posttoday

1 เม.ย.วันโกหกแห่งชาติของใคร

31 มีนาคม 2553

แม้จะพอเข้าใจได้ว่าวันโกหกแห่งชาติเป็นแค่คำพูดสนุกปากของแกนนำ แต่ถ้าคำนึงถึงความจริงที่ไม่ควรโกหกในเมื่อรัฐบาลไม่ได้กำหนดวันดังกล่าว ไว้ในสารบบปฏิทินให้สังคมยอมรับ

แม้จะพอเข้าใจได้ว่าวันโกหกแห่งชาติเป็นแค่คำพูดสนุกปากของแกนนำ แต่ถ้าคำนึงถึงความจริงที่ไม่ควรโกหกในเมื่อรัฐบาลไม่ได้กำหนดวันดังกล่าว ไว้ในสารบบปฏิทินให้สังคมยอมรับ

โดย ทีมข่าวการเมือง

นับเป็นความคิดอันเพริศแพร้วของ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) หรือคนเสื้อแดง อย่าง จตุพร พรหมพันธ์  ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามของรัฐบาลอยากให้มีการเปิดเจรจารอบสามเพื่อหาทางลงให้กลุ่มคนเสื้อแดง  แม้แกนนำจะยังออกอาการมึนๆ เหวงๆ จะเอากันอย่างไรดี  เพราะต้องรอคำตอบสุดท้ายจากนายใหญ่ก่อนว่าจะกลับลำเข้าสู่วงเจรจาหรือไม่ แต่สิ่งที่จตุพรคิดขึ้นได้อย่างปัจจุบันทันด่วนเห็นจะเป็นการบริหารวาทะ ด้วยการบอกว่า หากจะนัดหมายเจรจาวันที่ 1 เม.ย.คงเป็นไปไม่ได้   เพราะวันดังกล่าว เป็น ”วันโกหกแห่งชาติ” หรือ“วันตอแหลนานาชาติ”

1 เม.ย.วันโกหกแห่งชาติของใคร

ทั้งนี้การกำหนดวันสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะวันสำคัญแห่งชาติ มักจะเกิดขึ้นจากรัฐบาลเสนอความเห็นเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ออกมาเป็นมติครม.ด้วยการกำหนดลงไปในปฏิทิน ซึ่งจากการสำรวจวันสำคัญตลอดปี   ไม่พบว่ามีการกำหนดวันที่ 1 เม.ย. ของทุกปีเป็นวันโกหกแห่งชาติ แต่กลับพบว่าที่มีการกำหนดไว้อย่างเป็นทางการก็คือวันดังกล่าวเป็นเป็นวันข้าราชการพลเรือนพลเรือน     

ดังนั้นการที่จตุพรกล่าวขึ้นมาลอยๆ จริงอยู่ด้านหนึ่งอาจเป็นพฤติกรรมเหน็บแนม หรือหวังสร้างสีสันต์ผ่านหน้าสื่อ ด้วยการเอาธรรมเนียมฝรั่งที่ถือว่าวันดังกล่าวเป็น "วันเอพริลฟูลส์" ซึ่งเป็นวันที่จะอนุญาตให้โกหกต่อกันได้ เพื่อกระทบกระแทกรัฐบาลไม่จริงใจยุบสภาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง เสมือนว่ารัฐบาลเชื่อไม่ได้  มีพฤติกรรมเข้าข่ายโกหก  ตามที่แกนนำเสื้อแดงเข้าใจ

แต่ในพื้นที่ชุมนุมก็ดูจะจริงจังกับวันดังกล่าวอยู่ไม่น้อยเพราะเวลาที่แกนนำใส่ความคิดอะไรไปบรรดามวลชนมักยึดถือตามนั้น  อย่างกรณีของ นพ.เหวง โตจิรการ แกนนำ นปช. ที่กำลังมีชื่อ ติดตลาด  จากผลการเจรจาสองครั้งที่ผ่านมาด้วยลีลาพูดจาวกวน สับสน ยากที่จะเข้าใจ  จนกลายเป็นศัพท์ใหม่ พูดจา ”เหวงๆ” ( พูดไม่รู้เรื่อง) กระหึ่มชุมชนออนไลน์บานปลายไปถึงสังคมวงกว้างก็ยังสร้างความครึกครื้นในหมู่ผู้ชุมนุมย่านผ่านฟ้าเช่นเดียวกันและเมื่อจตุพรกล่าวถึงวันที่ 1 เม.ย.จะเป็นวันโกหกแห่งชาติอีก ยิ่งทำให้สังคมผู้ชุมนุมออกมากล่าวขานถึงวันสำคัญนี้เช่นกัน  จะมีกิจกรรรมขอขมา  ล้างความโกหกแต่ละคนหรือไม่

มีการตีความกันยกใหญ่ในหมู่ผู้ชุมนุม  เพราะนอกจากจะมองว่ารัฐบาลโกหกไม่น่าเชื่อถือ   แต่สังคมผู้ชุมนุมที่กำลังทิ้งพื้นที่ จากความเสื่อมต่อแกนนำ ออกมาวิจารณ์อึ้งมี่ทำนองว่า   สงสัยจะเป็นการฉลองพฤติกรรมการโกหกของเหล่าแกนนำ  มีการขุดคุ้ยวีรกรรมออกมาวิพากษ์วิจารณ์สนุกปาก

ตั้งแต่การประกาศชุมนุมใหญ่ปีที่แล้ว ว่ามีคนมาเป็นล้านคน   แต่ข้อมูลทั้งของฝ่ายแกนนำและรัฐบาลก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกันไม่เกินห้าหมื่นคน   เช่นเดียวกับการชุมนุมใหญ่ครั้งล่าสุดของปีนี้   ระบุว่า มีคนเป็นล้านคน แต่เอาเข้าจริงอยู่ในระดับไม่เกินแสนคน   หรือแม้แต่ประกาศจะชุมนุมใหญ่ระลอกสามในวันที่ 3 เม.ย.  ว่าจะมาอีก 20 ล้านคน จะเป็นอีกกี่เท่าของครั้งแรก ครั้งที่สอง ก็คงปลุกขวัญกันไป  อย่างการชุมนุมครั้งที่สองก็อ้างว่าจะมามากเป็นห้าเท่าของครั้งแรก  ครั้งที่สามก็คงจะสิบเท่า ร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า ล้านเท่า  จนพื้นที่กทม.แทบไม่มีที่ยืน   เพราะประชากรในกทม.ก็มีเกือบ 6 ล้านคน หากมาถึง 20 ล้านคน  คงล้นเต็มถนน  ไหลทะลักลงไปลอยคอเต็มแน่นแม่น้ำเจ้าพระยา     ดังนั้นสภาพความเป็นจริงจึงเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นไปไม่ได้เข้าข่าย “โกหกพกลม”

เหตุการณ์ช่วงเสิ้อแดงจลาจล ล้มประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซัมมิท ที่พัทยา  ซึ่งแกนนำหยิบยกกล่าวอ้างว่าเป็นฝีมือแดงเทียม  ทั้งที่มี “กีร์ ระเบิดขวด “  อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง   แกนนำนปช. บุกเข้าไปภายในโรงแรมพร้อมกับนั่งแถลงข่าวขับไล่นายกฯ  หรือ กรณี ”แรมบ้าน้อย” สุพร อัตถาวงศ์  แกนนำสายฮาร์ดคอร์ อีกรายประกาศบนเวทีเสื้อแดงหน้าทำเนียบฯ ระดมพี่น้องเสื้อแดงบุกไปเอาชีวิตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ที่กระทรวงมหาดไทย  จนเป็นเหตุให้มีการทุบรถ จนนิพนธ์ พร้อมพันธ์ อดีตเลขานายกฯ รวมถึง ฝ่ายรปภ.นายกฯได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายโดยมีณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำแดงจริง  สอบสัมภาษณ์หลังเวที แล้วเอาไปประจานบนเวทีในเวลาต่อมา 

พฤติกรรมของขบวนการคนเสื้อแดงในวันดังกล่าวถูกถ่ายทอดผ่านสายตาประชาชน แต่ถูกแกนนำมาแต่งตัวใหม่ให้เป็นแดงเทียม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ “ถูไถโกหกไปได้” 

หรือคำยืนกรานของจตุพร ระบุว่า  นายกฯไม่อยู่ในรถขณะเข้ากระทรวงมหาดไทย  แต่ผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระของสภา  หรือช่างภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศถ่ายจากมุมสูง  ยืนยันว่า นายกฯอยู่ในรถ แต่สามารถนำมายัดเยียดโกหกกันต่อไป   แต่แม้จะมีนายกฯอยู่หรือไม่อยู่ในรถ แกนนำมิเคยปริปากเลยว่า มีการทุบทำลายรถยนต์จริงหรือไม่  หรือภาพฟ้องอยู่แล้วจึงไม่กล้าโกหก  จึงหันไปหาเหตุเรื่องอื่นกลบแทนความจริง   อีกกรณีคือ  คลิปเสียงนายกฯ ที่อ้างว่ามีคำสั่งทำร้ายประชาชน  มีการพิสูจน์ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เป็นคลิปเสียงตัดต่อและมีการฟ้องร้องกลายเป็นคดีในชั้นศาล แต่แกนนำคงพยายามนำมากล่าวบนเวทีให้ร้าย กลายเป็นความโกหกซ้ำซาก

กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน มีความพยายามย้ำถึงรูปแบบเคลื่อนไหว  เน้นสงบสันติ ไม่รุนแรง   แต่เอาเข้าจริง มีการละเมิดสิทธิ สร้างเรื่องที่ไม่ตรงความจริง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมปาถุงเลือดใส่บ้านพักนายกฯ การขึ้นปราศรัยปลุกระดมจะเอาเลือดหัวผู้นำประเทศ   การปลุกประชาชนให้เตรียมขวดคนละใบ มาเอาน้ำมันก้าดที่กรุงเทพ   การติดป้ายยัดเยียดให้คนกทม.เห็นด้วยกับการยุบสภา โดยที่ไม่ได้ขออนุญาติ กทม. แต่กลับบอกว่า สามารถติดได้อย่างอิสระเพราะเป็นรูปแบบสันติวิธี 

กลายเป็นความงุนงงเหวงๆ ว่า  การกระทำที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูดว่าสันติสงบ ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น อย่างนี้ โกหกหรือไม่

หลากหลายเรื่องราวหนักไปทางกล่าวหา  ซ้ำร้ายเลยเถิดก้าวล่วงถึงสถาบันเบื้องสูงโดยขาดข้อมูลหลักฐานน่าเชื่อถือ  ยิ่งทำให้หลายฝ่ายแสดงความห่วงใย พร้อมกับเอือมระอาเพราะ ไม่น่าเชื่อเลยว่า  กล้านำสถาบันมาสร้างเป็นเรื่องโกหกให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคมชาติ

แม้จะพอเข้าใจได้ว่า “วันโกหกแห่งชาติ”  เป็นแค่คำพูดสนุกปากของแกนนำ   แต่ถ้าคำนึงถึงความจริงที่ไม่ควรโกหก   ในเมื่อรัฐบาลไม่ได้กำหนดวันดังกล่าว ไว้ในสารบบปฏิทินให้สังคมยอมรับ ก็เห็นจะเป็นการสร้างการยอมรับในหมู่แกนนำเสื้อแดงเอง   แต่ถ้าหากแกนนำเสื้อแดงออกมาบอกปัดไม่ได้กำหนดขึ้นเอง อย่างนี้เท่ากับโกหกตัวเอง (อีกแล้ว)