posttoday

ประมูลลวงโลก

22 ตุลาคม 2555

ปัญหาการประมูล 3G ในครั้งนี้ ไม่ต้องไปดูว่ามีการฮั้วหรือไม่ เพราะนี่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประมูล เนื่องจากไม่มีการแข่งขัน

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ

ประมูลลวงโลก

สังคมศรีธนญชัย คงมีเพียงในประเทศไทยที่ผู้มีอำนาจหวังเพียงผล ไม่คำนึงถึงวิธีการ เหมือนศรีธนญชัยในนิยายปรัมปราของไทย

ศรีธนญชัยที่ควรจะเป็นผู้ร้าย เป็นคนที่น่ารังเกียจ แต่กลับเป็นพระเอกเป็นแบบอย่างที่ได้รับการชื่นชม

แม้คนขี้โกงก็ยังได้รับการชมเชยว่าฉลาด ที่เราเรียกว่า ฉลาดแกมโกง ทั้งที่ในความเป็นจริง ถ้าเป็นคนโกงแล้ว ต้องเป็นคนไม่ดี เป็นคนที่ไม่ควรคบหาสมาคม ไม่ควรจะไปชื่นชมว่าฉลาด

การลวงโลกในเมืองไทยมีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว และสุดยอดของการลวงโลก ต้นแบบของศรีธนญชัย และถือเป็นความอัปยศของวงราชการไทย คงต้องยกให้กรณีเสือดำที่บึงมักกะสัน ในที่รกร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว มีการสร้างภาพว่าจับเสือดำได้แล้ว แต่หลังจากนั้นคนขายออกมาทวงค่าเสือดำ เพราะข้าราชการกรมป่าไม้ไม่ยอมจ่ายค่าตัวของเสือดำที่ไปซื้อมา ทำให้เรื่องแดงสังคมรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเพียงการจัดฉาก จนทำให้ข้าราชการหลายคนได้รับความดีความชอบ และเป็นที่มาของฉายา เสือปลอด(ประสพ) จนถึงทุกวันนี้

กรณีเสือดำมักกะสัน ควรจะถูกลงโทษ แต่กลับชื่นชมกันว่า เป็นจิตวิทยาที่ทำให้ประชาชนคลายความกลัวได้

เมื่อพูดถึงเสือแล้ว ไม่พูดถึงเก้งกวาง ก็จะดูไม่เท่าเทียม เรื่องเกิดจากการตรวจสภาพที่ดิน ส.ป.ก.ที่ภูเก็ต โดยเสี่ยเน ณ บุรีรัมย์ นำเก้งกวางไปปล่อยเพื่อให้เห็นว่ายังมีสภาพเป็นป่า เป็นการจัดฉากเพื่อผลทางการเมือง

จำนำข้าวลวงโลก น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบดำของไทย ที่รับจำนำข้าวสูงกว่าราคาจริง เป็นการฉีกตำราการรับจำนำสินค้าทุกชนิดที่มีในโลก

Only Thailand

การประมูล 3G ที่ผ่านมา ก็น่าจะจัดอันดับเป็นการลวงโลกได้ด้วย

ก่อนวิพากษ์วิจารณ์ จะต้องรู้ก่อนว่า การประมูลคืออะไร ทำไมต้องมีการประมูล

คำว่า ประมูล ไม่มีนิยามตามกฎหมาย จึงต้องใช้นิยามตามพจนานุกรม คนที่เคยค่อนขอดว่า ศาลรัฐธรรมนูญว่าตัดสินโดยใช้พจนานุกรมได้อย่างไร ก็ควรรู้ไว้ว่า เป็นไปตามหลักกฎหมายที่ร่ำเรียนกันมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยแล้วว่า ถ้าในกฎหมายไม่ได้ให้นิยามไว้เป็นการเฉพาะ ให้ใช้ความหมายตามพจนานุกรม

ความหมายของประมูล ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามไว้ว่า “เสนอราคาแข่งขันกันในการซื้อหรือขายทรัพย์สิน เป็นต้น”

หลักเกณฑ์ที่จะเป็นการประมูลคือการแข่งขัน ถ้าไม่มีการแข่งขันย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประมูล

การเปิดประมูลเครือข่ายโทรคมนาคม 3G ที่เพิ่งผ่านไปนั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดประมูลในราคาต่ำมาก

ผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) (ยกเว้น นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา) ต่างออกมายืนยันว่า เป็นการประมูลที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนจะได้ใช้ 3G ภายในไม่เกิน 6 เดือน
ผมมีความรู้สึกว่า ผู้มีอำนาจของบ้านนี้เมืองนี้ ชอบใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน ถ้าคัดค้าน ประชาชนจะไม่ได้ใช้ 3G ไม่ว่าจะผิดพลาดอย่างไร ต้องปล่อยให้กระบวนการดำเนินต่อไป

หากไล่ดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคมาโดยตลอด แม้จะกอบโกยกำไรไปจนไม่มีต้นทุนแล้ว แต่ผู้ประกอบการไม่เคยลดราคาหรือให้ประโยชน์กับประชาชน มีแต่จะฉวยโอกาสขูดรีดผู้ใช้บริการเพื่อให้ได้คืนทุนเร็วที่สุด หรือทำกำไรให้ได้สูงสุด

มือถือยุคแรก โทรต่างจังหวัดไกล อัตราค่าบริการ 12 บาทต่อนาที ในขณะที่ปัจจุบัน 1 บาททั่วประเทศ ผู้ประกอบการก็ยังกำไรอย่างมากมาย และในทุกวันนี้ กสทช.ออกประกาศบังคับให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ ผมยังต้องจ่ายนาทีละ 4 บาท สำหรับการใช้บางโปรฯ หรือ กสทช.ห้ามตัดเงินที่เติมล่วงหน้า (Prepaid) หรือไม่ก็ต้องให้เวลานานกว่าจะตัดเงินชาวบ้าน ทุกวันนี้บางโปรฯ วันเดียวบ้าง 20 วันบ้าง 30 วันบ้าง ก็ตัดเงินแล้ว

กสทช.ไม่มีน้ำยาไปบังคับผู้ประกอบการ ใครจะเชื่อก็เชื่อไป แต่ผมไม่เชื่อว่าจะทำได้

ถ้า กสทช.มีเจตนาจะคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการจริง ก็น่าจะกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการแจ้งล่วงหน้าไว้เลยว่า ถ้าประมูลได้ จะคิดค่าบริการในอัตราเท่าใด ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะคิดไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการมีเงินถุงเงินถัง อย่าว่าแต่ซื้อนักวิชาการมาช่วยคำนวณเลย ซื้อประเทศก็ยังซื้อมาแล้ว

ปัญหาการประมูล 3G ในครั้งนี้ ไม่ต้องไปดูว่ามีการฮั้วหรือไม่ เพราะนี่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประมูล เนื่องจากไม่มีการแข่งขัน แต่เป็นการนำใบอนุญาตมาแบ่งให้เอกชน

การประมูลใบอนุญาต 3 ใบ โดยผู้ประกอบการ 3 ราย จะเป็นการประมูลได้อย่างไร จะโทษเอกชนคงไม่ได้ เพราะเขาไม่จำเป็นต้องสู้ราคาก็ได้อยู่แล้ว จะจ่ายเงินให้มากไปทำไม

กสทช. หรือ กทค. ไม่รู้หรือไม่อาจคาดได้เลยหรือว่า ถ้าจัดให้มีใบอนุญาต 3 ชุด โดยผู้ประกอบการ 3 ราย จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ถ้าคาดการณ์ไม่ได้ ก็ไม่ควรจะทำหน้าที่องค์กรอิสระแล้ว

วิธีการประมูลเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม จำเป็นต้องให้มีการแข่งขัน เอกชนเขารู้ว่าราคาที่เท่าใดเป็นราคาที่เหมาะสม ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป หากลดใบอนุญาตเหลือเพียง 2 ชุด อีก 1 ชุด เก็บไว้ 1 ปี โดยมีผู้ประกอบการ 3 ราย ผมรับรองได้เลยว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดยอมเสียโอกาสในทางธุรกิจเช่นนี้ นักธุรกิจจะต้องแข่งขันกันอย่างแน่นอน ราคาจะสูงกว่าที่เป็นอยู่และจะเป็นราคาที่เป็นธรรม

การดันทุรังรับรองผลการประมูลของ กทค. น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ คณะกรรมการที่รับรองและเดินหน้าต่อไป อาจได้คดีเป็นของแถม

เราอยู่มาได้โดยไม่มี 3G ถ้าจะต้องเสียเวลาดำเนินการให้ถูกต้อง จะไม่ดีกว่าหรือ หรือว่ามีเหตุผลพิเศษอะไรที่บอกไม่ได้