posttoday

เราไม่มีเวลานับหนึ่งใหม่เรื่อง3จี

25 ตุลาคม 2555

หากยึดผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง กสทช.ต้องควบคุมการบริการและราคา ถ้าสองตัวนี้คุมได้และธุรกิจเหล่านี้ก็เดินต่อไปได้ ย่อมวินๆ ทั้งสองฝ่าย

โดย...สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง อดีตผู้แทนการค้าไทย 

ในระหว่างที่การเมืองหาทางออกไม่เจอว่าจะลงเอยอย่างไร การที่คนไทยจะมีโอกาสได้ใช้ 3จี น่าจะเป็นของขวัญชิ้นใหม่ ที่พอจะทำให้บรรยากาศความตึงเครียดผ่อนคลายลงได้บ้าง อย่างน้อยๆ ก็ทำให้รู้สึกได้ว่าสังคมไทยมีอะไรใหม่ๆ ที่ไม่วนเวียนอยู่กับความขัดแย้งกันเองไม่รู้จักจบสิ้น

เราไม่มีเวลานับหนึ่งใหม่เรื่อง3จี

การประมูลคลื่น 3จี ที่ผ่านไปแล้ว จึงควรเดินหน้าต่อไป ไม่ควรชักเข้าชักออกให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้านการสื่อสารไม่ได้มีแค่เรื่อง 3จี แต่ยังมีเรื่องอื่นที่ต่อเนื่องกันอีกมาก อย่างน้อยปีหน้าอาจจะได้เริ่มต้นประมูลคลื่น 4จี ก็เป็นได้

หาก 3จี ต้องมาสะดุดลงจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ นอกจากภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายแล้ว เรายังจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ล้าหลังด้านเทคโนโลยี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ยิ่งมองไปถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ด้วยแล้ว เป็นเรื่องที่น่าหดหู่อย่างยิ่งที่เราล้าหลัง เพราะมัวทะเลาะกันเอง

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำและเร่งมือก็คือ การผลักดันสนับสนุนให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้านการสื่อสารของประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพราะประเทศไทยมีทำเลที่ดีมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ หากไม่เร่งทำสุดท้ายประเทศจะเสียโอกาสและประชาชนก็จะเสียประโยชน์

จริงอยู่การประมูลคลื่น 3จี ที่มีการร้องเรียนกันอยู่จะต้องทำให้ถูกต้อง แต่มีคำถามว่า หากปล่อยให้ล่าช้า หรือทำไม่สำเร็จ ความสูญเสียที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจจะมีแค่ไหน ผลประโยชน์ที่ควรจะตกอยู่กับประเทศจะหายไปเท่าไหร่ หรือสุดท้ายแล้วเราจะต้องรอใช้ 3จี ไปอีกนานเท่าไหร่

ดั้งนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะต้องแน่วแน่ว่าจะเลือกทางไหน และตอบคำถามให้กระจ่าง แต่ประเด็นที่ร้องกันอยู่ไม่น่าจะคิดบนฐานที่ต้องได้เงินจากการประมูลให้มากที่สุด เพราะทั้ง AIS DTAC และ TRUE ยิ่งต้องจ่ายค่าประมูลสูงเท่าไหร่ ต้นทุนก็ยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น

ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเอาอกเอาใจภาคเอกชน แต่ต้นทุนที่สูงจะผกผันมาถึงผู้บริโภคที่ต้องแบกรับในวันข้างหน้า ประเด็นน่าจะอยู่ที่ว่า ลงทุนแล้วประชาชนจะได้ใช้บริการที่มีคุณภาพและราคาถูกต่างหาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่จะต้องควบคุมให้เกิดการแข่งขันในเรื่องราคาค่าบริการที่เป็นธรรม คนใช้บริการและประเทศชาติต้องได้ประโยชน์สูงสุดจากคลื่นความถี่

ขณะเดียวกันเอกชนก็ควรต้องมีกำไรพอประมาณจะมากจะน้อยก็ต้องควบคุมให้มีการแข่งขันกัน ไม่ใช่ผูกขาด ถ้าแข่งการบริการที่ดี วันข้างหน้าผู้ให้บริการที่เอาเปรียบก็จะถูกผู้ใช้บอยคอตหรือเลิกใช้บริการไปในที่สุด

ดังนั้น หากยึดผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง กสทช.ต้องควบคุมการบริการและราคา ถ้าสองตัวนี้คุมได้และธุรกิจเหล่านี้ก็เดินต่อไปได้ ย่อมวินๆ ทั้งสองฝ่าย อย่ามาหยุดเกมอยู่ที่การกดราคาแพงๆ หรือฟ้องร้องกันจนเสียขบวน แต่ กสทช.ควรไปต่อสู้ในเรื่องนี้ เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

ที่กล่าวมา หากประเทศไทยเริ่มใช้ 3จี จะทำให้ค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรมลดลง ไม่ต้องเดินไปถามราคาสินค้า แต่สามารถเข้าไปดูผลิตภัณฑ์ที่ต้องการและสั่งซื้อได้เลย ประโยชน์ที่แท้จริงของ 3จี คือ ความเร็วและสัญญาณที่ดีขึ้น ไม่เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่การทุบให้เอกชนจ่ายแพง โดยไม่พูดถึงการให้บริการหลังจากนี้ ไม่น่าจะสมเหตุสมผล มีแต่จะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศต้องสะดุดลง

3จี มีแต่จะช่วยผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น จีดีพีของประเทศโตขึ้น หากโครงการนี้สะดุดเท่ากับจีดีพีที่ควรจะขยายตัวก็จะหายไปด้วย

ประเทศอื่นเดินหน้าไปไกลกว่ามาก หากเราต้องมาสะดุดเรื่องนี้อีก หรือจับขบวนรถไฟไม่ทัน ก็ไม่ต่างจากสนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างร่วม 50 ปี ด้วยมัวแต่ทะเลาะกัน โกงกัน ขณะที่สิงคโปร์สร้างเทอร์มินอลเสร็จภายใน 2 ปี และพยายามผลักดันให้ประเทศตัวเองเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งที่ทำเลสู้ประเทศเราไม่ได้

หากมองทิศทางการลงทุนจากทั่วโลกแนวโน้มมุ่งหน้ามายังเอเชีย ซึ่งประเทศไทยมีทำเลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ถ้าเราได้เป็นศูนย์กลางการลงทุนมี 3จี มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วโอกาสก็จะเป็นของเรา จึงจำเป็นจะต้องกำหนด “ตำแหน่ง” ของประเทศด้านโทรคมนาคมให้ชัด ภาคธุรกิจนั้นไม่ได้มีเวลาให้ภาคการเมือง จริงอยู่หากการเมืองนิ่งเอกชนจะอาศัยการเมืองผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าไปได้ง่ายและเร็ว และสามารถวางตำแหน่งของประเทศให้ได้ประโยชน์อย่างถาวร

แต่ถ้าหลุดขบวนใน 3-4 ปีนี้ การลงทุนที่จะไหลมาเอเชียก็อาจจะไหลไปที่อื่น และประเทศไทยก็จะสูญเสียโอกาสที่จะเป็น “สุวรรณภูมิ” ที่ยิ่งใหญ่ของภูมิภาค

ลองคิดดูว่า 3จี ก็ไม่มี องค์ประกอบอื่นก็ไม่พร้อม แล้วจะเอาอะไรไปต่อรอง ไปดึงดูดการลงทุน ดังนั้นไม่ควรมองแคบๆ อยู่แค่ในประเทศ หรือมัวตะบี้ตะบันตะลุมบอนกันเองอยู่ในบ้าน เพราะลูกหลานในอนาคตจะแช่งเอาได้ว่า ยุคเราคืออุปสรรคในการพัฒนาประเทศ

เปรียบเทียบให้ภาพชัดขึ้น ถ้าเราสามารถสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเสร็จตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ป่านนี้ประเทศจะไปถึงไหน เราอาจจะเป็นศูนย์กลางด้านอื่นๆ ได้อีกเยอะกว่านี้

คลื่นความถี่ก็เหมือนกัน เราจะต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมโดยเร็ว ถ้ามัวชักช้าประเทศอื่นก็แซงหน้าและเราจะตามไม่ทัน

ภาคเอกชนจะรวยไม่ได้รวยจากการประมูลอย่างเดียว มันอยู่ที่การบริการหลังจากนี้ จึงควรคิดว่าจะดึงให้นักลงทุนเข้ามาทำธุรกรรมทางธุรกิจในประเทศไทยให้มากที่สุด และให้บริการที่ดีกว่าประเทศอื่นด้วยได้อย่างไร แต่ไม่ควรต้องมานับหนึ่งใหม่ หรือเริ่มประมูลกันใหม่ เพราะนั่นเท่ากับลากประเทศไทยให้ถอยหลังไปอีก

หากช่วยกันมองไปข้างหน้าให้มาก ผลดีน่าจะตกอยู่กับประเทศมากกว่าผลเสีย แต่หากทุกอย่างต้องมาสะดุด เอาแน่เอานอนไม่ได้ประเทศเราก็จะถูกเมิน อย่าลืมว่าเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว คนที่รับภาระคือลูกหลาน คนเจเนอเรชันนี้จึงควรรับผิดชอบคนอีกรุ่น โดยการมองอนาคตให้เห็น มองไปยังระดับภูมิภาค ไม่ใช่มองอยู่แต่ในประเทศ

คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ ต้องเอามาใช้ให้ถูกและเกิดประโยชน์สูงสุด ต้องทำให้คลื่นความถี่สามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน

ช่วงรอยต่อที่การเมืองไม่รู้จะออกทางไหน หากใช้โอกาสนี้ผลักดัน 3จี ออกมาให้สำเร็จก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ ที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานเอื้ออำนวยให้มีระบบการสื่อสารที่ทันสมัยครบวงจรมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นกระดูกสันหลังของภูมิภาค

หากมัวชักช้า ละล้าละลัง ประเทศไทยก็จะสูญเสียตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้านนี้ในภูมิภาคอย่างถาวร