posttoday

โปรเจกต์น้ำ3แสนล้าน"ทีโออาร์"เอื้อทุจริต

23 เมษายน 2556

"อุเทน ชาติภิญโญ" อดีตคนพรรคเพื่อไทย เปิดใจความไม่ชอบมาพากล"ทีโออาร์"โครงการน้ำ3แสนล้าน

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อ “อุเทน ชาติภิญโญ” มาก่อน

ความจริงแล้วอุเทนทำงานการเมืองเบื้องหลังมาตั้งแต่สมัยพรรคพลังธรรมยังเฟื่องฟู จนตำแหน่งล่าสุดของเขาก็คือ การเป็นหนึ่งในกรรมการยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์พรรคเพื่อไทย และมีส่วนเสนอความคิดออกมาจำนวนหนึ่ง

โดยในช่วงมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ผลงานหนึ่งของอุเทนก็คือ การเป็นประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยในช่วงแรกหน้าที่หลักก็คือ การเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำบริเวณคลองหกวาสายล่าง ผ่านคลองลำปลาทิวและคลองพระองค์ไชยานุชิต จ.สมุทรปราการ ให้ลงอ่าวไทยได้เร็วขึ้น หลังจากนั้นเขาก็ยังคงเป็นทีมที่ปรึกษาด้านการระบายน้ำให้กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจนทำให้น้ำที่ท่วมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาคลี่คลาย ด้วยการเร่งระบายน้ำจากคลองหลักอย่างคลองมหาสวัสดิ์ลงสู่แม่น้ำท่าจีน

ทว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา อุเทนตัดสินใจลาออกจากพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผลว่าอยากไปทำธุรกิจ แต่คนที่อยู่ใกล้ชิดเขาทราบกันดีว่า จริงๆ แล้วเขาอยากมีอิสระทางความคิดและการทำงานมากขึ้น แน่นอนว่าในวัย 61 ปีของเขา พลังยังคงเหลือเฟือ

วันนี้ อุเทน เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ เพื่อเล่าให้ฟังถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3 แสนล้าน ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มี ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนที่จะถึงเดดไลน์ ซึ่ง กบอ.ให้ 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกยื่นซองด้านเทคนิคและราคา ภายในวันที่ 3 พ.ค. หรือราว 2 สัปดาห์ข้างหน้า

เริ่มจากโมดูล A1 ที่มีชื่อว่า “การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ปิง ยม น่านสะแกกรัง และป่าสัก” ซึ่งระบุให้สร้างอ่างเก็บน้ำ 16 จุด ในทุกลุ่มน้ำ โดยในโมดูลนี้ระบุโครงการสุดคลาสสิอย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ และเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ไว้ด้วย ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำ 16 จุด จะต้องได้ความจุประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม. เพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท

โปรเจกต์น้ำ3แสนล้าน"ทีโออาร์"เอื้อทุจริต

อุเทน เกริ่นให้ฟังว่า เพียงแค่ดูในทีโออาร์ก็เริ่มเห็นความหละหลวม เพราะไม่ได้ระบุว่าแต่ละอ่างจะต้องจุน้ำในปริมาตรเท่าไร อย่างไรก็ตามหากคิดคร่าวๆ หารเฉลี่ยเท่ากันทั้งหมด จะอยู่ที่ราวอ่างละ 80 ล้าน ลบ.ม. และหากหารเฉลี่ยทุกอ่างลึก 15 เมตรเท่ากันหมด จะต้องใช้พื้นที่ทั้งสิ้น 5.5 หมื่นไร่

หากคิดราคาที่ดินต่างจังหวัดหรูๆ เฉลี่ยไร่ละประมาณ 2 แสนบาท ก็จะใช้เงินราว 1.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ต่างจากข้อกำหนดของ กบอ.ที่ระบุเพดานยอดเงินไว้ถึง 5 หมื่นล้านบาท อุเทน ตั้งคำถามว่า นอกจากค่าที่ดินแล้ว น่าสงสัยว่าค่าศึกษาและก่อสร้างต้องเนรมิตอะไรบ้างถึงต้องใช้เงินมากขนาดนั้น และแพงจนต้องตั้งวงเงินก่อสร้างถึง 5 หมื่นล้านบาท เชียวหรือ

ที่ต้องถามท่านปลอดประสพก็คือ ที่ท่านบอกว่าให้ศึกษาแล้วค่อยทำไป หรือที่เป็นภาษาอังกฤษว่า Design & Build นั้น ให้เงินไปแล้วศึกษาอะไรก่อนหน้านี้ ถ้ามันไม่คุ้ม คุณทำยังไง ยกเลิกหรือ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐควรประเมินก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ประเมินไป แล้วเดินหน้าไป โดยไม่ได้ข้อสรุปจากการศึกษาอย่างถ่องแท้

ต่อมา โมดูล A2 ที่ระบุถึง “การจัดทำผังการใช้ที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” นั่นคือการสู้กับน้ำ เหมือนกับการปิดล้อมนิคมโรจนะที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอุเทน บอกว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เพราะที่จริงควรหาที่ให้น้ำอยู่ และหาทางให้น้ำไปได้ง่ายและเร็ว มากกว่าการจะสู้กับน้ำโดยการสร้างกำแพงล้อมน้ำไว้ เพราะยิ่งตัดสินใจจะปิดล้อมและกั้นน้ำ ไม่ให้เข้าไปมากเท่าไร ก็ยิ่งสร้างโอกาสที่จะทำให้น้ำยกตัวสูงขึ้น จนอาจเกิดแรงดันใต้น้ำดันพื้นที่ปิดล้อมอยู่ อาจพังทลายจนระเบิดขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น

ขณะที่ โมดูล A3 ระบุถึง “การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว” นั้น อุเทน มองว่า จากสถิติที่ผ่านมา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้มีความเสี่ยงสูงขนาดที่จะท่วมได้ทุกปี

โดยในปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยนั้น น้ำที่ผ่าน จ.นครสวรรค์ มาจากการบริหารจัดการบริเวณเขื่อนที่ผิดพลาด และไม่ได้ปล่อยน้ำลงไปด้านใต้อย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำที่สะสมมานานพังทำลายจุดที่ต่อสู้มา (ประตูระบายน้ำ หรือกำแพงที่ปิดกั้น) และไหลลงมาพรวดเดียว ในครั้งนั้นอุปกรณ์มี แต่ไม่พร้อมใช้งาน หากปรับปรุง บำรุงรักษา และเพิ่มเครื่องมือ เช่น ประตูระบายน้ำ รวมถึงเครื่องสูบน้ำ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท

“การที่จะใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อไปรองรับน้ำ 3,000 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับว่า 1 ล้าน ลบ.ม. ใช้เงินถึง 3 ล้านบาท เรียกได้ว่าใช้เงินไม่คุ้มค่า และไม่มีประโยชน์อะไรเลยด้วยซ้ำ เปรียบเสมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน”อุเทน แสดงความคิดเห็น

โมดูล A4 ระบุถึง “การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ยม น่าน และเจ้าพระยา” ซึ่งเขาบอกว่า ใน 3 พื้นที่นี้ แน่นอนว่ามีลำน้ำถูกกัดเซาะ แต่การใช้งบประมาณกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อระบายน้ำราว 1,300 ลบ.ม./วินาทีนั้น อาจไม่คุ้มค่า ทั้งนี้ควรจะต้องมีการศึกษาก่อนว่าได้เปิดช่องน้ำให้น้ำไหลอย่างธรรมชาติหรือไม่ หรือต้องการแค่ขุดขยายคลองเพื่อนำดินมาใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว

“หากดูข้อเท็จจริง คุณจะพบว่าโครงการขุดลอกคูคลองหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 นั้นมีหลายแห่งที่เบิกงบประมาณไปจริง แต่ไม่สามารถวัดผลได้ว่า คลองที่ขุดลอกไปนั้นลึกจริงหรือไม่ และดินที่ขุดขึ้นมาถูกใช้ไปทำอะไร ซึ่งหากรัฐบาลปล่อยให้มีการใช้งบประมาณขนาดนี้เพื่อขุดลอกคลองก็จะต้องมีรูปแบบการตรวจสอบ และรับโครงการที่ดีกว่าโครงการที่แล้วมา”

อุเทน บอกว่า ทางเลือกของโมดูลนี้ก็คือ จะต้องเปิดช่องทางให้น้ำไปอย่างเร็วและเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้น้ำไหลเร็วกว่าปกติ โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ทั้งนี้อาจไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพียงแค่เพิ่มการผลักดันน้ำด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เช่น กดฐานเครื่องสูบน้ำให้ลึกลงไปอีก 30-80 ซม. ก็สามารถดูดน้ำและลดระดับน้ำได้มากขึ้นแล้ว เช่นที่เคยทำกับคลองที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อนำน้ำออกอ่าวไทย

ขณะที่ โมดูล A5 ได้แก่ การจัดทำทางผันน้ำ(ฟลัดไดเวอร์ชัน) 1,500 ลบ.ม./วินาที รวมถึงสร้างถนนรอบข้าง โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณทั้งหมด 1.5 แสนล้าน โดยเป็นเส้นทางหลอกให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลมา และทำทางเดินให้น้ำใหม่ ให้สามารถผันลงสู่อ่าวไทยไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที โดยช่วยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสามารถรับน้ำได้ไม่เกิน 3,400ลบ.ม./วินาที

“อันที่จริงตลอดทั้งปีระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้มากนัก อย่างดีก็อยู่ราว 2,000-2,500|ลบ.ม./วินาที หากดึงไป 1,500 ลบ.ม./วินาที มีความเป็นไปได้ว่าระดับน้ำในเจ้าพระยาต้องลดลงมากแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร การประมงน้ำจืด การสัญจรตลอดลำน้ำ รวมถึงการท่องเที่ยวได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความคุ้มค่าเลยที่จะทำโครงการตามโมดูล A5 มูลค่า 1.5 แสนล้าน เพียงเพื่อเป็นเส้นทางให้น้ำใหม่”

แม้ กบอ.จะสรุปว่า โครงการทุกโมดูลจะช่วย|ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างถาวร แต่ในมุมมองของอุเทนแล้ว นอกจากโมดูล A3 ที่ระบุถึงการจัดหาพื้นที่ชลประทานว่าจะช่วยบรรเทาน้ำแล้ง ก็ยังมองไม่ออกว่าโครงการอื่นจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างไร เพราะถ้าทุกโครงการไม่ได้พูดถึงจุดกักเก็บน้ำได้ชัดเจน พูดแต่ว่าจะเสริมสร้างการระบายน้ำเท่านั้น

“กบอ.มีแผนภาพสวยหรูอยู่เสมอว่าจะนำน้ำเข้าไปเก็บในบึง เช่น บึงสีไฟ จ.พิจิตร หรือบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ แต่จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่กรมชลประทานก็ยืนยันว่าไม่ได้มีจุดเชื่อมต่อ และมีการรุกล้ำพื้นที่บึงแทบทุกจุด เช่น บึงสีไฟ นั้นมีบ้านจัดสรรขวางทางน้ำด้วยซ้ำ ซึ่งโดยหลักการแล้ว แน่นอนว่าระบบบริหารจัดการน้ำที่ดี ควรจะต้องมีการเชื่อมระหว่างแหล่งน้ำตามธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ แต่ดูเหมือนว่ากบอ.จะไม่สนใจว่าจะเชื่อมบึงกับแม่น้ำอย่างไร เพียงมุ่งแต่จะลงทุนในโครงการสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อย่างเดียว” อุเทน ชี้ให้เห็น

เปิดช่องฮั้วบริษัทประมูลที่ดิน

อุเทน บอกว่า ทุกโมดูลการวางแผนใช้ที่ดิน ได้กำหนดให้บริษัทผู้ประมูลงานเข้าไปจัดการเอง ซึ่งอุเทน บอกว่า ขณะนี้ทุกบริษัทแทบจะกุมขมับ เพราะไม่มีทางที่จะเข้าไปรู้ข้อมูล หรือเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ได้เลย หากไม่รู้กันภายในกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะในทีโออาร์ระบุไว้กว้างมาก รวมถึงให้อำนาจบริษัทมากเกินไป ทำให้มีโอกาสสูงที่รัฐจะได้ของแพง และอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกัน

“เพราะอะไรจึงไม่ศึกษาวิเคราะห์ก่อนที่จะกำหนดเนื้องาน การใช้รูปแบบนี้กลายเป็นบริษัทที่จะเข้าไปประมูล ต้องศึกษาทุกอย่างให้กับรัฐบาล ถามว่า แล้วรัฐบาลจะไปเป็นกรรมการกำหนดทำไม เผลอๆ ให้ท่านนายกฯ ประกาศออกมาคำเดียวว่า ใครมีแผนงานจะเสนอบ้าง อาจใช้เงินน้อยกว่าด้วยซ้ำ” อุเทน ระบุ

โปรเจกต์น้ำ3แสนล้าน"ทีโออาร์"เอื้อทุจริต

เขายังพบพิรุธอีกประการหนึ่งที่ปรากฏในโมดูล A1 ได้แก่ ข้อกำหนดว่าด้วยการจัดหาที่ดินและการขออนุญาตใช้พื้นที่ ข้อ 4.3 ซึ่งระบุว่า “กรณีที่เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน และสามารถตกลงราคากันได้ ให้ผู้รับจ้างจ่ายค่าจัดหาที่ดิน รวมทั้งค่าดำเนินการต่างๆ ทั้งหมด และให้มีการโอนซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเป็นของผู้ว่าจ้างโดยตรง”

“ข้อนี้เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ทันที สมมติผมเป็นบริษัทในโครงการ ผมก็อาจเข้าไปคุยกับเจ้าของที่ดินว่า สรุปราคาซื้อขายกันที่ไร่ละ 2 แสนบาท แต่ในสัญญาการจัดซื้อที่ให้รัฐบาลโดยผู้รับเหมา อาจจะทำสัญญาลวง กำหนดเป็นไร่ละ 2.5 แสนบาท โดยผู้ซื้อยอมเสียภาษีส่วนเกิน สุดท้ายก็ได้ทอนมา กำไรไร่ละเกือบหมื่นบาทหลังเสียภาษี ถ้าทำเป็นพันเป็นหมื่นไร่ รัฐจะสูญเงินมหาศาล และไม่มีทางตรวจสอบได้เลยว่า บริษัทที่ได้งานไปมีการฮั้วกับเจ้าของที่ดินหรือไม่ เพราะมีการเสียภาษีและค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้วที่กรมที่ดิน แล้วออกเป็นใบเสร็จซื้อขายที่ดินอย่างดี โดยกรมที่ดินและกรมสรรพากรเป็นผู้รับรองการซื้อขาย เพราะมีการเก็บภาษีตามนั้นจริง”

ที่น่าตกใจก็คือว่า ทุกโมดูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดินและการใช้พื้นที่ ตั้งแต่การสร้างอ่างเก็บน้ำ การขุดคลองใหม่ การทำฟลัดไดเวอร์ชัน หรือการแก้ปัญหาน้ำเซาะตลิ่งนั้น ระบุข้อกำหนดในแบบเดียวกันทั้งสิ้น!!!

เล็งยื่น"ยูเอ็น"สกัดโกงน้ำ

นอกจากจะออกมาชำแหละเรื่องทีโออาร์โครงการน้ำที่หละหลวมเปิดช่องทุจริตแล้ว อุเทน ชาติภิญโญ ยังประกาศจะตามเปิดโปงกระบวนการทุจริตนี้

“ผมกำลังดูข้อกฎหมายว่า โครงการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจะเข้าข่ายผิดต่อ ‘อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตปี 2003’ ขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศได้ไปลงนามไว้หรือไม่ โดยเขาอาจอาศัยช่องโหว่นี้ในการยื่นให้สหประชาชาติตีความเพื่อตรวจสอบโครงการนี้ให้มีความรัดกุม และไม่สร้างความเสียหายตามมา” อุเทน กล่าว

อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำ กล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และหากจำกันได้ ผู้รู้ทั้งในวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น เคยแถลงคัดค้านโครงการไปไม่รู้กี่เวที โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีการศึกษา รวมถึงขอบเขตงานที่ชัดเจน จนอาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้โครงการไม่สำเร็จได้

โปรเจกต์น้ำ3แสนล้าน"ทีโออาร์"เอื้อทุจริต

“ในช่วงแรกท่านปลอดประสพ (สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี) บอกว่า โครงการอาจไม่ต้องลงรายละเอียดมาก เพราะกรมชลประทานเคยศึกษาไว้ทั้งหมดแล้ว รวมถึงจะเอาที่มีอยู่แล้วมาทำแทน และแม้จะมีการศึกษาไว้แล้ว แต่ในทีโออาร์กลับไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าแต่ละโมดูลจะมีการก่อสร้างอะไร อย่างไร นอกจากกำหนดแค่ตัวเลขน้ำ ซึ่งไม่ทราบว่าพอถึงเวลาจะมีจริงไหม ที่มีอยู่จริงเพียงสิ่งเดียวก็คือ ตัวเงิน 3 แสนล้านบาท ที่ กบอ.ต้องการใช้ให้หมดไป”

อุเทน เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร ได้รับการชี้แจงจาก อภิชาติ อนุกูลอำไพ ซึ่งเป็นมันสมองหลักของ กบอ. ว่าในวันที่ 3 พ.ค.นี้ บริษัทที่ได้รับคัดเลือกจะต้องส่งหลักฐาน แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาก็ทำให้เขาประหลาดใจ เพราะสิ่งที่ กบอ.ต้องการมีเพียงแผนที่ และรูปแบบการใช้พื้นที่เท่านั้น ซึ่งไม่ต่างอะไรเลยกับที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำมากว่า 40 ปี

อุเทน บอกว่า หากจะว่ากันตรงๆ แค่เริ่มโครงการก็ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ข้อแรกแล้ว เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดราคากลาง กลายเป็นว่างานทุกงานภายใต้โมดูลที่สวยหรู กลายเป็นเรื่องสมมติ และการวาดฝันทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม หากหลักการทั้งหมดถูกต้อง ขณะนี้ก็ควรจะได้แผนแม่บทที่ลงลึกลงไปถึงข้อกำหนด รูปแบบ ความคุ้มค่าแล้ว ไม่ใช่ล่าช้า เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเมื่อโดนแย้งเหมือนทุกวันนี้

“การออกแบบทีโออาร์แบบนี้ ทำให้ กบอ.สามารถเลือกชี้อะไร โดยใครก็ได้ เพราะเวลาแต่ละบริษัทไปทำรายละเอียดมานั้น ไม่มีเป้าชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย ขณะเดียวกัน คนที่มีอำนาจตัดสินใจและรู้เรื่องนี้ แม้จะมีคณะกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการหลายคน แต่ก็มีการบ่นกันในกลุ่มคณะกรรมการว่ามีอยู่คนเดียวที่ตัดสินใจว่าเอาหรือไม่เอาคือท่านปลอดประสพ”อุเทน กล่าว

เขาชี้ให้เห็นว่า เหตุที่รัฐบาลต้องรีบ เพราะพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท จะหมดอายุในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ แต่จนถึงปัจจุบันความคืบหน้าที่เห็นมีเพียงทีโออาร์ไม่กี่หน้า ซึ่งในแต่ละโมดูลก็เหมือนกับลอกกันมา เปลี่ยนแค่ตัวเลขเท่านั้น หากรัฐบาลยังคงดันทุรังก็มีความเสี่ยงสูงที่โครงการนี้จะไม่สำเร็จ หรือหากดำเนินการได้ทันจริง ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะออกมาร่อแร่ เพราะเกิดจากการรีบตัดสินใจ

“ถามว่าขณะนี้ กบอ.ได้เตรียมไว้หรือไม่ว่า หากกระบวนการประชาพิจารณ์ไม่ผ่าน หรือชาวบ้านประท้วง ไม่เห็นด้วยกับการเวนคืนที่ดิน จะแก้ไขอย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าเขาเคยศึกษา กรณีชุมชนบ้านครัว ที่ทาง
ด่วนขั้นที่ 2 จะตัดผ่านหรือไม่ จุดนั้นก็นิดเดียวเอง แต่สุดท้ายก็สร้างทางด่วนไม่ได้ เรื้อรังกันนานกว่า 20 ปี สุดท้ายก็ยกเลิก เพราะฉะนั้น กบอ.ต้องทำอะไรที่มากกว่าการร่างบนกระดาษแล้วประมูลแล้วจ่ายเงินให้บริษัทไปศึกษาทำมา”

“เราห่วงมากว่าโครงการนี้จะเหมือนโครงการสถานีตำรวจ 396 แห่ง หรือโครงการโฮปเวลล์ ที่พอตกลงเซ็นสัญญา แล้วปล่อยงานให้ผู้รับเหมาแล้ว สุดท้ายผู้รับเหมาทำไม่ได้ ก็กลายเป็นซากคาไว้ ประเทศชาติเสียเงินไปฟรีๆ” อุเทน แสดงความกังวล

ยิ่งไปกว่านั้น หากฝ่ายค้าน หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล หยิบเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้สูงที่โครงการนี้จะถูกต่อต้านอย่างหนัก จนกลายเป็นปมใหม่ที่รัฐบาลต้องตามล้างตามเช็ด หากโครงการนี้ยังเกิดขึ้นภายใต้แผ่นกระดาษไม่กี่แผ่นที่เรียกว่าทีโออาร์แบบนี้อยู่

ถึงเวลาพรรคทางเลือกที่ 3

แม้จะตัดสินใจจากพรรคเพื่อไทยไปแล้ว แต่ อุเทน ก็ยังมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารมว.กลาโหม ให้กับบิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณฑัต อยู่ โดยอุเทน และบิ๊กโอ๋ มีความสนิทสนมกัน ตั้งแต่เมื่อช่วงน้ำท่วมใหญ่ ทำให้บิ๊กโอ๋ ตัดสินใจ เรียกอุเทนไปช่วยงาน ตั้งแต่เมื่อ
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“ตอนผมลาออกจากพรรคก็ได้ขออนุญาตท่านแล้วและเรียนถามว่า จะให้ผมลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฯ หรือไม่ แต่ท่านสุกำพลก็ไม่ได้ให้ผมลาออกแต่ห้ามไม่ให้ผมลาออกจากสมาชิกพรรค แต่สุดท้ายพอท่านทราบถึงเหตุผล ท่านก็เข้าใจ และอวยพรให้โชคดี”

จนถึงขณะนี้ ตำแหน่งที่ปรึกษารมว.กลาโหม เป็นเพียงตำแหน่งเดียวที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง นอกนั้นเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ทำธุรกิจเป็นหลัก แต่ในฐานะคนทำงานด้านการเมืองที่อยู่เบื้องหลังมานานกว่า 30 ปี เขาก็อดไม่ได้ที่จะวิเคราะห์การเมืองว่าขณะนี้ ประชาชนเลือกตั้งบนความกลัวและความเกลียดเป็นหลัก ไม่ได้มีทางออกอะไรให้กับประชาชน ที่จะสร้างความรักความศรัทธาและทำให้ประเทศชาติ
ก้าวหน้าต่อไป

“ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ต้องอาศัยโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเป็นช่องทางหาทุนทางการเมืองสร้างประโยชน์เข้าตัวเท่านั้น อันที่จริงหลังฉากไม่ว่าฝ่ายไหน หากสมประโยชน์กับตัวเอง ทุกฝ่ายก็พร้อมจะเงียบทั้งสิ้น ถามว่าสุดท้ายคนไทยจะได้อะไร” อุเทน ระบุ

เขาทิ้งท้ายไว้ว่า อาจถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทย ต้องการพรรคการเมืองทางเลือกที่ 3 ที่ทุนการเมือง ไม่สำคัญเท่าทุนทางความคิด และทุนในการเลือกตั้งไม่สำคัญเท่ากับความศรัทธา โดยคนที่เข้ามาต้องยอมเสี่ยงที่จะเจ็บและเปลืองตัว แต่มีความกล้าที่จะสู้เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ต้องติดตามต่อว่าการเมืองในฝัน ที่อุเทนคิดจะเป็นเพียงการเมืองที่เกิดขึ้นในอุดมคติหรือไม่