posttoday

นัจมุดดิน อูมา เบื้องหลังตัวเชื่อมพูดคุยสันติภาพ

10 เมษายน 2556

"เราพลาดตรงที่การพูดคุยเป็นที่เปิดเผยมากเกินไป ทำให้คนรู้ตั้งแต่ต้น ทั้งที่รัฐบาลยังไม่ควรจะเปิดเผย"

"เราพลาดตรงที่การพูดคุยเป็นที่เปิดเผยมากเกินไป ทำให้คนรู้ตั้งแต่ต้น ทั้งที่รัฐบาลยังไม่ควรจะเปิดเผย"

ระเบิดเอ็ม 79 ที่ยิงใส่บ้านพักนัจมุดดีน อูมา อดีตส.ส.นราธิวาส อดีตผู้ต้องหากบฎแบ่งแยกดินแดน 2 คืนซ้อน แม้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สำหรับคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ กลับให้น้ำหนักไปยังบทบาทของนัจมุดดีน ในฐานะ ‘ตัวเชื่อมต่อ’ ระหว่าง รัฐไทยและขบวนการต่อสู้เพื่อปัตตานี ขณะที่เจ้าตัวเองก็ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้เช่นกัน

นัจมุดดีน เชื่อว่า คนร้ายที่ก่อเหตุทั้ง 2 ครั้งเป็นกลุ่มเดียวกัน และยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและไม่ใช่เรื่องการเมืองแน่นอน แต่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไม่สงบแน่นอน

“ผมเคยเป็น ส.ส. 4 สมัย แน่นอนว่าคนที่เป็น ส.ส.ก็ย่อมต้องมีมือไม้ในพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่พรรคไหนก็ตาม ต้องรู้จักคน ทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน มีคนถามว่าที่โดนถล่มครั้งนี้เพราะการเป็นที่ปรึกษาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงหรือไม่ แต่ปรึกษา 9 คน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องโดนกันหมด แต่นี่ทำไมโดนผมคนเดียว แถมยังโดน 2 ครั้งติดต่อกัน

ร.ต.อ.เฉลิมก็โทรศัพท์มาถามหลายครั้ง ผมบอกทุกครั้งว่า ไม่มีอะไร อาจเป็นเพราะมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการสร้างสันติภาพก็เป็นได้ในฐานะที่เป็นอดีต ส.ส.ก็ต้องฟังประชาชน ส่วนในฐานะที่ปรึกษาก็ต้องทำหน้าที่ที่ปรึกษา”

ส่วนการเข้าไปเกี่ยวข้องกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)นั้น นัจมุดดีนบอกว่า ไม่มีตำแหน่งหน้าที่อะไรในศอ.บต. เพียงแต่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. มักจะโทรศัพท์คุยกันในเรื่องปัญหาต่างๆ

“อีกเรื่อง คือผมได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ‘คนที่อยู่ในมาเลเซีย’มาหลายปีแล้ว บอกว่ารัฐบาลเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ต่างประเทศได้กลับบ้าน รวมทั้งได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจก็เท่านั้น”

เมื่อถามย้ำถึง‘คนที่อยู่ในมาเลเซีย’ เป็นคนในขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของฟาฏอนีย์(ปัตตานี) หรือไม่

“คนเราก็ต้องมีคนที่รู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในขบวนการหรือไม่ ต่างก็เป็นคนที่นี่เหมือนกัน คนที่อยู่ในขบวนการและมีคดีติดตัวก็พยายามช่วยเรื่องคดี ถ้าใครไม่อยากให้พบเราก็ไม่ไปพบ หรือใครที่อยากให้เจอเราก็ไปเจอ ไม่ใช่ไปหาคนทำผิดมาลงโทษ ไปเจอก็คุย ส่วนเขาจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เรื่องของเขา แต่เราก็คุยกัน”

นัจมุดดีน ยังได้พูดถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติดภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ด้วยว่า ประชาชนทั่วไป 80 % เห็นด้วยในหลักการ เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เห็นด้วย แต่วิธีการที่จะเดินไปข้างหน้ายังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

“เราพลาดตรงที่การพูดคุยเป็นที่เปิดเผยมากเกินไป ทำให้คนรู้ตั้งแต่ต้น ทั้งที่รัฐบาลยังไม่ควรจะเปิดเผย ต่างจากกระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่สังคมรู้ตอนที่กระบวนการใกล้จะจบแล้ว หลังจากที่มีการคุยกันมาเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะกระบวนการพูดคุยครั้งนี้ เดินมาถูกทางแล้ว จะหาทางออกทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของที่อื่นในโลก ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่จบลงด้วยการใช้อาวุธ”

เขาบอกว่า ปัญหาของคนจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็นปัญหาทางการเมืองการปกครอง เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเมืองการปกครอง หากแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการเมืองและการปกครองได้ ปัญหาความไม่สงบก็จะแก้ได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพอีกร้อยละ 20 นั้น เป็นหน้าที่ฝ่ายรัฐจะต้องทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้ให้ได้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและเห็นด้วยในที่สุด

แต่เมื่อย้อนถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า เหตุยิ่งเอ็ม79 ทั้ง 2 ครั้ง มาจากคนกลุ่มนี้ ? นัจมุดดีน บอกว่า เป็นไปได้ เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่มีหลายกลุ่ม

“ที่จริงไม่ใช่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่เรายังหาจุดไม่เจอว่าจะคุยกันอย่างไร ซึ่งก็ต้องพยายามต่อไป”

ส่วนในฝ่ายรัฐ เขาเชื่อว่า ไม่มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลแล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องทำตาม ยกเว้นว่าจะมีใครเล่นนอกกติกา

สำหรับอนาคตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ นัจมุดดีนมองว่า ต้องเดินหน้าต่อไป แต่จะให้ปัญหาจบลงในเวลา 3 – 4 วัน หรือ 5 เดือน คงเป็นไปไม่ได้ อย่างที่อาเจะห์ประเทศอินโดนีเซีย ก็ใช้เวลาถึง 7 – 8 ปี ส่วนที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ก็ใช้เวลาถึง 10 ปี

“ของเราแค่ 3 เดือนเอง แล้วจะให้ปัญหาจบได้อย่างไร เหตุการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร ก็ให้มันเป็นไป เพราะคนทะเลาะกันมาเป็นร้อยปี มาคุยแค่ 4 วันแล้วจะให้จบ เป็นไปไม่ได้”

สำหรับระยะเฉพาะหน้าเขามองว่า ต้องทำความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ต้องทำความเข้าใจแก่คนที่ยังไม่เข้าใจ

“ผมได้ให้ความเห็นแก่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ควรแปลนโยบายความมั่นคงให้เป็นภาษามลายู ภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาอาหรับ เพื่อต้องการให้โลกรู้ เช่นเดียวกับนโยบายของศอ.บต.ก็ต้องแปลให้เป็นภาษาเหล่านั้นด้วย นี่ก็คือการทำความเข้าใจอย่างหนึ่ง ที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ ส.ส.ที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งนั้น ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน นี่คือสิ่งที่คนในพื้นที่เสียเปรียบ เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่ไม่มีส.ส.อยู่ในพื้นที่แม้แต่คนเดียว ฉะนั้นต้องช่วยกันขอดูอา(ขอพร) ให้มากๆ เพื่อให้มีส.ส.และมีรัฐมนตรีเป็นคนมุสลิมในพื้นที่ ถึงจะมีความหวังในวันข้างหน้าได้”

เขาบอกว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีรัฐมนตรีเป็นคนในพื้นที่ การทำงานจึงจะสำเร็จ เช่นการตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย การอนุญาตให้ผู้หญิงมุสลิมสามารถคลุมฮิญาบได้ ก็เกิดขึ้นในสมัยที่มีคนมุสลิมในพื้นที่เป็นรัฐมนตรี

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เขามองว่าสิ่งที่นักการเมืองควรทำซึ่งเป็นหัวใจสำคัญคือ ต้องหาช่องทางหยุดความรุนแรงให้เจอก่อน ถ้าแก้ปัญหาไม่สงบไม่ได้ การแก้ปัญหาอย่างอื่นที่ตามมาก็จะยาก

ส่วนบทบาทของกลุ่มวาดะห์ที่มารวมตัวกันนั้น ในปีแรกนี้ได้ขอความช่วยเหลือจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้กลับมาเป็นประธานกลุ่มอีกครั้ง ส่วนนายเด่น โต๊ะมีนา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายบูราฮานุดิง อุเซ็ง และตัวเขาเอง จะช่วยคิดให้กลุ่มเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า

“ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง ที่บ้านนายวันมูหะมัดนอร์ ที่จังหวัดยะลา และจะเปิดกว้างให้คนกลางเข้าร่วม จุดประสงค์คือ จะทำอย่างไรที่จะเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้”

สำหรับบทบาทในกระบวนการสันติภาพของ‘วาดะห์’ นัจมุดดีนบอกว่า กลุ่มวาดะห์สนับสนุนทุกฝ่ายในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ส่วนการทำงานในทางลับก็ต้องทำด้วยเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ เป็นเรื่องปกติที่ทำอยู่แล้ว บางเรื่องไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะชนในวงกว้างได้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อกระบวนการที่เดินอยู่ได้

สำหรับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นครั้งที่ 3 เขาบอกว่า ตามความเชื่อของคนมุสลิม ในเรื่องความตายนั้น พระเจ้ากำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องสู้ต่อไป ไม่มีปัญหาอะไร

“เรื่องแค่นี้เป็นเพียงการทดสอบ ยังไม่ใช่ภัยพิบัติ เป็นการทดสอบจิตใจว่าเราอดทนมากน้อยแค่ไหน”

 

*หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบทความสันติภาพในมุ ‘นัจมุดดีน อูมา’ เมื่อเจอของแข็ง M79 ถล่ม 2 คืนซ้อน โดย มูฮำหมัด ดือราแม , อับดุลเลาะห์ วันอะห์หมัด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(www.deepsouthwatch.org/dsj/4135)