posttoday

เดิมพัน...ประชามติ

15 ธันวาคม 2555

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ไม่ได้ถอย แต่รุกตามกติกา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลเสนอให้มีการประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สส.เพื่อไทย และมวลชนคนเสื้อแดงมีความต้องการอย่างแรงกล้าให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 ในทันทีที่เปิดสภา

น่าสนใจว่าเหตุปัจจัยใดทำให้รัฐบาลกลับมาตั้งหลักเปิดเกมวัดใจประชามติ

“ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใดๆ เนื่องจากเห็นว่าอยู่ในความรับผิดชอบของสภาผ่านวาระ 1วาระ 2 ไปแล้ว แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลให้ต้องชะลอการลงมติวาระ 3 อีกอย่างความปรากฏชัดมีเสียงคัดค้านค่อนข้างมากอาจเกิดความรุนแรง รัฐบาลเป็นองค์กรที่สามารถทำให้เรื่องหาข้อยุติได้ก็ต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลผ่านการสานเสวนาและนำมาซึ่งการลงประชามติ” วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อธิบายผ่านโพสต์ทูเดย์

ในช่วงที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง วราเทพ มีบทบาทต่อการเข้าร่วมวางแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคเพื่อไทยกระทั่งปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ เขาก็เป็นมือไม้คอยประสานงานทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายสภาอย่างเต็มตัวจึงรับรู้ถึงเหตุผลลึกๆ ที่รัฐบาลต้องกลับมาตั้งหลักทำประชามติ

“เราต้องยึดหลักการไว้ก่อนว่าความเห็นทั้งหลายถ้าไม่ยอมรับกติกาจะไปไม่ได้เลย ทุกวันนี้ฝ่ายที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญทำตามกติการัฐธรรมนูญ แต่เมื่อฝ่ายไม่เห็นด้วยไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญจนมีคำวินิจฉัยออกมา ฝ่ายที่ขอแก้ไขได้ชะลอไปแล้ว หันมาปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการกำหนดให้มีการประชามติ ถ้าให้ทำประชามติแล้วยังคัดค้าน สร้างความวุ่นวายขึ้นอีก ผมว่านั่นคือ การคัดค้านไม่มีเหตุผล เราจะไม่มีหลัก สังคมจะเดินไปไม่ได้ ประเทศที่เป็นนิติรัฐก็เป็นไม่ได้”

“ผมยังไม่ทราบว่าประชามติจะผ่านออกมาอย่างไร แต่วันนี้ถ้าบอกว่าเราเดินตามกติกา ยึดกรอบเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นแล้ว คนที่จะมาทำให้เกิดความวุ่นวาย คิดว่าเป็นคนไม่ปรารถนาดีต่อประเทศชาติแล้ว เมื่อไม่ยอมรับกติกาจะเอาแบบไหน คิดว่าคงมีจำนวนไม่มากที่จะสร้างความวุ่นวาย เพราะรัฐบาลไม่ได้ดื้อดึงต่อเสียงสะท้อนที่คัดค้าน"

แม้จะหาเหตุผลประการใด สุดท้ายข้อกล่าวหาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พ้นจากคดีความผิดก็ยังเป็นจุดที่ฝ่ายคัดค้านนำมาโจมตี

วราเทพ บอกว่า ฝ่ายตรงข้ามพยายามนำประเด็นนี้มาเป็นประเด็นนำทำให้เหตุผลการคัดค้านมีน้ำหนัก แต่ข้อเท็จจริง เช่น หมวดพระมหากษัตริย์เขียนชัดเจนไม่ไปแก้ไข ฝ่ายคัดค้านก็อยู่ใน กมธ. นั่งพิจารณาตั้งสิบกว่าวัน รู้ทั้งรู้ว่าเขียนล็อกไว้แล้วยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ส.ส.ร.จะไปแก้ไขหมวดนี้ ซึ่งอย่างนี้ไม่น่ารับฟังเลยสำหรับคนที่รับผิดชอบประชาชน

“เพราะฉะนั้นการที่เราไปมองว่าจะแก้ไขมาตรา 309 หรืออะไรขึ้นอยู่กับประชาชนเลือกสมาชิกาสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อเลือก ส.ส.ร.ต้องเคารพการตัดสินใจประชาชนให้ ส.ส.ร.ไปร่าง หากทำสิ่งไม่ดี เชื่อว่า ส.ส.ร.ก็อยู่ไม่ได้ ท้ายสุดประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ กระบวนการคานกันน่าจะชัดเจนอยู่แล้ว”

“รัฐธรรมนูญไม่สามารถเขียนมาตราใดมาตราหนึ่งเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้อยู่แล้ว รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดบังคับกับคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เขียนเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องใดๆ คือวันนี้ต้องบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนหวาดระแวงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องบุคคลคนเดียวประเทศถึงเดินไปไม่ได้ ไม่ต้องกังวลเลยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปเกี่ยวข้องกับท่านทักษิณ” คำยืนยันจากผู้คลุกวงในกำหนดเกมแก้รัฐธรรมนูญ

หากมองถึงการกลับมาตั้งหลักครั้งนี้ แท้ที่จริงไม่ใช่รัฐบาลถอย แต่เป็นการเปิดเกมรุก รธน.ตามกติกาด้วยการกำหนดจังหวะก้าวรอบคอบกว่าเดิม สังเกตได้ว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลัง ครม.มีความเห็นให้ประชามติ วราเทพ เดินสายหารือกับประธานสภาและประธานวุฒิสภาทันที ซึ่งทั้งสองเห็นด้วย จากนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธ.ค. ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลก่อนมีมติตอบรับประชามติ

“ภายในสัปดาห์หน้าทุกอย่างจะชัดเจน” วราเทพ แจงปฏิทินเตรียมการประชามติไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน “หลังจากได้รายงานมติพรรคร่วมรัฐบาลต่อนายกฯ ภายในสัปดาห์หน้าสามารถเสนอ ครม.ได้เลย ซึ่งการประชามติจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการประชามติภายใน 120 วัน ระหว่างนั้นภายใน 90 วันกฎหมายกำหนดให้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลการลงประชามติ หลังครบ 90 วันไปแล้วทำการประชามติ”

“สมมติประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเดือน ม.ค.ช่วงเวลาจาก ก.พ. มี.ค.อยู่ในช่วงรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเหตุผลของการลงประชามติ จากนั้น เม.ย.สามารถลงประชามติได้ ถ้าเกินจากนี้ไม่ได้แล้วเพราะกฎหมายกำหนดกรอบเวลาไว้ ถ้าผลประชามติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. จะเกิดการลงมติวาระ 3 หลัง 120 วันไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าช่วงนั้นสภาเปิดปิดเมื่อไหร่ แต่ถ้าสภาเปิดสามารถลงมติได้เลย เมื่อโหวตวาระ 3 ผ่าน จะเกิด ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.จะดำเนินการตามกฎหมาย จะชัดเจนตามขั้นตอนยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จทำประชามติอีกครั้ง หมายถึงประชามติผ่านได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ น่าจะเป็นไปได้ปลายปี 2556”

การกำหนดหัวข้อจะประชามติอะไรเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย วราเทพ เผยว่า หัวข้อคำถามต้องกำหนดให้ประชาชนชัดแจ้ง ไม่เป็นการชี้นำ ไม่ได้ถามเรื่องแก้ไขมาตรา หรือรัฐธรรมนูญหน้าตาแบบไหน ไม่จำเป็นต้องไปตั้งคำถาม 2-3 ข้อ เป็นเรื่องยากและจะทำให้สับสน เดี๋ยวข้อนั้นจะไปขัดแย้งข้อนี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง อีกอย่างหากมีหลายคำถาม ผลการลงประชามติออกมา บางคำถามได้รับคะแนนเสียงมาก บางคำถามได้รับคะแนนเสียงน้อยยิ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยาก

“ที่คิดในเบื้องต้นขณะนี้ต้องมีเพียงข้อเดียว โดยถามว่า ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมี ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการยกร่างหรือไม่”

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า มีคำถามแค่นั้นคนจะสับสนเพราะก่อนที่จะตั้งคำถามข้อเดียว รัฐต้องให้ข้อมูลทำความเข้าใจประชาชนอยู่แล้ว อีกอย่างเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นอย่ากังวลเรื่องคำถาม คำถามจะถูกอธิบายจนกว่าจะมีการลงประชามติอย่างชัดเจน

“หน้าที่ผู้จัดให้มีประชามติต้องชี้แจงทำความเข้าใจคำถามให้ข้อมูลครบถ้วน อย่างเช่น บางฝ่ายตั้งข้อสงสัยหมวดพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไร เราต้องใช้โอกาสจากเวทีสานเสวนาที่ทำกันไปก่อนหน้านี้และชี้แจงในช่วงเวลา 90 วันก่อนลงประชามติ อธิบายให้ได้ว่าในร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขค้างอยู่ในสภา กำหนดชัดเจนห้ามแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ แต่เนื่องจากวันนี้มีคนพยายามเบี่ยงเบน คนที่ไม่อยากแก้ไขอ้างว่า เดี๋ยวจะแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 2 แก้อะไรไม่ได้อีกแล้ว เมื่อตั้ง ส.ส.ร.ก็ไม่สามารถแก้ไขหมวดนี้ได้”

อีกด่านหินเมื่อมีการลงประชามติจะนับผลคะแนนลง ประชามติอย่างไร วราเทพ อ้างถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 9 กำหนดว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ สมมติผู้มีสิทธิ 40 ล้านคนต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน ส่วนที่มาลงประชามติแล้วเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กฎหมายเขียนไว้ว่า ถ้ามา 20 ล้านคนก็คือเกินครึ่ง ใน 20 ล้านคนอย่างน้อยต้องได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

“แต่มีคนพยายามบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องมีผู้มีสิทธิเกินกว่าครึ่งหนึ่ง แล้วต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิด้วยคือ 20 ล้านคนขึ้นไป ตรงนี้เป็นมุมมองทางกฎหมายที่ถกเถียงกันอยู่” เจ้าตัวยอมรับปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่ตกผลึก

แม้แต่ พีรพันธ์ พาลุสุข มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย เสนอว่า อาจต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่าด้วยการคิดคำนวณจำนวนเสียงลงประชามติให้ชัดเจน ซึ่งถึงตอนนั้นเชื่อเหลือเกินย่อมมีฝ่ายออกมาต่อต้านคัดค้านอีก

พิจารณาตามนี้ ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจประชามติเรื่องอะไร ยังมีปมปัญหาข้อกฎหมายลงประชา มติ ก่อนชี้ชะตาผลการลงคะแนนอีก

นี่ยังไม่ถึงการเจาะเข้าหัวใจรัฐธรรมนูญ แค่ตลอดเส้นทางสู่การแก้ไขก็ดูจะเต็มไปด้วยอุปสรรคเหนือคณานับ

เดิมพัน...ประชามติ

สส.เข้าใจ รธน.กี่มาตรา

ทุกครั้งของการจุดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญมักมีการสำรวจความเห็นประชาชนตามมา ผลออกมาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้เกิดวิกฤตความขัดแย้ง ซ้ำร้ายเคยมีการสำรวจเรื่องความเข้าใจรัฐธรรมนูญปรากฎว่าส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญ ทว่านักการเมืองกลับอยากแก้

วราเทพให้มุมมองต่อปรากฏการโพลว่า ตนเองเชื่อว่าประชาชนเข้าใจ เพียงแต่เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก พี่น้องประชาชนเป็นห่วงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ แต่ประเทศต้องมีกฎหมายสูงสุดเป็นโครงสร้างสำคัญ เพราะฉะนั้นต้องแยกจากกันว่าเราจะไปบอกว่าเอาเรื่องปากท้องก่อน เรื่องอื่นไม่สนใจไม่ได้เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนำมาซึ่งเสถียรภาพ ความมั่นคงในรัฐ ต่างชาติให้การยอมรับ

“ผมเชื่อมั่นประชาชนเข้าใจแต่ประชาชนไม่แสดงออกมากกว่า รัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้ประชาชนตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยจะเห็นว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าอดีตเยอะมีประชาชนแสดงออกในลักษณะกลุ่มพลังต่างๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งสร้างความเสียหาย แต่ขณะเดียวกันสร้างจุดแข็งประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้จะเป็นอีกวาระที่ทำให้คนในชาติได้มารู้สึกถึงสิทธิหน้าที่ของตนเองตามรัฐธรรมนูญและได้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง”

“เนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดรู้กว้างๆ ว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยมีสิทธิเสรีภาพ เขาไม่จำเป็นต้องรู้ว่าองค์กรไหนทำหน้าที่อะไรเป็นไปไม่ได้ที่จะต้องรู้ แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้ว เมื่อมีเหตุก็มา เปิดดู”

ต่อคำถามถึงนักการเมืองที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญอ่านรัฐธรรมนูญครบทุกมาตราไหม วราเทพ ยอมรับ “ทุกมาตราไม่มีใครอ่านใครท่องได้หรอกเวลามีประเด็นไหนหยิบมาดู แต่ว่าอย่างน้อยนึกโครงสร้างให้ออก รัฐธรรมนูญแต่ละเรื่องว่าอย่างไร จริงๆ แล้วที่พูดกันเสมอเรื่องของรัฐสภา ครม. องค์กรอิสระ หมวดอื่นๆ ที่ไม่ได้พูดกันเลย ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพประชาชนว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองดูแลประชาชน ที่ฝ่ายเอ็นจีโอต้องการใส่เข้าไป นี่แหละคือสิ่งที่ว่า การร่างใหม่คราวนี้จะเป็นการให้โอกาสของคนมีสิทธิมีเสียงตามรัฐธรรมนูญใส่เข้าไป การยกร่างโดย ส.ส.ร.จะเกิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญมีโอกาสครอบคลุมถึงคนที่ขาดโอกาสอยู่”

ถามว่ารัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเห็นข้อดีบ้างไหม เจ้าตัวเลี่ยงตอบอีกมุมหนึ่งโดยพยายามเน้นเรื่องของที่มาและเนื้อหา

“ถ้าที่มาไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วไม่น่าทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เวลาเกิดเหตุทุกคนจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญมาโดยไม่ชอบถึงแม้จะมาด้วยชอบตามกฎหมาย แต่จิตวิญญาณคนที่เป็นประชาธิปไตยไม่ยอมรับ”

“ขณะที่เนื้อหามีหลายมาตราเป็นปัญหาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจวุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้งและสรรหาการสรรหามาจากคนไม่กี่คนเลือกเข้ามาแต่มีหน้าที่เท่ากัน หรือแม้แต่การสรรหาองค์กรอิสระ ความไม่มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม การยุบพรรคตัดสิทธิทางการเมือง”

ปัญหาจากที่มา จะเป็นประเด็นสำคัญที่สุด ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์และการยอมรับรัฐธรรมนูญน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

เดิมพัน...ประชามติ

ผมเล่นได้ทุกตำแหน่ง

ดูเหมือนว่าการกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ วราเทพ ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้มาเป็นมือประสานทางการเมืองหลายด้าน

วราเทพ กล่าวอย่างถ่อมตัวว่า ไม่อยากบอกว่าถูกวางตัวประสานทุกเรื่อง แต่เผอิญว่าในจังหวะที่ผ่านมาทำงานการเมืองมานานพอสมควร มีความคุ้นเคยนักการเมืองทั้งซีกฝ่ายค้านและรัฐบาล และอาจเป็นเพราะว่ามีประสบการณ์ในสภาอยู่บ้าง คิดว่าเป็นคนที่อาจมีความคล่องตัว ไม่ใช่ว่ามีความรู้ความสามารถกว่าคนอื่นหรอก

เป็นที่รับรู้กันดี นักการเมืองสายเหนือเครือข่ายกลุ่ม 16 ที่ตอนนี้กลายเป็นตำนานไปแล้ว ได้รับการสนับสนุนจาก เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือเจ๊แดง การได้รับตำแหน่ง รมต.ก็หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์มาตามโควตาสายเยาวภาเพื่อมาเป็นกองหนุนคนตึกไทยคู่ฟ้า

ช่วงที่โผ ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ปลิวว่อน ชื่อ วราเทพ ติดโผ รมว.คลัง แต่ผลออกมานั่ง รมต.สำนักนายกฯ เจ้าตัวบอกว่า ตอนนั้นคนอื่นช่วยพูดถึงมากกว่า แต่ว่าตัวเองกับระดับผู้ใหญ่ในพรรคไม่ได้พูดถึงเลย การมาเป็น รมต.สำนักนายกฯ คิดว่าตำแหน่งไม่ใช่ว่าจะใหญ่หรือไม่ใหญ่ ขอให้งานที่ทำ ทำด้วยความเต็มใจ รักในหน้าที่ ทำได้ทั้งนั้น

“เราต้องมองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของ ครม. เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า วันหนึ่งเราเคยเป็นศูนย์หน้า ผู้จัดการให้เราไปเล่นแบ็ก เราจะไม่เล่นเลย คิดอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าผู้จัดการคิดว่าเราเหมาะสมตรงไหน เราก็ควรทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด”

ถึงกระนั้นเทียบประสบการณ์ทางการเมือง วราเทพ ย่อมช่ำชองงานกว่าบางคนใน ครม. ซึ่งเจ้าตัวกล่าวเลี่ยงๆ ว่า ไม่ได้หมายความว่าคนมีประสบการณ์มาก่อนจะทำงานได้ดีกว่าคนมาทำงานใหม่ อยู่ที่ว่าคนคนนั้นทำงานเรียนรู้งานให้ความสำคัญกับงานมากกว่า เพราะงานการเมืองไม่ได้ทำลักษณะเหมือนแพทย์ต้องผ่านการผ่าตัดจำนวนกี่กรณี แต่งานการเมืองได้ข้อมูลมาตัดสินใจใช้วิจารณญาณที่รอบคอบ แต่การที่เราไปมองว่าชื่อที่คุ้นเคยมีฝีมือกว่าคนไม่คุ้นเคยมองอย่างนั้นไม่ได้

“ยืนยันช่วงที 4-5 ปีคนเข้ามาใหม่หลายคนมีฝีมือทำงานได้ดี แต่บางคนไม่มีโอกาสแสดงบทบาทเท่านั้นเอง เพราะหน้าที่จังหวะเวลาไม่ให้”

ลองให้ผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ประะเมินการทำงานนายกฯ ยิ่งลักษณ์ บ้างเป็นอย่างไร วราเทพ กล่าวว่า เปรียบเทียบไม่ได้ ทุกอย่างเนื่องจากตนเองทำงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณ 9 ปีกว่า แต่กับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ 2 เดือนกว่าจะเปรียบเทียบหน่วยต่อหน่วยไม่ได้

ผมอยากเปรียบเทียบ 2 ท่านเป็นคนมีความตั้งใจทุ่มเทแก้ไขปัญหาเต็มที่ ดูจากท่านยิ่งลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นสุภาพสตรีก็ทำงานไม่ยิ่งหย่อนกว่าสุภาพบุรุษ สไตล์การทำงานไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการใส่ใจทุ่มเทกล้าตัดสินใจและเรียนรู้ ทางการเมืองท่านยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็น สส.และเป็นนักการเมืองมาก่อน แต่มาเป็น นายกฯ ก็ผลักดันแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศได้ ต้องถือว่าเราหาบุคคลที่มีโอกาสมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ง่าย”