posttoday

อานุภาพ"กระสุนยาง"เจ็บ-แสบเข้ากระดูกดำ

27 มีนาคม 2553

"กระสุนยาง" วันนี้ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และกองทัพ ในการควบคุมฝูงชนเพื่อลดความสูญเสียชีวิตต่อผู้ชุมนุม

"กระสุนยาง" วันนี้ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และกองทัพ ในการควบคุมฝูงชนเพื่อลดความสูญเสียชีวิตต่อผู้ชุมนุม

โดย - อิทธิกร เถกิงมหาโชค

"กระสุนยาง" เป็นอุปกรณ์สำคัญ 1 ใน 5 อย่าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทั่วโลก ไม่เฉพาะตำรวจ หรือ ทหาร ต้องมีไว้ในครอบครองเพื่อปฏิบัติหน้าที่ นอกเหนือจาก แก๊สน้ำตา กระบอง เครื่องช็อตไฟฟ้า และ สเปรย์พริกไทย

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพิ่งได้รับอนุมัติงบประมาณกลางปี 2553 เพื่อจัดซื้อยุทโธปกรณ์ไว้รับมือการชุมนุมกรณีฉุกเฉิน หรือเหตุจำเป็นในวงเงินกว่า 248 ล้านบาท ดังนั้น กองทัพบก จึงต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยตามหลักสากล

รวมทั้งการจัดซื้อ กระสุนยาง จำนวน 487,500 นัด และ กระสุนยางสำหรับปืนลูกซองชนิดทรงตัวด้วยหาง อีก 3.9 หมื่นลูก น่าสังเกตว่า กระสุนยางที่นิยมใช้มี 3 แบบ คือ กระสุนลูกซองยาง แบบลูกโดด หรือที่เรียกว่า แบบทรงตัวด้วยหาง 12 เกจ, กระสุนลูกซองหัวยาง ชนิดทรงตัวด้วยหาง และกระสุนหัวพลาสติก ขนาด 9 มม. 11 มม. .38 นิ้ว และ .357 นิ้ว

อานุภาพ"กระสุนยาง"เจ็บ-แสบเข้ากระดูกดำ

ความจำเป็นที่ต้องใช้ "กระสุนยาง" วัตถุประสงค์สำคัญคือ การหยุดยั้งและสกัดป้องปรามผู้ชุมนุม หรือการก่อจลาจล ไม่ให้ขยายวงกว้างออกไป หน่วยที่มีไว้ใช้คือ หน่วยควบคุมฝูงชน ตำรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 รวมถึงหน่วยทหาร เช่น กองทัพภาคที่ 1-4 ที่มีหน้าหน้าควบคุมฝูงชน รวมถึงหน่วยปฏิบัติการพิเศษ "อรินทราช 26" ที่ใช้เพื่อยิงสกัด "คนร้าย"ได้เหมือนกับกระสุนจริง แต่ไม่ทำให้ผู้ก่อเหตุถึงแก่ชีวิต!

การใช้กระสุนยางดั้งเดิมทางทหารใช้เพื่อ "ซ้อมรบ" แทนกระสุนจริงเท่านั้นเอง มีหลักการทำงานเหมือนเครื่องกระสุนปืนที่ใช้ดินปืนเป็นตัวขับกระสุนออกไป แต่ต่างกันเพียงแต่หัวกระสุนทำจาก "ยางพารา" ไม่ใช่ตะกั่ว หรือทองแดง

เมื่อกระทบกับร่างกายก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอย่างฉับพลัน ไม่มีอาการบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต เหมือนการใช้กระสุนจริง ตามมาตรฐานสากล กระสุนยางจะใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากระสุนจริง มีหลายขนา เช่น 5.56 มม. ที่ใช้ยิงกับปืนกล เอ็ม-16 ยังมีแบบขนาด 40 มม. ที่ใช้ยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม-203 หรือ ยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม-79 ก็ได้

ปัจจุบันมีการผลิตกระสุนยางออกมาใช้ เป็นลูกยางแบบลูกปรายกลมๆ ผลิตโดยบริษัทในประเทศไทย ราคาประมาณนัดละ 40-50 บาท ใช้ยิงจากปืนลูกซองทั่วไปได้

ผู้เชี่ยวชาญยุทธวิธีการใช้อาวุธปืน บอกว่า การยิงกระสุนยางต้องยิงไปยังเป้าหมายที่เป็นจุดอ่อนๆ หรือกล้ามเนื้อตามร่างกาย เช่น หน้าท้อง แผ่นหลัง ต้นขา น่อง เป็นต้น หากยิงไปถูกจุดแข็งที่เป็นกระดูก เพราะจะทำให้กระดูก แตก หัก ได้รับอันตราย

บางครั้งยิงถูกจุดแข็งทำให้บาดเจ็บ แต่ผู้ถูกยิงไม่ชะงักหยุดการเคลื่อนไหว หรือจุก ยังสามารถทำการต่อสู้ได้ หรือยังสามารถทำร้ายตัวประกันได้ ข้อห้ามสำคัญที่สุดคือ ห้ามยิงไปบริเวณกระโหลกศรีษะเด็ดขาด ความแรงของกระสุนยางทำให้กระโหลกร้าวอันตรายถึงชีวิตได้

เมื่อหัวกระสุนยางกระแทกสู่เป้าหมายจะไม่ทะลุเข้าไป เพียงแต่อวัยวะภายในและภายนอกจะถูกแรงดันจากหัวกระสุน ทำให้เกิดอาการบอบช้ำ และไม่สามารถกระทำการใดได้ชั่วขณะ กระสุนยางจึงเป็นที่ยอมรับในวงการควบคุมฝูงชนทั่วโลก

ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พยายามผลักดันให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เช่น ตำรวจ 191 หน่วยอรินทราช 26 รวมทั้ง สน.ท้องที่ นำไปใช้ควบคุมอาชญากรรม โดยเฉพาะกรณีคนร้ายจับ "ตัวประกัน" เพื่อลดความสูญเสียจากการใช้กระสุนจริงที่อาจพลาดไปโดนผู้บริสุทธิ์ได้

"กระสุนยาง" วันนี้ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และกองทัพ ในการควบคุมฝูงชนเพื่อลดความสูญเสียชีวิตต่อผู้ชุมนุม และยังรักษาสมดุลระหว่างผู้รักษากฎหมายกับสิทธิมนุษยชนให้เท่าเทียมกัน