือไม่

ผมไม่ค่อยได้สนใจในเชิงการตลาดตรงนั้น ผมสนใจในเชิงเนื้อหาสาระมากกว่า การทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ ก็ทำกันไป ผมห่วงเรื่องทิศทาง เรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง พอมองหลุดจากเรื่องความขัดแย้งไปสู่นโยบายก็ยังเป็นการแข่งขันนโยบายเฉพาะหน้า และบางทีก็เน้นการตลาด เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพูดคุยสันติภาพก็ไปเน้นเรื่องการตลาดมากกว่าการพยายามทำให้สำเร็จ

ปชป.จะใช้นโยบายไม่ไปแข่งเรื่องการตลาด

(ตอบทันที) การตลาดก็ต้องทำ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ไม่ได้เอาเป็นตัวหลัก ต้องเอาเนื้อหาสาระเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน เพราะเราต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย วันนี้ที่ประเทศเราลดอันดับขีดความสามารถการแข่งขัน ก็เพราะเอาเรื่องการตลาดเป็นตัวทำให้เกิดปัญหา

ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปัตย์ถูกตำหนิเรื่องการบริหาร

(ตอบทันที) ถูกวิจารณ์ ผมยอมรับ เรามีจุดอ่อน มีประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไข และจะต้องวางแนวทางหลายอย่าง การเมืองมีทั้งสองส่วน ถ้าใช้ศัพท์การเมืองก็ต้องบอกว่า งานกระแสส่วนหนึ่ง กับการวางเครือข่ายมวลชน ฐานเสียง จะใช้คำอะไรก็ตามแต่ ส่วนหลังก็กำลังเดินหน้า มีแผนรองรับชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ควรเพิ่มผู้แทนให้มากสุดคือพื้นที่ภาคกลาง ก็กำลังเดินหน้าทำเรื่องนี้เต็มที่ ส่วนเรื่องกระแสก็ต้องพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้นได้อย่างไร

นอกจากบริหารไม่เป็น ปชป.ยังถูกโจมตีว่าเป็นพรรคขุนนางราชการ อนุรักษนิยม

เป็นวาทกรรมไงครับ ถ้าเราไม่พยายามอธิบายก็จะไม่เข้าใจ ผมถามว่าถ้าเราบริหารไม่เป็น ทำไมพรรคเราเป็นพรรคที่กอบกู้วิกฤตให้กับประเทศทุกครั้ง และต่างชาติยอมรับด้วย ถ้าเราไม่ผลิตนโยบายใหม่ๆ ออกมาเลย ผมถามว่านโยบายที่เป็นระบบที่สุดจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เช่น ประกันรายได้ กองทุนเงินออม เพียงแต่เราไม่หวือหวา อาจจะเป็นปัญหาการสื่อให้ถูกกับความต้องการของคน ก็ต้องทำมากขึ้น ข้อครหาก็ต้องอธิบาย จุดอ่อนที่มีก็ต้องแก้ไขปรับปรุงไป

ต้องใช้เวลาสื่อสารนานไหมให้คนเข้าใจ

ตอบยากว่าใช้เวลานานเท่าไหร่ ต้องอย่าลืมว่าแม้แต่คนที่สนับสนุนมีใจให้กับพรรคก็คาดหวังไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่ต้องหาความสมดุล ผมมาเป็นหัวหน้าพรรคปี 2548 ปชป.ในอดีตเคยได้รับเสียงสนับสนุนสูงสุด 7 ล้านคน ผมมาเป็นหัวหน้า เลือกตั้ง 2 ครั้ง คะแนนอยู่ที่ 11 กับ 12 ล้านคน แสดงว่าฐานเราเพิ่ม 3-4 ล้านคน วันที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค ไทยรักไทยได้ 19 ล้านเสียง วันนี้เขาลงไปเหลือ 14-15 ล้าน ก็ต้องคิดว่ามันจะติดหล่มอยู่ที่ 11-12 ล้านไม่ได้ ต้องขยับขึ้นมาเป็น 15-16 ล้านให้ได้

ในฐานะคนรุ่นใหม่เป็นหัวหน้าพรรค 8 ปี สามารถเปลี่ยน ปชป.ได้แค่ไหน

(ตอบโดยยังถามไม่จบ) ผมว่าเราขยับมาหลายเรื่อง นอกเหนือจากฐานเสียง เราเข้าหาเครือข่ายภาคประชาชนมากขึ้น นโยบายที่พยายามทำในขณะนี้ เช่น เรื่องสวัสดิการ ระบบประกันรายได้ การออม การให้ความสำคัญเรื่องมิติสังคม การศึกษา สาธารณสุข เป็นจุดที่ต้องการมีการต่อยอด

8 ปี ยังมีภาพทายาทคุณชวน พรรคของคนใต้

ลดลงไปเยอะ ก็ไม่เป็นธรรมกับภาคใต้เท่าไหร่ พอได้ สส.เยอะ ก็ต้องมีบทบาทที่เห็นชัดเจนกว่า แต่ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ เวลาที่คุณชวนเป็นรัฐบาล มีโครงการศูนย์ประชุมภูเก็ต คุณทักษิณเข้ามาเลิกศูนย์ประชุมภูเก็ต แล้วเอาไปทำที่เชียงใหม่ วันที่ผมกลับมาเป็นรัฐบาล โครงการเชียงใหม่มีปัญหา แต่ผมไม่เลิก ภูเก็ตอยากทำ ผมก็ทำอีกโครงการ แต่ไม่ไปดึงของเชียงใหม่ เพราะเราเป็นพรรคของคนทั้งประเทศ

ส่วนเรื่องทายาทคุณชวน แล้วแต่อารมณ์คนจะด่า วันไหนผมเห็นด้วยกับท่าน ผมก็กลายเป็นเด็กนายชวน วันไหนผมทำอะไรไม่เหมือน เขาก็ด่าว่าผมเป็นเด็กดื้อไม่ฟังผู้ใหญ่ ผมก็เป็นตัวของผม บางเรื่องผมก็เห็นด้วยกับท่าน บางเรื่องผมก็อาจจะเห็นต่าง แต่ผมก็ปรึกษา รับฟังผู้ใหญ่ทุกท่าน

ส.ศิวรักษ์ บอก ปชป.กำลังจะเข้าสู่ยุครัตติกาล แม้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นอภิสิทธิ์

วันนี้ ปชป.ต้องขยายฐาน วันนี้ ปชป.ยังเป็นหลักให้กับบ้านเมืองในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในยุคซึ่งหลายฝ่ายจำนนหรือถูกกดดัน หรือไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้เต็มที่ แต่ประชาธิปัตย์ยังเป็นหลักตรงนี้ ผมมั่นใจว่าตรงนี้เป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับพรรค เราต้องไม่ทิ้งพื้นฐานตรงนี้ แต่เราต้องทำอะไรเพิ่ม ถามว่าภารกิจเรายากไหม...ยาก อย่าลืมว่า ปชป.ทุกยุคทุกสมัย ก็สู้มาด้วยความยากลำบากมาตลอด ใครดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย เขาก็บอกว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายข้างน้อยโดยธรรมชาติมาโดยตลอด

โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะล้มหายตายจากไปเพราะการเมืองอีกขั้ว

ผมยืนยันว่าไม่หาย ยืนยันว่าเราเป็นหลักที่มั่นคงชัดเจนที่สุดของคนจำนวนมากในสังคมที่มีอุดมการณ์นี้

คนอาจคาดหวังกับคุณอภิสิทธิ์สูง อยากให้คุณมา Change ประเทศ

ผมก็พยายามขับเคลื่อน แต่การเปลี่ยนแปลง ผมว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายเรื่อง รวมทั้งวิธีคิด ถ้าสังคมเรายังหวั่นไหวคิดว่ามีทางลัด เราเห็นอะไรหวือหวาแล้วคว้าตลอด ผมว่าประเทศเราเปลี่ยนยาก เราหลงกระแสไปกี่ครั้งแล้ว แม้แต่วันนี้ กระแสที่เป็นหนี้ก่อนแล้วรวย นโยบายรัฐบาลคือเงินกู้ๆๆ กองทุนๆๆ ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องทำให้สังคมเรียนรู้ให้ได้ว่าสุดท้ายมันจริงไหม

ไม่ขายนโยบายหวือหวาอาจทำให้ไม่ชนะเลือกตั้ง

ก็ต้องเข้ามาหากันทั้งสองฝ่าย พรรคเองก็ต้องปรับปรุงการสื่อสารการตลาดเพื่อให้โดนใจคนมากขึ้น แต่อีกด้านคงไม่ได้แปลว่าพรรคต้องเอาตัวนั้นมาเป็นตัวกำหนดจุดยืนของเรา ผมยืนยันว่าถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศจริง เราไม่อยากทำอะไรตามระบบที่คนอื่นเขาทำกัน ถ้าหวือหวาแล้วดีต่อประเทศเอาครับ แต่ถ้าหวือหวาเพื่อความหวือหวา เราคงทำไม่ได้ ถ้าเราไปเล่นหวือหวาตามเขา วันนี้เราคงอยู่มาไม่ได้ เราก็ต้องมุ่งไปสู่การขยายฐานและสู่การชนะการเลือกตั้ง ผมว่ามีหวังนะครับ

เรื่องทุนสู้กับทักษิณมีปัญหาไหม

มันก็เป็นปัจจัย ไม่ใช่ไม่เป็น แต่การใช้เงินในทางที่ไม่ถูกต้องก็มีผลต่อการเลือกตั้ง แต่คงไม่ใช่ปัจจัยเดียวเท่านั้นเอง เราก็ต้องรู้ว่าสู้แบบมีข้อจำกัด เหมือนทีมฟุตบอลที่ทุนน้อยกว่า อาจจะไปเล่นเป็นทีมเยือน เพราะกรรมการอาจจะไปเข้าข้างบ้างอะไรบ้าง เราก็ต้องแข่ง ทำให้ดีที่สุด

ถ้าใน 2 ปีกว่าปฏิทินการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง

ดีครับ ผมก็อยากให้การเมืองเดินแบบนั้น ผมคิดว่าจะเดินแบบนั้นได้ รัฐบาลต้องตั้งใจบริหารประเทศ อย่าไปยุ่งเรื่องนิรโทษกรรม เรื่องรัฐธรรมนูญ เราก็มาแข่งขันกันเรื่องทางเลือกสำหรับประเทศ อนาคตประเทศ ดีที่สุดหากเป็นเช่นนั้น

ถ้าเป็นไปตามปฏิทินจะมีคู่แข่งนายกฯ คนต่อไปชื่ออภิสิทธิ์อยู่ไหม

(นิ่งคิดเล็กน้อย) อยู่ที่พรรค พรรคผมอยู่ที่พรรคอยู่แล้ว ผมก็ทำหน้าที่นี้เต็มร้อย แต่ถ้าพรรคมีตัวเลือกดีกว่า ก็เป็นเรื่องของพรรค จริงๆ วาระผมคลุมถึงการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าพรรคคิดว่ามีอะไรดีกว่าก็เป็นสิทธิของสมาชิกพรรคอยู่แล้ว แต่ผมก็ตั้งใจเดินหน้าเต็มที่ เพราะความสำคัญไม่ใช่ชัยชนะว่าเป็นผม สำหรับผมชัยชนะคือแนวทางประชาธิปัตย์

ถามตรงๆ อยากจะเป็นไหม

(ตอบทันที) อยากจะทำอ่ะครับ หลายอย่างอยากจะทำให้มันเดินหน้าแข็งขัน ผมเคยมีหนังสือ 100 ฝัน และก็ทำไปแล้ว |60-70 ฝัน ก็อยากทำให้มันครบ มีอีกหลายเรื่องจากที่เขียนร้อยฝัน ที่เป็นฝันอยากให้เกิดขึ้นกับคนไทยอีก

*****************************************

คัมภีร์ข้ามพ้น..."ทักษิณ"

ในฐานะคู่แข่งทางการเมืองสองขั้วชัดเจน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สรุปประเด็นตรงๆ 5 ข้อ ที่ไม่ควรคาดหวังกับรัฐบาลเพื่อไทย หรือแนวทางประชานิยม 1.คาดหวังไม่ได้เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนเยอะแยะ 2.คาดหวังไม่ได้เรื่องความยั่งยืน เพราะขาดทั้งวินัยและเดินด้วยประชานิยม 3.เรื่องการใส่ใจมิติทางสังคม เพราะวัดเป็นตัวเงินยาก 4.ประชาธิปไตย เพราะเขาจะไม่ยอมให้มีการตรวจสอบ และ 5.ไม่ได้ความจริง ตรงไปตรงมา จะได้โกหกสีขาว หรือโกหกไม่มีสี

เขาบอกเต็มปาก หากเลือก ปชป. มีนโยบายดี 5 ข้อ ที่จะข้ามพ้นทักษิณได้ 

1.การเตรียมความพร้อมการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยที่จะเข้าสู่อาเซียน การเชื่อมโยง ซึ่งจะต้องเชื่อมจริงๆ ไม่ใช่บอก 2 ล้านล้านบาท ที่อยู่ดีๆ มาบอกกรุงเทพฯ-โคราช กรุงเทพฯ-หัวหิน แล้วปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง 2.การศึกษา ต้องมาควบคู่ทันที คุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นท้าทายที่สุด แม้แต่เรื่องโอกาสการศึกษาที่มีเด็กตกหล่น ต้องเก็บกลับมาให้หมด และเปลี่ยนวิธีการที่จะทำให้คนเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้

3.สวัสดิการกับสังคมผู้สูงอายุที่รออยู่ ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน เราจะมีหลักประกันในวันข้างหน้าอย่างไร 4.ธรรมาภิบาล ต้องมี ไม่ใช่ปล่อยให้การทุจริตคอร์รัปชั่นกัดเซาะทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศ 30-40% และ 5.การเมืองต้องเป็นประชาธิปไตยในทุกมิติ ทั้งการเคารพเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ทุกคนเล่นตามกติกา เคารพกฎหมาย แบ่งแยกอำนาจตรวจสอบถ่วงดุล ตัวที่ 1-3 จะครอบคลุมเรื่องนโยบาย เช่น ดูแลประกันรายได้เกษตรกร การจะหาคำตอบให้คนจำนวนมากที่อยู่ในภาคไม่เชิงนอกระบบ เพราะจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่คนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมอีกเยอะมาก ตรงนี้ต้องดูแล

อภิสิทธิ์ ย้ำว่า ปัญหารัฐบาลชุดนี้ เวลาคิดเรื่องเศรษฐกิจแล้วผูกกับเรื่องประชานิยม มีอยู่ 3 อย่างที่น่าเป็นห่วง 1.คิดว่าทำให้ประชาชนรายได้ดี คือ รัฐเอาเงินไปให้กู้ หรือไปออกกติกาว่ารายได้เท่านั้นเท่านี้ โดยไม่สนใจว่ากลไกเศรษฐกิจตลาดจะกระทบอย่างไร 2.คิดว่าเศรษฐกิจโตได้ รัฐบาลใช้เมกะโปรเจกต์เป็นตัวกระตุ้น ทั้งที่ไม่มีความพร้อม หรือมีความพร้อมและเป็นโครงการใหญ่ๆ รายได้ที่สร้างค่อนข้างจะกระจุกตัวมาก และ 3.ผลประโยชน์ทางธุรกิจกับการเมืองเป็นตัวกำหนดนโยบายตลอด ไม่ใช่ประเมินจากความต้องการของประเทศ ไม่ได้ประเมินจากประโยชน์ส่วนรวม

“ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องของบุคลากร ใครเข้ามาก็ถูกชี้นำโดยตรงนี้ คุณไปทำเมกะโปรเจกต์ คุณไปเอากองทุนให้คนกู้ คุณไปโฆษณาว่าคนทำงานนี้จะมีรายได้เท่านี้ ไม่ได้ไปดูว่ากลไกที่จะรองรับคืออะไร และทุกนโยบายมีผลประโยชน์เข้าไปเอี่ยว ใครเข้ามาผมก็เห็นวนอยู่ตรงนี้หมด

จะเปลี่ยน รมต.คลัง ก็ไม่เปลี่ยนตรงนี้ จะเปลี่ยนแม้แต่ตัวนายกฯ ก็ไม่เปลี่ยนตรงนี้ ตราบที่พรรคของทักษิณเป็นตัวกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เพราะวนอยู่แค่นี้ คิดได้แค่นี้ เพียงแต่มันหวือหวารวดเร็ว แต่ประชาธิปัตย์ไม่เคยมาสัญญาว่าใครรวยเร็วได้ รัฐบาลมีให้ ไม่ต้องทำอะไร โครงการใหญ่ๆ ตื่นตาตื่นใจ”

อภิสิทธิ์ ย้ำ การทำหน้าที่ฝ่ายค้านต้องบอกความจริงและความเข้าใจกับสังคม “หากจะรักษาภาพลักษณ์ไม่ต้องยุ่งอะไรกับใคร นั่งอยู่เฉยๆ ผมก็ต้อง|ถามว่าแล้วเราจะเป็นนักการเมืองที่มีความเชื่อเรื่องระบบการตรวจสอบถ่วงดุลทำไม ผมก็ต้องออกไปสู้ ไปปกป้องกฎหมายกระบวนการยุติธรรม นิติรัฐ จำเป็นต้องทำ”

เขาเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีนิสัยนิยมความรุนแรง แต่สิ่งที่ไปประสบด้วยตัวเองก็คือ ความรุนแรงเกิดขึ้นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือการจัดตั้ง เช่น ทำกิจกรรมและไปป่วน อย่างภาคกลางป่วนหลายจังหวัดมาจากที่เดียวกัน กลุ่มเดียวกัน ส่วนที่สอง การใช้สื่อปลุกระดมหรือพูดซ้ำๆ ให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งกลุ่มเสื้อแดงก็ทำวิธีการนี้ต่อเนื่อง

“บางทีคนที่อยู่ข้างนอกก็จะบอกว่าพรรคการเมืองอย่าไปตอบโต้กันได้ไหม แต่ถ้าพรรคไม่อธิบาย กลายเป็นว่าหลายเรื่องซึมซับเป็นความเข้าใจผิด ก็จำเป็น เป็นฝ่ายค้าน โดยบทบาทต้องตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ แต่มีการสร้างกระแสอย่าวิพากษ์วิจารณ์ อย่าไปตอบโต้ ก็เท่ากับไม่ให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ แต่พวกผมไม่ได้ทำแบบชุดที่แล้ว ไม่ได้ไปขัดขวางการลงพื้นที่ปลุกระดมให้มาก่อเหตุสร้างความรุนแรง

ต้องพูดเพื่อชี้ให้สังคมเห็นว่า อะไรเป็นอะไร แต่ถ้าไม่สามารถนำข้อมูลไปถึงประชาชนได้ ความเสียเปรียบก็มี ตัวอย่างเช่น รัฐบาลพูดเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ทำโครงสร้างพื้นฐาน เราวิพากษ์วิจารณ์ชี้ให้เห็นจุดอ่อน ปัญหา การตอบโต้ที่ง่ายที่สุดก็คือบอกว่าถ่วงความเจริญ แต่วันนี้พอเราทำต่อเนื่อง คนเริ่มเข้าใจว่าโครงการยังไม่พร้อม แต่หากเราหวั่นไหว บอกว่าขืนไปคัดค้านตายแน่ เพราะคนจะหาว่าเราถ่วงความเจริญ ในที่สุดเราก็ไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ เรื่องรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรมก็เหมือนกัน”

ไม่ได้ค้านหัวชนฝาทุกเรื่อง หัวหน้าพรรค ปชป. บอกว่า กรณีปัญหาภาคใต้ พรรคให้ความร่วมมือมาก “ผมเจอเลขาฯ ศอ.บต. ในงานศพรองผู้ว่าฯ ยะลา (เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ท่านยังขอบคุณ สส.ในพื้นที่ที่ช่วย แต่เรายังต้องวิจารณ์กระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ทำ รูปแบบนี้กับตัวตนที่เขาไปคุยมันผิด พอมันผิดแล้วปัญหาแรงขึ้นจริงๆ

ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ให้พูดคุย แต่มันยากเวลาอธิบายเรื่องเหล่านี้ กับคำพูดอีกฝ่ายง่ายๆ ว่าไม่อยากให้พูดคุยใช่ไหม คุณขวางใช่ไหม ถ้าเราหวั่นไหว ไม่ทำหน้าที่เรา ประเทศแย่ลง ดังนั้นบางครั้งต้องบอกกับลูกพรรคว่าก็ต้องไม่หวั่นไหว หลายเรื่องเราทำไป พูดไปคนไม่ชอบ แต่ต้องทำหน้าที่เรา ถ้าคิดแต่ว่าทำอะไรให้ถูกใจ ปล่อยไปสังคมแย่ลง ไม่ทำหน้าที่แล้วเราจะมาเป็นนักการเมืองทำไม”

ให้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ อภิสิทธิ์ บอกว่า “ผมยืนยันมาตลอดว่า 4 ปี รัฐบาลอยู่ได้สบายๆ ถ้าไม่มายุ่งเรื่องที่สร้างปัญหา เพราะฉะนั้นนโยบายพิสูจน์กันไปเลย จำนำข้าวแล้วเกิดอะไรขึ้น พอมาแตะเรื่องแบบนี้ก็ทำให้เกิดความกังวลตลอดเวลาว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะความขัดแย้งสูงมาก

นายกฯ ก็อย่างที่บอก เวลาถามเรื่องนิรโทษกรรม แล้วแต่สภา แต่สังคมไหลไปสู่การขัดแย้งมากขึ้น ที่ไม่ได้เกิดจากคนอื่น เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาล หรือคนของรัฐบาลเอง วันนี้ล้อมศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเสื้อแดง เข้าชื่อไม่ยอมรับอำนาจศาล บอกเป็นเรื่องของ สส. แล้วใครรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดความขัดแย้งรุนแรงบ้านเมืองเสียหาย ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย”

“ผมห่วง ก็เห็นชัดว่าคุณทักษิณปักธงมาเรื่องไหน รัฐบาลก็ต้องขยับตาม วาทกรรมเรื่องเมื่อไหร่จะก้าวข้ามทักษิณ ต้องไปถามรัฐบาล ถ้ารัฐบาลก้าวข้ามทักษิณ บ้านเมืองสงบ อาจจะได้เป็นรัฐบาล 20 ปีก็ได้ ที่พวกผมต้องพูดถึงทักษิณ เพราะรัฐบาลไม่ยอมก้าวข้าม ตั้งแต่ที่เขาพักกฎหมายปรองดองค้างไว้ จนถึงวันที่มาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ สงบมาก แต่ที่ต้องมาพูดถึงเขาก็เพราะรัฐบาลไม่ยอมก้าวข้าม ถ้ารัฐบาลก้าวข้ามก็จบกันไป”

ถามตรงไปตรงมา...แต่คนยังมอง อภิสิทธิ์ ไม่ติดดิน “ก็เป็นวาทกรรมที่สร้างกันขึ้นมา ผมอยู่ในการเมืองมา 21 ปี ถ้าผมไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ก็คงเป็นเรื่องแปลกมาก ที่ผมยังยืนอยู่ตรงนี้ แต่ผมก็เป็นตัวของตัวเอง ไม่ไปฝืนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา”