posttoday

มีใบสั่งถอยเอ็กซ์โป2020

10 มีนาคม 2556

โอกาสไม่กี่ครั้งของคนไทยที่จะได้ร่วมลุ้นเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับโลกอย่าง “เวิลด์เอ็กซ์โป 2020” กำลังจะหลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

โอกาสไม่กี่ครั้งของคนไทยที่จะได้ร่วมลุ้นเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับโลกอย่าง “เวิลด์เอ็กซ์โป 2020” กำลังจะหลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่สู้อุตส่าห์ออกตัวนำมาตั้งแต่ต้น แต่อยู่ดีๆ กลับสะดุดขาตัวเองไปแบบดื้อๆ ปล่อยให้คู่แข่งสำคัญอย่าง “ดูไบ” เร่งโกยแต้มทำคะแนนไปแบบคาใจว่า เหตุผลที่แท้จริงอยู่แค่เรื่องความ “คุ้มทุน” หรืองานนี้มี “ใบสั่ง” อย่างที่หลายคนวิจารณ์

อรรคพล สรสุชาติ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หัวเรือใหญ่ที่เคยขับเคลื่อนเรื่องนี้ ยังอดแปลกใจกับท่าที ลับ ลวง พราง ของรัฐบาลเวลานี้ไม่ได้ แม้ยากจะบอกว่างานนี้มีใบสั่งหรือไม่ แต่คนที่ให้คำตอบที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่จะต้องให้ความชัดเจน ว่าหยุดเพราะอะไร ถ้าไม่หยุดจะทำอะไร เพราะถ้าไม่หยุดแต่ไม่ทำอะไรก็ลำบาก

อดีตผู้อำนวยการ สสปน.ฉายภาพย้อนเรื่องราวความเป็นมาว่ามีหลายขั้นตอนกว่าจะถึงจุดนี้ โดยแนวคิดการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โป เริ่มมีการศึกษาเมื่อปี 2550 และศึกษาเตรียมความพร้อมโดยดูงานจาก “เอ็กซ์โป 2008” ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ โดยที่ผ่านมาพบว่าในเอเชียแปซิฟิก ไม่รวมจีน ญี่ปุ่น ยังไม่เคยมีใครเป็นเจ้าภาพ และจากการประชุมร่วมกับภาคเอกชน ราชการ กว่า 500 คน ทุกคนเห็นตรงกันว่า ไทยมีศักยภาพที่จะจัดงานได้

เรื่องนี้ถูกหยิบยกเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ครั้งแรก ต้นปี 2553 สมัยที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ โดย ครม.มีมติตั้ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ขณะนั้น เป็นประธานศึกษาโครงการนี้อย่างจริงจัง สุดท้ายจึงได้ข้อสรุปเรื่องพื้นที่จัดงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากทั้งหมด 6 จังหวัดที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก คือ พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ชลบุรี พัทยา ภูเก็ต จันทบุรี และเพชรบุรี

ในปี 2551 อภิสิทธิ์ประกาศความพร้อมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเอ็กซ์โปเป็นประเทศแรก ต่อมาได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ และไปแสดงวิสัยทัศน์ และดำเนินการต่อเนื่อง ท้ายที่สุดได้เชิญเลขาธิการสำนักงานมหกรรมมรดกโลก (บีไออี) วิเซนเต กอนซาเลส มาดูความพร้อมของประเทศไทย ก่อนจะลุยกำหนด ธีม โลโก้ และรายละเอียดอื่นๆ

อรรคพล ระบุว่า งานนี้มีปัญหาในสองส่วน ส่วนแรกงบประมาณ โดยหลัง ครม.มีมติอนุมัติงบในการรณรงค์เบื้องต้น 300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2555 ได้งบประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนอีก 200 ล้านบาทให้ไปขอปีถัดไป แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลมา|เป็นรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกปรับลด โดยไม่ได้ให้เหตุผล ทำให้ต้องใช้งบ สสปน. บางส่วนมาดำเนินการเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้

มีใบสั่งถอยเอ็กซ์โป2020

ส่วนที่สอง คือ ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะไปทิศทางไหน ต้นปี 2555 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไปพบรองประธานาธิบดีของจีน ซึ่งทางจีนบอกว่าพร้อมให้การสนับสนุนไทยเป็นเจ้าภาพเอ็กซ์โป ช่วงเดือน มี.ค. ครม.กำหนดให้การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 เป็นวาระแห่งชาติ แต่พอปลายเดือน มี.ค. สสปน. กับสภาพัฒน์ ได้นัดพบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เพื่อเสนอรายละเอียด แต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไรถึงให้กลับมาทบทวนตัวเลขอีกครั้ง ซึ่งต่อมาได้สรุปข้อมูลล่าสุดและเสนอกลับไป โดยไม่มีการประชุม ครม. จากนั้นเดือน ธ.ค. 2555 ได้ยื่นรายละเอียดเอกสารทางการการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ (บิดบุ๊ก)

ผมเองในฐานะที่อยู่ข้างนอก มองว่ารัฐบาลเงียบไป ถ้าจะเอาจริงๆ มันต้องมีความเคลื่อนไหว กระทรวงการต่างประเทศต้องออกหน้าอย่างชัดเจน บางโอกาสเช่นไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม นายกฯ ควรใช้เวทีเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ต่อการเสนอตัวมากกว่านี้ และการที่บีไออีเลือกเดินทางมาไทยเป็นประเทศแรกก็น่าจะสะท้อนความชัดเจนระดับหนึ่งแล้วในการสนใจประเทศไทย ซึ่งตามข่าวทราบว่าบีไออีพอใจใน จ.พระนครศรีอยุธยา มาก

แต่ที่อาจเป็นปัญหานิดหน่อยเพราะบีไออีพบรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ยืนยันสนับสนุนเต็มตัว เริ่มต้นเขามาเจอ รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ ก็ให้การยืนยันว่าเราพร้อม แต่รัฐบาลไม่ได้ยืนยันหนักแน่นอะไร การเลี้ยงต้อนรับบีไออีอย่างเป็นทางการก็ไม่มีภาครัฐไปเลย ไม่มีแม้แต่รองนายกฯ หรือ รมต.ที่กำกับดูแลแทน ตรงนี้อาจจะทำให้เป็นจุดอ่อนของไทยในวันนี้ การลงพื้นที่ของบีไออีเป็นเรื่องสำคัญ คณะกรรมการชุดนี้จะไปเขียนเรคอมเมนเดชันแนะนำสมาชิกว่าไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราคงไม่ได้คะแนนในส่วนนี้มากนัก”

อรรคพล กล่าวว่า ถัดมา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาบอกว่ารัฐบาลจะทบทวนเรื่องนี้ โดยต้องพิจารณาว่าคุ้มไม่คุ้ม แต่ในฐานะคนที่ทำมา เรายื่นบิดบุ๊กที่เป็นทางการไปแล้ว การจะมาทบทวนอะไรก็ตามไม่ได้มีสัญญาณที่เป็นบวกแม้ว่าหลังจากนั้นสองสามวันนายกฯ จะยืนยันว่าเราจะเดินหน้าต่อ แต่เราก็ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร เหมือนทิศทางรัฐบาลก็ไม่ชัดเจน

“ต่างกับคู่แข่งประเทศอื่นๆ อย่างดูไบในรายการกอล์ฟที่จัดที่นั่น มีป้ายโฆษณาเวิลด์เอ็กซ์โปเต็มไปทั่วเมือง และมีรัฐมนตรีเดินสายหาเสียงทุกงาน ทั้งงานเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ซึ่งดูไบเดินหน้ามาตลอด ถ้าเราแพ้ดูไบ ก็ต้องมีคำถามได้เหมือนกัน ทำไมเรามาถึงตรงนี้แล้วเรายอมดูไบ”

อรรคพล ประเมินสถานการณ์แล้วไม่ใช่ว่าไทยจะไม่เหลือโอกาสชนะ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการบีไออีในเดือน พ.ย. เพราะไม่มีอะไรจะต้องเสียที่จะเดินหน้า มีแต่จะเสียมากกว่าที่อยู่เฉยๆ หรือเดินถอยหลัง สิ่งที่ต้องทำเวลานี้ก็คือ 1.หาเสียง ซึ่งแผนของกระทรวงการต่างประเทศ มีตั้งแต่ปีที่แล้วว่าจะหาเสียงกับใครที่ไหน 2.ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าประเทศไหนที่จะให้การสนับสนุนเรา และประเทศที่อาจยังไม่พัฒนามากนัก ไทยมีอะไรจะออฟเฟอร์เขาที่จะให้เขามาร่วมงาน และต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร

กระทรวงการต่างประเทศเคยคุยกับทูตทั่วโลกมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นหนังสือเวียนทำอย่างเป็นระบบ แต่ปีที่ผ่านมาเกือบปีหนึ่งหยุดไปเฉยๆ อันนี้รัฐบาลต้องให้เหตุผลกับประชาชนโดยเฉพาะหากเหตุผลเป็นเหตุผลพอฟังได้ บีไออีก็อาจจะให้การพิจารณาในทางที่ดีขึ้น ดีกว่าหยุดเฉยๆ

ถามแบบตรงไปตรงมาท่าทีของรัฐบาลขณะนี้ แสดงว่าต้องการล้มแผนจัดเอ็กซ์โปแล้วใช่หรือไม่ “อรรคพล” ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า รัฐบาลเหมือนจะไม่สู้ จะเรียกว่าถอนตัว หรือถอดใจอะไรก็ตาม แต่เราไม่ได้ทำอะไรมาเกือบปี การเสนอความคืบหน้าก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่เขาฟังมาหลายรอบแล้ว

ส่วนจะถึงขั้นมวยล้มไหม ผมไม่รู้ แต่รู้ว่ามวยไม่ได้ชก เต้นฟุตเวิร์กไหมก็ไม่รู้ แต่รู้ว่าไม่ได้ชก หมัดไม่ได้ออก ถ้าขึ้นเวทีแล้วไม่ต่อย เสียโอกาสไหม แต่ถ้าจะถามผมลึกกว่านั้นว่า โดนใครเขาต่อยหรือ โดนใครเขาจ้างล้มหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่มันไม่ต่อย แต่ถ้ามวยมันไม่ต่อยมันไม่มีทางชนะหรอก

ส่วนจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ปักหลักดูไบเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นหรือไม่ อรรคพล กล่าวว่า ไม่รู้เรื่องประจวบเหมาะหรือเปล่า แต่รัฐบาลบอกว่าไม่มีใครสั่ง แต่ข้อเท็จจริงคือเราสู้กับดูไบ

ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย เป็นชื่อเสียงของประเทศ ใครก็ตามที่เห็นคนอื่นดีกว่าคนไทยก็ไม่ใช่คนไทย อยากฝากไปถึงทุกคนไม่ว่าจะในรัฐบาล หรือผู้มีบารมีนอกรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เจาะจงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว ว่าอยากให้คิดถึงประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศบ้าง ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่มีการลงทุน

“ถึงตอนนี้ก็ยังมีโอกาสที่จะชนะแม้จะน้อยลงกว่าปีที่แล้ว แต่เปอร์เซ็นต์ชนะก็ยังมี ผมคิดว่าเขายังไม่ได้ตัดสินใจ ณ วันนี้ แต่ขอให้รัฐบาลแสดงตัวให้เต็มที่”

ไทย เสียอะไรหากไม่ได้จัด "WORLD EXPO  2020" 

วิเคราะห์กันไปถึงกรณีเลวร้ายที่สุดหากไทยพลาดหวังจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิร์ลเอ็กซโป “อรรคพล”   ต้องพิจารณาว่าสาเหตุที่ไม่ได้จัดเพราะอะไร ถ้าเป็นเพราะรัฐบาลไม่สนับสนุน  ต่อไปความเชื่อมั่นของรัฐก็จะมีปัญหา เพราะรัฐบาลตั้งเป็นวาระแห่งชาติ เสนอเอกสารอย่างเป็นทางการ

กรณีที่สอง ไม่ได้จัดเพราะเราถอนตัว  ทั้งที่เดินหน้ามาได้ขนาดนี้  ต่อไปเวลาจะไปเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานอื่นๆ ความชื่อถือในประเทศไทย อาจจะลดลง  ว่าเดี๋ยวเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเราก็เปลี่ยนอีก ทั้งๆ ที่งานนี้ไม่ใช่
งานรัฐบาลไหน แต่เป็นงานของคนไทยทั้งประเทศ

“สิ่งที่ต้องเสียแน่ๆ คือ โอกาส เพราะไม่รู้ว่าโอกาสดีๆ แบบนี้จะมีอีกเมื่อไหร่  หากเราแสดงตัวคราวหน้า เขาจะยังให้เราเข้าร่วมแข่งอยู่หรือไม่  เพราะประวัติเดิมไม่ดี”

อรรคพล กล่าวต่อว่า  ในกรณีที่รัฐบาลไม่สู้ ถ้าถอนตัวก็มีข้อเสีย แต่หากเดินหน้าต่อไป  แล้วไม่หาเสียง ไม่เดินตามแผนโครงการ ไม่ประชาสัมพันธ์ แล้วไม่ได้รับเสียงสนับสนุนซักคะแนน ซึ่งไม่รู้ว่าแม้แต่รัฐบาลไทยเองจะโหวตให้ประเทศไทยหรือเปล่าเลย  นี่จะเป็นความอับอายที่จะตามมาด้วย  เพราะฉะนั้นถ้าสู้ก็ต้อสู้ให้ถึงที่สุด

โดยเฉพาะงานใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ มี 3  งาน เวิร์ลเอ็กซโป โอลิมปิก ฟุตบอลโลก  ทั้งนี้ โอลิมปิก จัดหนึ่งเดือนคนดูไม่ค่อยเยอะเพราะดูถ่ายทอดสดเหมือนฟุตบอลโลก ที่ 3 สัปดาห์ก็จบ แต่เอ็กซโปจัด 6 เดือน ค่าตั๋ว ค่าสปอนเซอร์ และ อื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย

“ไทยไม่เคยเข้ารอบอะไรลึกๆ แบบนี้มาก่อน โอลิมปิกก็หลุดไปตั้งแต่แรก แต่การสู้ได้ถึงวันสุดท้าย นี่คือการแสดงความมั่นใจของไทย ?ส่วนผลจะออกมายังไงก็ขอให้ทำดีทีสุด  หากแพ้ก็ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศ  แต่ถ้าเดินหน้าแล้วไม่สู้ ก็สะท้อนว่าหลายอย่างเปลี่ยนได้ในเมืองไทย  ต่อไป เวลาไปชวนคนมาลงทุน แล้วไปบิดงานอะไร คนก็คิดว่าแล้วถึงเวลาจะเปลี่ยนอะไรอีกไหม การเมืองก็ไม่นิ่ง 100% ไม่รู้ว่าอีก 6 ปี  ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่า 2020 ใครจะเป็นรัฐบาล หากการเมืองไม่เสถียร นโยบายก็เปลี่ยนได้ตลอดเวลาภาพลักษณ์ก็แย่”

ที่สำคัญระหว่างที่นักลงทุนยังวิตกกังวลเรื่องน้ำท่วม การจัดงานเอ็กซโปที่อยุธยาครั้งนี้ยังจะเป็นการเดินหน้าสร้างความมั่นใจอีกทางหนึ่งด้วยว่าน้ำจะไม่ท่วมแน่นอน   ดังนั้นอย่ามองแค่มิติเดียว ต้องมองหลายๆ ด้าน และหากพูดถึงเรื่องความคุ้มค่าต้องนำไปเปรียบเทียบโครงการนี้กับโครงการอื่นๆ ของรัฐบาล ดูว่าความคุ้มค่ามีอะไรขนาดไหน หลายโครงการที่ยังสอบถามกันอยู่ปัจจุบันรัฐบาลก็ยังตอบไม่ได้ แล้วยังใช้เงินกว่ามาหาศาล ถ้ารัฐบาลบอกว่าโครงการนี้แพงแล้วโครงการอื่นของรัฐบาลไม่แพงหรือ

เปรียบมวย "อยุธยาVSดูไบ" คุ้มค่าต้องดูหลายมิติ

มีใบสั่งถอยเอ็กซ์โป2020

ส่องดู 5 ประเทศที่เข้ารอบสุดท้ายการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 ไทย ตุรกี รัสเซีย บราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “อัครพล” ประเมินว่าไทยยังได้เปรียบในหลายๆ ด้าน

สำหรับประเทศรัสเซีย ซึ่งเลือกเมืองที่อยู่ในไซบีเรียเป็นพื้นที่จัดงาน ซึ่งจะต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับอากาศหนาว และการจะให้ประเทศต่างๆ ไปมีส่วนร่วมด้วยนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะที่ “ตุรกี” ที่ผ่านมาเคยยื่นเสนอเข้าแข่งขันด้วยลักษณะรายละเอียดที่เกือบเหมือนเดิม ทั้งเมืองเดิมไม่มีอะไรใหม่ ส่วน “บราซิล” เศรษฐกิจไม่ดี การเมืองก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น จึงเหลือแค่ “ไทย” กับ “ดูไบ” ซึ่งในส่วนของ “ไทย” ที่เลือกพระนครศรีอยุธยานั้น เรามี “ธีม” ที่ดีกว่า และน่าจะมีโอกาสกว่า โดยทาง “ดูไบ” เสนอแนวคิดเรื่อง “คอนเนกชัน” เป็นศูนย์กลางการบิน ศูนย์รวมเศรษฐกิจ มีคนเข้าออกมากมาย แต่เขาไม่มีประชากร จริงๆ ไม่มีแรงงานที่พอจะสร้างโครงการใหญ่ๆ ซึ่งหากได้ทำก็ต้องใช้เงินจ้างคนนอกมาทำ

“เรารู้ว่าจริงๆ เขาเสนอดูไบ เพราะเขาต้องการฟื้นดูไบ เพราะดูไบมีปัญหาเศรษฐกิจมากช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้าเขาจะจัดงานใหญ่ๆ ก็จะปลุกความเชื่อมั่นของดูไบได้”

อัครพล อธิบายว่า ไทยได้เปรียบตรงที่เสนอเรื่องนิยามใหม่ของโลกาภิวัตน์ คือ ความยั่งยืน พอเพียง เป็นเรื่องที่มันลึกซึ้งกว่า ในวันที่เศรษฐกิจทั้งโลกมีปัญหา การใช้จ่ายใหญ่ๆ คงไม่มีใครไหว การที่แต่ละประเทศจะมาสร้างอะไรในบ้านเราก็คงไม่ง่าย ดังนั้นคอนเซปต์ความพอเพียง การทำอะไรให้ยั่งยืน จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจกว่า

สำหรับเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าที่สั่งให้มีการทบทวนโครงการนี้นั้น อัครพล มองว่างบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทที่เสนอมาแต่ต้น ไม่รวมค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ทั้งรถไฟความเร็วสูง เพราะไม่ได้เกี่ยวกับโครงการนี้อย่างเดียว แต่ที่เกี่ยวกับโครงการนี้อาจเป็นช่วงต่อขยายรถไฟฟ้า 12 กม. สายสีแดง สร้างจุดเชื่อมทางด่วนบางปะอิน

“เป็นการลงทุนในเวลา 6-7 ปี คำนวณแล้วภาระต่อปีไม่ได้เยอะเท่าที่คิด และเมื่อเทียบกับโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาล เทียบกันไม่ได้เลย อย่างรถไฟความเร็วสูง มีหรือไม่มีเอ็กซ์โปมันก็ต้องวิ่งผ่านอยุธยาอยู่ดี จะไปนับอย่างนั้นไม่ได้ ที่แพงหน่อยก็คือ รถไฟสายสีแดง 12 กม. สนข.บอกว่าอาจจะทำได้ คือ ตามแผนรัฐบาลให้รถไฟหยุดที่เชียงรากน้อย แล้วใช้ชัตเทิลบัสรับส่งต่อจากตรงนั้นเหลือไม่กี่กิโล

... หรือรัฐบาลใช้ 3 แสนล้านบาท ที่จะป้องกันน้ำท่วม พัฒนาระบบน้ำ ที่จะเห็นผลใน 3 ปีก่อนเวิลด์เอ็กซ์โป ซึ่งจะเป็นโชว์เคสว่าพื้นที่เหล่านี้ได้รับการแก้ไขไปหมดแล้ว ตรงนี้จะนำมานับรวมไม่ได้ เพราะไม่มีเอ็กซ์โปก็ใช้เงินอยู่ดี นอกจากนี้ งบประมาณ 3-4 หมื่นล้าน ในวันที่เราทำแผนนี้มีบางส่วนที่ลงทุนร่วมกับภาคเอกชนได้ด้วย”

อัครพล กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลประเมินว่าจะใช้งบ 5 หมื่นล้านบาท 6 ปี ก็เหลือปีละไม่เท่าไหร่ ซึ่งเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ ที่กู้เงินเป็นแสนแสนล้านบาทนั้นต่างกันมาก และพวกนี้มีรีเทิร์นในระยะยาว เวิลด์เอ็กซ์โปไม่ใช่จบแล้วทิ้ง แต่ก็จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ วิทยาลัยแห่งการเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนของโลกในอนาคต อาจจะเป็นอินเตอร์เนชันแนลคอลเลจ หรือเป็นศูนย์ศึกษา พิพิธภัณฑ์ ก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ หากได้สร้างตรงนั้น โครงการในพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสอดรับกับธีม ดังนั้นสามารถแสดงความโดดเด่นของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน

ส่วนประเด็นเรื่องรายได้ที่จะกลับมานั้น จากที่ประเมินว่าจะมีคนเข้าชม 37 ล้านครั้ง ซึ่งรัฐบาลกังวลว่าหากไม่ถึง 37 ล้านครั้งจะทำอย่างไรนั้น ผลตอบแทนกลับมาไม่ได้อยู่เพียงแค่เงินจากค่าตั๋วอย่างเดียว แต่ยังมาจากสปอนเซอร์ แรงงานไทยที่จะได้ประโยชน์ ต้องคิดว่าเงิน 3 หมื่นกว่าล้านบาทที่ลงไปเป็นมัลติพลายเออร์ ตัวคูณในระบบ ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพราะทุกอย่างอยู่ในไทย เงินก่อสร้างพาวิลเลียนทุกประเทศออกเอง

“เวลาเรามอง อย่ามองแคบๆ มิติเดียว เพราะมีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง แต่ผมไม่ทราบเหตุผลของรัฐบาล นอกเหนือจากที่บอกว่าแพง ถ้าคิดในมูลค่ากับสิ่งที่ประเทศไทยจะได้ ผมว่าได้ไม่น้อยกว่าโครงสร้างอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ ที่ทำอยู่ อาจจะดีกว่าหลายโครงการด้วยซ้ำ” อัครพล กล่าวทิ้งท้าย