posttoday

สัมภาษณ์พิเศษ: ไม่ได้ถอยแต่รุกตามกติกา

15 ธันวาคม 2555

"ผมยังไม่ทราบว่าประชามติจะผ่านออกมาอย่างไร แต่วันนี้ถ้าบอกว่าเราเดินตามกติกา ยึดกรอบเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นแล้ว "

"ผมยังไม่ทราบว่าประชามติจะผ่านออกมาอย่างไร แต่วันนี้ถ้าบอกว่าเราเดินตามกติกา ยึดกรอบเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นแล้ว "

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว
         
การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลเสนอให้มีการประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สส.เพื่อไทยและมวลชนคนเสื้อแดงมีความต้องการอย่างแรงกล้าให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 ในทันทีที่เปิดสภาน่าสนใจว่าเหตุปัจจัยใดทำให้รัฐบาลกลับมาตั้งหลักเปิดเกมวัดใจประชามติ
         
"ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใดๆ เนื่องจากเห็นว่าอยู่ในความรับผิดชอบของสภาผ่านวาระ 1วาระ2 ไปแล้ว แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลให้ต้องชะลอการลงมติวาระ 3 อีกอย่างความปรากฏชัดมีเสียงคัดค้านค่อนข้างมากอาจเกิดความรุนแรง รัฐบาลเป็นองค์กรที่สามารถทำให้เรื่องหาข้อยุติได้ก็ต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลผ่านการสานเสวนาและนำมาซึ่งการลงประชามติ" วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อธิบายผ่านโพสต์ทูเดย์

ในช่วงที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง วราเทพ มีบทบาทต่อการเข้าร่วมวางแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคเพื่อไทยกระทั่งปรับครม.ยิ่งลักษณ์ เขาก็เป็นมือไม้คอยประสานงานทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายสภาอย่างเต็มตัวจึงรับรู้ถึงเหตุผลลึกๆ ที่รัฐบาลต้องกลับมาตั้งหลักทำประชามติ
         
"เราต้องยึดหลักการไว้ก่อนว่าความเห็นทั้งหลายถ้าไม่ยอมรับกติกาจะไปไม่ได้เลย ทุกวันนี้ฝ่ายที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญทำตามกติการัฐธรรมนูญ แต่เมื่อฝ่ายไม่เห็นด้วยไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญจนมีคำวินิจฉัยออกมา ฝ่ายที่ขอแก้ไขได้ชะลอไปแล้ว หันมาปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการกำหนดให้มีการประชามติ ถ้าให้ทำประชามติแล้วยังคัดค้าน สร้างความวุ่นวายขึ้นอีก ผมว่านั่นคือ การคัดค้านไม่มีเหตุผล เราจะไม่มีหลัก สังคมจะเดินไปไม่ได้ ประเทศที่เป็นนิติรัฐก็เป็นไม่ได้"
         
"ผมยังไม่ทราบว่าประชามติจะผ่านออกมาอย่างไรแต่วันนี้ถ้าบอกว่าเราเดินตามกติกา ยึดกรอบเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นแล้ว คนที่จะมาทำให้เกิดความวุ่นวาย คิดว่าเป็นคนไม่ปรารถนาดีต่อประเทศชาติแล้ว เมื่อไม่ยอมรับกติกาจะเอาแบบไหนคิดว่าคงมีจำนวนไม่มากที่จะสร้างความวุ่นวาย เพราะรัฐบาลไม่ได้ดื้อดึงต่อเสียงสะท้อนที่คัดค้าน
         
แม้จะหาเหตุผลประการใด สุดท้ายข้อกล่าวหาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พ้นจากคดีความผิดก็ยังเป็นจุดที่ฝ่ายคัดค้านนำมาโจมตี
         
วราเทพ บอกว่า ฝ่ายตรงข้ามพยายามนำประเด็นนี้มาเป็นประเด็นนำทำให้เหตุผลการคัดค้านมีน้ำหนักแต่ข้อเท็จจริง เช่น หมวดพระมหากษัตริย์เขียนชัดเจนไม่ไปแก้ไข ฝ่ายคัดค้านก็อยู่ใน กมธ. นั่งพิจารณาตั้งสิบกว่าวัน รู้ทั้งรู้ว่าเขียนล็อกไว้แล้วยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ส.ส.ร.จะไปแก้ไขหมวดนี้ ซึ่งอย่างนี้ไม่น่ารับฟังเลยสำหรับคนที่รับผิดชอบประชาชน
        
 "เพราะฉะนั้นการที่เราไปมองว่าจะแก้ไขมาตรา309 หรืออะไรขึ้นอยู่กับประชาชนเลือกสมาชิกาสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อเลือกส.ส.ร.ต้องเคารพการตัดสินใจประชาชนให้ ส.ส.ร.ไปร่าง หากทำสิ่งไม่ดีเชื่อว่าส.ส.ร.ก็อยู่ไม่ได้ ท้ายสุดประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ กระบวนการคานกันน่าจะชัดเจนอยู่แล้ว"
         
"รัฐธรรมนูญไม่สามารถเขียนมาตราใดมาตราหนึ่งเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้อยู่แล้วรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดบังคับกับคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เขียนเพื่อช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องใดๆคือวันนี้ต้องบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนหวาดระแวงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องบุคคลคนเดียวประเทศถึงเดินไปไม่ได้ ไม่ต้องกังวลเลยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปเกี่ยวข้องกับท่านทักษิณ" คำยืนยันจากผู้คลุกวงในกำหนดเกมแก้รัฐธรรมนูญ
         
หากมองถึงการกลับมาตั้งหลักครั้งนี้ แท้ที่จริงไม่ใช่รัฐบาลถอย แต่เป็นการเปิดเกมรุก รธน.ตามกติกาด้วยการกำหนดจังหวะก้าวรอบคอบกว่าเดิม สังเกตได้ว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลัง ครม.มีความเห็นให้ประชามติ วราเทพ เดินสายหารือกับประธานสภาและประธานวุฒิสภาทันที ซึ่งทั้งสองเห็นด้วย จากนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธ.ค. ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลก่อนมีมติตอบรับประชามติ
         
"ภายในสัปดาห์หน้าทุกอย่างจะชัดเจน" วราเทพแจงปฏิทินเตรียมการประชามติไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน"หลังจากได้รายงานมติพรรคร่วมรัฐบาลต่อนายกฯภายในสัปดาห์หน้าสามารถเสนอ ครม.ได้เลย ซึ่งการประชามติจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการประชามติภายใน 120 วัน ระหว่างนั้นภายใน 90 วันกฎหมายกำหนดให้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลการลงประชามติ หลังครบ 90 วันไปแล้วทำการประชามติ"
         
"สมมติประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเดือน ม.ค.ช่วงเวลาจาก ก.พ. มี.ค.อยู่ในช่วงรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเหตุผลของการลงประชามติ จากนั้น เม.ย.สามารถลงประชามติได้ ถ้าเกินจากนี้ไม่ได้แล้วเพราะกฎหมายกำหนดกรอบเวลาไว้ ถ้าผลประชามติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. จะเกิดการลงมติวาระ 3 หลัง120 วันไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าช่วงนั้นสภาเปิดปิดเมื่อไหร่แต่ถ้าสภาเปิดสามารถลงมติได้เลย เมื่อโหวตวาระ3 ผ่าน จะเกิด ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.จะดำเนินการตามกฎหมาย จะชัดเจนตามขั้นตอนยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จทำประชามติอีกครั้ง หมายถึงประชามติผ่านได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ น่าจะเป็นไปได้ปลายปี 2556"
         
การกำหนดหัวข้อจะประชามติอะไรเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย วราเทพ เผยว่า หัวข้อคำถามต้องกำหนดให้ประชาชนชัดแจ้ง ไม่เป็นการชี้นำ ไม่ได้ถามเรื่องแก้ไขมาตราหรือรัฐธรรมนูญหน้าตาแบบไหน ไม่จำเป็นต้องไปตั้งคำถาม 2-3 ข้อ เป็นเรื่องยากและจะทำให้สับสนเดี๋ยวข้อนั้นจะไปขัดแย้งข้อนี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงอีกอย่างหากมีหลายคำถาม ผลการลงประชามติออกมา บางคำถามได้รับคะแนนเสียงมาก บางคำถามได้รับคะแนนเสียงน้อยยิ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยาก
         
"ที่คิดในเบื้องต้นขณะนี้ต้องมีเพียงข้อเดียว โดยถามว่า ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมี ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการยกร่างหรือไม่"
         
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า มีคำถามแค่นั้นคนจะสับสนเพราะก่อนที่จะตั้งคำถามข้อเดียว รัฐต้องให้ข้อมูลทำความเข้าใจประชาชนอยู่แล้ว อีกอย่างเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้  แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นอย่ากังวลเรื่องคำถาม คำถามจะถูกอธิบายจนกว่าจะมีการลงประชามติอย่างชัดเจน
         
"หน้าที่ผู้จัดให้มีประชามติต้องชี้แจงทำความเข้าใจคำถามให้ข้อมูลครบถ้วน อย่างเช่น บางฝ่ายตั้งข้อสงสัยหมวด พระมหากษัตริย์เป็นอย่างไร เราต้องใช้โอกาสจากเวทีสานเสวนาที่ทำกันไปก่อนหน้านี้และชี้แจงในช่วงเวลา 90 วันก่อนลงประชามติ อธิบายให้ได้ว่าในร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขค้างอยู่ในสภา กำหนดชัดเจนห้ามแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ แต่เนื่องจากวันนี้มีคนพยายามเบี่ยงเบนคนที่ไม่อยากแก้ไขอ้างว่า เดี๋ยวจะแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 2 แก้อะไรไม่ได้อีกแล้ว เมื่อตั้งส.ส.ร.ก็ไม่สามารถแก้ไขหมวดนี้ได้"
         
อีกด่านหินเมื่อมีการลงประชามติจะนับผลคะแนนลงประชามติอย่างไร วราเทพ อ้างถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 9 กำหนดว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ สมมติผู้มีสิทธิ 40 ล้านคนต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า20 ล้านคน ส่วนที่มาลงประชามติแล้วเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กฎหมายเขียนไว้ว่า ถ้ามา 20 ล้านคนก็คือเกินครึ่ง ใน20 ล้านคนอย่างน้อยต้องได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน
         
"แต่มีคนพยายามบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องมีผู้มีสิทธิเกินกว่าครึ่งหนึ่ง แล้วต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิด้วยคือ 20 ล้านคนขึ้นไป ตรงนี้เป็นมุมมองทางกฎหมายที่ถกเถียงกันอยู่" เจ้าตัวยอมรับปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่ตกผลึกแม้แต่ พีรพันธ์ พาลุสุข มือกฎหมายพรรคเพื่อไทยเสนอว่า อาจต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ว่าด้วยการคิดคำนวณจำนวนเสียงลงประชามติให้ชัดเจน ซึ่งถึงตอนนั้นเชื่อเหลือเกินย่อมมีฝ่ายออกมาต่อต้านคัดค้านอีก
         
พิจารณาตามนี้ ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจประชามติเรื่องอะไรยังมีปมปัญหาข้อกฎหมายลงประชามติ ก่อนชี้ชะตาผลการลงคะแนนอีก นี่ยังไม่ถึงการเจาะเข้าหัวใจรัฐธรรมนูญ แค่ตลอดเส้นทางสู่การแก้ไขก็ดูจะเต็มไปด้วยอุปสรรคเหนือคณานับn
         
สส.เข้าใจรธน.กี่มาตรา

         
ทุกครั้งของการจุดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญมักมีการสำรวจความเห็นประชาชนตามมา ผลออกมาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้เกิดวิกฤตความขัดแย้ง ซ้ำร้ายเคยมีการสำรวจเรื่องความเข้าใจรัฐธรรมนูญปรากฎว่าส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญ ทว่านักการเมืองกลับอยากแก้
         
วราเทพให้มุมมองต่อปรากฏการโพลว่า ตนเองเชื่อว่าประชาชนเข้าใจ เพียงแต่เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก พี่น้องประชาชนเป็นห่วงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ แต่ประเทศต้องมีกฎหมายสูงสุดเป็นโครงสร้างสำคัญ เพราะฉะนั้นต้องแยกจากกันว่าเราจะไปบอกว่าเอาเรื่องปากท้องก่อนเรื่องอื่นไม่สนใจไม่ได้เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนำมาซึ่งเสถียรภาพ ความมั่นคงในรัฐ ต่างชาติให้การยอมรับ
         
"ผมเชื่อมั่นประชาชนเข้าใจแต่ประชาชนไม่แสดงออกมากกว่า รัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้ประชาชนตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยจะเห็นว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าอดีตเยอะมีประชาชนแสดงออกในลักษณะกลุ่มพลังต่างๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งสร้างความเสียหาย แต่ขณะเดียวกันสร้างจุดแข็งประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นเพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้จะเป็นอีกวาระที่ทำให้คนในชาติได้มารู้สึกถึงสิทธิหน้าที่ของตนเองตามรัฐธรรมนูญและได้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง"
         
"เนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดรู้กว้างๆ ว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยมีสิทธิเสรีภาพเขาไม่จำเป็นต้องรู้ว่าองค์กรไหนทำหน้าที่อะไรเป็นไปไม่ได้ที่จะต้องรู้ แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้ว เมื่อมีเหตุก็มาเปิดดู"
         
ต่อคำถามถึงนักการเมืองที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญอ่านรัฐธรรมนูญครบทุกมาตราไหม วราเทพ ยอมรับ "ทุกมาตราไม่มีใครอ่านใครท่องได้หรอกเวลามีประเด็นไหนหยิบมาดู แต่ว่าอย่างน้อยนึกโครงสร้างให้ออก รัฐธรรมนูญแต่ละเรื่องว่าอย่างไรจริงๆ แล้วที่พูดกันเสมอเรื่องของรัฐสภา ครม. องค์กรอิสระ หมวดอื่นๆที่ไม่ได้พูดกันเลยว่าด้วยสิทธิเสรีภาพประชาชนว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองดูแลประชาชน ที่ฝ่ายเอ็นจีโอต้องการใส่เข้าไป นี่แหละคือสิ่งที่ว่า การร่างใหม่คราวนี้จะเป็นการให้โอกาสของคนมีสิทธิมีเสียงตามรัฐธรรมนูญใส่เข้าไป การยกร่างโดย ส.ส.ร.จะเกิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญมีโอกาสครอบคลุมถึงคนที่ขาดโอกาสอยู่"
        
 ถามว่ารัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเห็นข้อดีบ้างไหม เจ้าตัวเลี่ยงตอบอีกมุมหนึ่งโดยพยายามเน้นเรื่องของที่มาและเนื้อหา
         
"ถ้าที่มาไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วไม่น่าทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เวลาเกิดเหตุทุกคนจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญมาโดยไม่ชอบถึงแม้จะมาด้วยชอบตามกฎหมาย แต่จิตวิญญาณคนที่เป็นประชาธิปไตยไม่ยอมรับ"
         
"ขณะที่เนื้อหามีหลายมาตราเป็นปัญหาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจวุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้งและสรรหาการสรรหามาจากคนไม่กี่คนเลือกเข้ามาแต่มีหน้าที่เท่ากัน หรือแม้แต่การสรรหาองค์กรอิสระ ความไม่มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม การยุบพรรคตัดสิทธิทางการเมือง"
         
ทั้งหมดมีปัญหาที่มาจะเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดความศักดิ์สิทธิ์การยอมรับน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง 
          

ผมเล่นได้ทุกตำแหน่ง
         
ดูเหมือนว่าการกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ วราเทพ ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้มาเป็นมือประสานทางการเมืองหลายด้าน
         
วราเทพ กล่าวอย่างถ่อมตัวว่า ไม่อยากบอกว่าถูกวางตัวประสานทุกเรื่องแต่เผอิญว่าในจังหวะที่ผ่านมาทำงานการเมืองมานานพอสมควร มีความคุ้นเคยนักการเมืองทั้งซีกฝ่ายค้านและรัฐบาลและอาจเป็น เพราะว่ามีประสบการณ์ในสภาอยู่บ้าง คิดว่าเป็นคนที่อาจมีความคล่องตัว ไม่ใช่ว่ามีความรู้ความสามารถกว่าคนอื่นหรอก
         
เป็นที่รับรู้กันดี นักการเมืองสายเหนือเครือข่ายกลุ่ม 16 ที่ตอนนี้กลายเป็นตำนานไปแล้ว ได้รับการสนับสนุนจาก เยาวภา วงศ์สวัสดิ์หรือเจ๊แดง การได้รับตำแหน่ง รมต.ก็หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์มาตามโควตาสายเยาวภาเพื่อมาเป็นกองหนุนคนตึกไทยคู่ฟ้า
         
ช่วงที่โผ ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ปลิวว่อน ชื่อวราเทพ ติดโผ รมว.คลัง แต่ผลออกมานั่ง รมต.สำนักนายกฯ เจ้าตัวบอกว่า ตอนนั้นคนอื่นช่วย
พูดถึงมากกว่า แต่ว่าตัวเองกับระดับผู้ใหญ่ในพรรคไม่ได้พูดถึงเลย การมาเป็น รมต.สำนักนายกฯ คิดว่าตำแหน่งไม่ใช่ว่าจะใหญ่หรือไม่ใหญ่ ขอให้งานที่ทำ ทำด้วยความเต็มใจ รักในหน้าที่ ทำได้ทั้งนั้น
         
"เราต้องมองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของ ครม.เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าวันหนึ่งเราเคยเป็นศูนย์หน้า ผู้จัดการให้เราไปเล่นแบ็กเราจะไม่เล่นเลยคิดอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าผู้จัดการคิดว่าเราเหมาะสมตรงไหน เราก็ควรทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด"
         
ถึงกระนั้นเทียบประสบการณ์ทางการเมืองวราเทพ ย่อมช่ำชองงานกว่าบางคนใน ครม. ซึ่งเจ้าตัวกล่าวเลี่ยงๆ ว่า ไม่ได้หมายความว่าคนมีประสบการณ์มาก่อนจะทำงานได้ดีกว่าคนมาทำงานใหม่ อยู่ที่ว่าคนคนนั้นทำงานเรียนรู้งานให้ความสำคัญกับงานมากกว่า เพราะงานการเมืองไม่ได้ทำลักษณะเหมือนแพทย์ต้องผ่านการผ่าตัดจำนวนกี่กรณี แต่งานการเมืองได้ข้อมูลมาตัดสินใจใช้วิจารณญาณที่รอบคอบ แต่การที่เราไปมองว่าชื่อที่คุ้นเคยมีฝีมือกว่าคนไม่คุ้นเคยมองอย่างนั้นไม่ได้
         
"ยืนยันช่วงที 4-5 ปีคนเข้ามาใหม่หลายคนมีฝีมือทำงานได้ดี แต่บางคนไม่มีโอกาสแสดงบทบาทเท่านั้นเอง เพราะหน้าที่จังหวะเวลาไม่ให้"
         
ลองให้ผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณประเมินการทำงานนายกฯ ยิ่งลักษณ์ บ้างเป็นอย่างไร วราเทพ กล่าวว่า เปรียบเทียบไม่ได้ ทุกอย่างเนื่องจากตนเองทำงานกับพ.ต.ท.ทักษิณ 9 ปีกว่า แต่กับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ 2 เดือนกว่าจะเปรียบเทียบหน่วยต่อหน่วยไม่ได้
         
"ผมอยากเปรียบเทียบ 2 ท่านเป็นคนมีความตั้งใจทุ่มเทแก้ไขปัญหาเต็มที่ ดูจากท่านยิ่งลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นสุภาพสตรีก็ทำงานไม่ยิ่งหย่อนกว่าสุภาพบุรุษ สไตล์การทำงานไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการใส่ใจทุ่มเทกล้าตัดสินใจและเรียนรู้ ทางการเมืองท่านยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็น สส.และเป็นนักการเมืองมาก่อน แต่มาเป็น นายกฯ ก็ผลักดันแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศได้ ต้องถือว่าเราหาบุคคลที่มีโอกาสมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ง่าย"
         
หนี้ประชานิยมไม่ทำชาติล้มละลาย
         
สมัยรัฐบาลทักษิณ วราเทพเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังร่วมผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า วาดแผนแก้หนี้นอกระบบ
         
เมื่อมารับตำแหน่งรมต.สำนักนายกฯ ยังคงได้รับความไว้วางใจให้มากำกับดูแลสำนักงบประมาณ งานกองทุนหมู่บ้านกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเมืองหรือเอสเอ็มแอล
         
"ตอนนี้รัฐบาลนี้มีนโยบายเติมเงินกองทุนหมู่บ้านอีก 1 ล้านบาทในอีก 3 หมื่นหมู่บ้านเมื่อผมเข้ามาก็ผลักดันนโยบายต่อให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้นด้วยการเติมเงินล้านที่สองเข้าไปโดยเร็วให้ประชาชนมีโอกาสใช้เงินกองทุนหมู่บ้านโดยสรุป 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน7 หมื่นกว่าล้านเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
         
ถึงกระนั้นบรรดากองทุนกระตุ้นรากหญ้าทั้งหลายหนีไม่พ้นความวิตกหนี้ที่จะพอกพูนแต่วราเทพ แย้งว่า อาจมีบางแห่งมีหนี้ค้างบ้างแต่โดยเฉลี่ยไม่ได้สูงกว่าระบบสถาบันการเงินเป็นหนี้เล็กหนี้น้อยตรงนี้เราจะเข้าไป แก้โดยดูเรื่องการติดตามหนี้และจะเพิ่มโอกาสให้คนเป็นหนี้มีรายได้กลับมาชำระหนี้  มือกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าพยายามหักล้างเสียงวิจารณ์นโยบายประชานิยมเป็นต้นเหตุสร้างหนี้ให้ประเทศมากขึ้น
         
"ที่บอกว่าระวังเถอะเดี๋ยวจะมีหนี้เสีย ถ้าเทียบเคียงธุรกิจหนี้เสีย ภาคประชาชนน้อยกว่า จำได้ไหมที่รัฐบาลไทยรักไทยทำนโยบายธนาคารประชาชนให้ออมสินปล่อยกู้แก้หนี้นอกระบบดอกเบี้ยจาก 20% ต่อวันขณะที่ธนาคารออมสินดอกเบี้ย 1% ต่อเดือนต่างกันลิบลับ ทุกวันนี้หนี้ตรงนี้ช่วยรากหญ้าได้สารพัด เขาเป็นหนี้แต่ไปสร้างรายได้ลดรายจ่ายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ"
         
วราเทพ บอกว่า คำว่าประชานิยมไม่ใช่หมายความว่า เราประชานิยมจนไม่มีหลักการไม่มีเหตุผล อย่างการแจกแท็บเล็ตทางการศึกษาเพื่อปลูกฝังพื้นฐานทางการศึกษาแก่เด็กเยาว์วัยต้องบอกว่าประชาชนเราไม่มีความพร้อมเข้าถึงการศึกษาได้อย่าง
         
ทั่วถึงทุกคน แต่ถ้ารัฐบาลสามารถช่วยเขาได้บ้าง ทำให้เกิดบุคลากรที่มีคุณภาพ ถ้าดูจากนโยบายประชานิยมยังมองไม่เห็นตรงไหนที่น่าเป็นห่วง
         
"วันนี้ประชานิยมจนกลัวว่าหนี้จะท่วมแล้วประเทศชาติจะเสียหาย ก็เรายึดหลักอยู่แล้วรัฐบาลต้องทำทุกอย่างบนพื้นฐานบัญชีของรัฐ ทั้งรายรับรายจ่ายหนี้ภาครัฐตอนนี้เท่าไหร่ เทียบเคียงเศรษฐกิจของเราขยายตัวเท่าไหร่ การที่เรามีหนี้เพิ่มมากขึ้นมันมีตัววัดอันหนึ่งคือหนี้สาธารณะต่อสัดส่วนจีดีพีคือรายได้ประชาชาติของเราอยู่ที่ 40% ไม่ใช่หมายความว่าวันนี้ 80-90% รัฐบาลจะไปทำอย่างนั้นไม่ได้"
         
"แต่ละปีที่ใช้งบประมาณต้องอยู่ในกรอบงบประมาณ ซึ่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณเขียนไว้แล้วว่า หนี้จะก่อเพิ่มได้ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณในปีนั้นๆ มันไม่มีทางที่จะทำให้เกิดหนี้เสีย จนถึงขนาดเป็นห่วงว่าต้องล้มละลายผมยืนยันว่าทำไม่ได้"วราเทพ กล่าวด้วยความมั่นใจ