posttoday

สัมภาษณ์พิเศษ: หนีไม่พ้นการสูญเสีย

24 พฤศจิกายน 2555

"อย่าลืมว่านักการเมืองไทยหาดียาก หากเข้ามาแทรกแซงกองทัพก็จะเอาพรรคพวกตัวเองเข้ามาตอบสนองการเมือง"

"อย่าลืมว่านักการเมืองไทยหาดียาก หากเข้ามาแทรกแซงกองทัพก็จะเอาพรรคพวกตัวเองเข้ามาตอบสนองการเมือง"

โดย ...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย, ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

สับคัตเอาต์อำนาจการเมือง
         
สถานการณ์การเมืองเวลานี้คงไม่มีประเด็นไหนน่าสนใจและน่าติดตามมากไปกว่าการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ในวันที่ 24 พ.ย. เพราะได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังรัฐบาลทั้งในทางตรงและทางอ้อม เห็นได้จากการวางมาตรการรักษาความสงบอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานภาครัฐ
         
แต่เหนืออื่นใดการชุมนุมที่มีหัวขบวนนำโดย"พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์" หรือ เสธ.อ้าย อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ไม่ได้มีนัยแค่ไล่รัฐบาล ทว่า กลับแฝงด้วยนัยการเมืองมากมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้การเคลื่อนไหวครั้งนี้เพียงแต่ว่ามีใครมองเห็นหรือไม่เท่านั้น
         
ความกังขาในประเด็นนี้ "โพสต์ทูเดย์" ได้รับมุมมองจากอดีตนายทหารระดับสูงอย่าง "พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม"สว.สรรหา และอดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งมีแนวทางการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
         
"เป็นปรากฏการณ์พิเศษแตกต่างจากเงื่อนไขการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ระยะหลังมี 2 เรื่องคือ การล่วงละเมิดจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ และการเสนอพ.ร.บ.ปรองดองเข้ามาเพื่ออภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ครั้งนี้มีมากกว่านั้นเพราะมีเงื่อนไขมาจากความไม่พึงพอใจรัฐบาลของประชาชน"พล.อ.สมเจตน์ เปิดฉากวิเคราะห์
         
พล.อ.สมเจตน์ อธิบายถึงความไม่พอใจของประชาชนที่นำมาสู่การเกิดแรงต้านรัฐบาลเวลานี้ประกอบด้วยจุดที่ 1 รัฐบาลมาอาศัยเงินภาษีไปสนับสนุนคนเสื้อแดงจากเหตุการณ์การชุมนุมเหมือนกับรัฐบาลเอาเงินตรงนี้ไปตอบแทนให้กับพรรคพวกตัวเองที่สามารถล้มอำนาจของประชาธิปัตย์ได้ จุดที่ 2 ความพยายามของรัฐบาลที่หาวิธีไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับโทษ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากมีความเดือดร้อน และจุดที่ 3 การละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการห้ามปรามแต่กลับให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาในกรณีนี้มีตำแหน่งทางการเมือง
         
"เป็นจุดถึงความไม่พึงพอใจ เมื่อไม่พึงพอใจปุ๊บคนเรามันมีความอึดอัด ใจมันอยากจะแสดงออกเพราะฉะนั้นวันเสาร์-อาทิตย์ (24-25 พ.ย.) นี้ มันเป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่าประชาชนพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลหรือไม่ ผมอาจจะคิดของผมคนเดียว แล้วคนอื่นเขาไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้ ดังนั้นถ้าเห็นพ้องกับผม เห็นพ้องกับ พล.อ.บุญเลิศ ต้องออกมาแสดงพลังโดยการร่วมชุมนุมให้เห็นในวันที่ 24 พ.ย.นี้"
        
 ขณะเดียวกัน พล.อ.สมเจตน์ ก็ประเมินว่า การต่อสู้แตกหักเพื่อให้บรรลุเงื่อนไขตัดวงจรนักการเมือง 5 ปี ไม่ได้จบลงแค่วันที่ 24 หรือ 25 พ.ย. โดยอาจจะยืดเยื้อออกไป ถึงกับยอมรับด้วยคำพูดว่า "เรื่องของประเทศชาติไม่ใช่เรื่องแค่นับนิ้วมือ คิดว่าพรุ่งนี้จบ มะรืนนี้จบ ไม่ได้จบ สันดานของคนมันไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว มันต้องแก้ไขมาตั้งแต่การปลูกจิตสำนึก"
        
 "การทำเพื่อประเทศชาติมันไม่มีอะไรง่ายหรอกนะครับ บางคน นักต่อสู้บางท่าน ตลอดชีวิตการต่อสู้ของท่าน ต้องติดคุกแล้วติดคุกอีกเพื่อที่จะได้เอกราช เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ทั้ง อองซาน ซูจี มหาตมะ คานธี ทั้ง เหมาเจ๋อตง การต่อสู้เหล่านี้ไม่ง่ายหรอก ในรุ่นผมรุ่น พล.อ.บุญเลิศ อาจจะไม่สำเร็จ แต่รุ่นใหม่ รุ่นน้องๆ มาถ้าไม่เห็นด้วยกับการเมืองของไทยแบบนี้ก็ต้องต่อสู้"
         
การต่อสู้และการเสนอตัดวงจรนักการเมืองลักษณะนี้ขององค์การพิทักษ์สยาม พล.อ.สมเจตน์ไม่ปฏิเสธว่า คือการต่อสู้นอกระบบและปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน แต่เป็นการต่อสู้นอกระบบที่มีเหตุผล เพราะการแก้ไขปัญหาให้ถึงต้นตอแท้จริงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแก้ที่วงจรนักการเมือง        

สัมภาษณ์พิเศษ: หนีไม่พ้นการสูญเสีย

"อาจดูเหมือนเพ้อฝัน แต่เป็นวิธีทางเดียวที่ต่อสู้ แล้วมันมีทางไหนที่ต่อสู้ได้บ้าง... คุณเลือกตั้งกี่ครั้งๆ คุณก็จะแพ้ระบอบประชานิยมหมด เขาฝังรากลึกไปหมด ยิ่งอยู่ในอำนาจนานระบอบข้าราชการเป็นของเขาหมด ทุกเครือข่าย ทุกสังคม ทุกหย่อมหญ้า
         
ผมว่ามันมีเพียงวิธีการเดียวที่จะนำไปสู่จุดนั้น ถ้าไม่เอารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถ้าคุณเปลี่ยนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปเอารัฐบาลอื่นมาในที่สุดแล้วนักการเมืองก็อยู่ในวังวนนี่แหละมันมีกลุ่มนักการเมืองอยู่ประมาณ 2,000 คนมันก็เหมือนสมบัติผลัดกันชม ไอ้นกกระสาไป ไอ้นกกระสาตัวใหม่มา มันก็อยู่อย่างนี้วนเวียนกัน ไม่สามารถพ้นวังวนนักการเมืองที่ไม่ดีไปได้"
         
ในอีกด้านหนึ่ง นายทหารผู้มากประสบการณ์ท่านนี้คิดเพิ่มเติมไปว่า การจะต่อสู้ประสบผลสำเร็จย่อมหนีไม่พ้นการสูญเสียเนื่องจากรัฐบาลจะไม่ยอมเสียอำนาจทางการเมืองของตัวเอง
         
"มันต้องเกิดการต่อสู้ในเรื่องของอำนาจนะครับ อำนาจคือยาเสพติด ใครได้เสวยอำนาจแล้วมันเสพติด ดังนั้น การชิงอำนาจกันไม่มีทางที่จะไม่มีการสูญเสีย
         
จำนวนของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดเหตุการณ์ หลังจาก24-25 พ.ย. การกดดันให้รัฐบาลยอมสละอำนาจต้องสร้างแรงกดดันรัฐบาล ขับไล่รัฐบาล ยึดอำนาจรัฐบาล ประกาศยึดอำนาจโดยประชาชน ไม่ยอมรับอำนาจการบริหารของรัฐบาลโดยประชาชนด้วยมือเปล่า เมื่อเป็นแบบนี้รัฐบาลต้องปราบปราม ลองไปดูเหตุการณ์ของต่างประเทศได้"
         
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วการต่อสู้ในครั้งนี้ พล.อ.สมเจตน์ ยังมั่นใจว่าจะไม่นำไปสู่การปฏิวัติของทหาร เพราะการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน
         

"ควรจะรักษาทหารเอาไว้ ไม่ควรเอาทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเด็ดขาด พอทหารมายุ่งเกี่ยวการเมืองเมื่อไรก็มีคนรักคนเกลียดกองทัพไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะให้ประชาชนรักหรือเกลียดได้ กองทัพจะต้องอยู่ในสถานะต้องให้ประชาชนรัก ไว้วางใจ และเชื่อว่าเป็นที่พึ่งได้ ถ้ากองทัพอยู่บนความแตกแยกของประชาชนซ้าย ขวา กองทัพอยู่ไม่ได้"อดีตบิ๊กคมช. ทิ้งท้าย
        

 ทหารแก่...ไม่มีวันตาย
         
หลังจากมองภาพใหญ่ถึงการต่อสู้ขององค์การพิทักษ์สยามแล้ว ยังมีอีกภาพหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่น่าจะมีนัยทางการเมืองแฝงเอาไว้เช่นกัน นัยการเมืองที่ว่านั้น คือ การรวมพลังต่อต้านรัฐบาลจากนายทหารนอกราชการ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.บุญเลิศ (เตรียมทหารรุ่นที่ 1) พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ (เตรียมทหารรุ่น 12) ซึ่งในสมัยหนึ่งของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ "The Old Soldiers Never Die" หรือที่เรียกว่า "ทหารแก่ไม่มีวันตาย" มาแล้ว
        
พล.อ.สมเจตน์ (เตรียมทหารรุ่น 8) ให้เหตุผลถึงการเกิดปรากฏการณ์ทหารแก่ไม่มีวันตายว่ามาจากการทนไม่ได้ต่อกระบวนการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์
         
"เรื่องการละเมิดจาบจ้วงเป็นเหตุผลหลักพวกผมถูกอบรมจากโรงเรียนเตรียมทหารให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่ไม่ได้จงรักภักดีอย่างงมงาย พระองค์ดับร้อนของแผ่นดิน ดับทุกข์ของประชาชน แต่กลับถูกจาบจ้วงล่วงละเมิด ขณะนี้มันมากขึ้นเรื่อยๆเรื่องคอร์รัปชันมันเป็นเรื่องปลายๆแล้ว แต่กับเรื่องนี้มันทนไม่ไหว ขนาดคนทั่วไปยังทนไม่ได้ ดังนั้นพวกผมควรเดินนำหน้ามากกว่าประชาชนด้วยซ้ำ"
         
ตรงนี้ดูจะสอดคล้องกับที่ พล.อ.บุญเลิศเปิดแถลงเมื่อวันที่23 พ.ย. หรือก่อนวันชุมนุมใหญ่วันนี้ (24 พ.ย.) ถึงหมัดน็อกรัฐบาลว่าเขามีคลิปเสียงของคนในรัฐบาลที่พาดพิงสถาบัน
         
ชนิดที่ใครได้ยินได้ฟังก็รับไม่ได้ ซึ่งคลิปดังกล่าวยังไม่มีใครได้ยินมาก่อน โดยจะเปิดเผยให้ผู้ชุมนุมฟัง ไม่มีการตัดต่อและพร้อมรับผิดชอบ
         
ส่วนตัว พล.อ.บุญเลิศ ซึ่งมีฐานะเป็นนายทหารรุ่นพี่นั้น พล.อ.สมเจตน์ ที่มีฐานะเป็นน้องห่างกันถึง 7 รุ่น ได้กล่าวถึงพี่คนนี้ว่า "ท่านเป็นพี่ที่รักน้อง ดูแลน้อง เป็นพี่ผู้มีแต่ให้น้อง เป็นที่เคารพนับถือ ท่านถึงได้รับการยกย่องจากรุ่นท่านให้เป็นประธานรุ่น ได้รับการยกย่องจากนักเรียนเตรียมทหารให้เป็นประธานมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร"
         
"ที่สำคัญท่านไม่เคยเอาเตรียมทหารรุ่น 1 มาพูด ไม่เคยเอามูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหารมาพูดขณะที่ทหารอีกกลุ่มหนึ่งมาต่อต้านกลับพยายามที่จะเอารุ่นทหารมาพูด และการทำอะไรในนามรุ่นต้องผ่านคณะกรรมการรุ่น เช่น รุ่น 8 ที่ไปร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านผมได้ไปถามคณะกรรมการรุ่น ก็พบว่าไม่ได้มีความเห็นในเรื่องนี้"
         
ต่อคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผบ.ทบ. ไม่ให้ทหารเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม จนหลายฝ่ายมองว่าผบ.ทบ.จะนำ "กองทัพ" รับลูกฝ่ายการเมืองข้อหาเดียวกับที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)โดนโจมตีอยู่ในขณะนี้        

สัมภาษณ์พิเศษ: หนีไม่พ้นการสูญเสีย

พล.อ.สมเจตน์ ชำแหละภาพ "การเมืองกองทัพ" 2 ขั้วอำนาจบิ๊กในประเทศว่า กองทัพต้องอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดทิศทาง จะทำตัวแข็งข้อกับรัฐบาลไม่ได้ ความคิดเห็นทางการเมืองมีได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมาแสดงความคิดเห็นต่อหน้าสาธารณชน อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าความเลวร้ายของสถานการณ์การเมืองก็คือความเลวร้ายทางความมั่นคงของชาติ ดังนั้นกองทัพมีหน้าที่ต้องดูแล แต่ไม่มีหน้าที่มาจัดการขณะเดียวกันเจ้าตัวยืนยันเสียงแข็ง นักการเมืองก็ไม่ควรเข้ามาแทรกแซงกองทัพเช่นกัน
         
เขาบอกว่า ฝ่ายการเมืองมีความพยายามมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณในการแทรกแซงกองทัพ จึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงกองทัพ ถ้ากองทัพปราศจากการเมืองก็อยู่ภายใต้ผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียว กองทัพก็จะเข้าแถวเป็นระเบียบวินัย แต่ถ้านักการเมืองเข้ามามีอำนาจเหนือผู้บังคับบัญชา ต่อไปทหารจะสนใจวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งผ่านนักการเมือง กองทัพจะเกิดความแตกแยกอ่อนแอแบบนั้นไม่ได้ พอเกิดภาวะสงครามจะสั่งให้ใครออกไปรบ
         
"อย่าลืมว่านักการเมืองไทยหาดียาก หากเข้ามาแทรกแซงกองทัพก็จะเอาพรรคพวกตัวเองเข้ามาตอบสนองการเมือง ถ้ามาเป็นผู้บังคับหน่วยของกองทัพก็จะเอาหน่วยทหารนั้นไปรับใช้ทางการเมือง ถือเป็นโทษร้ายแรงต่อฝ่ายตรงกันข้ามอย่างยิ่ง เพราะเขาจะไม่เอากองทัพไปใช้ในทางที่ถูก แต่จะใช้ไปในทางคุกคามฝ่ายตรงข้าม"
         
พล.อ.สมเจตน์ ชี้ว่า เห็นได้ชัดคือกรณีพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เด้งปลัดกระทรวงกลาโหมทั้งที่ไม่มีอำนาจ แต่อ้างว่าตัวเองมีอำนาจ จุดอ่อนของกองทัพอยู่ที่กระทรวงกลาโหม เพราะสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมไม่มีกองกำลัง แต่ลักษณะการจัดกำลังเหมือนทุกหน่วยเหล่าทัพ ถ้า รมว.กลาโหม สามารถออกคำสั่งให้ย้ายรองปลัดกระทรวงกลาโหมได้ ก็สามารถใช้คำสั่งลักษณะเดียวกันย้าย ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และผบ.สส. ได้เช่นเดียวกัน
         
ภาพความสัมพันธ์ขณะนี้เหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จะเกี้ยเซี้ยกับรัฐบาล? เจ้าตัวเถียงทันควัน"ผมว่าไม่ แต่ท่านพยายามจำกัดบทบาทของตัวเองให้พอเหมาะพอควร ท่านไม่ได้อยู่ในฐานะมาเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ดังนั้นจะมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไม่ได้ แม้ในใจท่านจะเป็นอย่างไรก็ตามในฐานะองค์กรของรัฐท่านต้องนิ่ง รัฐบาลทำผิดทำถูกก็ต้องนิ่ง ยกเว้นในการสั่งการโดยตรงกับท่านถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องผมเชื่อว่าท่านไม่ยอม"
         
"แต่เรื่องที่ห้ามทหารไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมผมไม่เห็นด้วย" พล.อ.สมเจตน์ ยืนยันเจตนารมณ์ชัด "ถ้าเป็นผมจะไม่มาออกคำสั่งห้ามไม่ให้ทหารไปชุมนุม เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคน ผิดตรงไหนหากจะใช้เวลานอกราชการในการมาร่วมชุมนุม การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผิดวินัยด้วยหรือ แต่ถ้าขึ้นเวทีและเอาเวลาราชการไปชุมนุมนั่นแหละถึงผิดวินัยแน่นอน"
         
"พล.อ.ประยุทธ์ บางครั้งต้องกำหนดบทบาทของท่านให้ดี แต่ข้อเสียของทหารบางครั้ง คือการพูดตรงเกินไป บางคนรับฟังไม่ได้ก็มีความรู้สึกไปบ้าง ยังเชื่อว่าขณะนี้ท่านกำลังวางตัวเองให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม เพียงแต่ท่านอย่าทำให้ความรู้สึกของคนไทยเห็นว่า ขณะนี้ท่านได้สูญเสียจุดยืนหรือติดเสน่ห์รัฐบาลไปเรียบร้อยแล้ว ตรงนี้ย้ำว่าท่านต้องระวัง" รุ่นพี่ ตท.8 ฝากถึงน้องประยุทธ์ n
         
"มันต้องเกิดการต่อสู้ในเรื่องของอำนาจนะครับ อำนาจคือยาเสพติด ใครได้เสวยอำนาจแล้วมันเสพติด ดังนั้นการชิงอำนาจกันไม่มีทางที่จะไม่มีการสูญเสีย จำนวนของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดเหตุการณ์"