posttoday

สัมภาษณ์พิเศษ:เราไม่ใช่โพลรับจ้าง

22 ธันวาคม 2555

"ผมเข้าใจว่า เราน่าจะเป็นโพลแห่งเดียว ที่ประกาศออกมาว่าเราจะเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และจะไม่รับสินจ้างใดๆ จากการเมือง"

"ผมเข้าใจว่า เราน่าจะเป็นโพลแห่งเดียว ที่ประกาศออกมาว่าเราจะเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และจะไม่รับสินจ้างใดๆ จากการเมือง"

โดย... สุภชาติ เล็บนาค ,ชุษณ์วัฏ ตันวานิช
 

ไม่อคติ ไม่ถามชี้นำ

เป็นเรื่องฮือฮาทุกสัปดาห์สำหรับผลสำรวจของสำนักโพลที่ออกมาสร้างความประหลาดใจกับคอข่าวอยู่เสมอ    ล่าสุด เมื่อวันที่20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ที่สำรวจคนในแวดวงเอกชน เพิ่งระบุออกมาว่า สุดยอดซีอีโอ ในแวดวงนายกรัฐมนตรี ตางยกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึง 32.8% ขณะที่แวดวงข้าราชการ ยกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก 43.5%
         
หรือผลสำรวจของเอแบคโพลล์ก่อนหน้านี้หลายครั้ง เช่น ประชาชนกว่า 75% มองว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกช่อง 11 เป็นเรื่องความต้องการเอาชนะทางการเมือง และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีสิทธิเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ มากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันล้วนทำให้เกิดความเคลือบแคลงชวนสงสัยว่า เอแบคโพลล์อยู่ข้างไหน และเป็น "โพลรับจ้าง" อย่างที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่
         
โพสต์ทูเดย์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เพื่อสอบถามถึงจุดยืน การทำหน้าที่ และข้อสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสถานะของเอแบคโพลล์ ว่าเป็นโพลรับใช้นักการเมืองหรือไม่ แน่นอนว่า เมื่อได้ยินคำถามเหล่านี้เจ้าสำนักเอแบคโพลล์ตอบทันทีว่า ชินแล้วกับคำถามเหล่านี้เพราะส่วนใหญ่จะติดตามแต่พาดหัวข่าวผ่านรายการวิทยุ ทีวี และหนังสือพิมพ์ ที่หยิบยกเนื้อหาเพียงบางส่วนไปเล่า แต่ทุกคนที่คลางแคลงใจสามารถโทรศัพท์เข้ามาสอบถามที่เอแบคโพลล์ได้ และส่วนใหญ่ก็มีปฏิกิริยาที่พอใจ ภายหลังได้อ่านผลสำรวจฉบับเต็ม
         
"ผมเข้าใจว่า เราน่าจะเป็นโพลแห่งเดียวที่ประกาศออกมาว่าเราจะเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และจะไม่รับสินจ้างใดๆ จากการเมือง ผมยืนยันได้ว่าจะไม่เห็นชื่อผมไปเป็นที่ปรึกษาคนนู้นคนนี้หรือมีตำแหน่งทางการเมือง เพราะถ้าเราหนักแน่นมั่นคง และยึดมั่นในระเบียบวิธีวิจัย ก็จะได้รับความเชื่อถือเรายึดไว้เสมอว่าหลักคุณธรรมเสื่อมช้ากว่าอำนาจนักการเมือง ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยถ้าเราเลือกอยู่กับการเมืองเมื่อใดความน่าเชื่อถือก็หายไปทันที"
         
เคยรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นเครื่องมือถูกนำไปใช้ในการแบ่งข้างไหม? นพดลยิ้มพลางตอบว่า เรื่องนี้มองได้หลายด้าน แต่ถ้าว่ากันด้วยหลักปรัชญาของมนุษย์ ทันทีที่มนุษย์แต่ละคนได้แสดงอะไรออกมา มันมีความเสี่ยงสูงมากที่จะต้องตกเป็นเครื่องมือของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายบางอย่างของคนอื่นหรือแม้แต่ตัวเอง ถ้าไม่งั้นเราก็ต้องนั่งเป็นอิฐเป็นปูนไป เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต อย่าว่าแต่สิ่งมีชีวิต บางทีสิ่งที่ไม่มีชีวิตยังตกเป็นเครื่องมือให้คนเอาไปใช้ได้(หัวเราะ)
         
"ถามว่าเราจะมีหลักการอย่างไรเพื่อลดทอนการเป็นเครื่องมือของฝ่ายอื่นประการแรก นักทำโพลต้องยึดมั่นและทำตามในระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นสากลประการที่สอง เราต้องประกาศไปให้ชัดว่าเราจะไม่ตกเป็นเครื่องมือและไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง จะเป็นนักวิชาการจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่รับตำแหน่งของฝ่ายการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ตรงนี้ต้องพูดไปให้ชัด เพราะไม่ว่าคนอื่นจะดึงไปใช้อย่างไรแต่เราต้องยึดมั่นในหลักการก่อนว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง"
        
 "...แล้วอยากเห็นสำนักโพลอื่นออกมาพูดแบบนี้ด้วยว่าข้าพเจ้าจะเป็นนักวิชาการ เป็นนักวิจัยจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จะไม่ไปรับอามิสสินจ้างใดๆ จากฝ่ายการเมืองทั้งสิ้น"
         
นพดล เล่าต่อถึงความสำคัญของการทำโพลในประเด็นการเมืองว่า สิ่งที่เสนอผ่านสื่อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะช่องทางใดก็แล้วแต่ เกือบ 100% มักจะเปิดพื้นที่ชนชั้นนำอย่างนักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ และนักวิเคราะห์ข่าวได้พูดทั้งนั้น ซึ่งหากลองดูเบื้องหลัง จะพบว่าส่วนใหญ่ต่างมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง เมื่อพื้นที่ข่าวทั้งหมดเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มนักวิจัยจึงตั้งวัตถุประสงค์แรกเลยว่าน่าจะมีการให้พื้นที่ข่าวสำหรับคนทุกชนชั้น ทุกเพศ วัย สาขาอาชีพ ในการส่งเสียง
         
"โพลเป็นการสำรวจจากคนทุกเพศ วัย สาขาอาชีพกระจายจากคนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ 46 ล้านคนที่มีรายได้ส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,000 บาทต่อคน ว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่คนที่เงินเดือน 1 หมื่นบาทหรือหลายๆหมื่นขึ้นไปเพราะคนตรงนั้นคือยอดสามเหลี่ยมด้านบน ฉะนั้นเราต้องการให้คนที่หลากหลายทางสังคมเศรษฐกิจส่งเสียงมาได้บ้าง เพราะประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เสียงของคนทุกชนชั้นจึงสำคัญ และโพลทำให้เสียงคนทุกชนชั้นสำคัญขึ้นมา"
         
ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์มั่นใจว่า การทำโพลคือวิธีการให้ความสำคัญกับเสียงเล็กเสียงน้อยมากที่สุด มากกว่าการที่สื่อมวลชนลงพื้นที่สัมภาษณ์ประชาชนด้วยซ้ำ เพราะนักข่าวไม่ได้เอาฐานข้อมูลของคนทั้งประเทศมาสุ่มตัวอย่าง แต่จะเดินไปหาคุณป้า คุณลุง ประชาชนทั่วไปตามสะดวก
         
การตั้งคำถามสำหรับทำโพลในแต่ละครั้ง นพดลอธิบายว่า เอแบคโพลล์จะยึดหลักระเบียบวิธีวิจัยอย่างเคร่งครัดในการหยิบยกคำถามขึ้นมากับสังคมทุกครั้ง โดยตระหนักมากใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.คำถามจะลดทอนการชี้นำ และอคติที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้หรือไม่ 2.จะต้องมีการทดสอบก่อนว่าประเด็นที่ตั้งขึ้น คนที่ถูกถามเข้าใจมากน้อยเพียงใด 3.พยายามไม่ให้คนตอบมีอคติในการตอบ 4.ลดคำถามในเรื่องที่คนตอบ ตอบแล้วทำให้ตัวเองดูดี โดยทุกครั้งจะมีการประชุมทีมวิจัย ก่อนจะออกเป็นแบบสอบถาม และคำถามแต่ละครั้งก็สามารถออกแบบสอบถาม และถามออกไปได้ทันทีหากเป็นประเด็นร้อนรายวัน
         
"มีบางประเด็นเขาบอกว่าคำถามบางคำถามเหมือนกับฉาบฉวย ลอยๆ มันเป็นคำถามที่ไม่น่าเอามาถาม เราควรพิจารณาตัวเราเองว่าในชีวิตเราบางครั้งก็ตั้งคำถามแบบฉาบฉวยเหมือนกัน กับคนในครอบครัวบางครั้งก็ถามขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่น่าจะถาม ลองพิจารณาดู น่าจะมีน้อยมากในสังคมมนุษย์โดยทั่วไปที่จะมีแต่เหตุและผล แต่เราไม่ละเลยเรื่องเหตุและผลก็ต้องเอามาแลกเปลี่ยนกันในสังคม"
         
อย่างไรก็ตาม การทำโพลของเอแบคโพลล์ก็เกิดคำถามขึ้นว่าจะถามในบางเรื่องทำไม ถ้ารู้คำตอบอยู่แล้วว่ากลุ่มตัวอย่างคิดอะไร เช่น "รู้หรือไม่ว่านักการเมืองคอร์รัปชัน"
         
"การทำวิจัยมี 2 ส่วนใหญ่ๆ 1.ยืนยันสิ่งที่รู้อยู่แล้ว และรู้ขนาดด้วย และนั่นคือการทำโพล เพราะถ้ารู้เชิงเนื้อหา แต่ไม่รู้ขนาดก็อาจทำให้วิจัยคลาดเคลื่อนได้เช่น รู้อยู่แล้วว่านักการเมืองโกง แต่เราไม่รู้ว่าคนเท่าไร ร้อยละเท่าไร ที่จะตอบแบบนั้น เพราะฉะนั้น การทำโพลจะทำให้รู้ขนาด รู้เชิงปริมาณได้ ไม่ใช่รู้อยู่แล้วว่านักการเมืองโกงแล้วก็ไม่ต้องทำวิจัย การทำสำรวจเชิงปริมาณจะบอกเราเรื่องขนาดได้ด้วย"
         
ขณะที่การแทรกแซงจากนักการเมืองนั้น นพดล ยอมรับว่า ก็มีติดต่อเข้ามาบ้างเช่น "น่าจะทำเรื่องนี้นะ""น่าจะสอบถามเรื่องนี้นะ"แต่เอแบคโพลล์ก็ใช้บรรทัดฐานเดียวกับประชาชนทั่วไปที่โทรเข้ามาสอบถามและแสดงความคิดเห็น พร้อมกับยืนยันจุดเดิมว่า เสียงของนักการเมือง ที่โทรศัพท์เข้ามา ก็ไม่ต่างจากเสียงลุงป้าในต่างจังหวัด
        
 สำหรับงบประมาณของเอแบคโพลล์ นพดล แจกแจงว่า มาจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่1.มาจากมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่มาจากค่าเทอมนักศึกษา 2.มาจากการทำวิจัยทางการตลาด ให้กับบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง 3.มาจากเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ หรือธนาคารโลก รวมถึงเงินสนับสนุนจากเครือข่ายวิชาการด้านการทำโพลของเอเชียแปซิฟิก
         
นพดล ยืนยันว่า เอแบคโพลล์ได้รับความไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายการทำโพลทั่วโลก และเคยได้รับรางวัลจากงานวิจัย เรื่องความสุขในระดับนานาชาติมาแล้ว
         
"เราทำโพลเรื่องการเมืองเพื่อให้การเมืองนำเสียงที่เราไปสำรวจไปสู่การเปลี่ยนแปลงแล้วนำมาตอบโจทย์ หากการเมืองมีเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน เวลาที่เราทำสำรวจ จึงพยายามส่งข้อมูลให้การเมืองพิจารณาว่าเขาสะท้อนมาอย่างไร จุดประสงค์ของเราคือต้องการให้ฝ่ายการเมืองไม่ได้มุ่งแต่ชนะคะคาน หรือเข้าสู่อำนาจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรับฟังเสียงประชาชน และปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อลดความขัดแย้ง"
         
นพดล ยังยกตัวอย่างกรณีล่าสุดที่พ.ต.ท.ทักษิณ ออกช่อง 11 ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นเป็นเรื่องการเมืองแต่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นเรื่องกฎหมายซึ่งเอแบคโพลล์ก็ต้องไปศึกษาขนาด ว่าคนโดยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องใดเพื่อจะได้ช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์เพื่อที่รัฐบาลจะได้ออกมาชี้แจงสังคม ถ้าตราบใดไม่นำไปสู่การเผชิญหน้า ปะทะกันด้วยความรุนแรง เข่นฆ่ากันในสังคม โพลก็จะเป็นเรื่องที่ดี ฉะนั้นนักทำโพลจึงไม่ละเลยต่อความรู้สึกของคนแม้แต่ชิ้นเดียว n

ถูกคุกคามยุคทักษิณ

สัมภาษณ์พิเศษ:เราไม่ใช่โพลรับจ้าง

กล่าวกันว่า "โพล" ที่ทำหน้าที่ส่งเสียงประชาชนให้ดังกึกก้องทั่วประเทศนั้น เป็น "ดัชนีชี้วัด" ประชาธิปไตยในสังคมแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี จวบจนวันนี้ "นพดล" เป็นหัวเรือนำ "เอแบคโพลล์" ฝ่ามรสุมมาร่วม 17 ปี ผ่านรัฐบาลหลายชุด นายกรัฐมนตรีหลายคน แต่เขายอมรับว่ามีเหตุการณ์ 2 ช่วงในชีวิตที่เรียกว่า "กดดันที่สุด""ลำบากใจมากที่สุดในชีวิตของผม คือช่วงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร 1 ในปี 2545 ที่มีตำรวจสันติบาล นายทหารระดับนายพลของกระทรวงกลาโหม และคนของทบวงมหาวิทยาลัยเข้ามาขอดูผลสำรวจภาพลักษณ์รัฐบาล สมัยนั้นสื่อมวลชนตอนนั้นก็ช่วยกันประโคมข่าว แต่หลังจากนั้นอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ออกมาบอกว่าไม่เกี่ยวข้อง เขาไม่ได้ส่งคนไปที่เอแบคโพลล์ รัฐบาลแค่อยากรู้อยากจะทราบวิธีการทำโพล ก็เลยมาคุยกับนักทำโพลเท่านั้น"
         
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวปรากฏบนหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ ต้นเดือน มี.ค. 2545 ระบุว่า ตำรวจสันติบาล ทหาร และปลัดทบวงมหาวิทยาลัยบุกเอแบคโพลล์ขอค้นข้อมูลที่ทำการสำรวจภาพลักษณ์ของรัฐบาล และตรวจสอบระเบียบวิธีวิจัย จนถูกสื่อมวลชนและสังคมโจมตีอย่างหนักถึงการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ในที่สุดนพดล ที่นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการตั้งแต่สมัยนั้นต้องเลื่อนกำหนดการเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกาเร็วกว่ากำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากปมการเมือง
         
นพดล เล่าต่อว่า "ครั้งที่ 2 ที่เรียกว่ากดดันไม่แพ้กัน คือ เหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองเมื่อปี2553 มีชื่อผมติดอยู่ในรายชื่อ200 กว่าคนที่ต้องโดนสังหาร ชื่อผมต่อจากท่านพล.อ.เปรมติณสูลานนท์ เป็นบัญชีที่ 1 ต่อมาในบัญชีที่ 2 ก็ยังติดอยู่ หลังจากนั้นบัญชีที่ 3 เหลือ 50 กว่าคนนิดๆ ชื่อก็ยังติดอยู่(หัวเราะ) ไม่รู้ว่าเป็นลิสต์ของกลุ่มไหน ไม่แน่ใจว่าไปทำ แต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกตรงที่เป็นบรรยากาศกดดันโดยกระแสข่าวแต่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น"
         
"เราไม่กลัว เพราะในเมื่อเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เราก็อยู่ได้" นพดล พูดชัดก่อนฉายภาพตอกย้ำในสิ่งที่เขาเชื่อว่า
"อุดมการณ์อยู่ยาวนานกว่าอำนาจทางการเมือง"

"สิ่งหนึ่งที่เรายืนหยัดมาตลอด คือ อำนาจของฝ่ายการเมืองมันเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วมาก มันเป็นอนิจจัง แล้วเราก็เห็นอยู่ว่าคนที่ใหญ่คับฟ้าสุดท้ายมันก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ตลอดการทำงานของเอแบคโพลล์ 17 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนผ่านมาหลายรัฐบาล รัฐมนตรีบางยุคบางสมัยเข้ามาแค่ 2 เดือนก็ไปแล้ว แต่ถ้าเราไปรับใช้ฝ่ายการเมือง มันเสียหายไปยาวนานเลยนะ วันนี้แม้ไม่ใช่สังคมทั้งหมดที่จะเข้าใจ หรือจำนวนไม่น้อยที่วิพากษ์วิจารณ์เรา แต่วันหนึ่งสังคมจะเข้าใจเองว่าเราทำไปเพื่อความสมดุลในสังคมข้อมูลข่าวสาร"

ประชาเสวนา...เวทีวางมวย

คลุกคลีกับ "เสียงประชาชน" จนเป็นกุนซือด้านโพลอันดับต้นของประเทศ เมื่อให้วิเคราะห์ว่า "ประชามติ" จะผ่าทางตันให้สังคมจากวังวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่เจ้าพ่อโพลเมืองไทยชี้ชัด "มติ" ของ"ประชาชน" เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถลดความขัดแย้งในสังคมได้ แต่ประชาชนจะออกมาใช้เสียงเกิน 23 ล้านคน ตามเป้าของรัฐบาลหรือไม่นั้น นพดล ระบุว่า ขึ้นอยู่กับบทบาทของ "สื่อมวลชน"ในการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิของตนเอง
         
"ผมไม่ได้มองว่าคนไทยเป็น Passive ประมาณว่า'...ขอให้บอกมาเถอะ จะไปลงเสียงให้' แต่คนไทยมีลักษณะ Active ตอบโต้กับข้อมูลที่ส่งมา ฉะนั้น ถ้าสื่อบอกกับสังคมว่าการทำประชามติเป็นหนทางหนึ่งที่ลดความขัดแย้งของผู้คน และจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้างกับประเทศชาติ ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็รักประเทศ และอยากเห็นความสงบสุขเกิดขึ้น ถ้าสื่อส่งข้อความไปในเชิงสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นเหมือนอาจารย์ของสังคม คนไทยส่วนใหญ่ก็จะออกมาแสดงสิทธิของตนเอง และก็น่าจะเกินครึ่ง"
         
ส่วนการ "คว่ำประชามติ" นั้น นพดลไม่เห็นด้วย เพราะสถานการณ์ขณะนี้การให้เสียงประชาชนตัดสินเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งของคนในชาติ หากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ควรจะไปใช้สิทธิว่าไม่เห็นด้วยมากกว่าการที่จะไม่ออกไปใช้สิทธิลงประชามติไม่เท่านั้น นพดล ยังยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกรณีศึกษาอธิบายให้เห็นข้อดีของ "โพล" บนหลักการที่เขายึดมั่นมาตลอด
         
"ยกตัวอย่างฝ่ายรัฐบาลบอกว่า ให้ไปลงประชามติอีกฝ่ายบอกคว่ำ นี่ล้วนเป็นการให้สัมภาษณ์ของคนเฉพาะกลุ่มที่ชี้นำสังคม สังคมไทยถูกชี้นำด้วยนักการเมืองที่ออกมาให้สัมภาษณ์ถูกชี้นำโดยกลุ่มนายทุนที่พูดแต่เอื้อกลุ่มธุรกิจของเขา แม้แต่นักวิชาการก็จะให้สัมภาษณ์ไปตามแต่ละค่ายของตัวเอง แต่การทำโพลจะทำให้เสียงของคนทุกชนชั้นสำคัญ เป็นการส่งเสียงประชาชนออกไปเพื่อให้มีอำนาจการตัดสินใจในสังคมให้ฝ่ายอื่นรับฟังบ้าง"
         
นอกเหนือจาก "ประชามติ" ผู้กุมบังเหียนเอแบคโพลล์ ยังคาดคะเนทิศทางการจัดทำ"ประชาเสวนา" ของรัฐบาลว่า น่ากังวลตรงที่จะมีการ "จัดตั้งมวลชน" จนนำมาสู่ความโกลาหล และคาดว่าเวทีเสวนาจะกลายเป็น"เวทีมวย" ในที่สุด
        
 "เป็นเรื่องดีที่เปิดโอกาสให้มีการเสวนาเพื่อเป็นกลไกสำคัญทำให้คนตื่นตัวออกมาวิพากษ์วิจารณ์พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นผลดีต่อทิศทางการขับเคลื่อนประเทศแต่จากประสบการณ์การทำสานเสวนาของเอแบคโพลล์ เราจะใช้ฐานข้อมูลของประชาชนในพื้นที่ แล้วใช้วิธีสุ่มเลือก เชิญเขาเข้ามาแล้วบอกว่าท่านได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของคนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่เวทีหากใช้วิธีการนี้มันจะปราศจากอคติ และได้สิ่งที่เป็นความเห็นประชาชนจริงๆ"
         
"แต่หากใช้วิธีกระจายข่าวออกไปแล้วให้คนเดินเข้ามาเอง จะหนีไม่พ้นการจัดตั้งมวลชนและเฮโลเข้ามาจนเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง อยากย้ำไปยังผู้จัดลานเสวนาว่าถ้าไปประกาศคนจะมาโดยการจัดตั้ง ลานเสวนาจะกลายเป็นเวทีมวยและจะพัง เมื่อพังมันจะเป็นข่าวในทางลบ ทำให้เสียบรรยากาศและจะไม่มีใครอยากออกมา จุดนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก" นพดลคาดการณ์อนาคตของเวทีสานเสวนาที่รัฐบาลหวังสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม
         
ในสภาวการณ์ที่การเมืองสองฝั่ง อุดมการณ์สองฝ่ายคุกรุ่นทั่วประเทศว่าแรงเคลื่อนไหวอะไรก็ตามในสังคมพร้อมที่จะถูกดึงไปใช้สนับสนุนอีกขั้ว ทำลายอีกข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่ผลโพลที่จะถูกสื่อเลือกข้างดึงเนื้อหาแต่ละด้านนำไปใช้พาดหัวข่าวตามจุดยืนของแต่ละกองบรรณาธิการ นพดลอธิบายภาวะการณ์นี้ว่า Picky
         
"เวลาผมขึ้นไปพรีเซนต์ในเวทีนานาชาติแล้วพูดคำนี้ ต่างชาติจะพากันฮากันตรึม มันคือการที่สื่อมักจะหยิบประเด็นจากผลโพลเฉพาะด้านที่มันไปแมตช์กับกรอบหรือธีมข่าวของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เข้าใจบางสื่อที่บอกว่าพื้นที่มีจำกัด จำเป็นต้องเลือกเนื้อหาได้แค่เพียงบางส่วน แต่ยอมรับว่า จริงๆ แล้วอยากให้สื่อเผยแพร่ผลโพลให้หมดและครบทุกด้าน เพราะจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจนักทำโพลและจะช่วยลดช่องว่างไม่ให้อารมณ์และอคติเกิดขึ้นมากนัก"

ความเข้าใจ ไม่สำคัญเท่า ความรู้สึก

สัมภาษณ์พิเศษ:เราไม่ใช่โพลรับจ้าง

 สำหรับคำถามคาใจที่ว่าจะยึดผลโพลได้อย่างไร หากประชาชนไม่มีความรู้ ความเข้าใจต่อประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะด้านนโยบายของรัฐบาล? ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ ตอบกลับมาสั้นๆ ว่า ความรู้ ความเข้าใจ ไม่สำคัญเท่า "ความรู้สึก" ของประชาชนก่อนอธิบายเพิ่มเติมให้เห็นภาพ
        
"การทำโพลเราต้องการทราบว่า ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างไร แม้เราอาจจะมองในมุมที่ว่า ประชาชนจะเข้าใจหรือว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นอย่างไร หรือความเป็นจริงที่ว่าประชาชนไม่เข้าใจเลย แต่เราต้องใส่ใจในความรู้สึกที่เขาตอบมาในผลโพลว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ถามว่าทำไมเราต้องทำเรื่องความรู้สึกเพราะเวลาประชาชนออกมาตามท้องถนน จำนวนประชาชนไม่น้อยออกมาเพราะอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าเหตุผลหรือข้อเท็จจริง"
         
"บางเรื่องเขาก็อาจไม่เข้าใจเลยบางเรื่องก็'...เขาว่ากันว่า' รัฐบาลนี้โกงกิน ก็เลยเดินออกมาเพื่อขับไล่รัฐบาลแล้วถามว่าผู้ที่ออกมาเดินขับไล่รัฐบาลมีเอกสารหลักฐานชัดเจนไหมไม่มีหรอก ดังนั้น มันออกมาจากไหน มันก็ออกมาจากอารมณ์ ความรู้สึกของประชาชน มันเป็น Feeling และ Opinion ของคน ลองสังเกตว่าการที่คนจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรบางครั้งมันอยู่ที่ใจ เพราะเราเอาแค่เหตุและผล บางทีมันไม่เวิร์ก หลายคนรู้ว่ามันผิดแต่ก็ทำรู้ว่ามันถูกแต่ก็ไม่ทำ ฉะนั้นความรู้สึกของคนนี่แหละสำคัญ นักทำโพลจึงไม่ละเลยต่อความรู้สึกของคนแม้แต่ชิ้นเดียว"
         
"ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องเอาข้อมูลความรู้สึกของประชาชนตรงนี้แหละไปพิจารณา เมื่อความเห็นประชาชนจำนวนมากเคลือบแคลงสงสัยว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องทำการลดช่องว่างที่จะทำให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นเกิดความวางใจว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเปิดให้มีช่องให้มีการแสวงหาผลประโยชน์"